--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วิกฤตเลือกตั้ง ถ้าไม่เดินหน้า ทั้งหมดคือรัฐประหารแน่นอน !!?

โดย.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง

แต่ ณ วันนี้ ถามใครต่อใครว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ นักวิชาการ นักการเมืองที่เป็นผู้วิเคราะห์-หยั่งเชิงการเมือง ยังไม่มีใครกล้าฟันธง

นักวิชาการรัฐศาสตร์ เขาทำนายว่าวันนี้กระบวนการรัฐประหารเงียบกำลังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แปลว่ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว

- สถานการณ์การเมืองขณะนี้ คิดว่ามีหรือไม่มีการเลือกตั้ง

คงคาดเดาไม่ได้ แต่การที่คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร (กรรมการการเลือกตั้งด้านบริหารงานเลือกตั้ง) ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป อ้างกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.บางมาตรา ว่าการเลื่อนเลือกตั้งเป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้าเราดูเนื้อหาสาระกฎหมาย การเลื่อนการเลือกตั้งใน พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้พูดถึงการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ ในมาตรา 78 วรรค 3 บัญญติไว้ว่า ถ้ามีเหตุสุดวิสัยให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆโดยเร็ว ฉะนั้น เรื่องเลื่อนการเลือกตั้งมันมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.เลื่อนได้เฉพาะกรณีสุดวิสัย และ 2.ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่ต้องประกาศจัดใหม่โดยเร็ว ดังนั้น สิ่งที่กปปส.กำหนด มันทำไม่ได้

ส่วนในแง่การเมืองกลัวว่าจะทำได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ กปปส.เรียกร้องทุกเรื่องทำไม่ได้ในแง่กฎหมาย แต่ในแง่การเมืองมันก็เกิดขึ้นตามนั้นทุกเรื่อง คิดว่ามีอย่างน้อย 2 สัญญาณเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งไม่เกิด คือ 1.ท่าทีของ กกต.ตั้งแต่พบกับ กปปส.หลังจากนั้นก็นำมาสู่การประชุมของ กกต.ที่แถลงว่าจะเอายังไงกับการเลือกตั้ง ในที่สุดก็ย้ำประเด็นว่าการเลื่อนเลือกตั้งทำได้ นี่คือเคสที่ประหลาด 2.ท่าทีของเหล่าทัพ ที่ปลัดกระทรวงกลาโหมบอกว่ากองทัพสนับสนุนการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกว่ากองทัพไม่ได้พูดแบบนี้ เป็น 2 สัญญาณที่ประหลาดมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปไล่ดูสถิติการเลือกตั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2535 คิดว่ามีปรากฏการณ์ประหลาดมาก2 ข้อ คือ 1.จำนวนคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ และการเลือกตั้งปี 2554 คนไปใช้สิทธิเกือบร้อยละ 75 คำถามคือถ้าไม่มีการเลือกตั้ง จำนวนคน 75 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเลือกตั้งมีสูงมากในช่วงหลัง เราจะตัดคนเหล่านี้ออกไปจากการเลือกตั้งไม่ได้

2.ตัวเลขของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมันสูงมากจนน่าตกใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2535 พรรคอันดับ 1 คือสามัคคีธรรมได้ 80 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง หรือได้แค่ 1 ใน 4 ของสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 จาก 360 ที่นั่ง 1 ใน 5 ของสภา ปี 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ 125 ที่นั่ง จาก 400 ที่นั่งไม่ถึงครึ่ง

แต่ตั้งแต่ 2544 เป็นต้นมา พรรคไทยรักไทย ได้ 270 จาก 500 ที่นั่ง คือครึ่งหนึ่ง รอบที่สองได้ 375 จาก 500 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ปี 2550 ได้ 233 จาก 480 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ดังนั้น คะแนนเสียงพรรคอันดับหนึ่งมันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมา 1 ทศวรรษแล้ว การทำให้ประเทศไม่มีการเลือกตั้ง คือการลบคนเหล่านี้ออกไปจากสารบบการเมืองไทย มันทำไม่ได้อีกต่อไป

- 2 สัญญาณที่ดูประหลาด คิดว่าอะไรอยู่เบื้องหลัง

ไม่คิดว่ามีอะไรซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ถ้าเรามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ตั้งแต่มีม็อบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 สังคมไทยถูกครอบงำด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสงครามการเมืองกลางเมืองภายในประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากต่อต้านรัฐบาล มีการปะทะ มีความขัดแย้ง มีการใช้กำลัง ในรอบหลังปี 2549 เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ประมาณ 6 ครั้ง

ถ้าหากมองเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์หลังปี 2549 คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการพยายามให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจ ขณะที่ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในแง่เบื้องหลังตัวบุคคลอาจจะมี แต่ในแง่ภาพรวมตลอด 6 ปี มันคือธีมเดียวกัน

