--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

กิตติรัตน์ เชื่อ ธปท. ออกมาตรการ รับมือค่าบาทแข็ง ในสัปดาห์นี้ !!?


กิตติรัตน์ ชี้ทิศทางบาทเริ่มดีหลังถกแบงก์ชาติ คาดสัปดาห์นี้ ธปท.ชงมาตรการรับมือ สศค.แจงไตรมาสแรก ศก.โต 6.9% ทั้งปียังคงเป้า 5.3% ส.อ.ท.เสนอ กนง.ถกนัดพิเศษ ชี้ประชุมปกติแก้ปัญหาไม่ทัน

โต้งชี้บาทเริ่มดีหลังถกร่วม

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในที่ประชุมหารือแนวทางรับมือค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทุกฝ่ายมีแนวคิดที่ตรงกันในหลายเรื่อง และหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อรับมือการแข็งค่าของค่าเงินบาทนั้นกระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะสนับสนุน

"หลังจากที่ประชุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพื่อรองรับการแข็งค่าของค่าเงินบาท ทำให้ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมารับมือในระยะสั้นและหากมีมาตรการอะไรออกมาเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น" นายกิตติรัตน์กล่าว

ธปท.ชงมาตรการสัปดาห์นี้

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า แม้ในระยะสั้นนั้นยังไม่ต้องมีมาตรการอะไรเข้ามารองรับการแข็งค่าของค่าเงินบาท แต่ในระยะกลางและระยะยาวนั้นก็ต้องหามาตรการมารองรับด้วย หาก ธปท.มีมาตรการอะไรรับมือค่าเงินบาทและเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของกระทรวงการคลังก็พร้อมจะสนับสนุนและถ้ามีมาตรการอะไรที่ดำเนินการอยู่แล้วก็สามารถก็ดำเนินการต่อได้ แต่หากมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ควรจะแจ้งกับกระทรวงการคลังรับทราบ คาดว่า ธปท.จะเสนอมาตรการเพื่อรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาในสัปดาห์นี้

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ส่วนแนวคิดของนักวิชาการบางรายที่เสนอให้มีการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการทำสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน กับ 50 ประเทศ สนธิสัญญานี้ได้ระบุว่า ห้ามเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก เกิน 10% ปัจจุบันกระทรวงการคลังก็ดำเนินการอยู่และไม่สามารถเก็บภาษีเกิน 10% ในส่วนของการเก็บภาษีเงินฝากของชาวต่างชาตินั้น รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ละเลยโดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่มี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดำเนินการต่อเนื่อง

ศก.ไตรมาสแรกโต6.9% 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่ายในประเทศ จากเครื่องชี้วัดการบริโภคภาคเอกชนและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาส 1 ขยายตัว 6.9% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวถึง 18% แม้ว่าจะยังไม่รุนแรง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ตัวเลขที่ยังอยู่ในระดับดีคือการส่งออกที่ยังขยายตัว แต่ก็เป็นระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นายสมชัยกล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การส่งออกของไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวเพียง 4.3% จากประมาณการที่คาดว่าจะขยายตัว 7% หากจะให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ที่ 9% ตามตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องดูแลให้การส่งออกในไตรมาสที่เหลือขยายตัวให้ได้เฉลี่ยไตรมาสละ 10% ภายใต้ประมาณการค่าเงินบาทที่ 29.40 บาทต่อดอลลาร์

นำเข้ายังไม่ปรับแผนรับบาท

นายสมชัยกล่าวว่า ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 5.1% แต่หดตัวลงถึง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะภาคธุรกิจจะวางแผนล่วงหน้าเป็นปี จึงยังไม่ได้ปรับแผนที่ได้วางไว้ และติดตามดูการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทจากทางการด้วย แต่หากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงยืนยันดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ก็จะทำให้คาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทว่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าผู้นำเข้าก็น่าจะปรับแผนนำเข้าใหม่และน่าจะเห็นผลชัดเจนในไตรมาสที่ 2

