ถ้า เจ้าพระยา คือแม่น้ำสายสำคัญที่มีบทบาทดั่งเส้นเลือดใหญ่ของคนไทย เอยาวดี หรือที่คุ้นกันในชื่อ อิระวดี
ก็คงจะมีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
..............
อิระวดี. ชื่อนี้ดูเหงาปนเศร้าหากเรานึกถึงเนื้อหาของ "ผู้ชนะสิบทิศ" บทเพลงอมตะที่ "ชรินทร์ นันทนาคร" ขับร้องไว้เมื่อนานมาแล้ว ทว่าในความเป็นจริง "อิระวดี" หรือ "เอยาวดี" คือรอยยิ้มและความสุขที่คนพม่าทั้งประเทศยอมรับ เพราะไม่เพียงแค่หล่อเลี้ยงชีวิตเท่านั้น แต่เอยาวดียังเป็น "ผู้ให้ชีวิต" ที่มีพระคุณต่อคนทั้งแผ่นดิน
ฉันนั่งอยู่บนเรือท่องเที่ยวขนาด 2 ชั้น ที่กำลังวิ่งทวนน้ำด้วยความเร็วต่ำไปยังเกาะกลางลำน้ำเอยาวดี ลมพัดระเรื่อยเข้ามาเป็นระยะทำให้ช่วงเวลาที่ร้อนระอุถูกหลงลืมไปชั่วคราว
ตลอดทางตั้งแต่เรือออกจากท่าที่เมืองมัณฑะเลย์ ฉันพบเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำเอยาวดีอย่างแยกไม่ออก พวกเขาปลูกเรือนใกล้ชิดแม่น้ำ แล้วยังหาอยู่หากินในมหานทีนั้นด้วยความเรียบง่าย ทั้งการประมงเล็กๆ รวมถึงการเกษตรริมฝั่ง ที่ล้วนแต่นำมาซึ่งข้าวปลาอาหารทั้งสิ้น ว่ากันว่า น้ำใสๆ ในแม่น้ำสายเลือดแห่งนี้ยังสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคโดยไม่ต้องกรองได้อีกด้วย
แม่น้ำเอยาวดี (Ayeyarwady River) มีต้นกำเนิดในเขตนู่เจียง มณฑลยูนนานของจีน บริเวณใกล้รอยต่อเขตแดนรัฐกะฉิ่น ประเทศพม่า โดยบริเวณต้นน้ำมีชื่อเรียกว่า "แม่น้ำมายข่า" จนเมื่อไหลมารวมกับแม่น้ำมะลิข่า ที่เมืองมิตจีนา จึงเรียกแม่น้ำสายใหม่ว่า "แม่น้ำเอยาวดี" ซึ่งนับจากต้นทางจนถึงปากน้ำที่กรุงย่างกุ้งมีความยาวถึง 2,170 กิโลเมตรเลยทีเดียว
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญในอดีตมักก่อตัวขึ้นริมแม่น้ำ ในพม่าเองก็ไม่แตกต่างกัน เพราะตามประวัติศาสตร์พบการสร้างราชธานีที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเอยาวดีมาแต่โบราณ นับตั้งแต่ ตะกอง, ศรีเกษตร, พุกาม, ปีงยะ, สะกาย, อังวะ, อมรปุระ รวมถึงรัตนปุระ หรือมัณฑะเลย์ด้วย นั่นจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า แม่น้ำเอยาวดีคือแหล่งสั่งสมอารยธรรมที่สำคัญ ซึ่งอารยธรรมอันเป็นความเจริญที่ทุกคนสัมผัสได้ในพม่านั้นดูเหมือนจะเป็น "พลังศรัทธาแห่งพุทธศาสนา" ที่เหนียวแน่น
แรงศรัทธาที่ "มิงกุน"
ระยะทาง 11 กิโลเมตรจากเมืองมัณฑะเลย์ถึงเกาะกลางน้ำ "เมืองมิงกุน" (Mingun) ไม่ได้ทำให้ทุกคนที่โดยสารเรือมารู้สึกเบื่อหน่าย เพราะสองฝั่งแม่น้ำเอยาวดีมีวิถีชีวิตของผู้คนชาวพม่าให้ชมอย่างเพลินตา แต่จุดหมายของการล่องเรือทวนน้ำขึ้นมาครั้งนี้เป็นเพราะทุกๆ คนต้องการชื่นชมความอลังการของเจดีย์กลางน้ำที่ไม่มีวันสร้างเสร็จนั่นเอง
