--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ก่อน ปฏิรูป !!?

โดย. วรศักดิ์ ประยูรศุข

เข้าสู่ห้วงเวลาของงานเฉลิมพระชนมพรรษา ความสุขสงบกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

พักรบ 1 วัน แล้ววันที่ 6 ธ.ค. จะกลับมาเคลื่อนไหว

กันใหม่ เพื่อเผด็จศึกระบอบทักษิณ ปฏิรูปประเทศ

ปฏิรูปยังไง กำลังเป็นที่สนใจ

จากคำแถลง คำปราศรัยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุว่า การปฏิรูปจะดำเนินการโดย "สภาประชาชน" ประกอบด้วยคนจากหลายอาชีพ

และ "รัฐบาลประชาชน" ซึ่งจะนำโดยนายกรัฐมนตรี  ที่จะได้มาภายใต้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 7 บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรานี้จะให้กำเนิดนายกฯได้หรือไม่ยังสงสัย แต่คอการเมืองคงจำได้ว่า ในอดีตเมื่อปี 2549 มีการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการขอพระราชทานนายกฯ มาตรา 7

โดยเปรียบเทียบย้อนไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นนายกฯแทน จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ

ตอนนั้นเรียกอาจารย์สัญญาว่าเป็น "นายกฯพระราชทาน"

การเรียกร้องในปี 2549 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาตรา 7 มีเนื้อความเหมือนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราโชวาท ในเรื่องนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 นี้ ในวันที่ 25 เม.ย. 2549 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เมื่อ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ และ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

พระบรมราโชวาท กรณีมาตรา 7 นี้ รวมถึง "นายกฯพระราชทาน" เมื่อปี 2516 อ่านได้ที่ http://prachatai.com/journal/2006/04/8196

สำหรับในครั้งนี้ นายสุเทพกล่าวว่า มีฝ่ายกฎหมายยืนยันว่านายกฯ ม.7 ทำได้ แต่หลังจากมีข่าวออกไป มีนักกฎหมายออกมาทักท้วงกันเป็นแถวเหมือนกัน

และแนะนำว่าถ้าเดินหน้าเอากันจริงๆ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 171 ที่ให้นายกฯมาจากเลือกตั้ง และมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาประชาชน

ดูแล้วก็ไม่ง่าย และเป็นเรื่องใหญ่

การปฏิรูปการเมืองตามแนวนี้ นายสุเทพ มั่นใจว่าจะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ การเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีคอร์รัปชั่น และได้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ

ก็เป็นเจตนาที่ดี แต่หลักสำคัญคือ หากเป้าหมายที่ต้องการคือการเมืองประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ วิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ว่านั้น ก็ต้องเป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการสร้างประชาธิปไตยด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งไม่แน่ใจว่าผลจะเป็นยังไง

สังคมปัจจุบันนี้ ไม่อนุญาตให้คิดแทนกันแล้ว ยิ่งถ้าเชื่อในประชาธิปไตยทางตรง ยิ่งต้องฟังความเห็นให้กว้างๆ

ไม่อย่างนั้น ผลที่จะตามมา อาจเป็นหนังคนละเรื่องก็ได้

ที่มา.มติชนออนไลน์
-------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น