--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สภาปฏิรูป ประเทศ !!?

โดย เอกชัย ไชยนุวัติ

หมายเหตุ : บทความวิชาการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ องค์กรใด

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบของขวัญวัน คริสต์มาส ให้ กับประชาชนชาวไทย ด้วยการออกทีวี แถลงจัดตั้ง "สภาปฏิรูปประเทศ" ซึ่งเป็นท่าทีล่าสุดของ รัฐบาลรักษาการ พรรคเพื่อไทย ที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในขณะที่มีการยุบสภา และมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ขัดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181  มาตรานี้ เป็นผลจากการยุบสภา โดยผู้นำฝ่ายบริหาร ที่ใช้อำนาจ ยุบสภา ตาม มาตรา 108 โดยเมื่อมีการยุบสภา จะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องยุบ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้ง มาตรา 108 นี้ บังคับว่า การจัดการเลือกตั้งใหม่จะต้องกระทำภายใน 45 ถึง 60 วันเท่านั้น

ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น ตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจออกกฎหมาย คือการคืนอำนาจของประชาชนกลับไปยังประชาชนทุกคนให้ได้ใช้อำนาจนั้นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้นในสายตาของกฎหมาย ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี รวมถึง นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป เพียงแต่ มาตรา 181 บังคับไว้อย่างชัดเจน ให้ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” รวมทั้งในรายงานการประชุม ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 33/2550 หน้า 28 ถึง 32 ก็มีการอภิปรายประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า ให้ รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ต้องอยู่ในหน้าที่ต่อไป แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาควบคุมการทำงาน ตาม (1) ถึง (4) ซึ่งเป็นเรื่อง ห้ามปลด โยกย้ายข้าราชการ และใน  “(3)ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป”

จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า

“ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบของเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เอกชัย ไชยนุวัติ

สำหรับผู้ที่เป็นห่วงถึงความต่อเนื่องเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว”

ถ้อยแถลงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ภายหลังได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชน จะต้องมีการพิจารณา การทำงาน และประเด็นที่สภาปฏิรูปเสนอ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่า จะต้องรับทราบถึงผลการทำงานของสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่ ผู้เขียนมั่นใจว่า ไม่มีผู้นำคนไหน จะปฏิเสธการมีอยู่หรือประเด็นของสภาปฎิรูปได้

2.สภาปฏิรูป ไม่มีความยึดโยงกับอำนาจประชาชน  สิ่งที่เรียกว่า สภาปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อให้มีผลในทางกฎหมายที่ ชัดเจน มีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ  แต่ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ คณะกรรมการสรรหา สภาปฏิรูปที่ประกอบด้วย ตัวแทน 11 คน ที่ คนแรก คือตัวแทนของฝ่ายทหาร และ ตัวแทนของหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง อีก 2 คน

กรรมการทั้ง 11 คนนี้ จะเข้ามากำหนด องค์ประกอบและวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฎิรูปประเทศ 499 คน โดย สมาชิก 499 คนนี้จะเข้ามาศึกษาและจัดทำข้อเสนอและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วย

การให้อำนาจ คณะกรรมการ 11 ท่านนี้ในการกำหนด รูปร่างหน้าตา ของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ โดยไม่ได้เปิดโอกาสโดยตรง เหมือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคเพื่อไทยได้เสนอเมื่อมีการเสนอแก้ มาตรา 291 เมื่อปี พ.ศ.2555 แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำแนะนำให้ทำประชามติ ก่อนที่จะมีการแก้ทั้งฉบับ เป็นการไม่ยึดโยงกับประชาชน เหมือนการสรรหา สมาชิกวุฒิสภา ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา วุฒิสมาชิก ทั้ง7 คนมาจากองค์กรศาล และ องค์กรอื่นๆที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเข้ามาทำหน้าที่คัดเลือก วุฒิสมาชิกเช่นกัน ผู้เขียน ถึงเรียกว่า "สภา(อำมาตย์)ปฏิรูปประเทศ" เพราะไม่มีหนทาง ให้ คนอย่าง แม่บ้านทำความสะอาด ของ มหาวิทยาลัย ผู้เขียนที่จบ ป.4 มีสิทธิมีเสียง ในการกำหนดวาระ การ ปฏิรูปประเทศ แต่อย่างใด

3.วาระการปฏิรูป ประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิได้แสดงความคิดเห็นหรือ กำหนดประเด็นได้ ผู้เขียนเห็นว่าวาระปฏิรูปประเทศ ต้องให้ประชานได้ตัดสินใจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมของ ผู้ที่ได้รับเสียงจากประชาชนไปกำหนดวาระปฏิรูปประเทศได้ เพราะ ถือว่า รัฐบาลนั้นได้รับ อาณัติมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  รัฐบาลที่ทำหน้าที่รักษาการ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ประเด็นทางการเมืองนี้ เพราะท่านได้พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว

สรุป หน้าที่ของรัฐบาล คือจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 นี้ให้ได้ ต้องจัดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องให้ความสะดวกและกำชับ คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในการจัดการเลือกตั้ง และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ แต่การจัดตั้งสภาปฏิรูป เพื่อกำหนดประเด็นที่สำคัญที่สุดของประเทศในระยะเวลา แค่ 1 เดือน ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จในระยะเวลานี้ได้ และจะส่งผลให้รัฐบาลต่อไปต้องมีผลผูกพันที่อย่างน้อยก็ต้องให้ สภาปฏิรูปนี้ ดำเนินการจนแล้วเสร็จและนำผลของการทำงานมาพิจารณาในรัฐบาลต่อไปอย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น