--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปฏิวัติประชาชน !!?

โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

สภาประชาชนของ กปปส.ถูกอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมียกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติของประชาชนไปแล้ว

คำว่า "ประชาชน" นี้น่าสนใจเป็นพิเศษ และควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน "ประชาชน" เป็นนามธรรม หมายถึงองค์รวมของคนทั้งหมดในชาติ ไม่ใช่คน 65 ล้านคนรวมกัน ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนๆ ได้ และอาจตรวจวัดว่าแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรได้

ดังนั้น "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมจึงไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถยึดกุม "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ แล้วอ้างเอาเจตจำนงทางการเมืองของตนไปเป็นเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่อยู่ในหมอกควันนี้เท่านั้น

วิธีในการยึดกุมหมอกควัน "ประชาชน" นี้ ทำได้หลายอย่าง อาจารย์ธีรยุทธยกกรณีที่ประมุขแห่งรัฐให้การรับรอง ซึ่งก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองทัพอ้าง "ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน" เข้าไปยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารในนามของ "ประชาชน" ที่เป็นแค่หมอกควัน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนไทยคุ้นเคย

แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมาก เช่นตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ทำสงคราม "ประชาชน" จนได้ชัยชนะแล้วก็สถาปนาระบอบปกครองของตนเองขึ้น ตามเจตจำนงของหมอกควัน "ประชาชน"

บางคนยังสามารถทำให้การอ้างของตนน่าเชื่อถือกว่านั้นอีก เช่น ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของตนราบคาบไปแล้ว หรือนโปเลียนจัดให้ลงประชามติหลอกๆ ว่า "ประชาชน" ในหมอกควันมีเจตจำนงที่จะให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ

แม้ว่า "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมเป็นเพียงหมอกควันที่ไม่มีใครจับต้องได้ แต่คำนี้กลับมีพลังไพศาล เพราะมันเกิดความชอบธรรมใหม่สำหรับอำนาจทางการเมือง ที่ทำลายล้างความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองแบบเก่าไปหมด นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ก็ถูกนักการเมืองแย่งยื้อกัน เพื่อแปรเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ในหมู่คนทั่วไป พลังของคำนี้อยู่ที่ตัวเขาเองถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเป็นครั้งแรก ฉะนั้นแม้เป็นหมอกควัน แต่ก็เป็นความมัวซัวที่มีตัวเขาอยู่อย่างเด่นชัดในนั้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ โดยแบ่งแยกคนจำนวนมากให้กลายเป็นคนนอก เพราะมีการศึกษาต่ำ ถูกซื้อเสียง หรือยากจน (sans-culottes-ไร้สมบัติ) คาถา "ประชาชน "ของเขาจึงไร้มนตร์ขลัง ที่จะปลุกคนส่วนใหญ่ให้ลุกขึ้นมาร่วม "ปฏิวัติ" ด้วย

ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายเป็นนามธรรม เราใช้คำว่า "ราษฎร" มาก่อน และนั่นคือที่มาของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เพื่อประกาศว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ข้าราษฎร" และคำนี้หมายรวมถึงทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ที่เกิดการ "ปฏิวัติประชาชน" ตามมาอีกมากมาย อันที่จริง แม้แต่ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คำนี้ก็ถูกใช้มาแล้วในการปฏิวัติของอเมริกัน เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษถูกมองว่าเป็นสงคราม "ประกาศอิสรภาพ" มากกว่าการ "ปฏิวัติประชาชน" เท่านั้น สงครามกู้เอกราชของนักชาตินิยมซึ่งเริ่มในละตินอเมริกามาก่อนใคร ก็เป็น "ปฏิวัติประชาชน" เหมือนกัน เพราะนักชาตินิยมอ้างเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้เช่นกัน ลัทธิชาตินิยมขยายไปทั่วโลก นำไปสู่"ปฏิวัติประชาชน"ในทุกทวีปของโลกต่อมา

"ปฏิวัติประชาชน" จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ตรงกันข้าม เกิดขึ้นบ่อยทั่วทั้งโลก และ (เท่าที่ผมนึกออก) การ "ปฏิวัติประชาชน" ทุกครั้ง หากทำสำเร็จก็มักจบลงที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สามารถยึดกุมอำนาจไว้เหนือผู้คนทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นหมอกควัน

แม้แต่การปฏิวัติอเมริกัน ก็มีคนอเมริกันอีกมากในช่วงนั้นที่ไม่ต้องการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน เฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ผลักดันให้แยกตัวจากอังกฤษ ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นใคร มีการตีความของนักประวัติศาสตร์ไว้หลายอย่าง นับตั้งแต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ ไปจนถึงพ่อค้าในเมืองใหญ่ และพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ "ปฏิวัติประชาชน" ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นรัสเซีย, จีน, ละตินอเมริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างหมอกควัน "ประชาชน" เข้ามายึดกุมอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง เพื่อชนชั้นของตน, ตระกูลของตน, หรือพรรคของตน

มีตลกอเมริกันที่เล่ากันว่า มัคคุเทศก์ซึ่งนำคณะทัวร์เที่ยวมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่า บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่มหานครนิวยอร์กแล้ว ระวังกระเป๋าสตางค์ของท่านให้ดี ผมจึงอยากสรุปอย่างเดียวกันว่า เมื่อไรได้ยินใครอ้างถึง "ประชาชน" ในความหมายนามธรรม จงระวังสิทธิเสรีภาพของท่านให้ดี

"ประชาชน" ในความหมายหมอกควันเช่นนี้มีใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ในความหมายตามหลักการบางกรณี เช่นในการฟ้องร้องคดีอาญาของสหรัฐ โจทก์จะเป็น"ประชาชน"เสมอ เป็นคดีระหว่าง"ประชาชน"กับนาย ก. นาย ข. เพราะความผิดทางอาญา คือการล่วงละเมิดต่อ "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ ในอังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ใช้คำว่า The Crown แทน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่หมายถึงสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

"ประชาชน" ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นนี้ หากเป็นกรณีประเทศไทย ก็ต้องหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากหมายถึงอธิปไตยของปวงชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทรงใช้ผ่านสภาเทือกตั้งได้

ส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ที่ใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของรถติดในกรุงเทพฯ

เพราะเป็นรูปธรรม จึงอาจนับหัวได้ แม้ว่าอาจนับยาก แต่ก็นับได้หากอยากนับ ระบอบเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนหัวของคน ซึ่งนับได้ กิจการสาธารณะใดๆ ย่อมตัดสินใจกันที่จำนวนของหัว เสียงข้างมากจึงมีความสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างเสรีและอิสระจึงเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบอบปกครองนี้

เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่มีคุณภาพที่สุด ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เราย่อมเห็นผิดได้เสมอ รวมทั้งเห็นผิดพร้อมกันจำนวนมากๆ จนกลายเป็นเสียงข้างมากก็ได้ เสรีประชาธิปไตยจึงต้องเป็นระบบที่เปิดให้เสียงข้างน้อย ได้แสดงออกอย่างอิสระเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและประเพณี เพื่อจะได้ขี้แจงแสดงเหตุผล จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่หลงผิด คิดใหม่และตัดสินใจใหม่จากข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า

เสียงข้างน้อยของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เคยทำอย่างนี้สำเร็จมาไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว แต่ที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ต้องมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความอดทนที่จะชี้แจงแสดงเหตุผล ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของนโยบายที่แตกต่างกัน

เสียงข้างน้อยที่ปราศจากความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จะไม่มีความอดทนเช่นนี้ หันไปใช้การขว้างเก้าอี้และเข้าของในสภา หรือลาออกจากสมาชิกภาพ หรือบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า ถึงพูดไปคนส่วนใหญ่ซึ่งโง่เง่ากว่าพรรคพวกของตนก็ไม่มีวันเขัาใจ

การสงวนกระบวนการปฏิรูปไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ก็มาจากความไม่เคารพในศักยภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง เพราะกระบวนการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย คือการต่อรองกันของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่ควรมีคนกลุ่มใดมีอำนาจสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว

แต่เพราะต้องการยึดกุมอำนาจไว้กับกลุ่มของตนเพียงฝ่ายเดียวต่างหาก จึงเหยียดหยามดูถูก "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยกย่องสรรเสริญ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรม เพราะ "ประชาชน" ประเภทหลังนี้แหละที่คนกลุ่มนี้สามารถอ้างตนเองเป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ สามารถจัดการประโยชน์สาธารณะให้เข้ามือตนเองฝ่ายเดียวได้ง่าย การปฏิรูปของพวกเขา (ซึ่งถูกอาจารย์ธีรยุทธยกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติไปแล้ว) โดยเนื้อแท้แล้วคือการปล้นกันกลางวันแสกๆ นี่เอง

 ที่มา:มติชนรายวัน
--------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

9 เหตุการณ์หายนะ ปี 2556




แม้มนุษย์จะระวังป้องกันกันอย่างไร หายนภัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งหายนะจากฝีมือมนุษย์ที่หยิบอาวุธมาประหัตประหารกันเองเนื่องจากความขัดแย้ง ก็เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ได้ไม่เว้นแต่ละปี

เหตุการณ์ดังต่อไปนี้คือ 9 เหตุการณ์หายนะในปี 2556 ที่จะถูกบันทึกไว้ อย่างน้อยเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้มนุษย์ใช้ชีวิตทุกก้าวย่างอย่างระมัดระวัง มีสติพร้อมเผชิญสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดในปีต่อๆ ไป

1.ภัยจากนอกโลก อุกกาบาต เชลยาบินสก์

15 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ตกอยู่ในความตระหนกหลังอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าสู่น่านฟ้าก่อนเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเหนือพื้นดินราว 30-50 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แรงระเบิดมีความรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ถึง 20 เท่า และได้เกิดคลื่นกระแทกสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนถึง 3,000 แห่ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 1,500 คน ขณะที่ภาพจากคลิปวิดีโอของชาวเมืองถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกถึงความเสี่ยงจากภัยที่มาจากห้วงลึกในอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่มนุษย์ไม่อาจตั้งตัว

2.บอสตันมาราธอน สหรัฐอเมริกา

เมื่อเวลา 14.49 น. วันที่ 15 เมษายน เกิดเหตุระเบิดขึ้น 2 ครั้งซ้อนบริเวณใกล้เส้นชัยของการแข่งขันบอสตันมาราธอน ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 264 คน

เหตุระเบิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการไล่ล่าผู้ก่อเหตุ หลังจากมีการเปิดเผยภาพผู้ต้องสงสัย 2 พี่น้อง ทราบชื่อในภายหลังคือนายโจคาร์ ซานาเยฟ และนายทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ ชาวอเมริกันเชื้อสายเชเชน อายุ 20 และ 27 ปี ตามลำดับ

ผลของการไล่ล่าส่งผลให้ซานาเยฟคนพี่ต้องจบชีวิตลงในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่โจคาร์ถูกจับกุม

นายโจคาร์ยอมรับว่าเป้าหมายต่อไปที่จะวางระเบิดคือจัตุรัสไทม์สแควร์ และยอมรับว่าเป็นนักรบทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจากการโจมตี โดยล่าสุด นายโจคาร์อยู่ระหว่างการไต่สวนในข้อหาร้ายแรง และอาจต้องเจอกับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต



3.ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ฟิลิปปินส์

เช้ามืดของวันที่ 8 พฤศจิกายน พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ความเร็วลมสูงถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เคลื่อนตัวเข้าพัดถล่มตอนกลางของฟิลิปปินส์ ความรุนแรงของพายุส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "สตอร์ม เซิร์จ"หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง คล้ายสึนามิสร้างความเสียหายในพื้นที่

ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถูกจัดให้เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นหายนะใหญ่หลวงที่สุดในปี 2556 โดยหลังเกิดเหตุเมืองทาโคลบันตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากนรก บ้านเรือนพังพินาศ

ศพผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อน ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตมีมากถึงเกือบ 8,000 รายแล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 1,700 คน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคนต้องอพยพออกจากพื้นที่และอาจต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมาเหมือนเดิมได้

4.รานา พลาซ่าถล่ม บังกลาเทศ

ชีวิตอันลำเค็ญของชนชั้นแรงงานในบังกลาเทศ ถูกเปิดเผยขึ้นด้วยเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้าในอาคารรานา พลาซ่า ความสูง 8 ชั้น ชานกรุงธากา เกิดถล่มลงมาเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตใต้ซากมากถึง 1,135 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,500 คน เหตุการณ์ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในวงการอุตสาหกรรมของโลก นำไปสู่การจับกุมเจ้าของโรงงานที่ละเลยมาตรการเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าจากตะวันตก กลับมาทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพแรงงานใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่มีมติที่จะมอบเงินชดเชยจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเหยื่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว

5.สงครามกลางเมือง ซีเรีย

เหตุการณ์นองเลือดในซีเรียเริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลก่อนแปรผันเป็นความรุนแรง หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกองกำลังต่อต้านรัฐบาลขึ้นสู้รบกองทัพของรัฐบาลเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2554 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นถึง 120,000 ราย ชาวซีเรียเกือบ 9 ล้านคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย บางส่วนอพยพไปต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนต้องอาศัยอย่างอดอยากในซีเรีย

ล่าสุด รัฐบาลซีเรียยินดีที่จะส่งมอบอาวุธเคมีที่อยู่ในประเทศ หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย เมื่อเดือนสิงหาคมซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐรับอาสาเป็นผู้ทำลายอาวุธเคมีทั้งหมดให้ทันภายในกลางปี 2557 อย่างไรก็ตาม สัญญาณแห่งการเจรจาสงบศึกยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น

6.แผ่นดินไหว 7.1 ริกเตอร์ ฟิลิปปินส์

08.12 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางใกล้กับจังหวัดโบฮอล ตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้บ้านเรือนกว่า 8,500 หลังคาเรือนถูกทำลาย ขณะที่อีก 26,000 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย เหตุดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 198 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่สูงที่สุดในฟิลิปปินส์นับ

ตั้งแต่ปี 2530 นอกจากนี้ธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ยังส่งผลกระทบกับประชาชนถึง 3.5 ล้านคนใน 6 จังหวัด โดยประชาชนกว่า 370,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเพื่อหาที่พักชั่วคราว ภาพเศษซากอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงโบสถ์คริสต์เก่า ที่พังถล่มยับเยินถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

7.คนร้ายบุกกราดยิงห้างสรรพสินค้า เคนยา

21 กันยายน คนร้ายจำนวนหนึ่งถืออาวุธและระเบิด บุกกราดยิงผู้คนอย่างไม่เลือกหน้าในห้างสรรพสินค้าเวสต์เกต กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ก่อนที่ทางการเคนยาจะใช้เวลาถึง 4 วันควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 72 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน

กลุ่มอัล-ชาบับ กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงจากโซมาเลีย ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อการส่งทหารเคนยาเข้าแทรกแซงในประเทศโซมาเลีย ในเบื้องต้นทางการเคนยาระบุว่ามีผู้ก่อการร้ายก่อเหตุดังกล่าวมากถึง 15 คน อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนล่าสุดของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ก่อการร้ายมีเพียง 4 คน และยังสามารถหนีออกไปได้ในวันที่ 2 ของเหตุการณ์ นับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนการจัดการกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของเจ้าหน้าที่เคนยา

8.ศึกสองศาสนา แอฟริกากลาง

ปัญหาในแอฟริกากลางมีต้นต่อมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ที่แก้แค้นกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากนายมิเชล โจโทเดีย ผู้นำกลุ่มมุสลิมติดอาวุธเซเลกา บุกยึดกรุงบังกี เมืองหลวงแอฟริกากลาง ขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งก่อนที่นายโจโทเดียจะตั้งตนเป็นประธานาธิบดีเสียเอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธเซเลกายังคงมีอิทธิพลและก่อเหตุวุ่นวายโดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวคริสต์ ส่งผลให้ชาวคริสต์ตั้งกลุ่มติดอาวุธตอบโต้ด้วยการฆ่าชายชาวมุสลิมไปราว 60 รายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มเซเลกาตอบโต้ด้วยการสังหารชาวคริสต์กว่า 1,000 รายในช่วงระยะเวลาเพียงสองวัน

การแก้แค้นกันไปมาอย่างโหดเหี้ยมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มสมาชิกสหภาพแอฟริกา (เอยู) ส่งทหารเข้ารักษาความสงบโดยมีฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมสนับสนุนกำลังทหาร อย่างไรก็ตาม กองกำลังรักษาความสงบยังคงไม่สามารถหยุดความรุนแรงในประเทศแอฟริกากลางเอาไว้ได้

9.เหตุนองเลือดระหว่างชนเผ่า ซูดานใต้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายซัลวา คีร์อีร์ ประธานาธิบดีซูดานใต้ ผู้มาจากเผ่าดิงกา ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในซูดานใต้ กล่าวหานายริค มาชาร์ อดีตรองประธานาธิบดีซูดานใต้ผู้น้ำกลุ่มกบฏจากเผ่านูเออร์ เผ่าใหญ่อันดับ 2 ที่เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งไป ว่ากระทำการซ่องสุมกำลังเพื่อล้มรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดระหว่างชนเผ่า บ้านเมืองกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนของแต่ละฝ่าย โดยในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 450 ราย

ล่าสุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติส่งกำลังเข้ารักษาความสงบในพื้นที่แล้ว แต่ความรุนแรงดูเหมือนจะยังไม่ยุติลง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าซูดานใต้จะมีชะตากรรมที่เหมือนกับรวันดา ที่เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 500,000-1 ล้านคน

ที่มา:มติชนรายวัน

--------------------------------------------

ห่วงการเมืองวุ่น ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าวูบ !!?

