แบงก์พาณิชย์"ชี้ครึ่งหลังบาทผันผวนแน่ เข็นเอสเอ็มอีซื้อฟอร์เวิร์ด-บริหารต้นทุนป้องกำไร ค่าย "กรุงไทย"จับลูกค้าทำเฮจจิ้ง เตือนถ้าบาทแข็งต่อเนื่องอีก 2-3 เดือนมีโอกาสเห็นธุรกิจล้ม ขณะที่ "กสิกรไทย-ทหารไทย" แนะไทยเอาย่างญี่ปุ่นทำเฮจจิ้ง 50-70% เตือนธุรกิจอย่าเก็งค่าเงิน-ฟิกซ์เรตทำเฮจจิ้ง ส่วน "กรุงศรีฯ"ใส่เกียร์ถอยเทรดไฟแนนซ์รอสถานการณ์
หลังจากที่ธนาคารกลางชั้นนำของโลกทั้งญี่ปุ่น (บีโอเจ) และสหรัฐอเมริกา (เฟด) ยังมีแนวโน้มเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป ตลาดยังติดตามกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศโดยเงินบาทเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่างวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ระดับ 28.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับระดับ 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลจากเงินบาทแข็งค่าในรอบ 16 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น
ต่อประเด็นดังกล่าวนายประสิทธิ์ วสุภัทร รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าจากผลกระทบของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกผลิตภัณฑ์การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การปล่อยสินเชื่อหมุนเวียน การแนะนำในเชิงลึกเป็นรายกรณี ทำให้สถานการณ์ของลูกค้าในภาพรวมยังไม่มีปัญหา
ส่วนลูกค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบ ได้แก่ ภาคการเกษตร สิ่งทอ รองเท้า ผักผลไม้แช่แข็ง และธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น แม้ขณะนี้ยังสามารถประคับประคองธุรกิจเพื่อความอยู่รอดได้ แต่หากเงินบาทปรับแข็งค่าต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน ถ้าภาคธุรกิจไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ หรือไม่สามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะรายสายป่านสั้นนั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากการค้าขายของผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำหนดราคาผ่านเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
"ภาพรวมช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าหนักในระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหลุดกรอบไม่มากอาจไม่ได้กระทบธุรกิจมากนัก รวมถึงแบงก์ไม่ต้องมีการตั้งสำรองหรือเพิ่มค่าความเสี่ยง แต่หากระยะข้างหน้าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ลูกค้าต้องเร่งปรับตัว เพราะแบงก์ช่วยได้เต็มที่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ลูกค้าจะเป็นผู้ที่สามารถทำให้ธุรกิจตัวเองผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เช่น อาจจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรหรือสินค้าทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น"
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาธนาคารเน้นปล่อยสินเชื่อเป็นแพ็กเกจกับวงเงินการซื้อประกันความเสี่ยง (แพ็กกิ้งเครดิต) เนื่องจากตระหนักถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศของธนาคารมีการป้องกันความเสี่ยง 100% โดยระยะเวลาการซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับระยะการค้าของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดราคาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าตามระยะเวลาสัญญา
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกร ไทย กล่าวว่า แนวโน้มผู้ส่งออกเอสเอ็มอีน่าจะตื่นตัวมากขึ้นจากสัญญาณความผันผวนของค่าเงิน ส่วนที่ผ่านมาแม้ว่าทุกธนาคารพาณิชย์พยายามจะให้คำแนะนำลูกค้าป้องกันความเสี่ยงแต่พบว่ามีกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่งออกเพียง 15-20%เท่านั้นที่มีการป้องกันความเสี่ยงไว้โดยการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮจจิ้ง) แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมเฮจจิ้ง เมื่อเทียบกับตลาดญี่ปุ่นนั้นมีการเฮจจิ้ง 50-70% แต่ธุรกิจไทยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเผื่อบางส่วนเก็งกำไร นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วธนาคารจะมีเครื่องมือและวงเงินรวมป้องกันความเสี่ยงให้ลูกค้าโดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะเลือกใช้หรือไม่
นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบีแบงก์ (TMB) กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารเพิ่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ "พรีเพด ฟอร์เวิร์ด"โดยให้ลูกค้าสินเชื่อไม่ต้องมีวงเงินกับธนาคารสามารถซื้อฟอร์เวิร์ดในระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่พอใจได้ เพียงวางเงินมัดจำกับ 12-15% ของมูลค่าธุรกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวโน้มธุรกิจเห็นความผันผวนและโอกาสที่เงินบาทจะแข็งต่อเนื่องแล้ว จึงควรตัดสินใจคำนวณกำไรที่คาดหวังแล้วล็อกอัตราแลกเปลี่ยนซื้อฟอร์เวิร์ดโดยรวมควรซื้อไม่ต่ำกว่า 50% ทั้งนี้ ธุรกิจที่ที่ไม่สามารถแข่งขันหรือไม่มีตลาดรองรับบวกกับไม่สามารถปรับตัวบริหารต้นทุนนั้นมีโอกาสจะทำให้กำไรลดลงกว่าที่ควรจะได้รับ
ทั้งนี้เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ต้นทุนการผลิตของธุรกิจเอสเอ็มอีสูงขึ้น จึงมีโอกาสฉุดให้รายได้และกำไรลดลง โดยเวลานี้ผลกระทบลูกค้ายังไม่ถึงขั้นปิดกิจการ หรือไม่สามารถชำระหนี้ เพียงแต่ทำให้กำไรลดลงเท่านั้นเอง ขณะที่ทุกธนาคารพยายามแนะนำลูกค้า และแจ้งสถานการณ์ให้ลูกค้าทราบเพื่อปรับตัวแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับความตระหนักและตื่นตัวของลูกค้าว่าจะมีแค่ไหน แต่แนวโน้มเชื่อว่าลูกค้าน่าจะตื่นตัวขึ้น
ด้านนายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวยอมรับว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากบาทแข็งต่อเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำยิ่งเพิ่มผลกระทบเป็น2เท่า เช่น ธุรกิจสิ่งทอ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับไม้ โดยในส่วนของธนาคารเองมีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ส่งออกไม่ถึง 5% ซึ่งเดิมธนาคารมองว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป และเตรียมจะขยายเพิ่มสินเชื่อดังกล่าว แต่ต้องพับเก็บแผนไว้ก่อน เพื่อรอสถานการณ์ให้นิ่ง
ขณะที่ปริมาณการซื้อประกันป้องกันความเสี่ยงของลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ 90.4% หรือกว่า 4.52 หมื่นราย จากจำนวนลูกค้ารวม 5 หมื่นราย ยังเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่มียอดขายน้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี หรือมีวงเงินกู้น้อยกว่า 30 ล้านบาท และในจำนวนดังกล่าวยังมีสัดส่วนผู้ประกอบการส่งออกไม่มากนัก
"ลูกค้าผู้ประกอบการส่งออกเรามีไม่มาก ไม่ถึง 5% ของพอร์ตเอสเอ็มอีรวม โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กจึงไม่ค่อยทำประกันความเสี่ยงมากนัก ยกกรณีบางรายส่งออกในบางครั้งเพียง 1-2 ตู้คอนเทรนเนอร์ มูลค่าสินค้าไม่ถึง 1 ล้านบาท หากทำประกันความเสี่ยงจะต้องจ่ายอีกประมาณ 10 สตางค์ ของมูลค่าสินค้า และยังมีค่าบริหารจัดการ หรือทำเอกสารเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จึงเลือกรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแทนการเสียค่าพรีเมียมเพิ่มขึ้น"
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่ที่มียอดขายตั้งแต่ 50 ล้านบาท ขึ้นไป พฤติกรรมการซื้อประกันความเสี่ยงยังเลือกซื้อในบางรอบ ขึ้นอยู่กับโอกาส จังหวะ และความสามารถของคู่ค้าเป็นสำคัญ และส่วนใหญ่จะมองค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าค่าเงินที่มีเคลื่อนไหวลักษณะผันผวน
อนึ่ง ธปท.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีใน 4เรื่องคือ 1.การให้คำแนะนำ 2.ออกโปรดักส์ประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ที่มีขนาดเล็กลง 3.การทำประกันความเสี่ยงไม่ควรตัดวงเงินเครดิตเดิม และ4.อำนวยความสะดวกไม่แลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทโดยสามารถฝากในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) และลดค่าธรรมเนียม
ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น