จากการที่พม่าแจ้งหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งยาดานาและเยตากุน ระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย. นี้ เนื่องจากต้องซ่อมบำรุงแท่นขุด จำเป็นต้องปิดระบบส่งก๊าซฯ ทั้งหมด และหยุดส่งมาให้กับไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัญหาดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องเร่งหาเชื้อเพลิงสำรอง พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนช่วยประหยัดการใช้พลังงาน โดยวันนี้ (5 เม.ย.) เป็นวันแรกที่พม่าหยุดส่งก๊าซฯ
ทั้งนี้ ผู้ผลิตก๊าซฯ ในพม่าแจ้งว่าจะหยุดส่งก๊าซฯ ให้ไทยในเวลาเที่ยงวันนี้ (5 เม.ย.) และจะกลับมาจ่ายก๊าซฯ ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 14 เม.ย.
วานนี้ (4 เม.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก ตามปฏิบัติการ 3 ป. "รวมใจคนไทยสู้วิกฤติไฟฟ้า" เพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมปฏิบัติการ 3 ป. ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค โดยปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศจาก 25 องศาเซลเซียส เป็น 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ทั้ง 3 มาตรการจะลดการใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์
"พงษ์ศักดิ์" เชื่อไม่เกิดปัญหาไฟตก-ไฟดับ
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟตก ไฟดับ ช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ หลังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีควันที่ 5 เม.ย. นี้ ได้ประมาณ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะลดการใช้ไฟได้ประมาณ 107 เมกะวัตต์ ทำให้สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้เพิ่มขี้นเป็นเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ยอมรับเป็นห่วงวันที่ 9 -10 เม.ย. นี้ ที่โรงงานจะกลับมาเดินเครื่องผลิตทำให้สำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 1,440 เมกะวัตต์ จึงขอความร่วมมือให้ประหยัดไฟต่อเนื่อง
สั่ง กฟผ. สร้างความเข้าใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ส่วนในระยะยาวรัฐบาลมีแผนจะสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังน้ำและถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้เพียงพอ แต่แผนดังกล่าวอาจทำไม่ได้ในระยะสั้น เพราะมีความเสี่ยงหากเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ระหว่างนี้จึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้ยอมรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ ได้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. ) ศึกษารูปแบบการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในลักษณะที่ตั้งบริษัทให้คำปรึกษาในการประหยัดไฟฟ้า แก่สถานประกอบการ รวมทั้งหาแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสถานประกอบการ หรือ โซลาร์รูฟท็อป โดยจะลดขั้นตอนต่างๆ เช่น การขอใบอนุญาต การติดตั้ง และภาษี รวมถึงการขายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนพ.ค. นี้
ผู้ว่าการ กฟผ. ยัน 5-14 เม.ย. สำรองไฟฟ้าพ้นวิกฤติ
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า หากทุกภาคส่วนสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ตามแผน จะช่วยให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) วันนี้ (5 เม.ย.) ลดลงเหลือ 25,600 เมกะวัตต์ จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 26,600 เมกะวัตต์ ส่วนวันที่ 9 เม.ย. คาดว่าปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 25,250 เมกะวัตต์ และวันที่ 10 เม.ย. มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 25,950 เมกะวัตต์
สำหรับวันที่ 9-10 เม.ย. นี้ กรณีที่มีผู้กังวลว่าอาจเกิดวิกฤติไฟฟ้าได้ เนื่องจากเป็นวันที่โรงงานหลายแห่งยังเดินเครื่องผลิตสินค้าก่อน จะถึงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีวันหยุดยาว จากการตรวจสอบทั้ง 2 วัน กฟผ.มีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณไฟฟ้าสำรองของวันที่ 5 เม.ย.ที่มีปริมาณไฟฟ้าสำรองกว่า 1,661.7 เมกะวัตต์
ขณะนี้ ยังไม่มีการปรับแผนเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองช่วงวันที่ 9-10 เม.ย. เพราะว่าตามสถิติของ กฟผ. ทั้ง 2 วัน ปริมาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะไม่สูง เนื่องจากโรงงานบางส่วนได้หยุดผลิต หรือลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากคนงานบางส่วนลากลับถิ่นฐานช่วงสงกรานต์ และได้ประสานไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนลดการใช้พลังงานในช่วงดังกล่าวด้วย
"ช่วง 9-10 เม.ย. นี้ เราไม่สามารถคาดหวังปริมาณที่แน่นอน จากการลดกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากได้ขอความร่วมมือไปก่อนหน้านี้แล้ว กฟผ.คาดว่าจะได้รับความร่วมมือต่อไปจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน ในช่วงสูงและพม่าหยุดส่งก๊าซฯ"
กฟผ. ยันสำรอง 1.6 พันเมกะวัตต์ วันนี้เพียงพอ
ทั้งนี้ สมมติฐานเดิมปริมาณสำรองไฟฟ้าช่วงวันนี้อยู่ที่ 467 เมกะวัตต์ หลังจากมีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและปรับแผนการผลิตไฟฟ้า ทำให้มีปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 1,661.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการขอให้โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จำนวน 26 ราย ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นรวมกันได้ 223.8 เมกะวัตต์ จากการลดการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมรวม 124 ราย รวม 970.9 เมกะวัตต์ และกำลังสำรองไฟฟ้าเดิมอีก 467 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความร่วมมือจากภาคประชาชน คาดว่าจะลดการใช้พลังงานได้อีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สามารถรับสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี
