--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ยุบสภา-เลือกตั้ง วิกฤต 2 นครา !!?

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลือกวิธีแก้ปัญหาการชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยการประกาศยุบสภา

จุดใหญ่ใจความก็เพื่อ คืนอำนาจให้ประชาชนŽ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิในการเลือกตั้งภายใน 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนด

เวลาการประกาศยุบสภา คือ 08.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม ก่อนเวลา 09.39 น. ที่กลุ่มประชาชนต้องการขับไล่รัฐบาลนัดเดินกันทั่วกรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางที่ทำเนียบรัฐบาล

เท่ากับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศยุบสภาก่อนเวลานัดหมายของกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อมา พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลจึงถอยฉาก ปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เข้ามาทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว บนเวทีราชดำเนินได้ยืนยันท่าทีว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยุบสภา แต่ก็ยังรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากการรักษาการนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งต่อมาได้เรียกร้องคณะรัฐมนตรีทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรักษาการด้วย เพื่อทำให้ประเทศไม่มีผู้บริหาร และเปิดทางใช้มาตรา 7 รัฐธรรมนูญฯ ตั้งนายกฯใหม่

ขณะที่แนวร่วมเดิมของกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มแสดงความลังเล เพราะเห็นว่า การยุบสภานั้นคือการคืนอำนาจให้ประชาชน และการเลือกตั้งทั่วไปคือการที่ประชาชนใช้อำนาจ

ดังนั้น การเลือกตั้งใหม่จึงควรเป็นคำตอบของปัญหาแล้ว

หากแต่ในข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่เลิกรากลับบ้าน เพราะพอมองเห็นว่าใครจะมาใครจะไปหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องการให้กำหนดกติกาใหม่ โดยใช้กลุ่มคนที่เรียกว่า สภาประชาชนŽ เป็นกลไก และมีคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 7 คอยคุมเชิง

เหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะสภาพของสองนคราประชาธิปไตยตามแนวคิดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนี้

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน นายเอนกได้เขียนบทความวิชาการโดยใช้มิติทางสังคมไปมองการเมืองไทย และพบว่า คนไทยมีความเชื่อทางการเมือง 2 ความเชื่อ ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นเป็นไปตามปูมหลัง ระหว่าง คนเมืองŽ กับ คนชนบทŽ

ความเชื่อที่แตกต่างดังกล่าวทำให้มองการเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น การเมืองไทยจึงมีปัญหา ประชาธิปไตยไทยจึงสะดุด

คนชนบทŽ เลือก คนเมืองŽ ล้ม !

เหตุการณ์การยุบสภาครั้งล่าสุด แม้ในกลุ่มผู้ชุมนุมจะมี คนชนบทŽ ร่วม และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล จะมี คนเมืองŽ ผสม แต่ภาพรวมของการเมืองไทยก็ยังเกาะกุมแนวคิด 2 นคราประชาธิปไตยของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อยู่ดี

ดังนั้น จึงมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลง !

ขณะนี้ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาลกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา โดยส่งสัญญาณผ่านองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น มติของหัวหน้าหน่วยราชการหลัก ที่มี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอให้ทำสัญญาประชาคมว่าจะปฏิรูปประเทศ ก่อนจะเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

หรือการที่เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน เปิดรับกลุ่มผู้ชุมนุมชี้แจงและซักถามแนวทางของประเทศ และความพยายามเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปรับวิธีพบปะ โดยการเปิด วงกว้างŽ ให้ทุกฝ่ายที่สนใจ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมเสวนาหาทางออกประเทศในวันที่ 14 ธันวาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย

ส่วนฝ่ายรัฐบาลเองก็มีทีท่าโอนอ่อน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้นายธงทอง จัดประชุมฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อหาทางออกในวันที่ 15 ธันวาคม

จากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ พอจับเค้าได้ว่า ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกองทัพ รวมไปถึงนักธุรกิจ และนักวิชาการ ต่างมีบทสรุปร่วมกันว่า ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยก็ต้องมีการเลือกตั้ง

เพียงแต่บางฝ่ายเห็นว่า ควรเลือกตั้งแล้วจึงปฏิรูป ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่า ควรปฏิรูปแล้วจึงเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยที่อยู่ในสังคมโลก จำเป็นต้องมีการบริหารงานโดยรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากโลก ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลี_กเลี่ยง

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไข รากของปัญหาŽ อันเนื่องมาจากความคิด สองนคราŽ นั้นก็ยุ่งยากซับซ้อน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลานาน...การรอให้ทุกอย่างปฏิรูปเสร็จก่อนค่อยเลือกตั้งนั้นอาจเป็นปัญหา นอกจากนี้ การผลักดันให้แนวคิดปฏิรูปเป็นจริงได้นั้น ยังจำเป็นต้องใช้กลไกของรัฐสภา

เมื่อมองเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเลือกตั้ง

และหากประชาชนลุกฮือกันมาควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลได้เยี่ยงนี้ ไม่ว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นใคร หรือเป็นพรรคการเมืองไหน ก็น่าเชื่อว่ารัฐบาลรวมไปถึงรัฐสภา จะไม่กล้าใช้อำนาจอย่างหักหาญอีกต่อไป

เพราะทั้งสองฝ่ายมีมวลชนจับจ้องเฝ้าดู

รัฐบาลชุดต่อไปจึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน และพร้อมจะถูกมวลชนโค่นได้อีก หากไม่สามารถปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปประเทศไทย

นี่คือ "หุบเหว"Ž และ "เปลวไฟ"Ž ที่คนไทยต้องร่วมกันฟันฝ่าไปให้จงได้

ที่มา:มติชนรายวัน

---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น