แบงก์มองวิกฤติการเมืองไทยเป็นตัวการฉุดเศรษฐกิจปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเลวร้ายสุด หากยืดเยื้อไม่มีรัฐบาล ส่งออกไม่ถึง 3% จีดีพี อาจโตแค่ 0.5% แบงก์กรุงเทพ เชื่อเศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงปีนี้ ที่ 3% ขณะที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้รัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุน

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้น้ำหนักทางการเมืองในระยะข้างหน้า ซึ่งยังคงเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่น ของภาคเอกชนในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้น ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ ความคืบหน้าล่าสุดมีข้อสรุปในเรื่องของงบประมาณแล้ว ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในเรื่อง shut down ลดลง แต่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดวงเงิน QE ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่อเงินทุนไหลเข้า-ออกในภูมิภาคนี้ ขณะที่ยุโรปนั้นมีความชัดเจน แล้วว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำไปแล้ว ด้านจีนและญี่ปุ่นน่าจะเติบโตได้ในระยะที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ น่าจะส่งผลดีต่อภาคการ ส่งออกของไทย โดยคาดว่าส่งออกปีหน้าเติบโตที่ระดับ 7%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ตั้งสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ขึ้นอยู่กับปัจจัยทาง การเมืองเป็นหลัก ใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่ 1 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557 และรัฐบาลสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับ 7% จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวที่ 4.5% กรณีที่ 2 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกปี 2557 แต่รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และภาคการส่งออกเติบโตในระดับ 5% จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ 3%

กรณีที่ 3 หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไปเกินกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2557 ของภาครัฐล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 หากภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7 โดยที่เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐไม่ขยายตัว อัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5% และกรณีสุดท้าย หากไม่สามารถจัดตั้ง รัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงภาคการส่งออกขยายตัว ไม่ถึง 3% จะส่งผลให้จีดีพีลดเหลือเพียง 0.5%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจใน ช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ กรอบช่องว่างขั้นสูง-ต่ำของแต่ละตัวเลขค่อนข้างจะกว้าง แต่เชื่อว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากภาคการเมืองมีความชัดเจนขึ้นช่องว่างนี้ก็จะค่อยๆ แคบลง

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากยังไม่สามารถมีรัฐบาลในการ บริหารประเทศได้ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ้าง เพราะว่ารัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุน ดังนั้นการมีรัฐบาล จะทำให้การทำงานได้ผลที่ดี เพราะรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

ส่วนนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 3% โดยการส่งออกน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน โดยปัจจัยที่น่าห่วงคือความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนว่าจะพัฒนาและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งน่ากังวลมากกว่าสถานการณ์การเมือง เนื่องจากภาคเอกชนกำลังประสบปัญหาการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น จากการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน และการขาดแคลนแรงงาน หากเอกชนแข่งขันไม่ได้ ก็อาจมีผลให้เศรษฐกิจโตได้ยาก

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////

การเคลื่อนไหวมวลชน ท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชน !!?

โดย.นพคุณ ศิลาเณร

ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในประเทศ ขณะนี้มีอยู่ 2 ความขัดแย้งคือ "ความขัดแย้งหลัก" กับ "ความขัดแย้งรอง"

ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชน" กับ "ระบอบเผด็จการ"

ความขัดแย้งรองคือความขัดแย้งระหว่าง "ขบวนเผด็จการ" กับ "ขบวนเผด็จการ" หรือตามภาษาของธีรยุทธ บุญมี เรียกว่า "พลังอนุรักษนิยม" กับอีกกลุ่มที่ ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล เรียกว่า "กลุ่มทุนใหม่"

การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นความเคลื่อนไหวภายใต้ความขัดแย้งหลักคือ ประชาชนต่อสู้กับระบอบเผด็จการ แต่เนื่องจากการรวมตัวของประชาชนไม่ได้เรียงโมเลกุลทางความคิดกันแบบพรรคปฏิวัติ มวลชนจึงเป็นได้แค่ "กลุ่มผลักดัน" (Pressure Group) คือ ผลักดันให้เผด็จการฝ่ายหนึ่งโค่นล้มเผด็จการอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยหวังว่า ขบวนเผด็จการที่ตนไปผลักดันให้มาโค่นอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับพวกเขา

ความหวังดังกล่าวเป็นความหวังแบบเดียวกับคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ได้มาซึ่งการปกครองแบบเผด็จการทุกๆ ครั้ง

การเคลื่อนไหวนิสิตนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ ถูกทหารฝ่ายตรงข้าม พล.อ. ถนอม กิตติขจร และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เอาไปกิน

การเคลื่อนไหว 6 ตุลาคม 2519 ก็ไปรับใช้ "แนวทางคอมมิวนิสต์" ซ้ายจัดเอาไปกิน

ที่ผ่านมามวลชนทั้งเหลืองและแดงก็ถูก "ปั่นจิ้งหรีด" ให้ต่อสู้กันเองเพื่อให้ขบวนเผด็จการเหลืองแดงสลับกันขึ้นมาครองอำนาจ

แต่อย่างไรก็ตาม พอขบวนเผด็จการ (ไม่ว่าเหลืองหรือแดง) "บรรลุประโยชน์สูงสุด" คือได้ "อำนาจอธิปไตย" โดยไม่สร้างประชาธิปไตยแล้ว มวลชนก็จะทิ้งเผด็จการลง เช่น เมื่อแดงได้อำนาจรัฐมาจากการเลือกตั้ง บรรดามวลชนประชาธิปไตยที่ไปขับเคลื่อนให้เหลืองถึงกับ "สู้ตาย" กันเลยทีเดียว

แต่พอเหลืองได้อำนาจรัฐจากการ "รัฐประหาร" บวก "ตุลาการภิวัฒน์" แล้ว กลับไม่สร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย พรรคเหลือง ผู้นำมวลชนฝ่ายเหลืองจึงถูกประชาชนทิ้ง

วันนี้แม้จะพยายามปั่น พยายามปลุก ระดมมวลชนแบบเดิมอย่างไรด้วยวิธีไหนก็ "จุดไม่ติด" ยกเว้นรัฐบาลปราบปรามก็จะจุดติด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งกลายเป็นแนวร่วม มุมกลับยืดอายุทางการเมืองให้แดง

ทั้งๆ ที่แดงกำลังจะร่วงที่อยู่ได้ใน เวลานี้ก็เพราะหลอกเอากำลังยุทธศาสตร์ คือ ชาวนาให้มาอุ้มตัวเอาไว้นั่นเอง

ก่อนหน้าที่ขบวนเผด็จการ "แดง" ครั้งยังไม่ได้ครองอำนาจอธิปไตยผู้นำมวลชน คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ-การแห่งชาติ (นปช.) ก็ได้รับการสนับสนุน จากมวลชนประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน

จนถึงขนาดชุมนุมขนาดใหญ่กลางเมืองได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

หลายคนสู้ตายถวายหัว พออเมริกา เข้ามาแทรกแซงให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ลงมติสั่งสอนคว่ำรัฐบาลเหลืองลงอย่างง่ายดาย แต่พอแดงได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่สร้างประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเหลือง

ประชาชนจึงค่อยๆ ถอดแบตเตอรี่ ที่สนับสนุน นปช.และพรรคเพื่อไทยลง แบบเดียวกับที่ประชาชนถอดการสนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนต้องสลายกลุ่ม

หลายคนสงสัยเรื่องการแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่าของเหลืองก็ดี ของแดงก็ดี ของข้าราชการทหาร ของข้าราชการพลเรือนก็ดี นายทุนก็ดี กรรมกรก็ดี อาชญากรรม การปล้นธนาคาร ร้านทองเกิดขึ้นทุกวัน ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ทวีความรุนแรงอย่างไม่มีจุดจบว่า เกิดจากสาเหตุใด

ดังนั้น วันนี้ประเทศไทยจึงตกอยู่ใน สภาวะที่เรียกว่า "สถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง" แล้วสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ "ประชาชนไม่ยอมรับการปกครอง" กับสถานการณ์ "ผู้ปกครองหมดความสามารถในการปกครอง"

จนนำมาซึ่ง "อนาธิปไตย" ราวกับสภาพเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก

ทางออกมีทางเดียว คือ ก่อนอื่นประชาชนต้องมีสัมมาทิฐิก่อนว่า การปกครอง 80 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการ ขบวนเหลืองหรือแดงที่เป็น กำลังทางการเมืองให้พวกเขานั้น ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ของผู้ร่ำรวย 2 กลุ่ม ที่ชิงอำนาจทางการเมือง เพื่อมาสูบเลือดเนื้อประชาชนเท่านั้น

ยังมีกลุ่มผลประโยชน์ กรรมกร ชาว ไร่ชาวนา ที่ไม่เคยมีผู้แทนของเขาเข้าไปถือครองอำนาจอธิปไตยร่วมเพื่อสะท้อนประโยชน์ของพวกเขาเลย

การสู้กันของนายทุนผู้ขูดรีดกับชนชั้นสูงผู้กดขี่จะเป็นเรื่องธรรมดาในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ถ้าประชาชน ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรมไปเห็นว่า การปกครองของทั้งเหลืองและแดงที่ไปเป็นกำลังทางการเมืองให้โดยผ่านการเลือกตั้ง หรือตุลาการภิวัฒน์นั้น ยังเป็นการปกครอง แบบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เป็นการปกครอง แบบเผด็จการเสียแล้ว

ระยะเปลี่ยนผ่านนี้ก็จะยาวออกไปโดยไม่จำเป็น ถ้าประชาชนเปลี่ยนการเคลื่อนไหวมวลชนมาเป็นการเคลื่อนไหวประชาชน เพื่อนำมาสู่การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สามารถ แก้ได้

ถ้าไม่เอาสิ่งชั่วออกไปเสียก่อนแล้ว จะเอาสิ่งดีใส่ลงไปได้อย่างไร!

การที่ "ธีรยุทธ" บอกว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล นั้นเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง

ส่วนการที่ ดร.เสกสรรค์ ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลในระบอบเผด็จการว่า ให้บริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ฟังเสียงประชาชนที่หลากหลายทุกขั้นตอน การตัดสินใจเพื่อแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส นั้นเป็นเรื่อง "เพ้อเจ้อ" ราวกับไปขอร้องให้เสือไม่กินเนื้อได้อย่างไร

รวมทั้ง น.พ.ประเวศ วะสี ที่เคยขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองในปี 2540 จนนำมาซึ่งปัญหามาในทุกวันนี้ "ธีรยุทธ" คนเดือนตุลาไร้เดียงสาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เรียกร้องประชาธิปไตยจนบ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พยายามร่วมกันทำผิดหลักวิชาการเมืองด้วยการชวนคนให้ไป "กระจายอำนาจการปกครอง" แทนที่จะให้ "กระจายอำนาจอธิปไตย"

อบต. อบจ. ที่กระจายอำนาจการปกครองไปให้นั้น ยังฆ่ากันไม่จุใจอีกหรือ?

40 ปีแล้วที่คนเหล่านี้ยังก้าวไม่พ้นมิจฉาทิฐิของตนเอง แถมยังมาชวนประชาชนให้หลงทางหนักขึ้นไปอีก

ดังนั้น ถ้าประชาชนเจอพวก "ปฏิกิริยา" กับพวก "ปฏิปักษ์ปฏิวัติ" พร้อมๆ กัน

ประชาชนก็ไม่ต้องไปตีพวกปฏิกิริยาหรอก เพราะพวกปฏิกิริยาจะขัดขาล้มกันไปเอง ตีพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติดีกว่า

ที่พวกปฏิกิริยาอยู่ได้ก็เพราะพวกปฏิปักษ์ปฏิวัตินั่นแหละค้ำเอาไว้ จะเรียกพวกนี้ว่าพวก

เสาค้ำเผด็จการนั่นแหละเหมาะที่สุด!

ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------------

วิกฤตเลือกตั้ง ถ้าไม่เดินหน้า ทั้งหมดคือรัฐประหารแน่นอน !!?

