โดย.สุทิน วรรณบวร
การเจรจาสันติภาพที่ประสบความสำเร็จในอดีต เขาทำกันลับๆ มาเป็นเวลานาน สร้างความเชื่อถือและศรัทธาซึ่งกันและกันก่อน เมื่อประสบความสำเร็จที่แท้จริงแล้ว จึงเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ"
ข่าวต่างประเทศหลายสำนักเสนอข่าวในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ว่า ความรุนแรงและโหดร้ายเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต หลังจากที่รัฐบาลไทย เริ่มพูดคุยหาทางเจรจาสันติภาพกับกลุ่มขบถมุสลิม เหมือนกับเป็นสัญญาณเตือนและข่มขู่ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่มไม่รับรู้ และไม่เห็นด้วยกับการเจรจาที่เน้นการสร้างภาพ มุ่งหวังแต่การประชาสัมพันธ์
การสูญเสียเจ้าหน้าที่ระดับสูงและการฆ่าตัดหัวซึ่งเงียบหายไปนาน กลับปรากฏขึ้นมาให้เห็นอีกดังที่ข่าวรายงานว่า ในตอนเช้าเจ้าหน้าที่พบศพไร้ศีรษะของลูกจ้างกรีดยางในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในตอนบ่ายรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กับป้องกันภัยจังหวัด ถูกระเบิดบนถนนเสียชีวิต ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และครอบครัวของนายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา ที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักเพราะความขัดแย้งที่เลวร้ายขึ้นทุกวันในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดในวันที่ลงไปเคารพศพวีรชนผู้เสียสละเพื่อชาติทั้งสองท่านว่า “ไม่อยากให้มองว่าเหตุร้ายเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการเจรจา เพราะการพูดคุยเพิ่งเริ่มขึ้นและต้องดำเนินต่อไป”
แต่ผู้ที่ทำงานในพื้นที่มาตลอดเวลาแปดปีของความรุนแรงและเข้าถึงพื้นที่ทุกระดับวิเคราะห์ว่า ความรุนแรงที่โหดร้ายมากขึ้น เป็นผลมาจากเริ่มต้นเจรจาที่ผิดฝาผิดตัว และการแก้ปัญหาความรุนแรงที่มุ่งแต่การสร้างภาพประชาสัมพันธ์ตัวเอง เขาชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุ่งเน้นเป้าหมายที่ทำให้เป็นข่าวดังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับตัวนาวิกโยธิน ไปสังหาร การเสียชีวิตของนายตำรวจระดับผู้กำกับ และการฆ่าตัดคอในวันเดียวกัน กับวันที่วางระเบิดขบวนรถรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ เมื่อต้นปี 2547 มีผู้เคราะห์ร้ายถูกสังหารโหดด้วยการฆ่าตัดคอมาแล้ว 53 ราย และส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกฆ่าตัดคอจะเป็นมุสลิมที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ
“รองผู้ว่าฯอิศราตกเป็นผู้รับเคราะห์แทนพล.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารงานสามจังหวัดภาคใต้ (ศอ.บต.) เพราะเป้าหมายวันนั้นน่าจะอยู่ที่ผู้อำนวยการ ศอ.บต.แต่บังเอิญ ทวีไม่ว่างมอบหมายให้ผู้ว่าฯไปแทนแต่ผู้ว่าฯมอบหมายให้รองฯไปแทน เคราะห์กรรมเลยตกอยู่ท่านซึ่งเป็นคนดีที่ชาวบ้านรักมาก” แหล่งข่าวผู้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ และเข้าถึงทุกระดับกล่าว
“เท่าที่ทราบมา พวกเขา(ผู้ก่อความไม่สงบ)หมายหัวคนที่ไปเสนอหน้าเจรจาไว้แล้วทุกคน ถ้าการเจรจาวันที่ 29 เมษายน 2556 ไม่ยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เหตุการณ์จะรุนแรงกว่านี้” ผู้ทำงานในพื้นที่กล่าวและตำหนิว่า การเจรจาที่หวังผลในการสร้างภาพและประชาสัมพันธ์ รังแต่จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศ รัฐบาลเพื่อไทยกับรัฐบาลไทยรักไทยมักแก้ปัญหาด้วยการสร้างภาพเหมือนกัน ในปี 2547 รัฐบาลไทยรักไทยแก้ปัญหาด้วยการสร้างภาพพับนกกระดาษล้านตัวไปโปรยในพื้นภาคใต้ ทำประชาสัมพันธ์ครึกโครม แต่ปัญหาก่อการร้ายกลับรุนแรงขึ้นตามลำดับ มาวันนี้รัฐบาลเพื่อไทยสร้างภาพด้วยการเปิดตัวผู้แทนกลุ่มขบถมานั่งโต๊ะลงนามกับตัวแทนรัฐบาล เรียกความสนใจจากสำนักข่าวทั่วโลก
