กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับอีกครั้งว่า การส่งออกปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 9% จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้
ดูเหมือนว่าความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของเราลดลง ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่พืชไร่ พืชสวน นาข้าว โรงงานต่างๆ ถูกน้ำท่วมหนักเป็นเดือน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยลดลง ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจโลกหดตัวซ้ำอีกทำให้สินค้าไทยขายไม่ออก
ความจริงแล้วนอกจากปัญหาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการส่งออก เรายังมีอุปสรรคใหญ่ๆ หลายรายการที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายรัฐบาล อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน นโยบายอุดหนุนภาคเกษตรที่ปลูกข้าวแบบสุดโต่ง รับจำนำข้าวเปลือกนาปรังและนาปีตันละ 15,000 บาท ทำให้ราคาข้าวขายส่งออกต้องได้ราคาถึงตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงจะคุ้มกับการลงทุนและการรับจำนำของรัฐบาล สุดท้ายข้าวเราจึงขายส่งออกได้ช้า และขาดทุนเท่าไหร่เราก็ไม่ทราบ เพราะเป็นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ข้อมูลจึงเป็นความลับ ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดโลกมีตั้งแต่ 400-500 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น
สินค้าที่ส่งออกได้ดีก็เห็นจะมีแต่รถยนต์เท่านั้น ซึ่งขณะนี้เราผลิตและส่งออกได้เดือนหนึ่งเกิน 100,000 คันไปแล้ว โดยเดือนมีนาคม 2556 ทำสถิติใหม่ในรอบ 20 ปีที่ไทยทำการส่งออกได้มากเกินกว่าทุกเดือนที่ผ่านมา โดยส่งออกได้ถึง 102,742 คัน ทำลายสถิติสูงสุดโดยคร่าว ๆ แล้วปีนี้คงส่งออกไม่น้อยกว่า 1 ล้านคันแน่นอน แต่อย่างว่าล่ะครับ แม้จะส่งออกได้ดีก็ไม่ถึงกับเป็น "ฮีโร่" ที่จะช่วยให้ตัวเลขการส่งออกโดยรวมกระเตื้องขึ้นได้มากนัก
ในอีกด้านหนึ่งสังเกตให้ดี สินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ จะมีสินค้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนบ้านเขามา "แทรกตัว" วางขายบนชั้นวางขายสินค้าแล้ว ถ้าแต่ก่อนเหลือประมาณ 6-7 ปีที่แล้วจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ เครื่องเสียง ทีวี เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดเพิ่มขึ้นในตลาดเมืองไทย และยังลามไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ยาสีฟัน ยาสระผม อื่นๆ เป็นต้น
ปกติแล้วประเทศไทยเปลี่ยนโครงสร้างจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ปัจจุบันเราผ่านพ้นสภาพนั้นมานานแล้ว แล้วกำลังจะผ่านพ้นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกัน นั่นหมายถึงว่าเรากำลังจะเผชิญกับการแข่งขัน ด้านการผลิตสินค้าอย่างรุนแรงกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและจีน
มองในอีกด้านหนึ่ง เราได้เห็นความสำเร็จของการค้าโลกกำลังจะบรรลุเป้าหมายในแผ่นดินไทย คือ ปล่อยให้สินค้าที่ราคาถูกกว่า คุณภาพด้อยกว่า เข้ามาแข่งขันในตลาด และแน่นอน เรื่องของคุณภาพใครๆ ก็สามารถพัฒนาได้ แล้วเราในฐานะผู้ผลิตจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร แต่ก็ยังดีเมื่อมองไปที่ผู้บริโภคแล้วจะได้เปรียบ เพราะได้สินค้าที่มีราคาถูกกว่านั่นเอง
ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปทัดทานกับการปรับโครงสร้างการผลิตที่กำลังเกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์อันใดจะไปปกป้องค่าเงินบาทด้วยการแทรกแซง เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามสภาพที่ควรจะเป็น ไม่เช่นนั้นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศชาติจะเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ให้ปรับตัวสู่สิ่งใหม่ๆ ดีกว่าเพราะเศรษฐกิจมีขึ้นมีลง วัฏจักรแบบนี้เคยเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต
ที่มา.หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น