โดย.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง

แต่ ณ วันนี้ ถามใครต่อใครว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ นักวิชาการ นักการเมืองที่เป็นผู้วิเคราะห์-หยั่งเชิงการเมือง ยังไม่มีใครกล้าฟันธง

นักวิชาการรัฐศาสตร์ เขาทำนายว่าวันนี้กระบวนการรัฐประหารเงียบกำลังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แปลว่ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว

- สถานการณ์การเมืองขณะนี้ คิดว่ามีหรือไม่มีการเลือกตั้ง

คงคาดเดาไม่ได้ แต่การที่คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร (กรรมการการเลือกตั้งด้านบริหารงานเลือกตั้ง) ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป อ้างกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.บางมาตรา ว่าการเลื่อนเลือกตั้งเป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้าเราดูเนื้อหาสาระกฎหมาย การเลื่อนการเลือกตั้งใน พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้พูดถึงการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ ในมาตรา 78 วรรค 3 บัญญติไว้ว่า ถ้ามีเหตุสุดวิสัยให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆโดยเร็ว ฉะนั้น เรื่องเลื่อนการเลือกตั้งมันมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.เลื่อนได้เฉพาะกรณีสุดวิสัย และ 2.ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่ต้องประกาศจัดใหม่โดยเร็ว ดังนั้น สิ่งที่กปปส.กำหนด มันทำไม่ได้

ส่วนในแง่การเมืองกลัวว่าจะทำได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ กปปส.เรียกร้องทุกเรื่องทำไม่ได้ในแง่กฎหมาย แต่ในแง่การเมืองมันก็เกิดขึ้นตามนั้นทุกเรื่อง คิดว่ามีอย่างน้อย 2 สัญญาณเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งไม่เกิด คือ 1.ท่าทีของ กกต.ตั้งแต่พบกับ กปปส.หลังจากนั้นก็นำมาสู่การประชุมของ กกต.ที่แถลงว่าจะเอายังไงกับการเลือกตั้ง ในที่สุดก็ย้ำประเด็นว่าการเลื่อนเลือกตั้งทำได้ นี่คือเคสที่ประหลาด 2.ท่าทีของเหล่าทัพ ที่ปลัดกระทรวงกลาโหมบอกว่ากองทัพสนับสนุนการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกว่ากองทัพไม่ได้พูดแบบนี้ เป็น 2 สัญญาณที่ประหลาดมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปไล่ดูสถิติการเลือกตั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2535 คิดว่ามีปรากฏการณ์ประหลาดมาก2 ข้อ คือ 1.จำนวนคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ และการเลือกตั้งปี 2554 คนไปใช้สิทธิเกือบร้อยละ 75 คำถามคือถ้าไม่มีการเลือกตั้ง จำนวนคน 75 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเลือกตั้งมีสูงมากในช่วงหลัง เราจะตัดคนเหล่านี้ออกไปจากการเลือกตั้งไม่ได้

2.ตัวเลขของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมันสูงมากจนน่าตกใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2535 พรรคอันดับ 1 คือสามัคคีธรรมได้ 80 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง หรือได้แค่ 1 ใน 4 ของสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 จาก 360 ที่นั่ง 1 ใน 5 ของสภา ปี 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ 125 ที่นั่ง จาก 400 ที่นั่งไม่ถึงครึ่ง

แต่ตั้งแต่ 2544 เป็นต้นมา พรรคไทยรักไทย ได้ 270 จาก 500 ที่นั่ง คือครึ่งหนึ่ง รอบที่สองได้ 375 จาก 500 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ปี 2550 ได้ 233 จาก 480 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ดังนั้น คะแนนเสียงพรรคอันดับหนึ่งมันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมา 1 ทศวรรษแล้ว การทำให้ประเทศไม่มีการเลือกตั้ง คือการลบคนเหล่านี้ออกไปจากสารบบการเมืองไทย มันทำไม่ได้อีกต่อไป

- 2 สัญญาณที่ดูประหลาด คิดว่าอะไรอยู่เบื้องหลัง

ไม่คิดว่ามีอะไรซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ถ้าเรามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ตั้งแต่มีม็อบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 สังคมไทยถูกครอบงำด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสงครามการเมืองกลางเมืองภายในประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากต่อต้านรัฐบาล มีการปะทะ มีความขัดแย้ง มีการใช้กำลัง ในรอบหลังปี 2549 เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ประมาณ 6 ครั้ง

ถ้าหากมองเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์หลังปี 2549 คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการพยายามให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจ ขณะที่ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในแง่เบื้องหลังตัวบุคคลอาจจะมี แต่ในแง่ภาพรวมตลอด 6 ปี มันคือธีมเดียวกัน

- คือธีมที่เสียงข้างน้อยบนท้องถนนสามารถใช้มวลชนไปกดดันอำนาจรัฐได้

ใช่ ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์ที่เสียงข้างน้อยไปกดดันผู้มีอำนาจรัฐได้ คิดว่า 1.ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน 14 ตุลา 2516 ก็ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวแบบนี้ พฤษภา 2535 ก็ไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นในเวลาที่การเมืองเดินมาถึงการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง 2 ขั้ว ซึ่งการเลือกตั้ง 18 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ชนะจริง ๆ แค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของฝ่าย ซึ่งไม่เคยชนะการเลือกตั้งคือทำอย่างไรให้เสียงข้างน้อยจะดูเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาได้ การเดินออกไปสู่ท้องถนนมันคือการทำให้เสียงข้างน้อยเคลมว่าเป็นเสียงข้างมาก การทำดังกล่าวจะทำได้ในบริบทที่ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งจำนวนคนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้ฝ่ายตรงข้ามมันจะเป็นเครื่องชี้วัดที่แท้จริงกว่าว่าคนที่อยู่บนท้องถนนไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

- แต่มวลชนเสียงข้างน้อยที่อาจารย์บอกระบุว่าเลือกตั้งไปแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

คิดว่าเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะถ้าดูในสังคมไทยหรือสังคมโลกส่วนใหญ่ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเหตุให้นำไปสู่ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเทียบกับไม่มีการเลือกตั้ง

- ถ้ามีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาตามที่ กปปส.สร้างจินตนาการไว้ไหม

เป็นไปได้ แต่มันไม่ใช่ความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติในสังคม แต่เป็นความขัดแย้งซึ่งเกิดจากการจงใจสร้างสถานการณ์ กรณีอย่างนี้เราพูดไม่ได้ว่าการเลือกตั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง สิ่งที่ต้องพูดกลับกัน คือมีคนจำนวนมากจงใจสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อเป็นเหตุไม่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในต่างประเทศก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายสังคม

- ในต่างประเทศจบวิกฤตความขัดแย้งที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้นอย่างไร

ถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ เรื่องแบบนี้ใช้เวลานานกว่าจะจบ เวลา 10 ปี บวก ๆ ขึ้นไป แล้วบางสังคมที่โชคดีจบลงโดยไม่เกิดความรุนแรง แต่หลายสังคมจบด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.ฝ่ายเสียงข้างน้อยใช้อำนาจเผด็จการทหารปราบปรามประชาชนเสียงส่วนใหญ่ เกิดที่อินโดนีเซีย จีน พม่า แบบที่ 2.เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ที่เสียงส่วนใหญ่ทนไม่ได้แล้วใช้การลุกฮือ เพื่อกำจัดเสียงส่วนน้อยแบบถอนรากถอนโคน ดังนั้นการทำให้สังคมไทยไม่เดินไป 2 จุดนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ การมีการเมืองที่ประนีประนอมทุกฝ่ายได้ แล้วอยู่ในกติกาถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในปัจจุบัน

- โทนการเมืองขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะประนีประนอมกันได้ไหม

เสียงส่วนใหญ่แสดงท่าทียอมรับการประนีประนอมได้ เช่น การที่พรรคเพื่อไทยเลือกคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งมีแบ็กกราวนด์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลังปี 2549 และยังไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมืองโดยการโจมตีชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มไหนเลย ซึ่งการหยิบชื่อคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต้องการประนีประนอมของฝ่ายเสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว

ฉะนั้น โจทย์ของการไม่ประนีประนอมในวันนี้อยู่ที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่ยอมปรองดองกับเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีมาก ๆ เพราะคุณกำลังบีบให้เสียงส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก นอกจากลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล ในที่สุด ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง มีนายกฯ มีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันก็คือรัฐประหารเงียบดี ๆ นั่นเอง

- สถานการณ์วันนี้กำลังนำไปสู่รัฐประหารเงียบหรือไม่

กระบวนการริเริ่มแล้ว ไม่รู้มันจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ในแง่กระบวนการการเขี่ยบอล เพื่อนำไปสู่รัฐประหารเงียบมันเริ่มแล้ว และคิดว่ายังไม่หยุดด้วย การเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ลาออก การพยายามเลื่อนการเลือกตั้งของ กกต. คิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ดีมาก ๆ

- การแสดงตัวของ กกต.ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้วิกฤตมันคลี่คลาย

ความขัดแย้งในสังคมไทยมีหลายเรื่อง มันสะสมมาเป็นเวลานาน เป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้ง 2 ก.พ. มันแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่ทำได้ คือหยุดความขัดแย้งที่เป็นการเมืองบนท้องถนนไปสู่คูหาเลือกตั้งแทน เพราะการเลือกตั้งโดยตัวมันเอง สามารถดีไซน์ ออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูป ระดมความเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ว่าจะปฏิรูปสังคมยังไงได้

การเลือกตั้งในสังคมไทยมันเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายปฏิรูปสังคมไทยมาต่อเนื่องมากกว่าที่เราคิด เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ถือว่าเป็นการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่ปฏิรูปผ่านการเลือกตั้ง กฎหมายประกันสังคมก็เกิดมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2533

- ควรมีการเลือกตั้งก่อนแล้วให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากปฏิรูปการเมือง

ผมคิดว่าทำได้ทุกส่วน การปฏิรูปไม่ใช่ให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากทำ แต่โดยการเลือกตั้งมันจะเป็นเครื่องมือในการระดมความเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งประเทศว่าเขาต้องการนโยบายแบบไหน เช่น ช่วงเลือกตั้งที่คุณทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นของพรรคไทยรักไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้าน การโหวตของประชาชนให้คุณทักษิณปีนั้น คิดว่าประชาชนต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุข 30 บาท แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ทำเรื่องการศึกษาฟรีก็เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง

- ไม่จำเป็นต้องนำมวลชนออกมาบนท้องถนนแล้วเรียกร้องการปฏิรูป

ในประสบการณ์ของประเทศเรา การเมืองบนท้องถนนไม่เคยนำไปสู่การปฏิรูปอะไร ยิ่งการเดินขบวนบนท้องถนนในเวลาซึ่งสังคมมีความแตกแยกสูง มีช่องว่างทางชนชั้นสูง การปฏิรูปไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว

- มองการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

เขาไม่ลงเลือกตั้งบนสมมติฐานที่เชื่อว่า 1.จะไม่มีการเลือกตั้ง 2.จะมีนายกฯ และสภารักษาการ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมให้ตัวเองหายไปจากเวทีการเมือง 4 ปีอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้ประเทศนี้ไม่มีการเลือกตั้ง และมีนายกฯ มาจากอำนาจนอกระบบ มาจากการแต่งตั้ง

- เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารเงียบ

ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ต้องจบลงที่รัฐประหารเงียบ ไม่มีทางอื่น เช่น ถ้าคุณต้องการให้มีนายกฯรักษาการซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คุณก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง จะแก้ยังไง คำตอบคือแก้ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทางออกเดียวคือต้องรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

- เมื่อวันนี้ทหารยังอยู่ในที่ตั้ง การเคลื่อนไหวของ กปปส.อะไรคือจุดชี้ขาดว่าชนะหรือไม่ชนะ

ปัญหาของประเทศซึ่งปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเมืองไทยคือการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล หรือการตั้งคนมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งหมดต้องมีพระปรมาภิไธย จะต้องมีการทูลเกล้าฯ ถ้าคุณรัฐประหารล้มรัฐบาลเดิมไป ที่ทำกันในอดีตคือทหารเป็นคนทำ คุณสุเทพไม่สามารถเดินไปทูลเกล้าฯด้วยตัวเองได้ ทหารต้องออกมา แต่จะเป็นเวลาไหนแค่นั้นเองที่ทหารยังไม่ออกมา เพราะเขาสรุปบทเรียนความผิดพลาดปี 2549 ที่ออกมาเร็วเกินไป เมื่อออกมาเร็วเกินไปก็เกิดการตั้งคำถามว่า การที่คุณออกมาโดยอ้างว่ามารักษาความสงบจริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะมันไม่มีความไม่สงบในเวลานั้น

ดังนั้น ถ้าสรุปบทเรียนจากปี 2549 ต้องออกมาในเวลาที่มีความขัดแย้งรุนแรงมาก ๆ ฉากที่เราเห็นทั้งหมด ขู่การปิดล้อม กกต. กกต.บอกจะเลื่อนเลือกตั้ง ป.ป.ช.ที่กำลังรอเล่นงานรัฐบาลกับสภาอยู่ ผมคิดว่าทั้งหมดอยู่ในซีนเดียวกัน คือการยกระดับสถานการณ์ให้อยู่ในภาวะที่คนรู้สึกว่าเกิดความไม่สงบทางการเมือง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง จนยอมรับการรัฐประหารได้ แต่ทั้งหมดจะจบตรงที่การรัฐประหารแน่นอน

- สรุป 2 ก.พ.จะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป

ใช่ เพราะถ้าไม่เดินหน้าเลือกตั้ง ทั้งหมดคือการรัฐประหารแน่นอน ยังไงก็ต้องมีรัฐประหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

คุณร่างกติกาเอง แล้วจะปฏิรูปอะไร !!?

โดย.พงศ์เทพ เทพกาญจนา

 สะท้อนท่ามกลางการเมืองขัดแย้งรุนแรงฝ่ายท่านเป็นคนเขียนกติกาเอง พวกผมไม่เคยทำเลย รัฐธรรมนูญปี50ที่พวกท่านยกร่าง นายกฯไม่เกี่ยวเลย

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมืองที่ขยับเข้าใกล้คำว่า "สงครามกลางเมือง" เข้าไปทุกที ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมีถ้อยคำ วลี ที่เป็นเหตุผลสนับสนุนและอธิบายจุดยืนของฝ่ายตนมากมาย

บางเหตุผลก็พอฟังได้ แต่หลายเหตุผลก็บิดเบือน...

การรู้เท่าทันเหตุผลเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะรู้เท่าทันได้ ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานการณ์ ณ ปัจจุบันเสียก่อน

แต่ประวัติศาสตร์ก็มีหลายด้าน หลายมุมมอง วันนี้ลองมาฟังมุมมองของคนในรัฐบาลอย่าง พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับภาระหนักอึ้งในช่วงนี้ ทั้งงานด้านกฎหมายและการปฏิรูปประเทศ

เราไม่เคยร่างกติกา

ประเด็นที่ พงศ์เทพ ตั้งคำถามย้อนกลับก่อนที่จะตอบคำถามแรกเรื่องโมเดล "สภาปฏิรูปประเทศ" ก็คือ เขาไม่รู้ว่า "กติกาการเลือกตั้ง" ที่ผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำ กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องการให้ปฏิรูปและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ถึงขนาดยอมให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ได้นั้น หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะแกนนำ กปปส.คือผู้ที่ยกร่างกติกาการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

"ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ร่วมยกร่าง นักวิชาการที่ร่วมร่าง ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็มีกติกาการเลือกตั้งด้วย วันนี้นักวิชาการเหล่านั้นบางส่วนก็ขึ้นเวที กปปส. บางส่วนก็อยู่ในองค์กรอิสระ เช่น ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

"ตอนที่จะมีการยกร่างก็มีการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองไปคุยในลักษณะขอรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคก็เสนอรูปแบบเขตเดียวคนเดียว ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแบบพวง (เขตใหญ่ 3 คน) ปรากฏว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยกร่างกติกาการเลือกตั้งไปแบบนั้น รวมทั้งระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นบัญชีเดียวทั่วประเทศ แต่เป็นแบบสัดส่วนแยกรายภาค"

พงศ์เทพ อธิบายว่า กติกานี้ใช้ในการเลือกตั้ง 1 ครั้ง เมื่อ 23 ธ.ค.50 พรรคพลังประชาชน (พรรคใหม่ของสมาชิกพรรคไทยรักไทย) ก็ชนะการเลือกตั้ง ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งปี 54 ก็แก้รัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว และในระบบบัญชีรายชื่อก็กลับไปเป็นบัญชีเดียวทั่วประเทศ แต่เพิ่มเป็น 125 คน

"กติกาใหม่นี้เลขาธิการ กปปส. คือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ นี่แหละเป็นคนแก้เอง ทีนี้พอมาพูดถึงการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ผมก็เลยไม่เข้าใจว่าจะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปไปเป็นแบบไหนอีก เพราะฝ่ายท่านเป็นคนเขียนกติกาทั้งหมด พวกผมไม่เคยทำเลย แม้แต่กติกาการเป็นรัฐบาลรักษาการหลังยุบสภาเราก็ไม่ได้เป็นคนยกร่าง แต่เป็นรัฐธรรมนูญปี 50 ที่พวกท่านยกร่าง ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย"

"วันนี้คุณสุเทพบอกว่ามีมวลมหาประชาชนสนับสนุนท่าน ถ้าหมายความว่าเป็นเสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับท่าน ทำไมกลุ่มของท่านไม่ไปสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง จะได้ชนะเลือกตั้ง จากนั้นท่านจะทำอะไรก็ได้ ปฏิรูปอะไรก็ได้ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้ ได้ปฏิรูปอะไรบ้าง วันนี้ท่านบอกปฏิรูปได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ตอนนั้นท่านอยู่ในอำนาจ 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปี ก็น่าจะทำเสร็จแล้วสิ"