นายสุทัศน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. นี้ กฟผ.ได้งดการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมประสานกับกรมชลประทาน ขอเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนที่ไม่มีปัญหา เรื่องปริมาณน้ำเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ประสานงานขอซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และทดสอบ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล
ส.อ.ท.หวั่นวิกฤติไฟ ขอสมาชิกลดใช้ช่วง 9-10 เม.ย.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการประสานงานเพื่อขอให้โรงงานต่างๆ ประหยัดพลังงานนั้น ได้รับความร่วมมือจากทุกแห่ง ส่วนใหญ่ใช้วิธีปิดซ่อมบำรุงโรงงานช่วงวันนี้ (5 เม.ย.) ส่วนโรงงานที่เปิดก็จะลดการผลิตลงจนถึงเวลา 20.00 น. ของวันนี้ ถือว่ามากกว่าที่ภาครัฐขอความร่วมมือ สำหรับแผนระยะยาวต้องแก้ไขโครงสร้างพลังงาน ปัจจุบันไทยมีอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก แต่ให้ประโยชน์ต่อจีดีพีต่ำ ปรับปรุงระบบการทำงานให้ใช้พลังงานต่ำ หรือเลือกใช้เครื่องจักรให้ถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ได้รับการประสานงานให้ประหยัดพลังงานและลดการผลิตลงวันนี้เท่านั้น แต่ตนก็จะมีการขอความร่วมมือเพิ่มเติม โดยจะส่งหนังสือไปยังโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในสังกัด ส.อ.ท. เพื่อให้ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในโรงงานเพิ่มเติมช่วงวันที่ 9-10เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามากเช่นกัน
เผยภาคธุรกิจร่วมลดใช้ไฟได้กว่า 800 เมกะวัตต์
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติพลังงาน ส.อ.ท. ให้ความร่วมมือประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 10 ค่าย ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 360 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งกลุ่มเหล็ก เคมี ปูนซีเมนต์ ช่วยประหยัดพลังงานได้ 807 เมกะวัตต์ เชื่อว่าหลังจากวันนี้แล้ว จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมขอให้ภาครัฐลดความเสี่ยงด้านพลังงานลง
นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์พลังงาน ช่วงระหว่าง 5-14 เม.ย. ว่า ปตท.ได้ดึงก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตก๊าซฯ ทั้งในอ่าวไทยฝั่งตะวันตกจากพม่า และฝั่งตะวันออก คือ แอลเอ็นจี สำรองไว้ใช้ ทั้งนี้ มั่นใจว่า ปตท. มีก๊าซฯ ส่วนเกินสำรองไว้เพียงพอ สามารถดึงมาใช้ได้กรณีแหล่งก๊าซฯ ใดมีปัญหา โดยมีสำรองไว้ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะเดียวกันได้สำรองน้ำมันเพื่อจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าในกรณีจำเป็นด้วย ทั้งน้ำมันเตาและดีเซล
"ปิยสวัสดิ์" มั่นใจไม่เกิดเหตุการณ์ไฟดับ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสังคมและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟดับ (Black out) ในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายให้ไทย เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้ามานานหลายเดือน มีการเตรียมการที่ดี นอกจากนี้ เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ที่สำคัญหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายต่างๆ ก็มีประสบการณ์รับมือกับสถานการณ์วิกฤติไฟฟ้าที่หนักมากกว่าครั้งนี้ เช่น เกิดพายุเกย์ในอ่าวไทย ทำให้การผลิตก๊าซฯ ต้องหยุด ขณะนั้น กฟผ. ก็สามารถที่จะสับเปลี่ยนเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้แก่ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลไปใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ที่ขาดหายไปได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจุบันไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงมากในการผลิตไฟฟ้า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่ยังมีขั้นตอนที่ล่าช้าและติดขัด ทำให้ในสถานการณ์วิกฤติพลังงาน ไม่สามารถมีพลังงานทดแทนมาใช้เสริมระบบได้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการนำเอาพลังงานทดแทนมาเสริมระบบเป็นการลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
กฟภ. ตั้งวอร์รูมรับมือพม่าหยุดส่งก๊าซฯ
นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่พม่าหยุดส่งก๊าซฯ ช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. นี้ ว่า ได้ทำแผนและวางมาตรการรองรับกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยซ้ำซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (วอร์รูม) ช่วยเหลือสนับสนุนกรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ เพื่อติดตามสถานการณ์ขึ้น ที่สำนักงานใหญ่และที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้ง 13 เขต พร้อมจัดเตรียมสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น ที่พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์จะสามารถทราบได้ทันทีว่า มีปัญหาอุปสรรคติดขัดอยู่ที่จุดใด และแก้ไขได้ทันที
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น