--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง บนเส้นทางของการค้า !!?

โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

1.การค้าขายระหว่างไทยกับจีน

ราวต้นทศวรรษ 1990 เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีน ประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศไทย เรียกว่า “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ต่อมาเพิ่มประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาเข้ามาเรียกว่า “หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ” ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะทำอย่างไรให้ประเทศของตนจะได้รับประโยชน์ หรือกำไรในทางเศรษฐกิจมากที่สุด

ประเทศจีนและประเทศไทยค่อนข้างมีบทบาทมากในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อเปิดและขยายเส้นทางคมนาคมให้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการค้า การลงทุน

ในส่วนของประเทศจีนมุ่งที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่รายรอบ ทำให้ประเทศจีนพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศจีนได้สร้างถนนจากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานลงมาทางใต้ถึงชายแดนประเทศพม่า ประเทศลาว และเชื่อมต่อไปยังไทย และเวียดนาม (วรศักดิ์ 2549 : 1 – 4)

ความร่วมมือในกรอบ “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” หรือ “หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ” ประเทศจีนมีบทบาทอย่างสำคัญทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ เพราะจะเห็นว่าจีนเป็นผู้การสนับสนุนประเทศต่างๆในภาคพื้นทวีป เช่น พม่า ลาว เช่น การลงทุนในการสร้างถนน R3a หรือ R3w หรือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของลาวและพม่า



ความสัมพันธ์ทางการค้า ลุ่มน้ำโขง/ ภาพจาก primexinc.org

ประเทศจีนเริ่มมีแผนพัฒนาในการมุ่งลงมาหาประเทศที่อยู่ทางใต้ ซึ่งประเทศไทยเองก็คิดไม่ต่างกัน ทั้งสองประเทศจึงมองเห็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กว้างกว่าที่ผ่านมา นำมาสู่ความร่วมมือการการสร้างเส้นทางบกหรือทางแม่น้ำเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความคิดนี้จะสำเร็จได้ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศอื่น เช่น พม่า ลาว เวียดนาม เป็นต้น (อเนก : 2555)

2.มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยใหญ่เป็นอันดับสอง โดยปี 2554 มีมูลค่าการค้าร่วมกัน 1.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 12.6 เปอร์เซ็นต์

สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนในปี 2554 อันดับหนึ่งเป็น ยางพารา จำนวน 1.4 แสนล้านบาท อันดับสองเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1.3 แสนล้านบาท อันดับสามเป็นเคมีภัณฑ์ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าปฐมภูมิและกึ่งสำเร็จรูป ในฐานะที่จีนเป็นโรงงานของโลก นำไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปในตลาดโลก ต่อไป (เดลินิวส์ 2555)

ภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน – จีน ด้านสินค้าได้กำหนดให้ลดภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม 2548 และเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2553 สำหรับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และจีน และภายในปี 2558 สำหรับอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ) โดยกำหนดอัตราภาษีปกติลดลงปีสุดท้ายมี 2 อัตรา คือ 0 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ และได้กำหนดให้เริ่มลดภาษีสินค้าบางรายการลงทันที (Early Harvest : EH)

อาทิ เช่น สินค้าเกษตรทุกรายการ ได้แก่ สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ใช้บริโภค ปลาและสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์จากสัตว์อื่น ต้นไม้ และพืชที่มีชีวิต พืชผักใช้บริโภค และผลไม้ โดยให้ลดภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม 2547 ให้เป็น 0 ภายในปี 2549 สำหรับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และจีน ส่วนอาเซียนใหม่ภายในปี 2553 (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

สำหรับดุลการค้าไทย-จีน (ทั้งประเทศ)

ในครึ่งแรกปี 2550 ไทยเกินดุลการค้าผักและผลไม้กับจีนเร่งตัวเป็น 7,495.0 ล้านบาท สูงกว่าที่เกินดุล 6,557.7 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันปี 2546 (ก่อนFTA ไทย-จีน ) ที่เกินดุล 3,096.6 ล้านบาท สินค้าอ่อนไหวสูง ได้แก่ สินค้าที่มีโควตาภาษีของไทยทั้ง 23 รายการ (53 พิกัดศุลกากร) เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ชา เป็นต้น