ปฏิรูป...งานระยะยาว

พงศ์เทพ ซึ่งเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษา เล่าว่า เรื่องปฏิรูปนั้น จริงๆ แล้วไม่สามารถทำให้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียงสั้นๆ

"ผมเคยรับราชการในศาลยุติธรรม เคยผลักดันเรื่องปฏิรูปในองค์กรศาล ใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะเห็นผลบางส่วน เช่น ให้สามารถตรวจสอบ ก.ต. (คณะกรรมการตุลาการ) ได้ ตอนที่รับราชการอยู่ผมทำเรื่องนี้ แต่เสนอไปก็เงียบ มาเป็นผลในเวลาหลายปีต่อมา ซึ่งต้องใช้เวลานาน"

"หรืออย่างการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 40 จากนั้นก็มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แต่วันนี้ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ถามว่าการกระจายอำนาจเสร็จหรือยัง เพราะวันนี้ก็ยังพูดกันอยู่ แม้แต่บนเวทีของ กปปส.เอง"

"หรือการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีการตั้ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญปี 40 ทำไมวันนี้ยังต้องมาพูดถึงปัญหาการทุจริตกันอยู่ ทั้งๆ ที่เราเขียนกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.เยอะมาก สร้างกลไกที่ดีที่สุดให้ ผมว่าต้องย้อนกลับไปดูว่ากลไกมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมเราให้อำนาจ ป.ป.ช.เต็มที่จึงยังมีการทุจริตกันอยู่ คดีค้างเก่าก็เยอะ และเยอะกว่านี้มากช่วงก่อนที่จะแยกตั้ง ป.ป.ท. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม) ซึ่งการที่มีคดีค้างเก่ามากย่อมมีผลต่อการปราบปรามการทุจริตด้วย"

พงศ์เทพ สรุปแนวคิดของเขาว่า การปฏิรูปประเทศไม่ว่าเรื่องอะไร ย่อมเนรมิตให้เสร็จไม่ได้ใน 1-2 ปี แต่บางอย่างบางประเด็นที่ทำได้ทันที ก็ได้ทำไปแล้ว

"จริงๆ การปรับระบบการเลือกตั้งผมว่าทำได้เร็ว แต่ไม่ใช่ปรับให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งนะ เพราะคงไม่มีเหตุมีผลเพียงพอ ถ้าปรับเพื่อให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่ รับผิดชอบต่อคนที่ลงคะแนนให้ อย่างนี้พอทำได้ภายใน 1 ปี แต่ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญด้วย ไม่รู้ต้องไปเชิญศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าทุกคนเห็นตรงกันหมด แต่ศาลท่านไม่ให้แก้จะทำอย่างไร"

"จริงๆ แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มี 3 คนที่ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย แล้วก็มาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ที่อำนาจบังคับบัญชาคนทั้งประเทศในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างนี้น่าจะเขียนเลยว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบก่อน แต่นี่ในรัฐธรรมนูญกลับไม่เขียนไว้ ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติที่ระบุไว้ชัดว่าสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไม่มีเขียนไว้ ก็แสดงว่าไม่ต้องส่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นผล เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรเสียก็ต้องขัดกับรัฐธรรมนูญเดิมอยู่แล้ว"

"ทุกวันนี้มีการแสดงความเห็นที่ผมเองก็งงๆ อยู่เหมือนกัน เช่น บางท่านพูดแบบไม่เชื่อถือประชาชน ต่อต้านการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วยซ้ำ แต่กลับจะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างนี้มันจะขัดกันไหม"

สภาปฏิรูป...แค่ตุ๊กตา

กับโมเดลสภาปฏิรูปประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และถูกวิจารณ์ในทางลบค่อนข้างมาก พงศ์เทพ บอกว่า ทุกฝ่ายต้องการเห็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปและเริ่มได้เร็ว รัฐบาลจึงให้ภาคราชการไปพิจารณารูปแบบหลังจากที่มีเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนเสนอประเด็นขึ้นมา ฝ่ายราชการก็ไปทำมาว่าสมาชิกสภาปฏิรูปจะมาจากไหน มีกระบวนการได้มาอย่างไรในแบบที่เป็นไปได้ แล้วก็เสนอขึ้นมา จากนั้นก็ส่งให้ภาคส่วนต่างๆ ได้พิจารณา รวมทั้งภาคเอกชนด้วย แต่ที่เสนอยังถือเป็นเพียงตุ๊กตาว่าถ้าเราตั้งตัวแทนสาขาอาชีพไว้ที่ 2,000 คน ที่มาจะเป็นอย่างไร แล้วสมาชิกสภาปฏิรูปจริงๆ ที่มี 499 คน จะมาอย่างไร

"ฝ่ายราชการก็เสนอมาให้มีคณะกรรมการสรรหา 11 คน ประกอบด้วยหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งกองทัพ ให้คนเหล่านี้มาวางกรอบตัวแทนสาขาอาชีพ มิฉะนั้นก็จะครหาว่ารัฐบาลเลือกเองอีก จะเห็นได้ว่ารูปแบบที่เสนอ รัฐบาลไม่ได้ยุ่งเลย"

"แต่พอเปิดเผยออกมาก็มีคนตั้งข้อสงสัย เราอยากจะชี้แจงว่านี่เป็นแค่ตุ๊กตา คณะกรรมการสรรหา 11 คน จะเพิ่มเป็น 12-13 คนก็ได้ หรือตัดเหลือ 9 คนก็ได้ ก็สามารถแสดงความเห็นเข้ามา แต่ไม่มีคนของรัฐบาลอยู่ด้วยแน่นอน สาเหตุที่เราต้องมีตุ๊กตา เพราะไม่อยากพูดลอยๆ ว่ามีสภาปฏิรูป แล้วแต่ละคนก็คิดไปคนละอย่าง"

"ที่ผ่านมามีผลการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านต่างๆ มากมาย สิ่งไหนที่ทำได้เลยก็ทำไป ที่ทำไปแล้วก็มี เช่น ปฏิรูปการศึกษา แค่พูดคงไม่ได้ ต้องมีคนไปทำต่ออีกเยอะ อย่างการยกระดับความรู้เด็กไทย จะทำอย่างไร ไปอ่านรายงานดูได้ บางเรื่องก็เขียนไม่ชัดเจน ต้องศึกษาเพิ่มก็มี หรือให้คนไปทำต่อ แต่บางอย่างที่มีรายละเอียดก็ทำได้ทันที"

ส่วนที่มีการเสนอให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันว่าจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไม่บิดพลิ้วนั้น พงศ์เทพ บอกว่า เมื่อคนไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่าจะปฏิรูป ทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เห็นด้วย ก็ต้องมาขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งก็ตาม

ปฏิรูปคน-ค่านิยม

ในฐานะที่คร่ำหวอดในแวดวงกฎหมาย และเคยผ่านงานปฏิรูปมา พงศ์เทพ บอกว่า การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปคน ค่านิยม และทัศนคติ

"อย่างประเทศสิงคโปร์ เมื่อก่อนมีปัญหาทุจริตมาก แล้วเขาก็แก้ทั้งระบบ แล้วเอาคนดีเข้าไปทำงาน สุดท้ายก็แก้ทุจริตได้สำเร็จ ผมอยากถามว่าถ้าข้าราชการเงินเดือนไม่พอกิน จะไม่ให้โกงคงยาก เพราะฉะนั้นนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ต้องปรับปรุงเรื่องเงินเดือนข้าราชการด้วย อย่างนี้เป็นต้น"

"นอกจากนั้นยังต้องปฏิรูปทัศนคติของคนในประเทศ ค่านิยมของคน เช่น การทุจริต มันมีทั้งผู้รับและผู้ให้ ผู้รับมีหลายส่วน เช่น นัการเมือง ข้าราชการ องค์กรอิสระ ผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหมด ทุกคนมีโอกาสใช้อำนาจอย่างบิดเบือนทั้งสิ้น ส่วนผู้ให้ก็อาจจะเป็นภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไป การทุจริตนั้น ถ้าไม่มีผู้ให้ก็ไม่เกิดขึ้น ขณะที่คนรับ แค่เรียกรับก็ผิดแล้ว ด้วยเหตุนี้จะแก้ทุจริตจึงต้องแก้ทั้ง 2 ด้าน เพราะมีด้านคนให้ด้วย เรื่องแบบนี้จึงอยู่ที่ค่านิยมด้วยเช่นกัน"

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลเสนอโมเดลปฏิรูปข้ามขั้น เพราะยังไม่ได้เปิดเวทีกลางให้คู่ขัดแย้งร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น พงศ์เทพ บอกว่า เรื่อง "เวทีกลาง" เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอขึ้นมา รัฐบาลไม่ได้เสนอเอง รัฐบาลแค่อำนวยความสะดวกและคิดรูปแบบเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งรูปแบบที่ว่านี้เป็นเพียงตุ๊กตา สามารถไปคิดรูปแบบอื่นมาก็ได้

"เราก็ช่วยคิดให้ ไม่อย่างนั้นเอกชนก็เหนื่อย คุณขับเคลื่อนเองทั้งหมดก็ได้ รัฐบาลไม่ยุ่ง แต่พอรัฐบาลเข้าไปช่วย ก็จะสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือของรัฐได้ งบประมาณก็มีสนับสนุน ไม่ต้องเสียเงินเอง"

ในประเด็นที่มีนักกฎหมายหลายสำนักระบุว่า ข้อเสนอตั้งสภาปฏิรูปของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เพราะมีการใช้งบกลางและผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปนั้น พงศ์เทพ ยืนยันว่า เราไม่ได้ตั้งงบใหม่ ไม่ได้ใช้งบกลาง รัฐบาลดูรัฐธรรมนูญหมดแล้ว ส่วนกลไกที่จะทำงานก็ดูแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้เรื่องใดต้องขออนุญาต กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก่อน เราก็ขอ

สำหรับเรื่องการผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป เราไม่ได้ผูกพัน เราแค่ให้รัฐบาลชุดต่อไปพิจารณา ถ้าคิดว่าดีก็เดินต่อ ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย เชื่อว่าจะเป็นน้ำหนักมากขึ้นในการสานงานต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------------

ไฟการเมืองลามข้ามปี รัฐบาล ตั้งรับ-ป.ป.ช.รุก แดง เริ่มเคลื่อนไหว..!!?

ปี 2556 เป็นปีที่ประเทศไทยฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการ โดยเฉพาะประเด็นเสียวไส้อย่างความขัดแย้งในข้อพิพาทพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กรณีเขาพระวิหาร ที่ศาลโลกมีกำหนดตัดสินนั้น...หลายฝ่ายเกรงว่าจะก่อเกิดความวิบัติให้ไทยและกัมพูชา

หากแต่ด้วยทีมงานฝ่ายไทยที่มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการต่อสู้คดีสามารถคลี่คลายความอึมครึมลงไป ด้วยการแจกแจงข้อต่อสู้ในชั้นศาล กระทั่งผู้พิพากษาศาลโลกยอมรับ

ผลการพิจารณาของศาลโลกจึงออกมาในลักษณะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ

ชายแดนกลับคืนสู่ความสงบ การค้าการขายเป็นไปตามปกติ ความบาดหมางระหว่างชาติลดน้อยถอยลงไป

แต่ขณะเดียวกัน การเมืองภายในประเทศไทยกลับปะทุขึ้นถึงระดับจุดเดือด !

เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนิรโทษกรรมเฉพาะชาวบ้านให้กลายเป็นฉบับสุดซอย ...นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ทำให้ฟืนที่เคยเปียกกลับชุ่มโชกไปด้วยน้ำมัน และปะทุกลายเป็นม็อบจำนวนมากออกมาไล่ต้อนรัฐบาล จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายก็ไม่ยุติ เพราะม็อบในนาม กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขับเคลื่อน "เป่านกหวีด" ไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี กดดัน บีบคั้นจน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกับร้องไห้ และเปลี่ยนท่าทีจาก "ถอย" มาเป็นการ "ตั้งรับ"

"ตั้งรับ" ด้วยความเป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศว่าต้องทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย

ความตั้งใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศเอาไว้นั้น อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้สะดวกนัก เพราะแม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็พยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีอันเป็นไป...เลื่อนออกไปก่อน

ดังนั้น ความวุ่นวายจึงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยกขบวนเข้าปิดล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงไว้ กระทั่งต้องเปิดทางให้ผู้สมัครเข้าแจ้งความต่อ สน.ดินแดง เป็นหลักฐานว่ามาสมัครและหาทางจับสลากเลขหมายผู้สมัคร

ความรุนแรงเพิ่มดีกรีขึ้นเมื่อ กลุ่ม คปท.เข้าล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง แทนกลุ่มม็อบราชดำเนิน และเปิดฉากบุกและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บกว่า 20 นาย ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บมากเป็นร้อย

มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนการนัดหมายจับสลากที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง รัฐบาลได้ทำหนังสือถึง กกต. ขอให้เปลี่ยนแปลงสถานที่จับสลากโดยประสานงานกับฝ่ายทหารเพื่อขอใช้สถานที่ของกองทัพ แต่ กกต.ปฏิเสธ

สุดท้าย กกต. ประชุมกันและมีมติขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไป

หากแต่รัฐบาลโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงสวนกลับ

รัฐบาลไม่ยินยอม ... กกต.จึงมีมติอีกครั้ง เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระที่นัดหมายกำหนดการต้นเดือนมกราคม 2557 ...ลับดาบเตรียมลงทัณฑ์

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงแจ้งข้อหา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา โดยเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีผู้กระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 กรณีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงเรียกนายสมศักดิ์และนายนิคมมารับทราบข้อหาในวันที่ 10 มกราคม 2557

ส่วนของ ส.ส.และ ส.ว. 381 คน ที่ถูกร้องในข้อหาเดียวกัน เพราะไปโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.จะสรุปสำนวนและมีมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 381 คน ในวันที่ 7 มกราคม 2557 ได้หรือไม่?

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ขยับเกี่ยวกับคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในช่วงเวลาเดียวกัน

น่าสังเกตว่า การขยับขององค์กรอิสระดังกล่าวล้วนมีผลสะเทือนต่อนักการเมือง พรรคการเมืองซีกรัฐบาล และกระทบต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ก่อเกิดเป็นกระแสข่าวตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมาอีกครั้ง

จับตาแวดวงฝ่ายทหารต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง พบว่า ฝ่ายทหารพยายามวางตัวเป็นกลาง

การพบปะระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าผู้บัญชาการกองทัพไทย และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้รับการถ่ายทอดจากปากคำของนายสุเทพว่า "ทหารจะยืนข้างประเทศไทย"

การประกาศจุดยืน "เป็นกลาง" แม้จะทำให้รัฐบาลเบาใจลงไปบ้าง แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ชุมนุมก็นำไปอ้างว่า "ทหารไม่เข้าข้างรัฐบาล"

หน่วยงานที่ถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างหนักจึงเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับกองทัพ แม้ว่าภายหลังฝ่ายทหารนำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. จะจัดเวทีที่กองทัพไทยและเสนอให้ กปปส.แจกแจงวิธีที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นโดยสุจริต แต่นายสุเทพก็ยืนยันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากการรักษาการ

ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ แล้วอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญปี 2550 มาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หากแต่วิธีการดังกล่าวรัฐบาลรับไม่ได้ และยังเดินหน้าให้ทุกฝ่ายไปเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ขณะเดียวกัน ได้บังเกิดกลุ่มชนชั้นนำบางส่วน ต้องการเห็นทุกอย่างยุติลง และสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาล จึงพยายามจะหาคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปประเทศ เพื่อถ่วงดุลข้อครหาว่า สภาปฏิรูปประเทศที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีคำสั่งแต่งตั้งนั้น "เอียงไปทางรัฐบาล"

กลุ่มคนดังกล่าวได้เสนอชื่อ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับการยอมรับให้เข้ามาทำหน้าที่อันหนักอึ้งนี้

ขณะที่ทุกอย่างกำลังเคว้งคว้าง กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมองว่า รัฐบาล "ตั้งรับ" มากเกินไป ปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ดำเนินการรุกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุด นายสุเทพได้ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่หลังปีใหม่ที่จะถึง

ณ วันนี้ แม้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะบอกให้กลุ่มคนเสื้อแดงอดทน แต่เริ่มมีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ออกอาการกระสับกระส่าย

ร่ำๆ ว่าอยากจะระดมพล

การเมืองปี 2556 จึงลุกลามข้ามไปสู่ปี 2557 ทุกอย่างแลดูเลวร้ายลง เพราะคู่ขัดแย้งยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

ที่มา.มติชนออนไลน์
-----------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556

iPeace เชิญลงชื่อ-ออกแถลงการณ์ผลักทุกฝ่ายเลี่ยงสงครามกลางเมือง !!?

