--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หอการค้า เตือน รบ.ใหม่ เลิกจำนำข้าว ช่วยเท่าที่จำเป็น .

ม.หอการค้าแนะ รบ.ใหม่ เลิกจำนำข้าว หรือช่วยเท่าที่จำเป็น อย่าเหมาแพคเกจ ชี้มีแต่ขาดทุน แบกภาระงบประมาณอื้อ ด้านสมาคมชาวนาหนุนปรับสูตรคำนวณค่าชดเชยจากต้นทุนจริง บวกกำไรไม่เกิน 30%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ช่วงต้นปีหน้า รัฐบาลใหม่ควรมีการทบทวนและยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว หรือหากไม่มีการยกเลิก ต้องมีการปรับวิธีการและหลักเกณฑ์โดยจำกัดจำนวนผู้ได้รับสิทธิจำนำข้าว เหลือชาวนาที่มีรายได้น้อยจริงๆ โดยหันไปใช้วิธีการช่วยเหลือหรือชดเชยการเพาะปลูกและลดต้นทุนการเพาะปลูกแทน เพราะเป็นผลดีต่อการลดภาระงบประมาณและขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำ แม้จะมีการตั้งราคารับจำนำสูง แต่ชาวนามีปัญหาต้นทุนสูง และการจ่ายเงินตามใบประทวนล่าช้า ทำให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่เต็มที่

"จำนำข้าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การไม่จำกัดจำนวนผู้ได้สิทธิและวงเงินต่อรายค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระมากเกินไป การจ่ายส่วนต่างน่าจะเป็นวิธีการที่นำมาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจภาคเอกชนที่ผ่านมา ที่เห็นควรให้เลิกการจำนำหรือลดเงื่อนไข ช่วยเฉพาะที่เดือดร้อนจริง ไม่ควรใช้เป็นแพคเกจเดียวกันกับเกษตรกรทั้่งหมด" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังแสดงความเป็นห่วงต่อนโยบายแต่ละพรรคการเมือง ที่ไม่ควรนำประเด็นการเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ มาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงและกำหนดนโยบาย เพราะจะเพิ่มแรงกดดันต่อการลงทุน การทำธุรกิจต่างๆ รวมถึงบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะยาว

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลใหม่ เลิกจำนำข้าวในราคาสูง และหันมาจ่ายเงินชดเชย ลดต้นทุนและหาตลาดระบายข้าวให้ชาวนา เพราะการรับจำนำข้าวในปริมาณและวงเงินสูงๆ ได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้มีปัญหาในระยะยาวในเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณ แต่ควรคำนวณสูตรจ่ายชดเชยที่คิดจากต้นทุนจริง บวกกับกำไรที่ชาวนาอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 30%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาของการจำนำข้าวในขณะนี้ คือ รัฐยังค้างค่าข้าวรับจำนำ 6 พันล้านบาท สำหรับข้าวเปลือกที่เปิดจำนำส่วนต่างจากโครงการรับจำนำปี 2555/56 และเงินคงค้างตามใบประทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ที่ได้จำนำไว้แล้วกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมถึงการชะงักของการอนุมัติระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 16 ล้านตัน หลังยุบสภาและรอการนโบบายจากรัฐบาลใหม่ จะทำให้เงินระบายข้าวที่ต้องส่งถึงกระทรวงการคลังตามแผนกระทรวงพาณิชย์ เดือนละ 2-3 หมื่นล้านบาท ต้องชะลอไว้ก่อน

ที่มา : นสพ.มติชน
----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น