ซึ่งสินค้าอ่อนไหวสูงเหล่านี้จะยังคงภาษีนอกโควตาเท่าที่ผูกพันไว้เท่าเดิมไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งไม่ว่าภาษีนอกโควตาจะอยู่ที่ ระดับใดก็ต้องลดลงเหลือในอัตราร้อยละ 50 เช่น กระเทียมจะลดจากร้อยละ 57 เหลือร้อยละ 50 หอมหัวใหญ่จะลดจากร้อยละ 142 เหลือร้อยละ 50 แต่หากสินค้าใดมีภาษีนอกโควตาที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อย 50 อยู่แล้วก็จะคงภาษีนอกโควตาไว้เท่าเดิม

การค้าผ่านแดนปี 2554

ไทยมีมูลค่าการค้าผ่านแดนกับจีนตอนใต้ รวม 27,615.4 ล้านบาท(ปี 2553 มูลค่า 18,890.3 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 โดยแยกเป็นการส่งออก 19,939.6 ล้านบาท(ปี 2553 มีมูลค่า 13,253.9 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.4 การนำเข้า 7,675.8 ล้านบาท (ปี 2553 มีมูลค่า 5,636.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 ทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้า 12,263.8 ล้านบาทสำหรับปี 2555 (มกราคม-สิงหาคม) ไทยมีมูลค่าการค้าผ่านแดนกับจีนตอนใต้ รวม 20,852.4 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.2 (ปี 2554 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่า 17,941.1 ล้านบาท)แบ่งเป็นการส่งออก มีมูลค่า 15,625.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 (ปี 2554 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่า 13,357.7 ล้านบาท) การนำเข้ามีมูลค่า 5,226.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 (ปี 2554 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่า 4,583.4 ล้านบาท)ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 10,399.1 ล้านบาท (สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ 2555)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 9,915.2ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 น้ำมันดีเซล มูลค่า 1,577.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 902.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 668.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 น้ำมันปาล์ม มูลค่า 431.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ เช่น บรอกโคลี ถั่วหวาน กระเทียม แอปเปิล สาลี่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่า 939.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ผักและของปรุงแต่งจากผัก มูลค่า 684.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.5 เครื่องส่งสัญญาณภาพ เสียงและส่วนประกอบ มูลค่า 621.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.4 ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ มูลค่า 567.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.6 เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือนอื่นๆ มูลค่า 312.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 (เรื่องเดียวกัน)

จังหวัดที่มีมูลค่าการส่งออกผ่านแดนไทย – จีนตอนใต้มากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่จังหวัดมุกดาหาร มูลค่าการส่งออก 10,218.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 รองลงมา ได้แก่ จังหวัดเชียงรายมูลค่า 5,402.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จังหวัดนครพนม มูลค่า 4.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จังหวัดที่มีมูลค่าการนำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย มูลค่าการนำเข้า 1,756.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 รองลงมา ได้แก่ จังหวัดนครพนม มูลค่า 1,053.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จังหวัดมุกดาหาร มูลค่า 705.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 จังหวัดน่าน มูลค่า 2.7 ล้านบาท (เรื่องเดียวกัน)

มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนที่ไม่นับรวมน้ำมัน สำเร็จรูปและน้ำมันดิบในไตรมาส1/ 2555 ลดลงร้อยละ 3.2 เกิดจากการหดตัวของกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมอย่างยางพารา ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และราคาสินค้าของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างสินค้ายางพารา (คู่แข่งคือเวียดนามและอินโดนีเซีย) หรือข้าว (คู่แข่งคือเวียดนามและปากีสถาน) หรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (คู่แข่งคือเวียดนามและกัมพูชา) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความต้องการสินค้าเกษตรของไทยที่ลดลง

การนำเข้าของไทย (จากจีน)ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2555 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 23.5 จากระดับร้อยละ 11.4 ในไตรมาส 4/2554 โดยเฉพาะกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่เติบโตร้อยละ 51.1 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2555)

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 จีนได้ยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สินค้าไทยเพิ่มเติมอีก 150 รายการ ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน หลังจากที่ได้มีการปรับตัวลดภาษีสินค้ากว่า 7,000 รายการเหลือร้อยละ 0 ไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูง เช่น สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น เนย เทียม ผัก/ผลไม้ดอง แยม และ น้ำส้ม/น้ำมะเขือเทศ (ภาษีปกติร้อยละ 25-30)

สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องโกนหนวด เครื่องปิ้งขนมปัง (ภาษีปกติร้อยละ 30-35) ฟิล์มสำหรับใช้ในการถ่ายรูปสี (ภาษีปกติร้อยละ 40-47) รถจักรยานยนต์ (ภาษีปกติร้อยละ 40-45) สินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ (ภาษีปกติร้อยละ 35) (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2555)