29 ธ.ค.2556 เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา กลุ่ม iPeace ซึ่งระบุตัวตนเป็นเครือข่ายสามัญชนที่ปรารถนาจะเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติวิธี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงชื่อในเฟซบุ๊ก (คลิ๊กที่นี่) เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุข้อเสนอต่อส่วนต่าง อาทิ ผู้ชุมนุม กปปส. รัฐบาล ตำรวจ สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้



แถลงการณ์กลุ่ม iPeace ฉบับที่ 1

กลุ่ม iPeace เป็นเครือข่ายสามัญชนที่ปรารถนาจะเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติวิธี และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน เราเห็นว่าการบ่มเพาะ “ความเกลียดชัง” ไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในทิศทางที่เป็นอยู่ เราก็กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองในไม่ช้า

เราเห็นว่า เรายังคงมีความหวังแม้อาจจะยังดูริบหรี่ ว่าเราจะก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ ด้วยความเชื่อมั่นในการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และใส่ใจต่อชีวิตทุกชีวิตที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตย เรามีความเห็นและข้อเสนอต่อกลุ่มต่างๆ เพื่อจะผ่านภาวะตึงเครียดอันอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งนี้ไปด้วยกัน

ข้อเสนอต่อผู้ชุมนุม กปปส. และเครือข่าย
หากผู้ชุมนุมยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวต่อไป

1. ไม่สนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงและใช้อาวุธ และมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อผู้ชุมนุมกลุ่มที่ไม่ยึดมั่นในแนวทางสันติอหิงสา

2. ใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสาร ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับคุณภาพการชุมนุมของกลุ่มตนเองไว้

3. ออกจากพื้นที่แห่งความเกลียดชังที่บ่มเพาะโดยแกนนำ มีสติในการเข้าร่วมชุมนุม ไม่ปล่อยให้อารมณ์เกลียดชังเข้าครอบงำจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่เห็นต่าง

4. ส่งสารถึงแกนนำและคนอื่นๆ ว่า เราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการก่อความรุนแรงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราไม่ต้องการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ใช้หรือมีแนวโน้มยั่วยุฝ่ายตรงข้ามให้ใช้ความรุนแรง

5. ไม่นำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่ม iPeace รู้สึกกังวลต่อการที่ผู้ปกครองนำเด็กไปชุมนุมด้วยเป็นนิจ หรือการให้เด็กกล่าวปราศรัย หรือร้องเพลงบนเวทีปราศรัย

6. งดใช้ hate speech หรือถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อผู้คิดต่างในทุกกรณี

ข้อเสนอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ผบช.

1. ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างอดทนอดกลั้น กลุ่ม iPeace ขอเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจว่า ควรสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่บอบช้ำจากการทำงานในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา มาปฏิบัติการ และควรเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ให้บ่อยขึ้นเพื่อป้องกัน"การหลุด" จากวินัยโดยไม่ตั้งใจ

2. ในประเทศประชาธิปไตย เมื่อผู้ชุมนุมบุกพื้นที่ที่ตกลงกันแล้วว่าห้ามล่วงล้ำ (protest permit) ถือว่าผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนควบคุมผู้ชุมนุมได้ ตั้งแต่เจรจา ใช้เสียงรบกวน ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา หรือสารเคมีที่ทำให้แสบตา สำหรับกระสุนยางนั้น ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ถือว่ามีใช้กัน เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ชุมนุมอาจมีกระบอกหรือปืนไฟฟ้าช็อต (Taser) จากสถานการณ์ที่ปรากฏ กลุ่ม iPeace เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ถือว่ายังอยู่ในมาตรฐานสากล ตราบเท่าที่ปืนที่ยิงแก๊สน้ำตาได้มาตรฐานและไม่ทำให้คนตาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้แก๊สน้ำตาผ่านการฝึกและมีอุปกรณ์ป้องกันตัวในการควบคุมการชุมนุมที่ได้มาตรฐาน

3. แม้การใช้กระสุนยางจะมีการใช้กันเป็นขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามหลักสากล (ขั้นสูงสุด) แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้กระสุนยางจะยิ่งส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงโต้ตอบ กลุ่ม iPeace เห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรกลับไปที่การใช้แก๊สน้ำตา แต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และถี่กว่าเดิม

ข้อเสนอต่อ กทม.

1. กทม. ควรให้ความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในกรุงเทพฯ ดังระบุอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1. ศอ.รส. ในฐานะผู้ดูแลสถานการณ์ของรัฐบาล จะต้องไม่โหมกระพือความโกรธแค้นของคู่ขัดแย้ง โดยจะต้องยืนยันหลักการประชาธิปไตย การควบคุมฝูงชนตามหลักการสากล และมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการและผู้ชุมนุม

2. ทำความจริงให้ปรากฏ ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง ทั้งกรณีเหตุการณ์ที่รามคำแหงเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2556 เหตุการณ์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงสถานที่สมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. และล่าสุดวันที่ 28 ธ.ค. ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ กลุ่ม iPeace เสนอว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาความจริง (inquiry committee) ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ถือเป็น “คู่กรณี” จึงต้องมีกระบวนการสอบสวนควบคู่กับกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ และจะต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบโดยเร็วหรือตามกรอบเวลาที่กำหนด

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1. ควรปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม

ข้อเสนอต่อสื่อมวลชน

1. นำเสนอข่าวสารโดยตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวัง มีจริยธรรมในการทำข่าว ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการโหมกระพือความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความรุนแรง

ข้อเสนอต่อพี่น้องประชาชนกลุ่มอื่นๆ

1. อดกลั้นต่อพฤติกรรมของผู้ชุมนุม กปปส. และเครือข่าย กลุ่ม iPeace เห็นว่าการโหมกระพือความเกลียดชังใส่กันรังแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง เราควรเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมก้าวออกมาจากการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรง มากกว่าผลักเขาให้รวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนาขึ้น

2. การ "เอาคืน" ด้วยความรุนแรง จะนำพาให้สถานการณ์สับสนวุ่นวาย และทำให้รัฐบาลรักษาการเผชิญความยากลำบากในการดูแลสถานการณ์มากขึ้น อนึ่ง รัฐบาลรักษาการยังมีหน้าที่ในการดูแลสวัสดิภาพทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่มาร่วมชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

3. กลุ่ม iPeace เห็นว่าทางออกในเวลานี้ คือการยืนยันการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขอเสนอให้ร่วมกันสร้างระบบกลไกเครือข่ายภาคประชาชนในทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังทั้งการเลือกตั้งและการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในเชิงระบบและเชิงนโยบาย

4. แสดงตัวว่าเราต้องการปกป้องประชาธิปไตยด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สนับสนุนการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหน ไม่สนับสนุนให้มีการเผชิญหน้าในทุกกรณี

กลุ่ม iPeace ยินดีเปิดรับความคิดเห็นจากเพื่อนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในการเสนอแนวทางเพื่อหยุดความรุนแรง เพื่อนำเสนอต่อสังคมต่อไป

ด้วยเคารพในทุกชีวิตผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

29 ธันวาคม 2556

กลุ่ม iPeace

1. กิตติชัย งามชัยพิสิฐ
2. จันจิรา สมบัติพูนศิริ
3. ชาญชัย ชัยสุขโกศล
4. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
5. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
6. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
7. ภัควดี วีระภาสพงษ์
8. วิจักขณ์ พานิช
9. วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์

ที่มา.ประชาไท
----------------------------------

หน่วยทหารมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ชนะเลิศหน่วยทหารทรหด.

ผบ.ทบ.มอบรางวัลหน่วยทหารทรหด กองทัพบก ประจำปี 2557 และให้โอวาทกำลังพล โดยหน่วยที่ชนะเลิศในปีนี้ได้แก่ หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร




ผบ.ทบ.ประดับเครื่องหมายหน่วยทหารทรหด เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 (ที่มา: ททบ.5)

29 ธ.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลและประดับเครื่องหมาย หน่วยทหารทรหด กองทัพบก ประจำปี 2557 สำหรับหน่วยที่ชนะเลิศการแข่งขันในปีนี้ ได้แก่ หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ทม.รอ.) อันดับ 2 กองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) และอันดับ 3 กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) ทั้งนี้ตามรายงานของมติชนออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวให้โอวาทกำลังพล ว่า บ้านเมืองของเรามีภัยคุกคามในหลายรูปแบบที่ต้องเผชิญหน้า ในฐานะที่เป็นฝ่ายความมั่นคง ต้องเตรียมหน่วยให้มีความพร้อม รับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่างานป้องกันชายแดน ภารกิจในการป้องกันประเทศ ภารกิจในการป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน การรักษาความสงบภายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งภารกิจต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญกับประเทศชาติของเราอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาความมั่นคงนั้น มิใช่หน้าที่ของเราแต่เพียงฝ่ายเดียว คงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน หน้าที่ของส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยงข้องในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้บรรลุ ผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศชาติได้ก้าวพ้นอันตรายต่างๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงต้องมีการแสวงหาความร่วมมือของส่วนราชการทุกส่วนราชการ และความร่วมมือกับมิตรประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะความรักความสามัคคีของพวกเราทุกคนในกองทัพ และแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ทหารเรานั้นมีสิ่งที่ตอบแทนประเทศชาติได้เพียงอย่างเดียวคือ ร่างกาย จิตใจ พร้อมที่เสียสละประเทศชาติ ได้ตลอดเวลา

"ปีนี้ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย เข้ามาร่วมในการทดสอบและแข่งขันด้วย ซึ่งผลการปฏิบัติเป็นที่ยอมรับ ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ในส่วนของกำลังพลทุกหน่วยที่ขึ้นตรงกับกองทัพบกทุกคนได้มีการเตรียมการที่ดี อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังพลได้เชื่อมั่นในกองทัพบก ว่า จะสั่งในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม ตามกฎกติกา พร้อมทั้งให้ระลึกอยู่เสมอว่าเรามีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชนได้อย่างไม่รู้จักเหนื่อยและท้อแท้ ชีวิตนี้ทหารตายแทนประเทศชาติได้อย่างเดียว ชีวิตจิตใจร่างกายสละได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เราหวังว่า กองทัพจะมีความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อนำพากองทัพและประเทศชาติให้มีความปลอดภัย พร้อมเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม ซึ่งกองทัพบกยังเป็นอนาคต และที่พึ่งของประชาชนได้ทุกโอกาส" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการแข่งขันหน่วยทหารทรหดประจำปี 2557 กรมยุทธศึกษาทหารบก ได้จัดการแข่งขันขึ้นที่ ที่ศูนย์การทหารราบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 25 ต.ค. ถึง 19 พ.ย. เพื่อทดสอบขีดความสามารถของกำลังพลทางด้านความรู้ ทักษะทางทหาร และความชำนาญเฉพาะหน้าที่เป็นรายบุคคล รวมทั้งการปฏิบัติการเป็นรายหน่วย ซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการฝึก ซึ่งการแข่งขันหน่วยทหารทรหดนั้น ได้มีการทดสอบผู้เข้าแข่งขันใน 2 ขั้นตอน คือ ทดสอบความรู้พื้นฐานการปฏิบัติทางยุทธวิธี ขีดความสามารถเป็นบุคคลและเป็นหน่วย และ ทดสอบการปฏิบัติทางยุทธวิธีในสถานการณ์ต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง อาทิ การซุ่มโจมตี ภายใต้ภาวะกดดัน โดยมีผู้ทำคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ขึ้นไป ได้รับการประดับเครื่องหมายทหารทรหดและใบประกาศนียบัตรจำนวน 114 นาย

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------

วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เกียรติตำรวจของไทย..สัญญาณพร้อมรบจากอัศวินแหวนเพชร.

เมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ. 2500 ยุคที่อธิบดีกรมตำรวจชื่อ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ถือได้ว่าเป็นยุคที่ตำรวจเฟื่องฟูที่สุด เป็นยุคเริ่มแรกที่ตำรวจมีการพัฒนาอย่างมากมาย ทั้งตำรวจพลร่ม, ตำรวจพิเศษหน่วยต่างๆ ถึงขั้นมีตำรวจยานเกราะด้วยซ้ำ ในยุคนั้นการปราบปรามคนร้ายเป็นไปด้วยความเฉียบขาด เพราะคนร้ายต่างก็มีอาวุธที่ตกค้างมาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอยู่มากพอสมควร ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ก็จะเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนและอิทธิพลของอันธพาลในยุคนั้นได้ไม่น้อย กองกำลังตำรวจในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นกองทัพที่สำคัญที่ปกป้องและนำความสงบมาสู่พระนครได้มากทีเดียว และในยุคนั้นนายตำรวจที่ถือเป็นมือปราบเหล่าร้ายก็จะได้รับการปูนบำเน็จ และมอบแหวนประดับเพชรรูปโลห์ให้เป็นขวัญกำลังใจ เราจึงเรียกตำรวจในยุคนี้ว่า “ยุคอัศวินแหวนเพชร”

หลังจากการรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ในวันที่ 16 กันยายน 2500 กองกำลังของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็ถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ นับจากนั้นมาตำรวจก็กลายเป็นกองกำลังที่เสมือนอยู่ใต้อาณัติของกองทัพทหารอยู่กลายๆ ประกอบกับประเทศไทยถูกปกครองโดยอำนาจทหารที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังตลอดมา จึงทำให้พัฒนาการของตำรวจค่อนข้างช้าและไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร แต่ทว่าเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประเทศไทยก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกเช่นเดียวกัน ตำรวจได้รับการปรับปรุงพัฒนาจนมีศักยภาพแตกต่างจากอดีตอย่างมากมาย ทุกวันนี้ตำรวจมีหน่วยย่อยต่างๆ ที่ถือเป็นกำลังรบพิเศษไม่ได้ด้อยกว่ากองทัพทหารแม้แต่น้อย ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ และความสามารถก็ใกล้เคียงกัน ถ้าเป็นการรบในเมืองแบบพื้นที่จำกัด ตำรวจกลับมีความเชี่ยวชาญมากกว่าทหารด้วยซ้ำ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฟื้นฟูความเข้มแข็งให้กับกองทัพตำรวจอีกครั้งก็ไม่น่าจะผิดนัก

การเสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงของ ดต. ณรงค์ ปิติสิทธิ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา ยังความเจ็บช้ำน้ำใจต่อพี่น้องตำรวจไทยอย่างถึงที่สุด ม๊อบกบฎได้ดูหมิ่นเหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจอย่างสุดที่จะทนทานได้ เอาชุดตำรวจมาเหยียบย่ำ เอาเท้าชี้ไปที่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เหลือจะทานทนได้สำหรับเกียรติภูมิของความเป็นตำรวจ ด้วยเหตุนี้ภายหลังที่มีการเสียชีวิตของ ดต. ณรงค์ ปิติสิทธิ์จึงมีสิ่งบอกเหตุหลายอย่างที่สะท้อนถึงความอดทนอดกลั้นของกองทัพตำรวจที่ได้หมดสิ้นลงและส่งสัญญาณพร้อมรบขั้นแตกหักกับกบฎคือ 

การโห่ขับไล่ตัวแทนของกลุ่ม 40 สว. ที่เดินทางไปเยี่ยมดูสภานการณ์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง
การที่ ผบ.ตร. เป็นผู้ดำเนินการตั้งแถวกองเกียรติยศเต็มรูปแบบตลอด 2 ข้างทางที่แห่แหนร่างของ ดต. ณรงค์ ปิติสิทธิ์ จากโรงพยาบาลตำรวจ ไปทำพิธียังวัดตรีทศเทพ อย่างที่ไม่เคยให้เกียรติผู้ใดมาก่อน

เหล่านี่คือสัญญาณ อันแข็งกร้าวที่ ตำรวจกำลังสื่อออกมาว่า “กูพร้อมจะรบกับมึง” เวลานี้ประเทศไทยอาจจะต้องเดินเข้าสู่สภาวะความขัดแย้งจนถึงขั้นต้องใช้กำลังออกมาแก้ไขปัญหา และตำรวจก็ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า พร้อมที่จะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งหลายทั้งปวงนี้รอเพียงเวลาที่เหมาะสม ที่จะมีใครสักคนเคลื่อนรถถังออกมายึดอำนาจหรือกระทำสิ่งใดก็ตามเพื่อยึดอำนาจรัฐเอาไปจากรัฐบาลที่มีความชอบธรรมนี้ไป และเมื่อนั้นกองทัพตำรวจและมวลชนผู้รักประชาธิปไตยนับล้านๆ คนจะออกมาปกป้องประเทศนี้และประชาธิปไตยด้วยกัน

ทั้งหมดนี้สัญญาณพร้อมรบได้ถูกส่งออกมาแล้ว ขึ้นอยู่ที่ว่า ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตัดสินใจเช่นไร

ที่มา.https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%81-%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3/561885173893197

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สรรพากรขยายเวลา การเพิ่มรายการในใบกำกับภาษีจนถึง วันที่ 31 ธ.ค.57

กรมสรรพากรขยายเวลาให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการต้องเพิ่มเติมรายการในใบกำกับภาษีตามที่กำหนดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

กรมสรรพากรขอแจ้งให้ทราบว่า ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 194, ฉบับที่ 195, ฉบับที่ 196 และฉบับที่ 197 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเพิ่มเติมรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และรายการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเพิ่มเติมรายการสถานประกอบการของผู้ขายหรือผู้ให้บริการ ในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ รายงานภาษีขาย และรายงานภาษีซื้อ โดยจะจัดพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 นั้น กรมสรรพากรได้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดยจะมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการต้องเพิ่มเติมรายการในใบกำกับภาษีตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ในหมวดอ้างอิง > กฎหมายออกใหม่ > ปี 2556 > เดือนธันวาคม > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 199, ฉบับที่ 200, ฉบับที่ 201 และฉบับที่ 202 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร RD Call Center  โทร. 1161

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------

สมชัย ศรีสุทธิยากร แจงโจทย์ กกต.จัดการเลือกตั้งให้ได้....

"สมชัย"ระบุโจทย์กกต.จัดการเลือกตั้งให้สงบเรียบร้อย เตรียมสั่งกกต.จังหวัด ให้ตัดสินใจได้หากเกิดเหตุวุ่นวาย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในเวลา 15.00 น. วันนี้ตนจะวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จว.) เพื่อซักซ้อมการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตระหว่างวันที่ 28ธ.ค.2556-1 ม.ค.2557 ในฐานะที่รับผิดชอบบริหารงานเลือกตั้ง ทั้งนี้ได้เชิญ กกต.อีก 4ท่านมาร่วมด้วย แต่ไม่รู้ว่าท่านไหนจะมาด้วย ส่วนรายละเอียดที่จะสื่อสารไปยัง กกต.จว.นั้นขอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ก่อนแล้วจะแถลงตอนจัดประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เพราะมีหลายประเด็น โดยบางประเด็นเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งคงจะพยายามมอบอำนาจการตัดสินใจให้ กกต.จว.ตัดสินใจหน้างานได้เลย กรณีการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต เกิดความวุ่นวาย โดยแต่ละจังหวัดต้องหาทางป้องกันให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนขอบเขตการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรที่ไม่ผิดกฎหมายค่อยว่ากันอีกที

เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.จะเป็นตัวกลางพูดคุยกับคู่ขัดแย้ง นายสมชัย กล่าวว่า ตอนนี้ได้เริ่มคุยกับผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งได้รับเกียรติจากตัวแทนแต่ละฝ่ายระดับสูงมากรับสายโทรศัพท์พูดคุยกับเราเป็นเวลานานพอสมควร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ให้เกียรติพูดคุยกับ กกต. สำหรับการพูดคุยตอนนี้ยังไม่คืบหน้าแค่รับโทรศัพท์ และโทรศัพท์กลับมาหาเราก็ดีใจแล้ว

นายสมชัย กล่าวถึงการใช้สิทธิส่วนบุคคลของกกต.เพื่อตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ว่า สิทธิส่วนบุคคล หมายความได้หลายอย่าง เช่นสิทธิที่จะเดินไปคุยกับใครต่อใคร ไม่ใช่ในนามกกต. จากวันนี้เป็นต้นไปจะใช้สิทธิส่วนบุคคลเดินทางไปพบฝ่ายการเมือง หากไม่พูดประโยคนี้ขึ้นมาหลายคนจะบอกว่า กกต.ทำเกินขอบเขตหน้าที่ว่าทำไมไปคุยกับฝ่ายการเมือง หรือผู้ชุมนุม ดังนั้นใครก็ได้อยากคุยกับเราเพื่อคลี่คลายสถานการณ์เรายินดีพูดคุยด้วย ส่วนการใช้สิทธิลาออกนั้นเป็น 1 ใน 10 แนวทางการใช้สิทธิส่วนบุคคล ซึ่งการลาออกอาจจะเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างเลื่อนการเลือกตั้งออกไปรัฐบาลยังรักษาการต่อหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตรงนั้นไม่ใช่โจทย์ของกกต. เพราะโจทย์ของกกต.คือจัดการเลือกตั้งให้สงบเรียบร้อย ใครรักษาการเป็นเรื่องฝ่ายการเมืองต้องคุยกัน

เมื่อถามว่าหากจะเอารัฐบาลประชาชนมารักษาการแทนรัฐบาลปัจจุบันไม่ถึงขั้นนั้นใช่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า อันนั้นโก่งราคาไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว-จีน

โดย.โอฬาร สุขเกษม

กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub Region Cooperation ที่ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชียได้ทำการศึกษาเอาไว้ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย 10 สายเส้นทางด้วยกัน ทั้งนี้มีอยู่ 4 เส้นทางที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
   
เส้นทางที่หนึ่ง เส้นทาง R1 กรุงเทพฯ - พนมเปญ - โฮจิมินห์ซิตี - วังเตา เส้นที่ 2 เส้นทาง R2 โครงข่ายเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ไทย - ลาว - เวียดนาม เส้นทางที่ 3 เส้นทาง R3 เส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งมี 2 สายทาง คือ เส้นทางไทย - ลาว - จีน และเส้นทางไทย - เมียนมาร์ - จีน และเส้นทางที่ 4 เส้นทาง R10 เป็นเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนามสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 4 หรือสะพานเชื่อม "เชียงของ - ห้วยทราย"  ประกอบพิธีเปิดไปแล้ว เป็นสะพานเพื่อเชื่อมถนนจากลาวเข้าสู่ไทยทางจังหวัดเชียงราย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 4 กับนายบุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 11/12/13 หรือวันที่ 11 ธันวาคม 2013 หรือพุทธศักราช 2556 โดยการดังกล่าว รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ให้การสนับสนุน ส่วนรัฐบาลลาวรับผิดชอบค่าชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงรับผิดชอบการก่อสร้าง ในงบประมาณรวม 1,624 ล้านบาท สะพานมีความยาวระยะทาง 2.48 กิโลเมตร รูปแบบของสะพานเป็นคอนกรีตรูปกล่อง (Segmental Concrete Box Girder) มีเสา 4 เสา กว้าง14.70 เมตร เป็นสะพานขนาด 2 เลน แต่ละเลนกว้าง 3.50 เมตร
   
นอกจากสะพานแล้วยังมีโครงการก่อสร้างถนนไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตรเข้าในเขตเมืองห้วยทราย ซึ่งเป็นถนนลาดยางขนาด 2 เลน รวมทั้งมีการก่อสร้างด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง เป็นการเชื่อมต่อกับเส้นทาง R3A ที่เชื่อมต่อระหว่างจีน - ลาว - ไทย บริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นกลุ่ม CR5-KT Joint Venture ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Railway No.5 ของจีนและบริษัทกรุงธน เอนจิเนียริง จำกัดของไทย
   
สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 4 "เชียงของ -ห้วยทราย" ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เชื่อมโยงจังหวัดเชียงราย - บ่อแก้ว - คุนหมิง ตามแนวเส้นทางสาย R3A เป็นโครงการหนึ่งในแผนการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจด้านเหนือ หรือ North - South Economic Corridor
   
โครงการนี้สร้างเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งของประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าด้วยกัน อันจะช่วยส่งเสริมการค้าขายและการคมนาคม รวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 3 ประเทศข้างต้น และจะมีส่วนช่วยเสริมต่อการคมนาคมขนส่งภายในประเทศทั้งไทย - ลาว - จีน โดยเฉพาะทางภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งการเสริมสร้างศักยภาพไทย - ลาว ในอาเซียน และส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นด้วย
   
บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.ได้เปิดเส้นทางใหม่รองรับการเดินทางเชื่อมโยงกันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา โดยเปิดเส้นทางสายที่ 11 เชียงราย - เชียงของ - บ่อแก้ว เป็นเส้นทางที่ บขส.ได้เดินรถร่วมกับ บริษัท เพ็ดอาลูนขนส่งโดยสารฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดินรถของแขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
   
เส้นทางเชียงราย - เชียงของ - บ่อแก้ว เดินรถด้วยรถโดยสารปรับอากาศมาตรฐาน 2 ฝ่ายละ 3 คัน เดินรถฝ่ายละ 4 - 8 เที่ยวต่อวัน อัตราค่าโดยสาร 220 บาท หรือ 55,000 กีบ และจากอำเภอเชียงของ - บ่อแก้ว อัตราค่าโดยสาร 30 บาท หรือ 7,500 กีบ โดยเดินรถผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 4 เชียงของ - ห้วยทราย ถึงจุดหมายปลายทางที่สถานีโดยสารพัฒนาบ่อแก้ว แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระยะทาง 166 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------

ค่าแรง CLMV วันละ 300 บาท โจทย์ที่ไร้ทางเลือก !!?

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ของไทยยังถกเถียงกันไม่เลิก หลายกิจการโอดครวญว่า ผลประกอบการที่ตกต่ำวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบค่า แรงขั้นต่ำของไทยกับสิงคโปร์ ยังห่างกันหลายเท่าตัว โดยสิงคโปร์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในประเทศอาเซียนทั้งหมด จากการจัดอันดับของหน่วยงานด้านสถิติค่าจ้างแรงงานในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ผู้ใช้แรงงานในสิงคโปร์มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 1,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 55,500 บาท โดยคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อวันคือ 61 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,830 บาท

มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำใกล้เคียงกับไทย คือประมาณ วันละ 300 บาท ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เหลือ ยังมีค่าแรงขั้นต่ำค่อนข้างถูกคือ เวียดนาม/กัมพูชา/ลาว วันละประมาณ 100 บาท หรือเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน พม่าค่าแรงขั้นต่ำวันละประมาณ 60-80 บาท หรือเฉลี่ย 2,400 บาทต่อเดือน

จากการสำรวจพบว่า ประเทศที่มีค่า จ้างขั้นต่ำถูก ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ ด้านฝีมือผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ เมื่อประเทศไทยปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จึงเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันให้สูงขึ้น ปัจจุบันธุรกิจใช้ฝีมือระดับกลางถึงสูงจ่ายค่าจ้างมากกว่า 500 บาทต่อวัน ประเทศไทยจึงเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการเข้ามาขุดทองของแรงงานไร้ฝีมือจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันมีแรงงานจากอาเซียน โดย เฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV เข้ามาทำงานในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายประมาณ 1.4 ล้านคน  ในโรงงานสิ่งทอ โรงงานฟอกย้อม โรง งานทำเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยผู้ประกอบการยอมรับว่า การรับแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานช่วยลดปัญหาการโยกย้ายได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานไทย มีการย้ายงานบ่อยมาก แต่แรงงานต่าง ด้าวไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องดังกล่าว อย่างไร ก็ตาม เพื่อรักษาแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการฝึกฝนจนมีฝีมือทัดเทียมแรงงานไทย ไม่ให้โยกย้ายไปยังโรงงานอื่น ผู้ประกอบการได้มีการเพิ่มสวัสดิการให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย รวมถึงมีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมด้านภาษารับการเป็นเออีซีให้ด้วย

สมพล รวยสว่างบุญ ผู้ประสานงานการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวในฐานะที่เดินทางเชื่อมนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในเมืองไทยว่า ไม่เกิน 5 ปีนับ จากนี้ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา จะต้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับไทย เพื่อรักษา แรงงานเอาไว้ หากยังใช้ระบบค่าแรงขั้นต่ำเหมือนวันนี้ แรงงานจะเลือกมาอยู่ในเมืองไทยแน่นอน

สอดคล้องกับ ซันโตส คูมาร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสที มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ดิสทริบูชั่น จำกัด ที่กล่าวในฐานะผู้เข้า ไปลงทุนหลายประเทศในอาเซียนว่า เริ่มมองเห็นค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการปรับขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เชื่อว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่ม CLMV จะต้องปรับเป็นวันละ 300 บาทเท่ากับไทย และบางบริษัทอาจจ่ายมากกว่านั้น เพื่อรักษาแรงงานเอาไว้

ที่มา.สยามธุรกิจ
-----------------------------------------------

สภาปฏิรูป ประเทศ !!?

