โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
คนไทยเวลานี้ที่สนอกสนใจเรื่องการเมืองใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องเมกะโปรเจ็กต์ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ของเงินกู้เป็นเรื่องรถไฟคาวมเร็วสูง มีความกังวลเรื่องภาระหนี้ที่ยาวนานชั่วรุ่นคน กังวลเรื่องความโปร่งใส และมีข้อทักท้วงเรื่องวิธีการกู้
ขณะเดียวกันก็มีดราม่าสนุกสนานเรื่อง "ขนผัก" ด้วยรถไฟความเร็วสูง
จำได้ว่าก่อนพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านจะเข้าไปอภิปรายในสภาไม่กี่วัน มีหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่ออะไรจำไม่ได้ แต่นามสกุลวิญญรัตน์ เป็นลูกชายของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เสธ.ใหญ่เบื้องหลังแนวนโยบายของทักษิณมาแต่ไหนแต่ไร เคยเป็นหนึ่งในทีมบ้านพิษณุโลกสมัยนายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็นอะไรอีกหลายๆ อย่างที่คนในวงการสื่อรู้จักกันดี แต่ไม่ออกมาเบื้องหน้า
ลูกชายคุณพันศักดิ์รับงานวิจัยมาทำซึ่งในบท สัมภาษณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่อง "ผัก" ที่ระบบโลจิสติกส์แย่มาก เกิดความสูญเสียร้อยละสามสิบเป็นอย่างน้อย โดยยกตัวอย่างกะหล่ำปลี
ถ้าขนด้วยรถไฟความเร็วสูง ระยะเวลาการขนลดลงไปมหาศาล จาก 8-10 ชั่วโมง เหลือแค่ 3 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี หากทำได้ และผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมขนผักของนายกฯปูในสภา ที่ผู้คนบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเห็นเขาเสียดสีกันสนุกสนาน
ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยแปลไว้ชื่อเรื่อง "กล้วยไม่ใช่เรื่องกล้วย" หนังสือเล่มนี้เล่าความเป็นมาของกล้วย (ส่วนใหญ่คือกล้วยหอม) ว่ามันเข้าไปในอเมริกาซึ่งไม่มีกล้วย ปลูกกล้วยเองไม่ได้ จนกลายเป็นอาหารประจำโต๊ะอาหาร แล้วแพร่ระบาดไปจนกลายเป็นผลไม้ที่คนกินมากที่สุดในโลกได้อย่างไร
การขนส่งกล้วยจากอเมริกาใต้ไปยุโรปหรืออเมริกา ต้องไปทางเรือ แต่กล้วยมีระยะเวลาสุกงอมของมันชัดเจน อาทิตย์เดียวก็เปลือกคล้ำจนไม่มีใครแล บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจขนส่งทางเรือหาวิธีจนให้กำเนิดห้องเย็นบนเรือ ซึ่งสมัยก่อนใช้น้ำแข็งก้อนๆ ธรรมดา
หาวิธีที่จะทำให้กล้วยออกมาจาก สวนกล้วยในอเมริกาใต้แบบไม่บอบช้ำ ในเวลาที่จำกัดมาก ด้วยการสร้างวิธีบรรจุหีบห่อจากพื้นที่ แล้วถึงจะขนออกมาใส่ตู้คอนเทนเนอร์ มีการลงเลขทะเบียนกล้วยแต่ละกล่องจนกลายมาเป็นบาร์โค้ดในปัจจุบัน
กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง
คำถามมันย้อนกลับมาว่ารถไฟความเร็วสูงในโลกนี้ที่เขามีกันใช้กันมีที่ไหนใช้ขน ส่งสินค้ากันบ้าง ในเวลาอันจำกัดและข้อมูลอันจำกัดเท่าที่ค้นหาได้
คำตอบคือไม่มี รถไฟความเร็วสูงตอบโจทย์การขนส่งสินค้าไม่ได้ แต่พวกเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขายไอเดียนี้นะครับ และโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงของหลายๆ ประเทศก็จะบรรจุข้อดีเรื่องนี้เอาไว้ เพียงแต่ว่าเท่าที่พยายามสืบค้น ยังไม่มีที่ไหนทำได้จริง
เดือนมีนาคม ปี 2011 มีการสาธิตการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจากอังกฤษกับยุโรป ที่เขาว่าเป็นครั้งแรกที่เคยลองกัน
แต่สินค้าที่ทดลองกันคือสินค้าประเภทพัสดุส่งด่วนของบริษัทที่ลงท้ายด้วยเอ็กซ์ ที่หมายถึงเอ็กซเพรส รับรองว่าไม่ใช่ "กะหล่ำปลี" แน่ๆ มีการถกกันในยุโรปด้วยนะครับว่ามันคุ้มหรือเปล่ากับการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ ความเร็วสูง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ผมอ่านมา ความเป็นไปได้เกือบเท่ากับ 0
ที่จริงผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับรถไฟความเร็วสูงที่จะขนผักแล้วไม่เน่า ทำได้ก็ดี เท่าที่พยายามค้นแล้วเหมือนว่าไม่เคยมีใครทำได้
ถ้าทำไม่ได้ก็ตัดประเด็นนี้ออกไปเท่านั้นเอง "บ่องตง" ไม่เห็นต้องดราม่าเลย แค่เอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน
ที่มา มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น