--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

Live & Learn


โดย ณฐกร ขุนทอง

เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็น "สัจธรรม" ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ

การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจ

เราอาจอยู่ในสถานที่คุ้นเคย ไม่เคยพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีลมหายใจอยู่ที่บ้าน-ที่ทำงาน ซึ่งอย่างหลังกลายเป็นสถานที่ที่คนเราใช้เวลามากกว่า "บ้าน" เสียอีก

เรียกว่า ชีวิตคลุกคลีกับเพื่อนร่วมงาน จนกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ยิ่งกว่าญาติ อาจรู้ใจกันยิ่งกว่าคนรัก

แต่เมื่อมี "บริบทใหม่ ๆ" เข้ามาเบียดแทรก

"การเปลี่ยนแปลง" ....สิ่งที่หลายคนไม่อยากเผชิญจะวิ่งเข้ามาหา ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือ "สัจธรรม" ที่ยากปฏิเสธ

ไม่ว่าจะเตรียมหัวใจไว้หรือไม่ก็ตาม...

สัจธรรมนี้ไม่เพียงใช้ได้กับ "ชีวิตของปัจเจก" หากแต่ยังใช้ได้กับเส้นทาง

สายการตลาด และการปลุกปั้นแบรนด์ ซึ่งพบความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะต่างก็ต้องคอยจับจ้อง เฝ้าดูความ

เป็นไปของ "ผู้บริโภค" ผู้ซึ่งเป็นลูกค้าที่ยิ่งใหญ่

ประกอบกับทุกวันนี้ "บริบท" แวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนเร็ว ไม่ว่าจะเป็น วิถีการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น, กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามรายได้ที่เป็นผลพวงจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท, ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่วิ่งตามเทคโนโลยีทั้ง 3 จี และดิจิทัล

หรือแม้แต่การเลือกเสพสื่อในยุคที่มีทางเลือกให้มากมาย, การใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น, พฤติกรรมเสพติดสมาร์ทโฟน, ชอบความสะดวก, หลงอยู่ในโลกเสมือน, คลั่งกระแสแชร์ความรู้สึก ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งปวงกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นสำหรับการวางแผนการตลาด ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทวิจัยผู้ทำหน้าที่อินไซต์ข้อมูลผู้บริโภคต้องทำงานหนักให้กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เพื่อ "เข้าถึง" ความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด

คงเหมือนกับกลยุทธ์การบริหารแบบซุนวู ในยุทธตำราการรบรบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ที่เขียนไว้ว่า "รู้เขา รู้เรา"

การตลาดที่ดีต้องรู้ถึงความต้องการ เข้าถึงใจ หรือเข้าไปนั่งอยู่กลางใจผู้บริโภคให้ได้

ยุคนี้จึงถือเป็นความท้าทายของแบรนด์อย่างมาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค หรือ Consumer Behavior ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว การหา Contact Point หรือจุดที่ผู้บริโภคเข้าไปอ่าน ติดต่อ สื่อสาร สัมผัสกับสื่อหรือพื้นที่นั้น ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เท่าที่เห็น ปัจจุบันแบรนด์สินค้าพาหันมาเลือกใช้สื่อแบบโฟกัสมากขึ้น

ในเมื่อมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเจาะลึกและอินไซต์ สัมผัสได้ถึง Contact Point และ

เชื่อมั่น ก็ไม่จำเป็นต้อง "หว่าน" ให้เปลืองเม็ดเงิน

ข้อมูลที่น่าสนใจของ "มายด์แชร์ ประเทศไทย" พบว่า ทิศทางการสื่อสารการตลาดกำลังเข้าสู่ช่วงปรับตัวอย่างก้าวกระโดด การทำความเข้าใจกับการใช้สื่อ และผสมผสานสื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักการตลาดต้องรู้

ประเด็นสำคัญคือ ยุคนี้เจ้าของสินค้าหรือใคร ๆ ก็ใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดทั้งนั้น แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การโฆษณาหรือทำการตลาดสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ชมหรือผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่โสภานัก เพราะเป็นความละเอียดอ่อนที่อาจทำให้เป้าหมายพลิกจาก "ชอบ" กลายเป็น "เกลียด" ได้

อยากยกตัวอย่างหนังฮอตเรื่อง "พี่มาก...พระโขนง" ของค่ายจีทีเอช เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้การวางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด การปั้นกระแสก่อนหนังเข้าฉายจริงผ่านทางโซเชียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ ซึ่งเมื่อบวกกับตัวหนังที่มีเนื้อหา "โดน" ผลลัพธ์จึงทำให้ "ผู้สร้าง" ยิ้ม

ไม่หุบกับรายได้มหาศาลที่ยังพุ่งทะยานไม่หยุดทั้ง ๆ ที่หนังเรื่องนี้คือตำนานแม่นาคพระโขนง แต่เมื่อถูกตีความในอีกแบบ และผู้บริโภค "รับ" ในแนวเนื้อหาและการนำเสนอสไตล์คอเมดี้ได้ "อาการโดนอย่างแรง" จึงกระฉ่อน กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "ต้องไปดูให้ได้" กระจายไปทั่วประเทศ

ว่าไปแล้ว นี่ก็คือการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและผู้บริโภค ซึ่งคนทำหนังและนักการตลาดสามารถผสมผสานทุกอย่างได้ตอบโจทย์ ท่ามกลางบริบทที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ

วันนี้การเปลี่ยนแปลงกำลังวิ่งเข้าหาผู้คนและทุกวงการธุรกิจ จะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็แล้วแต่บริบทใหม่ ๆ ที่เข้ามา ซึ่งหากคนเรามองทุกอย่างด้วยการเรียนรู้ เห็นทุกอย่างด้วยหัวใจคิดบวก

ต่อให้ "บริบท" หมุนเปลี่ยนไปสักเท่าใด เราอาจมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ !

ที่มา.ประชาชาตฺธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น