- คือธีมที่เสียงข้างน้อยบนท้องถนนสามารถใช้มวลชนไปกดดันอำนาจรัฐได้

ใช่ ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์ที่เสียงข้างน้อยไปกดดันผู้มีอำนาจรัฐได้ คิดว่า 1.ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน 14 ตุลา 2516 ก็ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวแบบนี้ พฤษภา 2535 ก็ไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นในเวลาที่การเมืองเดินมาถึงการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง 2 ขั้ว ซึ่งการเลือกตั้ง 18 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ชนะจริง ๆ แค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของฝ่าย ซึ่งไม่เคยชนะการเลือกตั้งคือทำอย่างไรให้เสียงข้างน้อยจะดูเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาได้ การเดินออกไปสู่ท้องถนนมันคือการทำให้เสียงข้างน้อยเคลมว่าเป็นเสียงข้างมาก การทำดังกล่าวจะทำได้ในบริบทที่ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งจำนวนคนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้ฝ่ายตรงข้ามมันจะเป็นเครื่องชี้วัดที่แท้จริงกว่าว่าคนที่อยู่บนท้องถนนไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

- แต่มวลชนเสียงข้างน้อยที่อาจารย์บอกระบุว่าเลือกตั้งไปแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

คิดว่าเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะถ้าดูในสังคมไทยหรือสังคมโลกส่วนใหญ่ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเหตุให้นำไปสู่ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเทียบกับไม่มีการเลือกตั้ง

- ถ้ามีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาตามที่ กปปส.สร้างจินตนาการไว้ไหม

เป็นไปได้ แต่มันไม่ใช่ความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติในสังคม แต่เป็นความขัดแย้งซึ่งเกิดจากการจงใจสร้างสถานการณ์ กรณีอย่างนี้เราพูดไม่ได้ว่าการเลือกตั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง สิ่งที่ต้องพูดกลับกัน คือมีคนจำนวนมากจงใจสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อเป็นเหตุไม่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในต่างประเทศก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายสังคม

- ในต่างประเทศจบวิกฤตความขัดแย้งที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้นอย่างไร

ถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ เรื่องแบบนี้ใช้เวลานานกว่าจะจบ เวลา 10 ปี บวก ๆ ขึ้นไป แล้วบางสังคมที่โชคดีจบลงโดยไม่เกิดความรุนแรง แต่หลายสังคมจบด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.ฝ่ายเสียงข้างน้อยใช้อำนาจเผด็จการทหารปราบปรามประชาชนเสียงส่วนใหญ่ เกิดที่อินโดนีเซีย จีน พม่า แบบที่ 2.เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ที่เสียงส่วนใหญ่ทนไม่ได้แล้วใช้การลุกฮือ เพื่อกำจัดเสียงส่วนน้อยแบบถอนรากถอนโคน ดังนั้นการทำให้สังคมไทยไม่เดินไป 2 จุดนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ การมีการเมืองที่ประนีประนอมทุกฝ่ายได้ แล้วอยู่ในกติกาถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในปัจจุบัน

- โทนการเมืองขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะประนีประนอมกันได้ไหม

เสียงส่วนใหญ่แสดงท่าทียอมรับการประนีประนอมได้ เช่น การที่พรรคเพื่อไทยเลือกคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งมีแบ็กกราวนด์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลังปี 2549 และยังไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมืองโดยการโจมตีชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มไหนเลย ซึ่งการหยิบชื่อคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต้องการประนีประนอมของฝ่ายเสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว

ฉะนั้น โจทย์ของการไม่ประนีประนอมในวันนี้อยู่ที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่ยอมปรองดองกับเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีมาก ๆ เพราะคุณกำลังบีบให้เสียงส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก นอกจากลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล ในที่สุด ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง มีนายกฯ มีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันก็คือรัฐประหารเงียบดี ๆ นั่นเอง

- สถานการณ์วันนี้กำลังนำไปสู่รัฐประหารเงียบหรือไม่

กระบวนการริเริ่มแล้ว ไม่รู้มันจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ในแง่กระบวนการการเขี่ยบอล เพื่อนำไปสู่รัฐประหารเงียบมันเริ่มแล้ว และคิดว่ายังไม่หยุดด้วย การเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ลาออก การพยายามเลื่อนการเลือกตั้งของ กกต. คิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ดีมาก ๆ

- การแสดงตัวของ กกต.ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้วิกฤตมันคลี่คลาย