ฉันหมายถึง เจดีย์มิงกุน (ประโทหล่อจี) มหาเจดีย์ที่เป็นอนุสรณ์สถานแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของ "พระเจ้าปดุง" กษัตริย์ราชวงศ์อลองพญา(ผู้สร้างประวัติศาสตร์ "สงครามเก้าทัพ")ที่ครองราชย์ในปี 2325 พร้อมๆ กับการเริ่มต้นราชวงศ์รัตนโกสินทร์ของไทย ว่ากันว่า พระเจ้าปดุงเป็นกษัตริย์ที่มีความทะเยอทะยาน ดังนั้นการสร้างเจดีย์จึงต้องยิ่งใหญ่กว่าใครๆ โดยพระองค์ได้เกณฑ์แรงงานทาสจำนวนมากเพื่อสร้างมหาเจดีย์แห่งนี้ และทรงควบคุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ทว่า ที่สุดแล้วก็สร้างได้แค่ฐานเนื่องเพราะพระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตก่อน ความตั้งใจที่จะสร้างเจดีย์ให้สูงกว่ามหาเจดีย์ชเวดากอง 3 เท่า และเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงต้องล้มพับไป
ไม่มีใครสืบทอดเจตนารมณ์ในการสร้างเจดีย์ต่อจากพระเจ้าปดุง เพราะเชื่อกันว่า หากสร้างมหาเจดีย์เสร็จเมืองจะล่มสลาย แต่บ้างก็ว่าไม่มีงบประมาณมากพอ เจดีย์มิงกุนจึงถูกทิ้งไว้แบบนี้
เจดีย์มิงกุนตั้งอยู่ริมแม่น้ำเอยาวดี เป็นเจดีย์อิฐสีแดงขนาดมหึมา ลักษณะฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวด้านละ 150 เมตร และสูง 54 เมตร ด้านหน้ามีสิงห์ศิลาขนาดใหญ่เฝ้าอยู่ 2 ตัว หันหน้าไปทางแม่น้ำเอยาวดี แต่เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวในปี 2381 ทำให้ส่วนลำตัวและหน้าสิงห์ทั้ง 2 จุ่มหายลงไปในแม่น้ำ เหลือเพียงส่วนบั้นท้ายเท่านั้นที่อยู่บนแผ่นดิน
แม้เจดีย์จะสร้างไม่เสร็จ แต่พระเจ้าปดุงก็มีสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ นั่นคือ ระฆังมิงกุน ระฆังสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากระฆังในเมืองมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร น้ำหนัก 90 ตัน ส่วน เจดีย์ซินพยุเหม่ (Psinbyume) ที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น สร้างโดยพระเจ้าพคะยีดอ เพื่ออุทิศถวายพระมเหสีซินพยุเหม่ที่สิ้นพระชนม์ไป โดยเจดีย์นี้เปรียบเสมือนจุฬามณีที่ตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามคติไตรภูมิของศาสนาพุทธ ดังนั้นลักษณะเจดีย์จึงมีความงดงามราวกับสรวงสวรรค์
มุ่งหน้าสู่ "อังวะ"
เรียกว่าเป็นเมืองที่ดำรงสถานะ "เมืองหลวง" มากครั้งที่สุดถึง 5 ครั้ง กินเวลายาวนาน(แบบไม่ต่อเนื่อง) 400 ปีเลยทีเดียวสำหรับ "อังวะ" (Ava) ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเอยาวดี คนไทยอาจคุ้นชื่อเมืองนี้จากเรื่อง "ราชาธิราช" ซึ่งเป็นสงครามการแย่งชิงอำนาจระหว่างพม่าและมอญ และอย่างที่บอกว่าเมืองอังวะเคยเป็นเมืองหลวงมากครั้ง สิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงมีมากมาย สังเกตได้จากการนั่งเรือล่องจากเมืองมิงกุนมาทางใต้ ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ไม่ไกล จะพบว่ามีเจดีย์สีทองมลังเมลืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำเอยาวดีชนิดที่นับกันไม่ถ้วน
นั่งเรือราวชั่วโมงเศษ ก่อนถึง สะพานอาว่า (Ava) ซึ่งเป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเอยาวดีแห่งแรกที่สร้างขึ้นในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่า เราพบว่ามีเรือบรรทุกไม้ซุงขนาดใหญ่ลอยอยู่เต็มท่าน้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะไม้สักเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของพม่า ที่สำคัญประเทศนี้ยังมีทรัพยากรป่าไม้อยู่เยอะ โดยเฉพาะทางเหนือของประเทศ และเหตุที่พม่ายังคงรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ก็เป็นเพราะกฎหมายที่วางไว้ นั่นคือ หากตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกทดแทน 2 ต้น การตัดต้องไม่ตัดถึงราก ต้องเว้นตอไว้ 3 ฟุต สุดท้ายคือห้ามใช้เลื่อยไฟฟ้าตัด
