--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ห่วงการเมืองวุ่น ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าวูบ !!?

แบงก์มองวิกฤติการเมืองไทยเป็นตัวการฉุดเศรษฐกิจปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเลวร้ายสุด หากยืดเยื้อไม่มีรัฐบาล ส่งออกไม่ถึง 3% จีดีพี อาจโตแค่ 0.5% แบงก์กรุงเทพ เชื่อเศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงปีนี้ ที่ 3% ขณะที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้รัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุน

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้น้ำหนักทางการเมืองในระยะข้างหน้า ซึ่งยังคงเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่น ของภาคเอกชนในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้น ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ ความคืบหน้าล่าสุดมีข้อสรุปในเรื่องของงบประมาณแล้ว ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในเรื่อง shut down ลดลง แต่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดวงเงิน QE ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่อเงินทุนไหลเข้า-ออกในภูมิภาคนี้ ขณะที่ยุโรปนั้นมีความชัดเจน แล้วว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำไปแล้ว ด้านจีนและญี่ปุ่นน่าจะเติบโตได้ในระยะที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ น่าจะส่งผลดีต่อภาคการ ส่งออกของไทย โดยคาดว่าส่งออกปีหน้าเติบโตที่ระดับ 7%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ตั้งสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ขึ้นอยู่กับปัจจัยทาง การเมืองเป็นหลัก ใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่ 1 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557 และรัฐบาลสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับ 7% จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวที่ 4.5% กรณีที่ 2 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกปี 2557 แต่รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และภาคการส่งออกเติบโตในระดับ 5% จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ 3%

กรณีที่ 3 หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไปเกินกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2557 ของภาครัฐล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 หากภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7 โดยที่เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐไม่ขยายตัว อัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5% และกรณีสุดท้าย หากไม่สามารถจัดตั้ง รัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงภาคการส่งออกขยายตัว ไม่ถึง 3% จะส่งผลให้จีดีพีลดเหลือเพียง 0.5%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจใน ช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ กรอบช่องว่างขั้นสูง-ต่ำของแต่ละตัวเลขค่อนข้างจะกว้าง แต่เชื่อว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากภาคการเมืองมีความชัดเจนขึ้นช่องว่างนี้ก็จะค่อยๆ แคบลง

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากยังไม่สามารถมีรัฐบาลในการ บริหารประเทศได้ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ้าง เพราะว่ารัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุน ดังนั้นการมีรัฐบาล จะทำให้การทำงานได้ผลที่ดี เพราะรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

ส่วนนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 3% โดยการส่งออกน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน โดยปัจจัยที่น่าห่วงคือความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนว่าจะพัฒนาและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งน่ากังวลมากกว่าสถานการณ์การเมือง เนื่องจากภาคเอกชนกำลังประสบปัญหาการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น จากการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน และการขาดแคลนแรงงาน หากเอกชนแข่งขันไม่ได้ ก็อาจมีผลให้เศรษฐกิจโตได้ยาก

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น