"ปัจจัยหลักที่ทำให้สัญญาณการขยายตัวของเศรษฐกิจแผ่วๆ ลงมาจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้แต่ละประเทศต่างหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากขนทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่โดยรวมแล้วไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 6% และทั้งปีก็ยังคงเป้าเศรษฐกิจขยายตัวที่ 5.3%" นายสมชัยกล่าว

 รายย่อยยังซื้อขายล่วงหน้าน้อย

นายพิสิทธิ์ พัวพัน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละครั้งมีความยากลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวต่อการค้าการส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญตามโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าต้องนำเข้ามาคิดเป็น 40% ของการลงทุนในภาพรวม จะช่วยบรรเทาปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทได้ และนักลงทุนไทยควรออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจในไทยควรใช้โอกาสนี้ชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด

นายพิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารในสังกัดของรัฐทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือฟอร์เวิร์ด คอนแทร็ค ให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการทำฟอร์เวิร์ด คอนแทร็ค น้อย ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ ธนาคารกรุงไทยทำฟอร์เวิร์ดให้เอสเอ็มอีเพียง 640 ราย วงเงิน 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

 พณ.ดูแลส่งออกรายกลุ่ม

น.ส.พัดชา วุฒิพันธุ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ข้อสรุปตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาดูแลอุตสาหกรรมรายกลุ่ม เพราะเข้าใจว่าผู้ประกอบการเผชิญหลายปัจจัยจนเกิดความลำบาก ประกอบด้วย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว 5-6%

น.ส.พัดชากล่าวว่า มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการช่วยเหลือผู้ส่งออกแล้ว อาทิ อนุมัติงบเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อหาตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และขยายตลาดเดิมที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้น เช่น เมืองที่ยังเป็นโอกาสในสหรัฐ เป็นต้น ตลาดที่ผู้ส่งออกสามารถเข้าไปทำการค้า กระทรวงพาณิชย์แบ่งเป็น 3 ตลาด คือ ประเทศดาวรุ่งแต่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ประเทศดาวเด่น อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ถือเป็นประเทศที่อัตราการนำเข้าสินค้าจากไทยและทั่วโลกเติบโตดี และตลาดทั่วไปที่การนำเข้าเริ่มลดลงแต่ทิ้งไม่ได้ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น

 พณ.เล็งเสนอครม.เพิ่มงบช่วย

นางอัมพวัน พิชาลัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้กรมกำลังประชุมร่วมกับหอการค้าไทย ส.อ.ท. สมาคมธนาคารไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีภายในโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี โปร-แอ๊กทีฟ) หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณช่วย

เหลือเอสเอ็มอี จาก 15 ล้านบาทต่อปี เป็น 100 ล้านบาท และจัดทำโครงการต่อเนื่อง 3 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท และงบฉุกเฉินอีก 100 ล้านบาท หลักเกณฑ์ใหม่จะเพิ่มงบช่วยเหลือต่อรายจากเดิมเฉลี่ย 3-5 หมื่นบาทต่อปี ให้สูงสูดถึง 2 แสนบาทต่อราย และยื่นขอไม่เกิน 4 ครั้งใน 3 ปี เพราะขณะนี้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น

"ผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือได้แล้วกับองค์กรที่ร่วมกับกรมฯ และจะคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 60 วัน" นางอัมพวันกล่าว

บุญทรงสั่งรวบรวมผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมหารือภาคเอกชน รวบรวมว่าธุรกิจมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพื่อทบทวนงบประมาณช่วยเหลือ และยื่นของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากที่ได้อนุมัติให้ดึงเงินต้นจากกองทุนส่งเสริมการส่งออกมาใช้จ่ายได้ วงเงิน 300 ล้านบาท เพราะวิตกว่างบประมาณไม่เพียงพอและงบ 300 ล้านบาท ครอบคลุมถึง 3 ปี โดยประเมินว่าจะของบประมาณเพิ่มเฉพาะกิจในปีนี้อีก 200-300 ล้านบาท

