--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กติกา ของ ชาติ ?

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

แม้การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มาถึงจุดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม กปปส.เสียทีเดียว

กระนั้นสถานการณ์ที่สื่อต่างชาติให้ความสำคัญเกาะติดนี้ยังคงวิเคราะห์ในมุมมองการเมืองเป็นหลัก ยังไม่วิเคราะห์ลงลึกในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมแต่อย่างใด วอลล์สตรีต เจอร์นัล เขียนถึงการชุมนุมโดยแตะไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยการชุมนุมทางการเมืองเป็นตัวแปรหลัก นักเศรษฐศาสตร์เองก็มองผลของการยุบสภาจะไม่กระทบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2557 ขยายตัวที่ 4.5%

แม้แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาทจะต้องหยุดชะงัก แต่ด้านหนึ่ง กรณีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็ยังอยู่ในชั้นรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนโครงการบริการจัดการน้ำของรัฐบาล ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเค วอเตอร์ ต้องรอ "รัฐบาลใหม่" เข้ามาดำเนินโครงการต่อ ทั้งหมดที่ยังอยู่ในช่วงหยุดชะงักนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประเด็นกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซะทีเดียว แม้จะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ หรือต้องรอ "รัฐบาลใหม่" หลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

ที่ว่ายังไม่กระทบ คือ หากยังเป็นกระบวนการที่คงอยู่ในกรอบกติกา เพราะการยุบสภาด้านหนึ่งถือเป็นการแสดงความชัดเจนทางการเมืองที่จะคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่จะกระทบและน่าเป็นห่วง คือ กรณีไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงได้ ตรงนี้เองที่จะเริ่มส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและเอกชนสะดุด เพราะในสายตานานาชาติเองก็ยังต้องการระบบกติกาสากลเพื่อความมั่นใจในการเข้ามาลงทุน

ไม่กี่วันมานี้ จนถึงวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา บทวิเคราะห์ของสื่อต่างชาติพยายามหาความชัดเจนการลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ แม้โฆษก ปชป.ระบุว่า ยินดีลงเลือกตั้งหากเป็นทางออกของประเทศ กระนั้นยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ฝ่ายใดได้ จนนำมาสู่ข้อเสนอว่าควรทำสัตยาบันที่จะลงเลือกตั้ง ความชัดเจนจาก ปชป.เป็นสิ่งที่จะเป็นคำตอบของกติกาของระบบการเมืองสากล

ยิ่งความชัดเจนไม่ส่งสัญญาณมาเท่าไหร่ ความมั่นใจของนักลงทุนจะยิ่งน้อยลง เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้นักลงทุนได้รับความชัดเจนจากปัจจัยทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่อีกปัจจัยที่สำคัญยังคงเป็นท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมเองด้วยที่มีต่อการประกาศยุบสภาว่าพร้อมจะเข้าสู่กติกาเลือกตั้งหรือไม่

แม้การยุบสภาอาจไม่ใช่เป้าหมายของแกนนำ กปปส. แต่ความพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองนั้นน่าห่วงมาก เพราะจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อทั้งสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไทยเลย

หากทุกคนที่รักประเทศชาติอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นอย่างที่ถูกควร ก็ควรดำเนินการภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เพราะการรักษาระบบกติกา รวมถึงหากหวังการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย นี่คือสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในอนาคตของคนไทยทั้งชาติ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น