--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถ้าไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง พึงระวังสงครามกลางเมือง !!?

การถอยแบบ “สุดซอย” ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่น่ายกย่อง ในฐานะการใช้กลไกทางการเมืองเพื่อเลี่ยงการปะทะที่อาจเสียเลือดเนื้อ และช่วยลดอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ชุมนุมที่สนับสนุน กปปส. ลงมาบ้าง

แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เพราะม็อบ กปปส. เองก็ประกาศข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า ไม่พอใจกับแค่การยุบสภาหรือการเลือกตั้ง แต่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่ “รัฐบาลพิเศษ” ที่อ้างว่าสามารถใช้มาตรา 3 และ 7 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นฐานอำนาจทางกฎหมายได้

(ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ม็อบ กปปส. ยังชุมนุมยืดเยื้ออยู่รอบทำเนียบรัฐบาล)



(ภาพจากเพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)

SIU เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่าทีของหลายภาคส่วนของสังคมที่เสนอให้ “กลับสู่การเลือกตั้ง” คืนอำนาจกับประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตยสากล โดยให้ “ประชาชนทั้งประเทศ” เป็นผู้ตัดสินใจผ่านคูหาเลือกตั้งอีกครั้งว่าอยากให้พรรคการเมืองใดทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป

และเราขอน้อมเตือนม็อบ กปปส. ด้วยความหวังดีว่าการกดดันให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออกเพื่อเปิดช่องให้เกิด “สภาประชาชน” นั้นไม่เป็นผลดีแก่ประเทศไทยเลย ทั้งด้วยเหตุผลว่าเป็นกลไกที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และไม่ใช่กลไกที่เป็นไปได้ตามกรอบอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ การกดดันโดยไม่รู้จักผ่อนปรนของ กปปส. จะสร้าง “ความโกรธแค้น” ให้กับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล ที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงตัวชัดเจนนัก เว้นเสียแต่กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่มาชุมนุมกันที่สนามรัชมังคลากีฬาสถานเพียงไม่กี่วันเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้สนับสนุนรัฐบาลมีเพียงเท่านี้)

ณ จุดนี้ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าไรนัก และยังมองไปถึงการแสดงพลังผ่าน “การเลือกตั้ง” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ โดยผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังมองว่าคะแนนเสียงของฝ่ายตนยังเป็นต่อและน่าจะชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

แต่ถ้าหากมี “อุบัติเหตุทางการเมือง” ทำให้การเลือกตั้งที่เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น “ความโกรธแค้น” ที่สั่งสมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะ “ปะทุ” ออกมาเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจยิ่งใหญ่ไม่แพ้การชุมนุมในปี 2553

และถ้าหากผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายมาปะทะกันบนท้องถนน สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมืองในประเทศไทย” (Thailand civil war) ที่คงไม่มีฝ่ายใดอยากเห็น

ถ้าย้อนเวลาไปไม่นานนัก “กลุ่มคนเสื้อแดง” ถือเป็นแรงปฏิกริยาที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อเหลือง” ที่สนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี 2548-2549 เป็นต้นมา กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจความเป็น “ม็อบมีเส้น” ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง การล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และการก่อตัวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากกรณี “งูเห่า 2″ ทำให้เกิดผลออกมาเป็นการชุมนุมในปี 2552 และ 2553 จนเกิดความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากมาย

เราสามารถเปรียบเทียบ “ม็อบ กปปส.” ได้เฉกเช่นเดียวกับ “พันธมิตรฯ” (และในความเป็นจริงแล้ว แกนนำของทั้งสองม็อบก็มีความซ้อนทับกันอยู่มาก อ่าน ใครเป็นใครใน กปปส.) ดังนั้น กปปส. เองก็ควรพึงระลึกว่า การออกมากดดันทางการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมจะสร้าง “ปฏิกริยา” ในหมู่คนเสื้อแดงที่อาจจะรุนแรงกว่าปี 2553 ด้วยซ้ำ

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง “สงครามกลางเมือง” ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด กปปส. ควรชะลอความเคลื่อนไหวที่อยู่นอกวิถีทางของรัฐธรรมนูญ และกลับเข้าสู่กลไกของการเลือกตั้งโดยเร็ว

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่น ได้เล็งเห็น “ความเสี่ยง” ของสงครามกลางเมืองนี้มาก่อนแล้ว และได้เตือนผ่านบทกวีไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน ว่า


ก่อนจะถึงชัยชนะไม่ว่าของฝ่ายใด
ท่านเห็นหรือไม่ว่าสงครามใหญ่รออยู่เบื้องหน้า
และใช่จะมีแต่ทัพของท่านที่ดาหน้า
เสียงกลองที่ดังมาแต่ไกลๆ ทั่วนครา
คือการยาตราทัพใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



ที่มา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น