เรือจอดเทียบท่าเมื่อเลยตัวเองอังวะไป 10 นาทีเศษ บริเวณท่าเทียบเรือมีรถม้าที่เป็นเอกลักษณ์ในการเดินทางอีกอย่างหนึ่งของพม่ารออยู่ นับจำนวนได้มากเกือบ 100 คัน รถม้าเหล่านี้จะพาเราเดินทางลัดสวนป่า เลาะทุ่งนา ผ่านบ้าน ร้านค้า โบราณสถานต่างๆ นานาไปจนถึง วัดบากายา (Bagaya) ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญที่ชาวสยามทุกคนควรแวะมาชม
วัดบากายา เป็นวัดที่มีวิหารไม้สักแกะสลักสวยงามไม่แพ้วัดชเวนันดอที่เมืองมัณฑะเลย์ และเสาไม้สักที่นำมาสร้างนั้นก็เป็นเสาไม้สักที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีจำนวนเสามากถึง 267 ต้นเลยทีเดียว ซึ่งวัดนี้เป็นวัดป่าในเขตอรัญวาสีที่รอดพ้นจากการเผาทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสวยงามวิจิตรบรรจงจึงยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ความสำคัญที่บอกว่าคนไทยควรมาชม นั่นก็เพราะเมืองอังวะมีประชากรชาวสยาม หรือ "โยระยา" ที่พม่าเรียก ถูกเทครัวมาแต่ครั้งอยุธยาเสียกรุงอาศัยอยู่มากมาย แม้ปัจจุบันจะถูกกลืนจนแทบไม่เหลือเชื้อสายแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังยืนยันได้นั่นก็คือ รูปแกะสลักครุฑยุดนาค และจิตรกรรมลักษณะแบบสกุลช่างอยุธยา นักท่องเที่ยวที่หลงใหลงานพุทธศิลป์หากได้เดินทางไปที่วัดนี้คงถูกใจ เพราะสภาพวัดเหมือนกับเมื่ออดีต และยังไม่มีการบูรณะแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น
ชมศิลปะ "สะกาย"
นั่งรถม้ากลับมาที่ท่าน้ำเดิม คราวนี้เปลี่ยนจากเรือใหญ่มานั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเอยาวดีไปที่ฝั่ง "เมืองสะกาย" (Sagaing) เมืองนี้มีความงดงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของพม่า ด้วยเพราะมีเจดีย์อยู่มากมายหลายองค์ สร้างอยู่เหนือยอดเขาทางด้านหลังของเมือง นอกจากเจดีย์จะมากแล้ว เมืองนี้ยังมีจำนวนแม่ชีมากที่สุดแห่งหนึ่งของพม่าด้วย ว่ากันว่า วัดหนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 200-300 คน โดยแม่ชีเหล่านี้มาเรียนพระไตรปิฎกเหมือนสงฆ์ทั่วไป แต่แม้จะเก็บพรรษามากแค่ไหน แม่ชีก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าอาวาสเหมือนกับพระสงฆ์
ความประทับใจแรกเมื่อข้ามแม่น้ำมายังเมืองสะกายนั่นคือ เด็กๆ ชาวพม่าที่พากันเดินเข้ามาขายของที่ระลึก แม้จะออกอาการตื๊ออยู่บ้างในช่วงแรก แต่เมื่อถูกเราปฏิเสธพวกเขาก็ไม่มีอาการน้อยอกน้อยใจ หรือทำหน้างอใส่เหมือนที่อื่นๆ ในทางกลับกันพวกเขาอยากสื่อสาร อยากพูดคุย อยากรู้เรื่องราวของเรา การสนทนาที่ปราศจากราคาซื้อขายจึงเป็นความประทับใจแรกที่พบในเมืองสะกาย
เมืองสะกายเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ชาวสยามจากกรุงศรีอยุธยาถูกกวาดต้อนมาอยู่ จึงทำให้มีวัดศิลปกรรมอยุธยาจำนวนมาก เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่ วัดมหาเตงดอจี โดยเทียบจากลายกนกและรูปแบบการเขียนที่เหมือนกับจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย
ส่วน วัดถ้ำติโลกคุรุ (Tilawkaguru) ก็มีจิตรกรรมที่เกี่ยวกับพุทธประวัติที่เชื่อมโยงศิลปกรรม กับอยุธยาได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นลายแก้วชิงดวง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง รวมถึงลายสังเวียนที่มีกระจังตาอ้อย ลวดลายเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบอายุได้จากผ้าลาย ซึ่งเป็นผ้าเขียนลายในสมัยอยุธยา การเข้าชมต้องเดินเข้าไปในช่องอุโมงค์เล็กๆ ภายในถ้ำ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่วิปัสนากรรมฐานของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ
หลายคนให้นิยามเอยาวดีว่าเป็น "ผู้ให้กำเนิดแห่งแผ่นดิน" บ้างก็ให้เป็นสัญลักษณ์ของ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน" เพราะมีแม่น้ำเล็กๆ อีกหลายสายที่ไหลมารวมในเอยาวดี เปรียบเสมือนความปรองดองของพี่น้อง 135 ชนเผ่าที่อยู่ในพม่า นิยามน่ารักๆ แบบที่ว่า เป็นตัวแทนของ "ความรักนิรันดร" ก็พบบ่อยในหมู่หนุ่มๆ ที่มักสาบานกับสาวๆ ว่า จะรักมั่นนิรันดรตราบเท่าที่เอยาวดียังไม่ยอมหยุดไหล และที่สำคัญแม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่น่าจดจำบนแผ่นดินพม่า
.......................
การเดินทาง
สายการบินแอร์เอเชีย ให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ โดยเที่ยวบินที่ FD 2760 และ FD 2761 สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน บริการวันจันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี และเสาร์ ออกเดินทางเวลา 08.50-10.15 น. ติดต่อสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com การเดินทางภายในประเทศสามารถติดต่อบริษัททัวร์ หรือจะเดินทางโดยรถประจำทางก็ต้องทำใจนิดหน่อย เพราะค่อนข้างเก่า ส่วนที่แนะนำคือ บริการรถม้าและวัวเทียมเกวียน ที่มีให้บริการเฉพาะบางเมือง ซึ่งจะให้ความรู้สึกที่พิเศษกว่าการเดินทางรูปแบบไหนๆ
ส่วนการเดินทางเข้าพม่ายังต้องขอวีซ่าอยู่ แต่ไม่ยาก เพราะเพิ่งเปิดประเทศ สำหรับเงินพม่าใช้สกุล "จ๊าด" อัตราแลกเปลี่ยน 100 จ๊าด เท่ากับ 5 บาท แต่ควรแลกเป็นเงิน USD ไป(ต้องเป็นสภาพใหม่ด้วย) แล้วแลกกับไกด์ฝั่งพม่าจะดีกว่า อีกอย่างหนึ่งคือพม่ายังไม่มีบริการบัตรเครดิต ดังนั้นควรเตรียมเงินที่จะใช้ไปให้พอดี
สุดท้ายคือข้อปฏิบัติในการเดินทางไปชมวัด หรือศาสนสถานต่างๆ ในพม่า ผู้ชายห้ามใส่ขาสั้น ผู้หญิงห้ามนุ่งกระโปรงสั้น เกาะอก สายเดี่ยว เอวลอย และต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า รวมถึงถุงน่องทุกชนิดก่อนเข้าศาสนสถาน ซึ่งกฎระเบียบนี้นักท่องเที่ยวทุกชนชาติ ทุกชนชั้น ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แนะนำให้ซื้อกระดาษทิชชูเปียกไปด้วย เพราะจะได้ใช้ทำความสะอาดหลังจากเที่ยวชมศาสนสถาน
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น