--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ลูกหลาน เผด็จการ-มหาเศรษฐี อาเซียนซุกบริษัทลับนับร้อยบนเกาะคุก บริติช เวอร์จิ้น !!?


พบนักการเมือง-มหาเศรษฐีหลายประเทศอาเซียนพฤติกรรมใกล้เคียง ตั้งบริษัทกว่าร้อยบนเกาะสวรรค์ปลอดภาษี ลูกชายมหาเธร์- ลูกสาวมาร์กอส- 6 ตระกูลธุรกิจการเมืองเส้นสายเผด็จการซูฮาร์โต อื้อหมู่เกาะคุก บริติช เวอร์จิ้น

  ฐานข้อมูลของบริษัทผู้ให้บริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตรายใหญ่สองบริษัทคือ พอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) คอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ลิมิดเต็ด (Commonwealth Tru Limited) ซึ่งได้มาโดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ร่วมกับการสืบค้นขององค์กรสื่อในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ระบุรายชื่อผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งรวมกันแล้วกว่า 4,000 รายในสามประเทศ ทั้งยังบ่งชี้พฤติกรรมของลูกหลานเผด็จการและตระกูลมหาเศรษฐีเส้นสายนักการเมืองที่นิยมตั้งบริษัทลับในบริติช เวอร์จิ้น, หมู่เกาะคุก และเกาะลาบวน ของมาเลเซีย

มาเลเซีย

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ร่วมกับ ICIJ รายงานว่ามีบุคคลและบริษัทในประเทศมาเลเซียกว่า 1,500 ราย รวมทั้งนักการเมือง, มหาเศรษฐี, สมาชิกในครอบครัวของสุลต่านบางรัฐ เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น และประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในนั้นคือนาย เมียร์ซาน มหาเธร์ บุตรชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด นาย เมียร์ซาน เป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกอาณาเขตบนเกาะลาบวน ประเทศมาเลเซีย 3 บริษัท คือบริษัท เครเซ้นท์ เอเนอร์จี จำกัด ในปี 2546 , บริษัท อุตตระ แคปปิตอล จำกัด ในปี 2540  และบริษัท อัล ซาอาด อินเวสต์เม้นท์ พีทีอี จำกัด ซึ่งตั้งในปี 2552

นาย เมียร์ซาน มหาเธร์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ติดอันดับร่ำรวยระดับชาติของฟอร์ปส์  มีตำแหน่งเป็นประธานและซีอีโอของบริษัทเครเซ้นท์ แคปิตอล ซึ่งทำธุรกิจด้านการลงทุนและให้คำปรึกษาทางการเงิน  นอกจากนั้นเขายังลงทุนส่วนหนึ่งในบริษัทเบียร์ ซาน มิเกล

นาย มหาเธร์ โมฮัมหมัด บิดาของ นายเมียร์ซาน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 22 ปี ก่อนจะลาออกจากใน พ.ศ. 2546 นายมหาเธร์และพรรคอัมโนของเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่อิงแนวคิดแบ่งแยกทางเชื้อชาติ โดยเอื้อประโยชน์ให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูมากกว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดีย

อินโดนีเซีย

ฐานข้อมูลบริษัท พอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต ระบุชื่อสมาชิกตระกูลมหาเศรษฐี 9 ใน 11 ตระกูลของอินโดนีเซีย เป็นเจ้าของทรัสต์และบริษัทลับทั้งสิ้น 190 บริษัท โดยรายชื่อสมาชิกในตระกูลมหาเศรษฐีเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อที่พบทั้งหมดเกือบ 2,500 ชื่อของบุคคลและบริษัทในประเทศอินโดนีเซียซึ่งถือครองบริษัทนอกอาณาเขตผ่านบริการของพอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต

ในบรรดามหาเศรษฐีทั้ง 9 ตระกูลดังกล่าว มี 6 ตระกูลซึ่งมีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับพลเอกซูฮาร์โต้ อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับไปแล้วของอินโดนีเซีย พลเอกซูฮาร์โต้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานถึง 31 ปี ก่อนจะถูกโค่นล้มจากอำนาจหลังการประท้วงใหญ่ทั่งประเทศใน พ.ศ. 2541 โดยยุคของซูฮาร์โต้เป็นยุคที่อินโดนีเซียได้รับการกล่าวขวัญทั่วโลกว่ามีการทุจริตโกงกินและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องอย่างสูง

ตระกูลดังทั้ง 6 ตระกูลที่พบ อาทิ ตระกูลริยาดี (Riyady) เจ้าของกลุ่มลิปโป้ (Lippo Group) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ทำธุรกิจหลากหลายโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และห้างสรรพสินค้า สมาชิกครอบครัวนี้เป็นเจ้าของทรัสต์และบริษัทนอกอาณาเขตอย่างต่ำ 11 บริษัทโดยหลายบริษัทตั้งอยู่ที่หมู่เกาะคุก โดยบริษัท พอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต จัดระดับการให้บริการสมาชิกตระกูลริยาดีเป็น “ลูกค้า A” (Client A) ซึ่งหมายถึงลูกค้าผู้ต้องการปกปิดตัวตนอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้นยังมีตระกูลซามปอเอร์นาเเศรษฐีอันดับ 10 ของอินโดนีเซีย อดีตเจ้าของบริษัทบุหรี่รายใหญ่ ซามปอเอร์นา สมาชิกรายหนึ่งของตระกูล จดทะเบียนก่อตั้งทรัสต์ชื่อว่า สตรอง คาสเทิล ทรัสต์ ที่หมู่เกาะคุก เพียงสองสัปดาห์หลังจากที่ ตระกูลซามปอเอร์นาขายหุ้น 97% ของบริษัทให้กับบริษัทฟิลิป มอริสของสหรัฐฯ ในราคา 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548   นอกจากนั้นยังมีเศรษฐีในวงการยาสูบรายอื่นเช่นนาย สุสิโล โวโนวิดโจโจ และนาย ปีเตอร์ ซอนดาคฮ์ ยังเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตหลายบริษัทเช่นเดียวกัน

กลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากสัมปทานตัดไม้ในยุคซูฮาร์โต้จำนวนหนึ่ง คือนายเอ็กก้า จิบตา วิดจาจา, สมาชิกตระกูลซาลิม, นายซูกานโต้ ทาโนโต้ และนาย ปราโจโก ปังเกอสตู มีบริษัทนอกอาณาเขตรวมกันแล้วกว่า 140 บริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่บริติช เวอร์จิ้น

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2541 ซึ่งเป็นเวลาที่อำนาจทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตกำลังสั่นคลอน พบว่าบริษัทพอร์คูลิส ทรัสเน็ตมีลูกค้าจากอินโดนีเซียที่รุดเข้าจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ นายธาเรค เคมาล ฮาบีบี บุตรชายคนรองของอดีตประธานาธิปดี บีเข ฮาบีบี ผู้เข้ารับตำแหน่งแทนซูฮาร์โต้ในปี 2541 นายธาเรค จดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทสองแห่งที่บริติช เวอร์จิ้น ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ก่อนการพ้นอำนาจของซูฮาร์โต้ นาย อิลฮาม บุตรชายอีกคนหนึ่งของ ฮาบีบี ยังตั้งบริษัทนอกอาณาเขตไม่ต่ำกว่า 7 บริษัทในปี 2551  เพื่อเป็นฐานนอกประเทศในการทำธุรกิจในอินโดนีเซียรวมทั้งธุรกิจเหมืองและขุดเจาะน้ำมัน

