กมธ. พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเชิญตัวแทนธปท.และผอ.สำนักบริหารหนี้ชี้แจง คาด7 ปีกู้2ล้านล้านได้เพียง70%
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เมื่อวานนี้(29 เม.ย.) มีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เป็นการพิจารณามาตราที่ 5 เรื่องการให้อำนาจกระทรวงคลังมีอำนาจกู้เงินบาท หรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื่้นฐานด้านคมนาคมตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนด ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563
โดยเป็นคิวที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ต้องมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศ ไม่ได้มา แต่ส่งน.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย จากฝ่ายเศรษกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงแทน ซึ่งกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเจือ ราชสีห์ และนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาคได้บอกว่า อยากให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงด้วยตัวเอง เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เป็นการกู้ครั้งใหญ่ของประเทศ และมีผลกระทบหลายด้าน และถือได้ว่าเป็นนโยบายบายของรัฐบาล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีนโยบายรองรับนโยบายรัฐบาลด้วย คนที่ต้องให้ข้อมูลคือผู้ว่าฯหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ประธานที่ประชุมจึงบอกว่าจะเชิญผู้ว่าแบงก์ชาติมาอีกครั้ง
กรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามตัวแทนธนาคารแห่งประเทศ ว่า อยากให้พูดถึงสภาพแวดล้อมทางการเงิน เพราะการกู้ยืมจะมีผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างแน่นอน สถานะทางการเงินของประเทศเป็นอย่างไร สภาพคล่องต่อการกู้ยืมเงินหรือไม่ และมุมมองแบงค์ชาติ ได้พิจารณาความเหมาะสมของการกู้ยืมเงิน และผลกระทบที่อาจจะตามมาในการกู้ยืมเงินในลักษณะนี้หรือไม่สภาพคล่องประเทศจะเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อการบริหารนโยบายการเงินหรือไม่ จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อหรือไม่ ขยับขึ้นขยับลงเท่าไหร่ จะทำให้เกิดฟองสบู่หรือไม่ รัฐบาลถามความเห็นแบงค์ชาติหรือไม่ หากช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็ง การกู้ต่างประเทศหรือในประเทศอันไหนดีกว่ากัน และทุนสำรองระหว่างประเทศมีผลหรือไม่อย่างไรกับการลงทุนครั้งใหญ่รัฐบาล
น.ส.พรเพ็ญ ชี้แจงว่า จะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือตลาดการเงินมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่แนวทางดำเนินการ ว่า มีการกระจายการกู้เงินในช่วง7 ปีหรือไม่ จะต้องมีการกระจายการกู้เงิน 7 ปี และหลีกเลี่ยงกู้ล็อตใหญ่ๆในคราวเดียว จะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพคล่อง ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจจะทำงบประมาณสมดุล และถ้าเป็นเงินนอกงบประมาณ วงเงินกู้รวมในแต่ละปี ก็จะไม่มากจนเกินไป ถ้าลดการกู้เงินในงบประมาณ น่าจะช่วยลดผลกระทบลงได้บ้าง และวางแผนการกู้เงินในทางปฎิบัติอย่างเหมาะสม และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)ก็หารือกับแบงค์ชาติอยู่สม่ำเสมอ และถ้ากู้มาแล้ว เร่งใช้จ่ายตามแผนงาน หลีกเลี่ยงการกู้มากอง เงินจะหมุนเวียนในระบบ ถ้าทำได้ตามนี้ก็จะไม่กระทบมากนัก
"ถ้าเร่งใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อสภาพคล่องและอัตรราดอกเบี้ย ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามที่จะเร่งรัดให้ใช้จ่ายเงินเร็วอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วง7 ปี คาดว่าจะกู้ 70 เปอร์เซ็นของแผนงานที่ตั้งไว้ ประมาณ 1.4 ล้านล้านทั้งโครงการ หลังจากนั้นก็มีการทำงานโครงการต่อเนื่อง หลังจากปี 2563"
น.ส.พรเพ็ญ ชี้แจงต่อว่า ส่วนเรื่องฟองสบู่ ยังไม่มีการศึกษา ผลกระทบจากโครงการ 2 ล้านล้าน อย่างไรก็ตามโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่เฉพาะโครงการ 2 ล้านล้านเท่านั้น
ตัวแทนแบค์ชาติ ชี้แจงว่า เรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นแค่จุดจุดหนึ่ง และไม่ได้ลิ้งกับโครงการ 2 ล้านล้านส่วนการจะนำเงินทุนสำรองของแบงก์ชาติมาใช้ลงทุนในโครงการ 2 ล้านล้านบาทได้หรือไม่เงินสำรองฯส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะเดียวกันเรายังเป็นหนี้ต่างชาติ ติดลบอยู่นิดหน่อย
"เงินสำรองที่มีอยู่เพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่อง เงินสำรองเพื่อดูแลบริหารอัตรราคาแปลกเปลี่ยน เผื่อต่างชาติต้องการนำเงินออกไป"
ผู้บริหารแบงก์ชาติ กล่าวอีกว่า ภาพรวมฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของแบงก์ชาติ โดยสุทธิติดลบนิดหน่อย บทบาทแบงค์ชาติ เป็นฝ่ายตั้งรับ สุดท้ายเราจะดูเรื่องการดูดหรือปล่อยสภาพคล่องอย่างไร ในตลาดเป็นตัวกำหนดแบงก์ชาติไม่ได้เป็นคนกำหนด
จากนั้นได้กมธ.ได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เข้าชี้แจง โดยกมธ.ได้ถามกมธ. ว่า รัฐบาลจะกู้เงินบาทจำนวนเท่าไหร่ เงินตราต่างประเทศเท่าไหร่ โครงการไหนบ้างเป็นเงินบาทและโครงการไหนเป็นเงินตราต่างประเทศ
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงว่า การกู้ในประเทศหรือต่างประเทศ กำหนดไว้ว่ากู้ในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ แต่ต้องดูว่า โครงการควรกู้ ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือความต้องการของโครงการ และภาวะตลาดหรือต้นทุนที่เหมาะสมด้วย ต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ต้องคำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกโครงการกู้ในประเทศก่อน ซึ่งจะกู้ภายใน 31 ธ.ค.2563 แน่นอน และหากโครงการยังไม่ผ่านขั้นตอน จะกู้ไม่ได้ และหลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นั้นก็ไม่กู้ แต่เบิกจ่ายที่มีการลงนามโครงการแล้วได้
จากนั้นที่ประชุมได้ถกเถียงกันเรื่อง ว่า ทำไมต้องกู้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.63 และกู้ภายใน31 ธ.ค. หมายความว่าอย่างไร ซึ่ง ผอ.สบน. ชี้แจงว่า ในแง่กฎหมายได้กำหนดเวลาว่าการใช้เงิน ในโครงสร้างพื้นฐาน ประเมินการว่าใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี และเราต้องทำสัญญากู้ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.63
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น