โดย เอกชัย ไชยนุวัติ

หมายเหตุ : บทความวิชาการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ องค์กรใด

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบของขวัญวัน คริสต์มาส ให้ กับประชาชนชาวไทย ด้วยการออกทีวี แถลงจัดตั้ง "สภาปฏิรูปประเทศ" ซึ่งเป็นท่าทีล่าสุดของ รัฐบาลรักษาการ พรรคเพื่อไทย ที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในขณะที่มีการยุบสภา และมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ขัดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181  มาตรานี้ เป็นผลจากการยุบสภา โดยผู้นำฝ่ายบริหาร ที่ใช้อำนาจ ยุบสภา ตาม มาตรา 108 โดยเมื่อมีการยุบสภา จะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องยุบ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้ง มาตรา 108 นี้ บังคับว่า การจัดการเลือกตั้งใหม่จะต้องกระทำภายใน 45 ถึง 60 วันเท่านั้น

ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น ตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจออกกฎหมาย คือการคืนอำนาจของประชาชนกลับไปยังประชาชนทุกคนให้ได้ใช้อำนาจนั้นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้นในสายตาของกฎหมาย ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี รวมถึง นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป เพียงแต่ มาตรา 181 บังคับไว้อย่างชัดเจน ให้ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” รวมทั้งในรายงานการประชุม ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 33/2550 หน้า 28 ถึง 32 ก็มีการอภิปรายประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า ให้ รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ต้องอยู่ในหน้าที่ต่อไป แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาควบคุมการทำงาน ตาม (1) ถึง (4) ซึ่งเป็นเรื่อง ห้ามปลด โยกย้ายข้าราชการ และใน  “(3)ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป”

จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า

“ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบของเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เอกชัย ไชยนุวัติ

สำหรับผู้ที่เป็นห่วงถึงความต่อเนื่องเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว”

ถ้อยแถลงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ภายหลังได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชน จะต้องมีการพิจารณา การทำงาน และประเด็นที่สภาปฏิรูปเสนอ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่า จะต้องรับทราบถึงผลการทำงานของสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่ ผู้เขียนมั่นใจว่า ไม่มีผู้นำคนไหน จะปฏิเสธการมีอยู่หรือประเด็นของสภาปฎิรูปได้

2.สภาปฏิรูป ไม่มีความยึดโยงกับอำนาจประชาชน  สิ่งที่เรียกว่า สภาปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อให้มีผลในทางกฎหมายที่ ชัดเจน มีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ  แต่ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ คณะกรรมการสรรหา สภาปฏิรูปที่ประกอบด้วย ตัวแทน 11 คน ที่ คนแรก คือตัวแทนของฝ่ายทหาร และ ตัวแทนของหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง อีก 2 คน

กรรมการทั้ง 11 คนนี้ จะเข้ามากำหนด องค์ประกอบและวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฎิรูปประเทศ 499 คน โดย สมาชิก 499 คนนี้จะเข้ามาศึกษาและจัดทำข้อเสนอและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วย

การให้อำนาจ คณะกรรมการ 11 ท่านนี้ในการกำหนด รูปร่างหน้าตา ของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ โดยไม่ได้เปิดโอกาสโดยตรง เหมือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคเพื่อไทยได้เสนอเมื่อมีการเสนอแก้ มาตรา 291 เมื่อปี พ.ศ.2555 แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำแนะนำให้ทำประชามติ ก่อนที่จะมีการแก้ทั้งฉบับ เป็นการไม่ยึดโยงกับประชาชน เหมือนการสรรหา สมาชิกวุฒิสภา ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา วุฒิสมาชิก ทั้ง7 คนมาจากองค์กรศาล และ องค์กรอื่นๆที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเข้ามาทำหน้าที่คัดเลือก วุฒิสมาชิกเช่นกัน ผู้เขียน ถึงเรียกว่า "สภา(อำมาตย์)ปฏิรูปประเทศ" เพราะไม่มีหนทาง ให้ คนอย่าง แม่บ้านทำความสะอาด ของ มหาวิทยาลัย ผู้เขียนที่จบ ป.4 มีสิทธิมีเสียง ในการกำหนดวาระ การ ปฏิรูปประเทศ แต่อย่างใด

3.วาระการปฏิรูป ประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิได้แสดงความคิดเห็นหรือ กำหนดประเด็นได้ ผู้เขียนเห็นว่าวาระปฏิรูปประเทศ ต้องให้ประชานได้ตัดสินใจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมของ ผู้ที่ได้รับเสียงจากประชาชนไปกำหนดวาระปฏิรูปประเทศได้ เพราะ ถือว่า รัฐบาลนั้นได้รับ อาณัติมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  รัฐบาลที่ทำหน้าที่รักษาการ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ประเด็นทางการเมืองนี้ เพราะท่านได้พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว

สรุป หน้าที่ของรัฐบาล คือจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 นี้ให้ได้ ต้องจัดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องให้ความสะดวกและกำชับ คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในการจัดการเลือกตั้ง และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ แต่การจัดตั้งสภาปฏิรูป เพื่อกำหนดประเด็นที่สำคัญที่สุดของประเทศในระยะเวลา แค่ 1 เดือน ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จในระยะเวลานี้ได้ และจะส่งผลให้รัฐบาลต่อไปต้องมีผลผูกพันที่อย่างน้อยก็ต้องให้ สภาปฏิรูปนี้ ดำเนินการจนแล้วเสร็จและนำผลของการทำงานมาพิจารณาในรัฐบาลต่อไปอย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

ยิ่งลักษณ์ เสนอแนวทางปฎิรูปประเทศ ถอย หรือ รุก !?


เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และ รมต.กลาโหม แถลงการณ์ผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางการ ”ปฏิรูปประเทศไทย” โดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี

ให้คัดเลือกตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ จำนวน 2,000 คน คัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูป 499 คน

ส่วนคุณสมบัติและ ระเบียบทุกอย่างจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ 11 คน โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.สส. หรือตัวแทนที่คัดเลือกมาจาก ผบ.เหล่าทัพ ที่ ผบ.สส. แต่งตั้ง
หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า 2คน
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกกรรมการ 1 คน จากที่ประชุมอธิการบดี
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายกสมาคมธนาคารทหารไทย
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน

มีหน้าที่
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจรวมไปถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขรับธรรมนูญ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือการยกเลิก กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ -เพื่อให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ การสรรหา การแต่งตั้ง การใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงข้าราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อให้มีการดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ กฎหมาย การเตรียมความพร้อม และการสร้าง ความเข้มแข็งแก่ ชุมชน และท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบ และวิธีการงบประมาณ และบริหารงานบุคคลภาครัฐ

เมื่อสภาปฏิรูปจัดทำเสร็จในข้อใดเสร็จแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีและเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะชน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลาให้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของสภาปฏิรูป ภายหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหาร ให้เลขาธิการ เสนอนายกรัฐมนตรีเสนอเห็นชอบให้สภาปฏิรูปได้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไป ข้อเสนอนี้หากทุกฝ่ายเห็นชอบ คณะรัฐบาลจะจัดสภาปฏิรูปดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้

หากติดตามการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจากการชุมนุมของ กปปส. จนกระทั่งรัฐบาลยุบสภา แต่นั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้ชุมนุม เพราะข้อเสนอคือให้นายกลาออกจากรักษาการณ์ หากมองตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายกองเชียร์ฝั่งรัฐบาลมองว่า “ รัฐบาลถอย”” ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไง” “ถอยสุดซอย”

แต่ถ้าดูข้อเสนอแนวทางปฏิรูปของรัฐบาลในครั้งนี้มองได้ว่า คือการการ ตอบโต้ หรือรุกทาง กปปส. เพื่อยืดระยะเวลาเล่นตามกระแสการปฏิรูป ตาม กปปส. ข้อเสนอของรัฐบาลในครั้งนี้ หากดูตามความเป็นจริงแล้ว เกิดขึ้นได้ยากมากเพราะข้อเสนอและแนวทางไม่ได้เป็นไปตามที่ กปปส. ต้องการ และไม่สามารถทำให้กปปส.หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อกลับเลือกตั้งแน่นอน เพราะมองว่ารัฐบาลกำลัง ยืดระยะเวลา ถ่วงกระแสการชุมนุม โดยที่เป้าหมายก็ยังคงยึดหลักการเดิมคือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

ที่มา.Siam Intelligence Unit
-------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ต้อง ขจัดคอร์รัปชั่น !!

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ไม่ ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ 7 องค์กรภาคเอกชน แม้กระทั่งเวทีประเทศไทยจะไปทางไหนของรัฐบาล ต่างเห็นพ้องต้องกันในการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ การขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ฝังรากลึกทั้งในระบบการเมืองและระบบราชการมาอย่างยาวนาน จากที่พูดกันเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ทุกโครงการขอหัก 10% มาในปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นไปถึงขอหัก 50/50

ความร้ายแรงของการคอร์รัปชั่นถูกแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในรายงาน ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกประจำปี 2556 ปรากฏประเทศไทยถูกจัดลำดับได้ที่ 102 ผลคะแนน 35 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) จาก 177 ประเทศทั่วโลกเท่ากับเอกวาดอร์ มอลโดวา ปานามา และอยู่ในอันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

หันมาดูสโคปที่แคบลง เอาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ประเทศไทยพยายามอย่างเหลือเกินที่จะเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มก็ปรากฏว่า มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ (86 คะแนน), บรูไน (60 คะแนน) และมาเลเซีย (50 คะแนน) เท่านั้น ที่มีผลคะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศที่เหลือมีคะแนน "ต่ำกว่าครึ่ง" หมายถึงเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างน่ารังเกียจ

ในส่วนของประเทศ ไทย จริงอยู่ที่คะแนนของเราดีขึ้นจาก 37 คะแนนในปี 2555 มาเป็น 35 คะแนนในปี 2556 หรือดีขึ้นเพียง 2 คะแนน แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติการจัดลำดับคะแนนย้อนหลังไปถึงปี 2538 ถึงปี 2554 ซึ่งใช้คะแนนเต็ม 10 คะแนน ก็จะพบว่าพัฒนาการให้การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไม่ได้ก้าวไปถึง ไหน กล่าวคือผลคะแนนตลอด 17 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 3 คะแนน หรือต่ำกว่าครึ่ง หมายถึงยังแย่มาก

พอมาถึงปี 2555-2556 ที่เปลี่ยนการให้คะแนนเต็มจาก 10 คะแนน เป็น 100 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีปัจจัยการพิจารณาปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงมีคะแนนป้วนเปี้ยนอยู่ระหว่าง 35-37 คะแนน เหมือนเดิม ยังไปไม่ถึงไหน

จนอาจพูดได้ว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร (ชอบอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นเป็น 1 ในเงื่อนไขที่ต้องทำรัฐประหาร) รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ล้วนเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ยิ่งโครงการใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการก่อสร้างของภาครัฐ มากแค่ไหน การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นมากตามไปด้วย กินกันตั้งแต่อิฐ หิน ปูน ทราย ยันตะปู ลวดเหล็ก และมาในช่วงปีหลัง ๆ การคอร์รัปชั่นแนบเนียนไปถึงการคัดเลือกเทคโนโลยี และนโยบายประชานิยม ที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์คอร์รัปชั่นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไปจนกระทั่งถึงโครงการสำเร็จ กินกันเป็นทอด ๆ กินกันเป็นตระกูล กินกันเป็นพรรคการเมือง

ตัวอย่าง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในรัฐบาลชุดนี้ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ใช้เงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ในการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ เกิดการคอร์รัปชั่นทุกขั้นตอนตั้งแต่ซื้ิอไปจนกระทั่งถึงขาย

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สรุปข้อเท็จจริงในการสอบสวนกรณีข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "ทุจริต" โครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือที่รู้จักกันดีว่า G to G

เบื้องต้นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ป.ป.ช.พบว่า ยัง ไม่มีการขายข้าวแบบ G to G ตามที่นายบุญทรง และข้าราชการในอดีตและปัจจุบันกล่าวอ้าง จากวาทกรรมฮิตติดปากกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นว่า "การขายข้าว G to G เป็นความลับ บอกใครไม่ได้"

ความลับอันนี้กำลังจะถูกเปิดเผยจากการสอบสวนของ ป.ป.ช. ถึงขั้นที่จะชี้มูลความผิดได้หรือไม่ในช่วงต้นปี 2557
สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยถึงไม่ไปถึงไหน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------

ม็อบหรือกบฏ !!?

โดย.พญาไม้

ตลอดมา....อานุภาพของม็อบคือการบุกรุกเข้าในสถานที่ต่างๆ ฝ่ายตรงกันข้ามกับม็อบก็จะใช้การปิดกั้น..เกิดการประจัญหน้าแล้วก็มีการต่อสู้กัน..มีการบาดเจ็บล้มตายมีการนำตัวไปคุมขังดำเนินคดี

แต่ปรากฏการณ์ของม็อบประเทศไทยกับการเปิดทางให้ม็อบจะเข้าไปยึดจะเข้าไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ได้จะเป็นวิทยาการใหม่ให้รัฐบาลทั้งหลายในโลกนำไปใช้

ภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง..ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

กลับมาดูม็อบสุเทพ เทือกสุบรรณ..ไม่ใช่ของง่ายที่จะคงผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนให้คงที่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาในสถานที่สนามหญ้าหรือบนท้องถนน

จึงประเมินได้ตั้งแต่บัดนี้ว่า..หากปล่อยไว้ให้ม็อบคงอยู่ต่อไป..ม็อบก็จะโรยราลงไปเอง ปัญหาของม็อบจึงไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลแต่เป็นปัญหาของม็อบเอง

ประเทศมีกฏหมาย..กฏหมายมีข้าราชการเป็นผู้ดูแล..การทำผิดกฏหมายของม็อบหรือคนในม็อบจึงเป็นเรื่องต้องติดตามตัวมารับโทษในอนาคต

เพราะรัฐธรรมนูญประกาศิตไว้ว่า..การชุมนุมทำได้แต่ต้องเป็นไปตามครรลองของกฏหมาย
รัฐบาลจึงไม่ต้องทำอะไรให้เป็นประโยชน์เป็นตัวอย่างกับรัฐบาลทั่วโลกในการต่อสู้กับม็อบแอบแฝงที่แปลงร่างมาเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ

เพราะม็อบที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมย์ให้ชุมนุมเรียกร้องสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

ไม่ใช่เพื่อแย่งอำนาจจากรัฐบาล

การแย่งอำนาจจากรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนต้องมาจากประชาชนบนการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ไม่มีวิธีอื่น

ผิดจากนั้นเป็นอาชญากรรมเป็นการทำร้ายทำลายความผาสุขของประชาชนและเป็นกบฏต่อราชอาณาจักรเป็นการทรยศต่อแผ่นดิน

แล้วมันเป็นใคร

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-----------------------

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง: เมื่อคนชนบทไม่เท่ากับ ≠ โง่ จน เจ็บ.

โดยชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

พื้นทางการเมืองของประชาชนขององค์กรกึ่ง: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรทางการ (รัฐ) ที่ปกครองโดยคนที่ไม่เป็นทางการรัฐ (ตอนที่ 2)

ครั้งที่แล้วผมพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่โครงสร้างที่มีการปรับเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รวมถึงทำให้องค์กรของรัฐอยู่ในสถานะองคาพยพของประชาชนในท้องถิ่น ที่มีสิทธิที่จะเข้าเป็นผู้บริหารและผู้เลือก ซึ่งสร้างอำนาจต่อรองให้ประชาชนในท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงมิติของการเปลี่ยนผ่านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพัฒนาการเนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลของสังคม หรือการเมืองภาคประชาชน ที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เข้ามามีส่วนในการต่อรองและสร้างพื้นที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องก่อนทศวรรษที่ 2540 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่ผู้คนพึ่งพาระบบเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรมากขึ้น เราเห็นได้จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออกที่ผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เกิดคนชั้นกลางทั้งในเมืองและชนบทอย่างกว้างขวาง ระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่สามารถสนองตอบความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ทำให้มีการเรียกร้อง “การปกครองตนเอง” เช่น เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เช่น สมัชชาคนจน สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยภาคเหนือ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในการสะท้อนปัญหา และแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง และมีสำนึกของความเป็นพลเมืองมากขึ้น (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548) มีความต้องการ “ปกครองตนเอง” จัดการแก้ไขปัญหาของตนเองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่เข้าใจปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและกำหนดทิศทางของท้องถิ่น




แม้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยจะล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง (ดูเพิ่มในบทที่ 2) ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการปรับโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชน และผลการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และทำให้ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะเข้าไปกำหนดทิศทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้นเป็นลำดับ (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2552ก; 2552ค)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้ “วาทกรรมการพัฒนา” ได้ทำให้เกิดช่องว่างของชนบทกับเมืองมากขึ้น ซึ่งเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ส่วนชนบทเป็นแหล่งรองรับการพัฒนาของเมือง มีการ “ดูด” ใช้ทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า คน ฯลฯ จากชนบทสู่เมือง ทำให้ชนบทหลุดลอยจากการพัฒนา ที่สำคัญของการกระจายของทรัพยากรที่เมืองได้มากกว่าเมืองชายขอบหรือชนบท รวมถึงเมืองมีแรงดึงดูดด้านแรงงานทำให้มีการอพยพผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมาก

ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมามีการแย่งชิงทรัพยากรจากรัฐ และกลุ่มทุน ทำให้ทรัพยากรจำนวนมากหลุดลอยจากชาวบ้าน ชาวบ้านกลายเป็นชาวนาไร่ที่ดิน หรือมีน้อยจนไม่สามารถทำกินให้คุ้มทุนได้

รวมถึงทรัพยากร “ส่วนร่วม” (Common property) เช่น ป่าไม้ ได้ถูกรัฐยึดครอง และสงวนหวงห้ามไม่ให้ประชาชนได้เข้าไปเป็นเจ้าของ และเกิดปัญหาคนกับป่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มการแย่งชิงทรัพยากรในปัจจุบันยิ่งมีความรุ่นแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของทุน รัฐ และประชากร (ชัยพงษ์ สำเนียง 2554: กำลังจะพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.สรัสวดี อ๋องสกุล)

ช่องว่างของการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่างจะมีความเลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงช่องว่างของนโยบายรัฐที่เอื้อต่อกลุ่มคนที่มีทุน และการศึกษา ทำให้ “ชนบท” กับ “เมือง” แตกต่างกันอย่างไพศาล (ชัยพงษ์ สำเนียง 2556)

ทำให้คนหลากหลายกลุ่มเห็นความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลายหลายมิติทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้อง และที่สำคัญคือ การต่อสู้ในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการผลิต จากการศึกษาของกนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530 : 22-23) พบว่า “มีเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินในช่วงปี พ.ศ. 2502-2509 จำนวน 172,869 ไร่ จากโฉนดที่ดินจำนวน 7,016 แปลง คิดเป็นมูลค่าในขณะนั้น 347.3 ล้านบาท

ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขายฝากและการจำนอง และมีอัตราการเพิ่มขึ้นประชากรจำนวนมากทำให้ที่ดินไม่เพียงพอต่อการผลิต และการถือครองที่ดินมีขนาดเล็กลง ทำให้การผลิตไม่เพียงพอ (ดูเพิ่มใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2547; จามะรี เชียงทอง 2530, 2554ข) และต้องออกไปรับจ้างหรือแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้

การต่อสู้เรียกร้องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นยุคของความเบ่งบานของประชาธิปไตย เกิดจากความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ทีมีมาอย่างต่อเนื่องในนาม “สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร

ความคับแค้นอย่างไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไข เพราะปัญหาของเกษตรกรมิใช่ปัญหาของ “ปัจเจก” แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ขบวนการเคลื่อนไหว เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ฯลฯ (ดูบทบาทกลุ่มนี้อย่างละเอียดใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541; วิเชิด ทวีกุล 2548; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเป็นการรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา อาทิเช่น ในกรณีของ นกน. สกยอ. และสมัชชาคนจน นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มประชาชนเล็กๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐหรือการขยายตัวของทุนอีกเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนปัญหาร่วมของกลุ่มต่างๆ คือ ปัญหาดิน น้ำ ป่า แต่พบว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

หลังปี พ.ศ. 2523 การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนนับว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแทนที่ขบวนปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธที่เสื่อมสลายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการจัดตั้งรวมตัว และมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างยิ่งระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับขบวนการปฏิวัติ คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เป็นไปเองโดยปราศจากศูนย์บัญชาการและมีจุดหมายในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง มากกว่าต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่โครงสร้างใหม่ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่าไม่ยินยอมให้รัฐและทุนเป็นฝ่ายกำหนดข้างเดียว ทำให้การเมืองภาคประชาชนเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่หัวรุนแรง ในสายตาของภาครัฐ และผู้มีผลประโยชน์แวดล้อม (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)




ภาพจาก www.ezytrip.com

แม้ว่าการเมืองภาคประชาชนจะมีแนวคิดใหม่ที่เน้นการจำกัดอำนาจรัฐไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายประชาชน [ในประเทศไทยแนวคิดนี้มีความชัดเจนหลังจากสงครามกลางเมือง (2516-2519) เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ในช่วงสี่ทศวรรษสุดท้ายของ ค.ศ. ที่ 20 จำนวนองค์กรประชาสังคมแบบข้ามชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าสิบเท่าโดยมีประมาณ 17,000 องค์กร และ (ดู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)]

สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ มีการเคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนา ระบบนิเวศ สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโอส่วนใหญ่จะถูกฝึกมาให้เป็นผู้สันทัดเรื่องการเจรจา

แต่บริบทในประเทศไทย ได้ทำให้เขาเหล่านั้นคลุกคลีกับผู้ยากไร้และเห็นปัญหาจากการกระทำจากฝ่ายรัฐและทุน จนออกมาเคลื่อนไหวหรือกลายเป็นแกนนำของการเคลื่อนไหวในการเมืองภาคประชาชนไป ดังกรณี เขื่อนปากมูน สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวอยู่ในลักษณะกระจัดกระจายไม่มีทิศทางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถแบ่งกลุ่มการทำงานของเอ็นจีโอได้เป็น แบบสังคมสงเคราะห์ แบบสนับสนุนรัฐบาล และแบบสนับสนุนกระแสทางเลือก หรือมองว่าเอ็นจีโอเป็นเหมือนตำรวจดับเพลิงของทุนนิยม มีการแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ แต่ก็มีการพัฒนาไปสู่การคิดที่เป็นระบบมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงกับวิพากษ์แนวคิดของเอ็นจีโอโดยผู้นำชาวนาว่า “ไม่กล้าแตะโครงสร้างที่เป็นอยู่ ซึ่งสำหรับชาวนาไร้ที่ดินอย่างพวกเขา ไม่น่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง” (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548 : 163 – 164)

การเมืองภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเมือง คือการค้นหาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ซึ่งสามารถเคลื่อนจุดความพอดีได้ตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่ผูกพันอยู่กับนโยบายพัฒนาอันมีมาแต่เดิมภายใต้ระบอบอำนาจนิยม และต่อมายังเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับระบบทุนโลกาภิวัตน์ จึงมีแนวโน้มที่จะคงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไว้เพียงเท่านี้ แล้วยังต่อยอดให้มีการเปิดโครงสร้างให้เข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐโดยตรง (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จะมีบทบาทอย่างมากในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 – ต้นทศวรรษที่ 2540 แต่ภายใต้การ “อุปถัมภ์” โดยผ่านนโยบาย “ประชานิยม” ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SME ฯลฯ ได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐมากขึ้น

ทำให้บทบาทของ NGOs ลดลงอย่างมาก จากเดิมเคยเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชนไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำให้พื้นที่ตรงกลางที่ NGOs เคยเป็นตัวประสาน (actor) ที่สำคัญไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะต่อรองกับรัฐและทุนได้อีกต่อไป ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ สร้างพื้นที่ทางการเมือง เพื่อใช้ต่อรองกับรัฐและทุนในลักษณะอื่น เช่น ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายผ่าน พอช. สสส. สกว. นักวิชาการ ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายองค์กรเหล่านี้ได้เพิ่มบทบาทกลายเป็นพื้นที่ในการต่อรองของประชาชนพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น (ชัยพงษ์ สำเนียง 2554)


ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิด “คนชั้นกลางในชนบท” ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่นกับเมืองและชนบท ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการดำเนินชีวิตของเขา

“คนชั้นกลางในชนบท” มี “สำนึกทางการเมือง” ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะผ่าน “การเลือกตั้ง” เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนด “นโยบายสาธารณะ” มีผลต่อการดำเนินชีวิตเขาอย่างมาก เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะ “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (agency politic) ที่กระตือรือร้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554)

การผลิตในภาคนอกเกษตรกรรมในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการผลิตเพื่อขาย ทำให้คนในภาคการผลิตนั้นๆ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบความสัมพันธ์แบบเดิม (รวมถึงระบบอุปถัมภ์แบบเดิม) ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนในสังคมได้อีกแล้ว

การ “ถักทอ” สายใยความสัมพันธ์แบบใหม่ทั้งในระบบอุปถัมภ์ใหม่ ระบบพาณิชย์ ฯลฯ ได้สร้างจินตนาการใหม่ของชาวชนบท หรือที่ Keyes (2553) เสนอว่าเป็น “ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง” (Cosmopolitan villager) เพราะว่าการดำเนินชีวิตของชาวชนบทสัมพันธ์กับเศรษฐกิจมหภาคอย่างแยกไม่ออก



ภาพจาก http://board.trekkingthai.com/

เขาเหล่านั้นบางส่วนเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นแรงงานในโรงงานทอผ้าขนาดเล็ก เป็นแรงงานก่อสร้าง หรือเป็นเกษตรกรปลอดสารพิษ ปลูกข้าวเพื่อขาย ทำสวนลำไย ฯลฯ ซึ่งใช้หมู่บ้านเป็นแต่เพียง “ที่นอน” หรือ “กลับเฉพาะในช่วงเทศกาล” ทำให้เขาเหล่านั้นประสบพบเจอปัญหา และโอกาสของชีวิตนอกหมู่บ้าน ทำให้ “จินตนาการทางการเมือง” ของนักการเมืองท้องถิ่น หรือชาวบ้านที่เลือกแตกต่างจากรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ (ดูเพิ่มใน จามะรี เชียงทอง 2554)

และพบว่าคนที่มาเล่นการเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลาย ทั้งผู้นำตามประเพณี นายทุนน้อย กลุ่มอาชีพอิสระ ข้าราชการเกษียณ ฯลฯ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของกลุ่มคนผ่านนักการเมืองท้องถิ่น ที่ฉายภาพให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนต้องรักษา “พันธะสัญญา” กับประชาชนในท้องถิ่นที่เลือกตนเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า “เขา” เหล่านั้นจะมีความสนใจ “ทางการเมือง” มากน้อยแค่ไหน แต่การเข้าสู่ “การเมืองในระดับนโยบาย” หรือ “ระดับชาติ” ย่อมมีทำนบกีดขวางมหาศาล ทั้งทุน และเครือข่ายฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่ที่ “เขา” จะเข้าไปมีส่วนในทาง “การเมือง” ได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ที่ “เขา” เหล่านั้นพอจะมีศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็น “พื้นที่ทางการเมือง” ใหม่ของคนกลุ่มต่างๆ

พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ จึงเป็น “สนาม” ที่คนชั้นกลางใหม่นี้ใช้ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติต่างๆ อย่างไพศาล และไม่เพียงแต่คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น ที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 – 50 ปี และมีการศึกษาที่สูงขึ้นถึงระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 25 มีอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมถึง ร้อยละ 50 (กกต. เชียงใหม่ 2555) ท

ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มใหม่นี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจ และการเมืองในระดับชาติ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาย่อมมีความสัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาค ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขามีงานทำ และสามารถ “หล่อเลี้ยง” แรงงานในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง

หรือแม้แต่การผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าเองก็สัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจซบเซา ยอดการสั่งซื้อย่อมมีปริมาณที่ลดลง และคนในเครือข่ายย่อมขาดรายได้ ฉะนั้นการเติบโตของท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ย่อมสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มคนที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ คือ เป็นพื้นที่ที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อน “วาระส่วนตัว” และ “วาระสาธารณะ” ได้อย่างกว้างขวาง พบว่าคนกลุ่มใหม่ เช่น นายทุนน้อยในท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือชนชั้นกลางระดับต่างๆ (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2555) ได้เข้ามามีบทบาทใน “สนามการเมืองใหม่” นี้ สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะการเมือง หรืออำนาจท้องถิ่นในอดีตมักผูกขาดอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ

เช่น ตระกูลใหญ่ในพื้นที่ นักเลง พ่อค้าคนกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ครู ฯลฯ (ดูเพิ่มใน แอนดรู เทอร์ตัน 2533) ที่เป็นกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นเดิม ที่ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่น โดยผูกโยงกับข้าราชการและนักการเมืองระดับชาติ ทำให้เกิด “ระบบอุปถัมภ์ที่ขูดรีด”

แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงได้เห็นการเข้ามาของ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” ที่ต่างเป็นคน “ใหม่” ที่เข้ามาสู่สนามการเมืองท้องถิ่นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และสร้างสายสัมพันธ์ในหลากหลายเป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่นในระดับที่น่าสนใจ

ไม่เพียงแต่ตัวนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น “คนชั้นกลางในชนบท” หรือ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” “นายทุนน้อย” แต่ชาวบ้านในชนบทเองก็เป็นผู้ที่มีสำนึกทางการเมือง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางท้องถิ่น รวมถึงการที่เขาได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของการเมืองท้องถิ่น ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชนบทไทยอย่างไพศาล และเป็นสิ่งที่ไม่อาจได้จาก “รัฐราชการ” ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก

“การเมือง” ในสำนึกของคนชั้นใหม่นี้จึงต้อง “เป็นธรรม” “เท่าเทียม” “เข้าถึง” “เป็นพื้นที่เปิด”รวมถึง “ตรวจสอบ ถ่วงดุล” ได้ ทำให้การเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ “ชาวบ้าน” เข้าไป “เล่น” และกำหนดทิศทางได้ เช่นคำพูดที่ว่า “ไม่พอใจเราก็ไม่เลือก ถ้าแพ้ครั้งหน้าก็เลือกใหม่ได้” และนับวันประชาชนยิ่งสร้างองค์กรเครือข่ายในรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง” ที่ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้นอย่างไพศาล

ในที่นี้อาจสรุปได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจุดเด่นที่เหนือกว่าองค์กรที่เป็นทางการอื่นๆ คือ เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดชาวบ้าน ทำให้มีส่วนอย่างสำคัญที่จะขับเคลื่อน และสนองตอบความต้องการของประชาชน และในหลายปีที่ผ่านมานี้ตัวแทนที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

การเลือกใช้คนของชาวบ้านและควบคุมตัวแทนเข้าไปทำงานของชาวบ้าน มีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ในหลายๆ มิติ เช่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ พวกพ้องเพื่อนฝูง ลูกน้อง-นาย เป็นต้น การเลือกตัวแทนของชาวบ้านสามารถกำหนด และควบคุมคนเหล่านั้นได้ในระดับหนึ่ง

การเข้าใจการเมืองของชาวบ้านจะเป็นการทำลายมายาคติ ที่ว่า “ชาวบ้านถูกซื้อ หรือ โง่ จน เจ็บ เลือกคนไม่เป็น” การเมืองของชาวบ้านในที่นี้จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสามารถพัฒนาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ในอนาคตต่อไปข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นพื้นที่ของประชาชนเกิดภายใต้ความเปลี่ยนแปลง 2 มิติ โดยในมิติแรก เป็นการขับเคลื่อนและเติบโตของภาคประชาชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ต้องการปกครองตนเอง อาทิเช่น การรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2536)

มิติที่สอง นำมาสู่การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจ ส่งผลให้มีการกำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อใช้หาเสียงในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 แม้ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ทำให้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการกระจายอำนาจ (นันทวัฒน์ บรมานันท์ 2549)

นำมาสู่การแก้ไข ปรับเปลี่ยนกฎหมายในภายหลังอีกหลายฉบับ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ที่ส่งผลต่อการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับบริบท และเหตุการณ์ พื้นที่ทางการเมืองผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยข้างต้น เอาไว้ต่อคราวหน้าค่อยมาต่อกันครับ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
-----------------------------------------------------