นอกจากนั้นยังมีนายมาริมูตู สินิวาซาน ประธานบริษัทสิ่งทอเท็กซ์มาโก (Texmaco) ผู้มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับประธานาธิบดี นายสินิวาซานได้เงินกู้จากธนาคารของรัฐจำนวนรวมกันประมาณ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในพ.ศ. 2540 เขาจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท ไปปไลน์ ทรัสต์ คอมปานี ลิมิดเต็ด ที่หมู่เกาะคุก

ในเดือนกันยายน 2541 พบว่าพอร์คูลิส ทรัสเน็ต ได้ จดทะเบียนตั้งบริษัท พิโก้ เทรดดิ้ง ลิมิดเต็ด โดยไม่มีบันทึกชื่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากฐานข้อมูลระบุว่ามีการโอนเงินจากบัญชีของบริษัทนี้จำนวนหลายครั้งหลักหมื่นเหรียญสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งโอนไปยังบุคคลชื่อ นางยานติ รักมานา ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบุตรสาวคนโตของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ อย่างไรก็ตาม การปกปิดความลับของบริษัททำให้ไม่สามรถยืนยันตัวตนผู้รับเงินได้

ฟิลิปปินส์

สอบทรัพย์สินลูกสาวมาร์กอส หลังพบซุกบริษัทลับนอกประเทศ

การตรวจสอบของ ICIJ ร่วมกับผู้สื่อข่าวจาก Philippine Center for Investigative Journalism  พบชื่อนางมาเรีย อิเมลด้า มาร์กอส มาโนต็อค หรือ อีมี่ มาร์กอส นักการเมืองท้องถิ่นบุตรสาวคนโตอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้ล่วงลับ เป็นเข้าของบริษัทนอกอาณาเขต 3 บริษัท ไม่ยอมแจ้งทรัพย์สินตามกฎหมาย

นางอีมี่ มาร์กอส ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด Ilocos Norte ของประเทสฟิลิปปินส์ มีชื่อเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของ ซินตร้า ทรัสต์ ซึ่งตั้งขึ้นที่บริติช เวอร์จิ้น ใน พ.ศ. 2545 ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัท คอมเซ็นเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ที่บริติช เวอร์จิ้น ซึ่งตั้งใน พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นบริษัทที่ซินตร้า ทรัสต์ เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง อิมี่ มาร์กอส ยังมีชื่ออยู่ในบริษัทลับบริษัทที่ 3 คือ บริษัท เอ็มทรัสต์ ซึ่งตั้งในปี 2540 ที่เกาะลาบวน ประเทศมาเลเซียและปิดตัวลงในปี 2542

อีมี่ มาร์กอส ไม่ได้รายงานบริษัทเหล่านี้ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองตามกฎหมายฟิลิปปินส์

นายเฟอร์ดินาน มาร์กอส ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิปดียาวนานถึง 21 ปี หลบหนีจากประเทศฟิลิปปินส์พร้อมครอบครัว ใน พ.ศ. 2529 นางอิเมลด้า มาร์กอสและบุตรธิดาสามคนได้เดินทางกลับหลังจากที่เขาเสียชีวิตใน พ.ศ.  2532 โดยสมาชิกครอบครัวรมาร์กอสรุ่นลูกรวมทั้งนางอีมี่ลงเล่นการเมืองนับแต่นั้น ในขณะนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงเดินหน้าติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการโกงกินของมาร์กอสที่ซ่อนอยู่ต่างประเทศ ที่ประมาณว่ามีราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่ายังคงเหลือบางส่วนซุกซ่อนอยู่ในต่างประเทศ  ข้อมูลที่ ICIJ เปิดเผยในครั้งนี้ นำไปสู่ข้อสงสัยว่า นางอีมี่ อาจมีส่วนรู้เห็นในการซุกซ่อนทรัพย์สินส่วนหนึ่งของนายมาร์กอส

ผลจากการตีพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์และในเว็บไซด์ของ ICIJ ทำให้ขณะนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำการการตรวจสอบการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของนางอีมี่ มาร์กอส โดยคาดว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น