ร้อยเอก สุวิพันธุ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กล่าวว่า จากการหารือภาคเอกชนผู้ส่งออกอาหารไทยยังยืนยันต่อตัวเลขส่งออกขยายตัว 10% ในปีนี้ จากปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 8.3 แสนล้านบาท แม้ไตรมาสแรกจะติดลบเล็กน้อย เนื่องจากไทยมีแผนจะผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายรัฐบาล และหลายประเทศหันซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากไทยมากขึ้นดูจากการจัดงานแสดงอาหารไทยเฟ็กซ์ 2013 วันที่ 22-26 พฤษภาคม ที่เมืองทองธานี มีผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้างาน 7 พันราย และประเมินมูลค่าจากการจัดงานครั้งนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมทูตพาณิชย์ช่วงจัดงานแสดงสินค้าก็จะหารือและทบทวนแผนการทำตลาดเพื่อผลักดันตัวเลขรวม 8-9%

 ส.อ.ท.ชงถกกนง.นัดพิเศษ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 เมษายน ส.อ.ท.จะเข้าพบผู้บริหาร ธปท.เพื่อหารือมาตรการในการรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดย ส.อ.ท.จะเสนอ 7 มาตรการ มี 2 มาตรการใหม่เร่งด่วนจะเสนอ คือ 1.ต้องการให้ค่าเงินบาทไม่มีความผันผวน และ 2.ต้องการให้ค่าเงินบาท หากแข็งค่าก็อยากให้สอดคล้องกับภูมิภาค ส่วนอีก 5 มาตรการ คือ 1.จัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤต 2.เปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงินจากยึดเงินเฟ้อเป็นยึดอัตราแลกเปลี่ยน 3.ลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน 1% ในครั้งเดียว 4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายและ 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของ ธปท.ที่ขณะนี้เป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุน

"ต้องการให้ ธปท.เร่งดำเนินการผสมผสานมาตรการตามความเหมาะสม และต้องการให้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.นัดพิเศษ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ภาคเอกชนเสนอให้เห็นผลทันที ไม่ใช่เป็นการเรียกประชุมรายเดือนตามวาระปกติ ไม่ทันการณ์" นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ธปท.จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งเดียว 1% จาก 2.75% เหลือ 1.75% เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องใช้ยาแรง หากลดดอกเบี้ยไม่มากจะไม่เห็นผล

ขอตั้งกองทุนหมื่นล.ช่วย

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวในงานเสวนา "ทิศทางการแข็งค่าเงินบาท และกรณีศึกษาการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการส่งออก" ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 ว่าในวันที่ 30 เมษายนนี้ ส.อ.ท.จะยื่นข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้กับ ธปท.และกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาทันที เช่น ขอให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ส่งออกในการออกไปขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ขอให้กระทรวงการคลัง ตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี กองทุนของทั้ง 2 กระทรวง ควรมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท

แบงก์กรุงเทพชี้บาทแข็งต่อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสวนทางกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 6-7% สูงสุดในภูมิภาค ขณะที่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น 1% จึงส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลง 5-7%

"ธปท.ควรดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้ทำให้ทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงด้วยซ้ำ สะท้อนว่า ธปท.ยังไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน หรือหากแทรกแซงก็ยังไม่มากเท่าที่ควร" นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังจะแข็งค่าต่อไป ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียจะมีเศรษฐกิจที่ดี ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ส่งผลให้สภาพคล่องที่มีจำนวนมากมีโอกาสไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย และยากที่จะใช้มาตรการต่างๆ ควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ดังนั้น ผู้ส่งออกจะต้องปรับตัวใช้เงินสกุลบาทในการค้าขาย ปรับเปลี่ยนตลาดไปยังตลาดที่ไม่ถูกกระทบจากค่าเงิน การประกันความเสี่ยง และลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ที่มา : นสพ.มติชน
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น