นอกจากนี้การพัฒนาเส้นทางถนนเพิ่มเติม โดยเฉพาะเส้นทาง R3E (จีน-ลาว-ไทย) จะเพิ่มศักยภาพและความได้เปรียบของประเทศจีนมากขึ้นในการกระจายสินค้า ส่งผลต่อผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนปรับตัวรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสู้กับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่จะเข้ามาครองตลาดในภูมิภาคนี้



ตลาดน้ำ ปากแม่น้ำโขง ภาพจาก wikipedia

3.อุปสรรค ปัญหาและข้อสังเกตเบื้องต้นการค้าระหว่างไทย – จีน คือ

ประการที่ 1 ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมากทุกปี ในฤดูแล้ง ซึ่งทำให้เรือสินค้าจากจีนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ทำให้การขนส่งบางส่วนไปใช้เส้นทางบกผ่านเส้นทาง R3a แต่ก็ยังไม่มีความคล่องตัวเนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ ยังสร้างไม่เสร็จรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางบก ดังกล่าวยังสูงกว่าการขนส่งทางเรือ แต่อย่างไรก็ดีหากการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 แล้วเสร็จภายในปี 2558 จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากคุนหมิงถึงกรุงเทพฯ จาก 42 ชั่วโมง เหลือเพียง 20 ชั่วโมง (สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ 2555)

ประการที่ 2 ปัญหาการปล้นและสังหารลูกเรือชาวจีน บนเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงตอนบนในเดือนตุลาคม 2554 ปัจจุบันยังต้องมีการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยให้เรือขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้จากการปล้นโดยกลุ่มโจรติดอาวุธตามลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (เรื่องเดียวกัน)

ประการที่ 3 ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบถนนที่ยังจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งตัวถนน สถานีบริการน้ำมัน ที่พักระหว่างทาง รวมทั้งบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆขณะเดียวกันก็ยังขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้การก่อสร้างล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศมีระดับแตกต่างกันทำให้การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ยังไม่สมบูรณ์ (เรื่องเดียวกัน)

ประการที่ 4 นายทุนจีนยังเข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ เช่น การเช่าที่ปลูกยางพารา ทางตอนเหนือของลาว และพม่า หรือการสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาในการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น แตงโม หอมหัวใหญ่ หรือการเข้ามาเป็นนายทุนขนาดเล็กในท้องที่ในการขายปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การเกษตร ของชำ ซึ่งบทบาทของพ่อค้าจีนนี้ได้เบียดขับพ่อค้าท้องถิ่นจำนวนมากที่ต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่สามารถสู้กับทุนจีนได้ (ปิ่นแก้ว : 2554 และจามะรี : 2553; 2554)

ประการที่ 5 ประเทศจีนประสบความสำเร็จสามารถครองตลาดสินค้าราคาถูกในภูมิภาคนี้อย่างเบ็ดเสร็จ ดูได้จากสินค้าตามร้านในตลาด หรือแผงลอย(ไทย พม่า ลาว) ล้วนเป็นสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีนทั้งสิ้น ไม่แต่เท่านั้นพ่อค้า แม่ค้าชาวจีนยังได้ขยายการลงทุนมายังประเทศพม่า และประเทศลาว โดยเข้ามาตั้งร้านขายของทั้งขายปลีก และขายส่ง เช่น ในตลาดจีนในเมืองห้วยทราย และตลาดลาวในเมืองต้นผึ้ง ประเทศลาว ที่เจ้ากิจการล้วนเป็นชาวจีนแถบทั้งสิ้น

ประการที่ 6 ประเทศจีนทวีความสำคัญในภูมมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของ พม่า ลาว และเป็นผู้ช่วยเหลือรายใหญ่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเหล่านี้

ประการที่ 7 การที่จีนขยายบทบาทเข้ามาในประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็น “ประตู” สู่แดนใต้ ทำให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของมหาอำนาจประเทศต่างๆ

จะเห็นว่าประเทศจีนมีบทบาทอย่างมากในการค้า และกิจการอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะสนองต่อผลประโยชน์จีนโดยตรง ในการขนส่งสินค้า และการเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ข้าว ข้าวโพด ทำให้จีนกระตือรือร้นในการพัฒนาเส้นทางคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประเทศจีนจึงมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคนี้ และจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

ทีมา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น