ความขัดแย้งในสังคมไทยมีหลายเรื่อง มันสะสมมาเป็นเวลานาน เป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้ง 2 ก.พ. มันแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่ทำได้ คือหยุดความขัดแย้งที่เป็นการเมืองบนท้องถนนไปสู่คูหาเลือกตั้งแทน เพราะการเลือกตั้งโดยตัวมันเอง สามารถดีไซน์ ออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูป ระดมความเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ว่าจะปฏิรูปสังคมยังไงได้

การเลือกตั้งในสังคมไทยมันเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายปฏิรูปสังคมไทยมาต่อเนื่องมากกว่าที่เราคิด เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ถือว่าเป็นการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่ปฏิรูปผ่านการเลือกตั้ง กฎหมายประกันสังคมก็เกิดมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2533

- ควรมีการเลือกตั้งก่อนแล้วให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากปฏิรูปการเมือง

ผมคิดว่าทำได้ทุกส่วน การปฏิรูปไม่ใช่ให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากทำ แต่โดยการเลือกตั้งมันจะเป็นเครื่องมือในการระดมความเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งประเทศว่าเขาต้องการนโยบายแบบไหน เช่น ช่วงเลือกตั้งที่คุณทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นของพรรคไทยรักไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้าน การโหวตของประชาชนให้คุณทักษิณปีนั้น คิดว่าประชาชนต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุข 30 บาท แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ทำเรื่องการศึกษาฟรีก็เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง

- ไม่จำเป็นต้องนำมวลชนออกมาบนท้องถนนแล้วเรียกร้องการปฏิรูป

ในประสบการณ์ของประเทศเรา การเมืองบนท้องถนนไม่เคยนำไปสู่การปฏิรูปอะไร ยิ่งการเดินขบวนบนท้องถนนในเวลาซึ่งสังคมมีความแตกแยกสูง มีช่องว่างทางชนชั้นสูง การปฏิรูปไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว

- มองการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

เขาไม่ลงเลือกตั้งบนสมมติฐานที่เชื่อว่า 1.จะไม่มีการเลือกตั้ง 2.จะมีนายกฯ และสภารักษาการ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมให้ตัวเองหายไปจากเวทีการเมือง 4 ปีอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้ประเทศนี้ไม่มีการเลือกตั้ง และมีนายกฯ มาจากอำนาจนอกระบบ มาจากการแต่งตั้ง

- เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารเงียบ

ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ต้องจบลงที่รัฐประหารเงียบ ไม่มีทางอื่น เช่น ถ้าคุณต้องการให้มีนายกฯรักษาการซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คุณก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง จะแก้ยังไง คำตอบคือแก้ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทางออกเดียวคือต้องรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

- เมื่อวันนี้ทหารยังอยู่ในที่ตั้ง การเคลื่อนไหวของ กปปส.อะไรคือจุดชี้ขาดว่าชนะหรือไม่ชนะ

ปัญหาของประเทศซึ่งปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเมืองไทยคือการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล หรือการตั้งคนมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งหมดต้องมีพระปรมาภิไธย จะต้องมีการทูลเกล้าฯ ถ้าคุณรัฐประหารล้มรัฐบาลเดิมไป ที่ทำกันในอดีตคือทหารเป็นคนทำ คุณสุเทพไม่สามารถเดินไปทูลเกล้าฯด้วยตัวเองได้ ทหารต้องออกมา แต่จะเป็นเวลาไหนแค่นั้นเองที่ทหารยังไม่ออกมา เพราะเขาสรุปบทเรียนความผิดพลาดปี 2549 ที่ออกมาเร็วเกินไป เมื่อออกมาเร็วเกินไปก็เกิดการตั้งคำถามว่า การที่คุณออกมาโดยอ้างว่ามารักษาความสงบจริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะมันไม่มีความไม่สงบในเวลานั้น

ดังนั้น ถ้าสรุปบทเรียนจากปี 2549 ต้องออกมาในเวลาที่มีความขัดแย้งรุนแรงมาก ๆ ฉากที่เราเห็นทั้งหมด ขู่การปิดล้อม กกต. กกต.บอกจะเลื่อนเลือกตั้ง ป.ป.ช.ที่กำลังรอเล่นงานรัฐบาลกับสภาอยู่ ผมคิดว่าทั้งหมดอยู่ในซีนเดียวกัน คือการยกระดับสถานการณ์ให้อยู่ในภาวะที่คนรู้สึกว่าเกิดความไม่สงบทางการเมือง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง จนยอมรับการรัฐประหารได้ แต่ทั้งหมดจะจบตรงที่การรัฐประหารแน่นอน

- สรุป 2 ก.พ.จะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป

ใช่ เพราะถ้าไม่เดินหน้าเลือกตั้ง ทั้งหมดคือการรัฐประหารแน่นอน ยังไงก็ต้องมีรัฐประหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น