--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

แบงก์ชาติจับตา : บาทแข็งในรอบ 16 ปี !!?



แบงก์ชาติรับบาทแข็งเร็วเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 1.4% แตะ 28.95 บาทต่อดอลลาร์ สั่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ส่วนหนึ่งโยกเข้าลงทุนกองทุนบีทีเอส

ผลพวงจากการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของทางการญี่ปุ่น ที่ประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกับที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เกิดความผันผวนขึ้นตลาดเงินระหว่างประเทศ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นรวมทั้งเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เขายอมรับว่าค่าเงินบาทวานนี้ (9 เม.ย.) มีระดับการแข็งค่าที่ค่อนข้างเร็ว โดยสาเหตุหลักน่าจะเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงิน ของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ผ่อนคลายมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ และบางส่วนน่าจะเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุน เพื่อชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF



สำหรับกองทุนรวม BTSGIF นั้น แบ่งขายให้นักลงทุนต่างชาติประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันเชื่อว่า มีบางส่วนที่โยกเงินจากสินทรัพย์ที่มีการลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทย เช่น ในตลาดหุ้น เพื่อมาลงทุนในกองทุนนี้ด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงก็เป็นได้

ธปท.รับบาทแข็งค่าเร็วเกินไป

"ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของเงินบาทเช้าวันที่ 9 เม.ย. 2556 ค่อนข้างเร็วไป ซึ่งจากสิ้นวันศุกร์มาถึงช่วงเวลา 10.30 น. ของวันที่ 9 เม.ย.นั้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ประมาณ 1.4% และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเงินเยน 4% ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งเร็วกว่าปกติ โดยแบงก์ชาติเองจะติดตามดูการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด"นายประสาร กล่าว

นอกจากนี้ การแข็งค่าที่รวดเร็วของเงินบาท ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากช่วงนี้มีวันหยุดติดต่อกันมาก ทำให้ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศค่อนข้างเบาบาง จึงเห็นการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าปกติบ้าง โดยช่วงนี้มียอดขายดอลลาร์เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 200-400 ดอลลาร์ ส่วนขาซื้อดอลลาร์สหรัฐเองก็ค่อนข้างเบาบางกว่าปกติ เพราะจริงๆ แล้วช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่จะซื้อเงินดอลลาร์เพื่อไปซื้อสินค้าทุนหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ

"ประสาร"ยันเฝ้าระวังใกล้ชิด

สำหรับการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. นั้น นายประสาร กล่าวว่า ธปท.มีการดูแลเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่การดูแลไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าแทรกแซงในตลาดเงินเสมอไป เพราะว่า ธปท. เองก็มีเครื่องมือหลายชั้นในการดูแล โดยมีตั้งแต่การปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือแรกๆ ของ ธปท. เครื่องมือถัดมา เช่น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลของเงินทุนที่ไหลเข้าและไหลออก ซึ่งล่าสุด ธปท.จะขายเพิ่มให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่สนใจออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างไม่จำกัด

ส่วนเครื่องมือที่สาม คือ การแทรกแซงในตลาดเงิน ถ้าธปท.เห็นว่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากสภาวะปกติ ก็สามารถเข้าไปแทรกแซงในตลาดเงินได้ ส่วนเครื่องมือที่สี่ คือ การกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ในสถานะที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ทั้ง 4 เครื่องมือที่ ธปท. มีนั้น จะเห็นว่ามีเครื่องมือที่เป็นลักษณะของวิธีธรรมชาติ และที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติ ซึ่งทางธปท.เองจะเลือกใช้วิธีที่เป็นธรรมชาติก่อน เช่น ตอนนี้มีหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจใด ที่มีหนี้ต่างประเทศ ธปท.ก็จะสนับสนุนให้ชำระหนี้เหล่านั้นก่อนกำหนด หรือหน่วยงานใดที่ต้องลงทุนด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ทางธปท.ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นจังหวะดี ที่จะมีการลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ ในขณะที่วิธีที่ไม่ได้เป็นธรรมชาตินั้น จะใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ปัดควบคุมเงินทุนผวาผลกระทบข้างเคียง

"การควบคุมเงินทุนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ อย่างประเทศบราซิลที่เขาใช้วิธีเก็บภาษีเงินที่เข้ามาลงทุน พอทำไปจริงๆ มันมีผลข้างเคียงอื่น เช่น เงินลงทุนจริงที่เขาอยากได้ พวกนี้ก็ได้รับผลกระทบพลอยหยุดชะงักไปด้วย จนกระทั่งหลังๆ เขาเองก็อยากจะปรับลดภาษีที่เรียกเก็บตรงนี้ลง ดังนั้นเวลาเราจะทำอะไรก็ต้องดูให้รอบคอบ ว่า จะมีผลข้างเคียงขึ้นบ้างหรือไม่"นายประสาร กล่าว

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออก จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น นายประสาร กล่าวว่า เวลานี้กำลังประเมินกันอยู่ แต่ถ้าดูกรณีของเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐนั้น จากการศึกษาของธปท.ช่วงที่ผ่านมา พบว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกมากนัก หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง

ส่วนเงินบาทเทียบกับค่าเงินเยนนั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่แข่งกับญี่ปุ่น แต่เป็นประเทศคู่ค้า โดยอุตสาหกรรมไทยมีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก

ซื้อบาทจ่ายค่ากองทุนบีทีเอส2หมื่นล้าน

ขณะที่นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (9 เม.ย.) ปรับตัวแข็งค่าทะลุระดับ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปถึงระดับ 28.93 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดของวัน หลังจากที่เปิดตลาดที่ระดับ 29.22-29.23 บาทต่อดอลลาร์ เพราะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เงินบาทที่ลงไปแตะ 28.93 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี

นอกจากนี้ยังมีการทำคิวอีของญี่ปุ่นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าภูมิภาคเอเชียมากขึ้น จึงมีแรงขายดอลลาร์ออกมา ประกอบกับความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่เห็นเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณซื้อขายเข้ามาอย่างหนาแน่น

"บรรยากาศการลงทุนตลาดเงิน มีผู้เข้ามาทำการซื้อขายค่าเงินมากขึ้น ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมาปิดที่ระดับ 29.00-29.04 บาทต่อดอลลาร์ได้"

คาดเคลื่อนไหว 29-29.15 บาทต่อดอลล์

ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ากลับขึ้นมาได้ ทำให้แนวโน้มเงินบาทวันนี้ (10 เม.ย.) อาจจะอ่อนค่าลงได้โดยคาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.00-29.15 บาท

ด้าน นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทวานนี้ เป็นผลจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุน ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบีทีเอส จึงมีการขายดอลลาร์และซื้อเงินบาท เพื่อชำระค่ากองทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เมื่อตัดปัจจัยดังกล่าวไปแล้ว ก็เชื่อว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับเหนือ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกสักพักหนึ่ง

ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้1.2หมื่นล้าน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สรุปการซื้อขายวานนี้ (9 เม.ย.) รวม 158,941 ล้านบาท โดยประเภทของตราสารที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 136,660 ล้านบาท คิดเป็น 74.0% พันธบัตรรัฐบาล มีมูลค่าการซื้อขาย 45,540 ล้านบาท คิดเป็น 24.7% ทางด้านหุ้นกู้เอกชน มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 1,623 ล้านบาท คิดเป็น 0.9%

ประเภทของนักลงทุนที่มียอดซื้อสุทธิสูงที่สุด คือ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซื้อสุทธิ 21,337 ล้านบาท กลุ่มนิติบุคคลในประเทศ ซื้อสุทธิ 13,789 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิ มูลค่า 12,829 ล้านบาท โดยต่างชาติมียอดคงค้างซื้อตราสารหนี้จนถึงปัจจุบันกว่า 8 แสนล้านบาท

ขณะที่ การซื้อขายตลาดตราสารหนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 เม.ย.) นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภท 8,503 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิถึง 8,392 ล้านบาท

เยนเทียบดอลล์อ่อนค่าทุบสถิติ

รานงานภาวะตลาดปริวรรตเงินตราเอเชีย โดยเงินดอลลาร์แข็งสุดรอบ 47 เดือน ขณะที่เงินเยนร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบหลายปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร โดยนักลงทุนเทขายเยนออกมา ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังดำเนินนโยบายต่อต้านภาวะเงินฝืดในช่วงนี้ โดยดอลลาร์ดีดตัวขึ้นไปแตะระดับ 99.67 เยนซึ่งเป็นจุดสูงสุด นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2009 แต่ต่อมาคำสั่งขายทำกำไรได้กดดันดอลลาร์ให้ร่วงลงสู่ 99.25 เยน ขณะที่ยูโรขึ้นไปแตะ 129.935 เยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เดือนม.ค.2010 โดยในช่วงนี้ยูโรอยู่ที่ 129.59 เยน แข็งค่าขึ้น 0.3 % นับตั้งแต่บีโอเจเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันพฤหัสบดี ที่ 4 เม.ย. ดอลลาร์/เยนก็ได้พุ่งขึ้นมาแล้วราว 7 %

สรท.ชี้ภาครัฐลอยแพผู้ส่งออก

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือน แรกของปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5 % และผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมีมาร์จินระหว่าง 3-5% และเมื่อมาเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ มีโอกาสสูงที่กำไรจะหายไป รวมทั้งเงินเยนอ่อนค่าลงด้วยทำให้กระทบการส่งออกไปญี่ปุ่นด้วย

"เราชี้แจงผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ตอบสนองอะไรมากนัก และกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ยกเลิกนัดหารือผลกระทบกับภาคเอกชนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเหมือนรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรช่วยเหลือผู้ส่งออก รวมทั้งยังบอกให้ผู้ส่งออกหาทางช่วยเหลือตัวเอง โดยแนะนำให้นำเข้าเครื่องจักรในช่วงเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศและซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ภาครัฐไม่รู้ว่าแต่ละแนวทางมีข้อจำกัด ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกราย" นายไพบูลย์ ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ส่งออกต้องช่วยเหลือตัวเอง เพื่อบริหารภาวะขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ผลิตเพื่อส่งออกบางรายต้องบริหารเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าผู้ส่งออกก็อยู่รอดมาตลอด เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ส่งออกเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่าหลายครั้ง แต่ภาครัฐไม่รู้ว่าผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าครั้งนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้การส่งออกไตรมาส 2 ไม่ดีเหมือนไตรมาส 1 เพราะเจรจาคำสั่งซื้อช่วงเงินบาทแข็งค่า

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น