--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การใช้ความเป็นชาตินิยมของตนเองลดทอนสิทธิของชาติอื่น !!?


โดย กิตติภัต แสนดี

เอกสารลับพิเศษที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองสหรัฐอเมริกา กำลังทยอยเผยแพร่จนทำให้คำว่า NO FORN ที่ติดอยู่บนเอกสารกลายเป็นจุดน่าตลกขบขันนั้น ไม่ได้สร้างความสะเทือนให้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอเมริกาและเหล่าพันธมิตรที่อเมริกาแอบดักฟังข้อมูลการสนทนาของผู้นำและประชาชนของพวกเขาเท่านั้น เพราะความขัดแย้งขณะนี้ กำลังเลยเถิดไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาติอื่นๆ ด้วย

ล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซีย ตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตของตนที่ประจำการอยู่ ณ ประเทศออสเตรเลียกลับประเทศ อันเป็นสัญญาณที่ตีความง่ายๆ ว่า เขากำลังลดระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจให้อเมริกายืมมือขอดักฟังข้อมูลการสื่อสารของผู้นำและประชาชนในประเทศอินโดนีเซีย

แต่เรื่องที่น่าตลกสำหรับเรื่องนี้คือความพยายามของรัฐบาลอเมริกา ที่จะแถลงต่อประชาชนในตอนที่เกิดเหตุช่วงกลางปีว่า “เป้าหมายการดักฟังนั้นไม่ได้พุ่งไปยังคนอเมริกัน” แล้วพยายามยกตัวอย่างคุณูปการของการดักฟังชาติอื่น ว่าทำให้หาข้อมูลป้องกันการก่อการร้ายได้แต่เนิ่นๆ ป้องกันชีวิตคนได้มากมาย



photo from the New York Times

ความตลกนี้ไม่ได้เกิดเพราะว่าเรื่องถูกเปิดเผยภายหลังว่า คนอเมริกันก็ตกเป็นเป้าหมายการสืบเสาะคัดกรองข้อมูลนี้ด้วย หากแต่มันเกิดจากความนัยระหว่างบรรทัดของคำกล่าวอ้างนี้เองคือ ถ้าโครงการนี้ไม่ได้พุ่งเป้าที่คนอเมริกา ก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งที่รับได้ นั่นก็เท่ากับกำลังกล่าวว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวของคนในประเทศอื่นไม่สำคัญเท่าสิทธิส่วนบุคคลของคนในประเทศตนเอง

การเลือกปฎิบัติ (“ประติบัติ” ในภาษากฎหมายระหว่างประเทศ) ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปี เพราะเรามีแนวคิดเลือกปฎิบัติให้ความสำคัญกับคนในชาติตัวเองเหนือชาติอื่นฝังอยู่ในทุกมิติ เช่น ในเรื่องสิทธิของที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่กฎหมายไทยก็ยังห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ด้วยตัวเอง

ในเรื่องสิทธิการเดินทางนั้น คนต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ก็จะถูกริดรอนสิทธินี้ไปอย่างร้ายแรง สมมุติว่าโครงการของอเมริกานี้ ไม่ได้มีเป้าหมายไปที่คนในชาติตัวเองจริงๆ เช่นนี้เราจะถือได้หรือไม่ว่า การกระทำนั้นๆ เป็นการลดทอนความสำคัญของสิทธิของคนในชาติอื่น ให้อยู่เหนือชาติตัวเองนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามจริยธรรมแล้ว หลายคนอาจมีประสบการณ์สุดจะไม่ประทับใจในบริการของลัทธิชาตินิยม พร้อมยกตัวอย่างอันไม่จรรโลงใจทั้งหลาย

เช่น การทำสงคราม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หากเรามองอย่างเป็นธรรมแล้ว ความนิยมและภูมิใจในชาติตนเองแค่เงื่อนไขเดียวนี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์สุดโต่งเหล่านั้นได้เลย มันกลับต้องอาศัยการปลุกปั่นยุยงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพียงเพราะเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ได้พิสูจน์เพียงพอว่าชาตินิยมเดี่ยวๆ ในตัวมันเองนั้น เป็นความคิดที่บกพร่อง สิ่งที่เราต้องทำอันดับแรกคือการแยกแนวคิดชาตินิยมออกมาจากเหตุการณ์สุดโต่งเหล่านี้

หากเราจะต่อต้านแนวคิดการให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลของคนในชาติตัวเองก่อนนั้น ข้ออ้างแรกที่จะปรากฎขึ้นมา คือ สิทธิเหล่านี้เป็นของสากล การเลือกให้ความสำคัญกับสิทธินี้แก่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วไปลดทอนสิทธิเดียวกันกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทางตรรกะ

แต่จะเป็นไปได้หรือที่เราจะรักษาสิทธิพื้นฐานของคนในชาติโดยไม่ต้องไปรบกวนสิทธิของคนในชาติอื่น หากเรากำลังพบว่ามีภัยร้ายที่กำลังเข้าแทรกแซงประเทศ และจะทำให้แม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของคนในชาตินั้นจะไม่มีอยู่จริงเลยตั้งแต่แรก เช่นนี้เราจะไม่รีบเยียวยาแก้ไขเลยหรือ



photo from the Telegraph

เป็นไปได้หรือไม่หากเราจะมีคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือ ที่จะได้รับการปกป้องก็ต่อเมื่อเราได้รวมกลุ่มเป็นชาติแล้วเท่านั้น และถ้าชาติไม่รีบใช้สิทธิการปกป้องนี้ ท้ายที่สุดสิทธิทุกอย่างก็อาจไม่ถูกปกป้องเลย นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลกว่าหรอกหรือ กล่าวอ้างแบบนี้ก็น่าฟัง เพราะการจะมีค่านิยมรักความเป็นส่วนตัว รักตัวรักชีวิตได้ อิทธิพลจากชุมชนที่อาศัยอยู่ก็เป็นเหตุสำคัญ

หากเราเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวบนเกาะร้างที่ไม่มีรูปแบบวัฒนธรรมร่วมกันใดๆ เรื่องสิทธิต่างๆ คงเป็นเรื่องไม่จำเป็นต้องคิดถึง และที่สำคัญคือ แม้หากเราจะคิดถึงความเป็นส่วนตัว ก็จะไม่มีกลไกใดๆ มารับรองปกป้องสนับสนุน ไม่มีกลไกใดๆ ที่มีความชัดเจนว่าจะเยียวยาฟ้องร้องกันได้อย่างไรหากมีการละเมิด

ดังนั้น หากไม่ให้ความสำคัญกับชาติตนเองก่อนแล้ว สิทธิพื้นฐานหลายอย่างก็จะบังคับใช้ไม่ได้จริง หรือร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงขั้นไม่มีจริงในจินตนาการของทุกคนเลยก็ได้ แต่หากเราให้เหตุผลแบบนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราก็สามารถบอกได้อีกว่า สังคมนานาชาติก็ถือว่าเป็นกลุ่มชุมชนหนึ่งที่ต้องรวมตัวกัน เพื่อปกป้องรักษาสิทธิ หรือคุณค่าบางอย่างร่วมกันด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความสงบระหว่างประเทศ ที่หากเรามีหรือไม่มีคุณค่าที่พื้นฐานที่สุดนี้แล้ว การจะรักษาสิทธิที่ซับซ้อนกว่าตามความเชื่อของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

จะมีสิ่งใดที่ทำลายความสงบสุขได้มากไปกว่าการสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐบาล เช่นการดักกรองข้อมูลการสื่อสารของเหล่าผู้นำนานาประเทศนี้ ดังนั้น การเข้าแทรกแซงสิทธิส่วนบุคคลของคนในชาติอื่น จะสั่นคลอนคุณค่าในเรื่องความสงบสุขที่ชุมชนนานาชาติมีหน้าที่ต้องร่วมกันปกป้อง และเมื่อคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวถูกสั่นคลอน คุณค่าในเรื่องชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ ของคนในชาติเอง ก็ยังตกอยู่ในแดนอันตรายไปด้วย

ดังนั้น นโยบายดักกรองข้อมูลที่แม้ไม่ได้พุ่งไปยังคนในชาติ ก็น่าจะไม่ชอบในแง่จริยธรรม ถ้าเราเชื่อว่าสิทธิความเป็นส่วนบุคคลเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ คนชาติอื่นเป็นมนุษย์ ดังนั้น คนชาติอื่นมีสิทธิเต็มที่ที่ควรได้รับความเคารพ แต่หากเราเชื่อในคุณค่าพื้นฐานที่ชุมชนต้องรวมหมู่กันปกป้อง เราก็ไม่ควรลืมชุมชนนานาชาติ ที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องสภาวะพื้นฐานที่ทำให้ชาติแต่ละชาติสร้างคุณค่าแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนย่อยด้วย

โดยเฉพาะคุณค่าในเรื่องสันติภาพ ความสงบสุข ที่หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ความคิดพื้นฐานอื่นๆ ของแต่ละชุมชนย่อย ก็จะเกิดเป็นจริงขึ้นมาไม่ได้

ทีมา.Siam Intelligence Unit
--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น