ประสบการณ์การทำข่าว การพูดคุยเพื่อนำมาซึ่งการเจรจาข้อตกลงสันติภาพที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การพูดคุยกับนายจีนเป็ง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา เพื่อนำมาสู่การเจรจาสันติภาพของเขมรสามฝ่าย ซึ่งประสบความสำเร็จในอดีต เขาทำกันลับๆ มาเป็นเวลานาน สร้างความเชื่อถือและศรัทธาซึ่งกันและกันก่อน เมื่อประสบความสำเร็จแท้จริงแล้ว จึงจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ข่าวประชาสัมพันธ์ออกมาในวันที่ลงนามสันติภาพกันเท่านั้น ไม่มีที่ไหนเขานำคู่เจรจามาเปิดตัวทางทีวี.ตั้งแต่วันแรกที่พูดคุย ถ้ายังไม่รู้ว่า เขาทำงานลับกันอย่างไรถึงสำเร็จ ให้ลองถามวิธีการกับพล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ หรือไม่ก็พล.อ.กิตติ รัตนฉายา สองนายพลนี้ ประสบความสำเร็จในการเจรจาสันติ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์มาลายามาแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเจรจากับผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ ต่อไป ท่ามกลางข้อกังขาและคำเตือนของคนที่เคยมีบทบาทสำคัญอย่างนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ครองอำนาจในมาเลเซียนานถึง 22 ปี กลุ่ม International Crisis Group ที่บอกว่า ผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่มหลายก๊ก ไม่ว่าจะเป็น พูโล เบอร์ซาตูบีอาร์เอ็นฯ เกอรา-ข่า มูจาฮีดีน อาร์เคเค วาฮาบี ฯลฯ จึงยากมากที่จะทำให้พวกเขาเห็นพ้องกันได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นการไปตกลงเจรจากับคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รังแต่จะนำมาซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการริเริ่มเจรจาทำด้วยคนที่เคยมีข้อครหา ว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อแปดปีก่อน
นอกจากนั้นกลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการพูดคุย ล้วนเคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ต้องหาคนสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยเชื่อว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ไม่ว่าจะเป็น นายมะแซ อุเซ็งนายสะแปอิง บาซอ และ ผู้ที่เป็นตัวกลางในการเจรจาฝ่ายมาเลเซีย นายซามซามิน ฮาซิม ก็คืออดีตเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิวาดะห์ แห่งมาเลเซีย
ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองชี้ให้เห็นว่า การยิงเอ็ม 79 ถล่มบ้านนายนัจมุดดีน อุมา แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มวาดะห์ และเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาทั้งหมดว่าผู้ก่อความไม่สงบ มุ่งเน้นไปที่คนสำคัญเพื่อให้เป็นข่าวดัง “สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณนัจมุดดีน นั้นเป็นการเตือนจากทั้งฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ และจากการเมืองภายในซึ่งลูกน้องเก่าของเขาเตือนว่าอย่ากดดันกันให้มากนัก” แหล่งข่าวกล่าว
สิ่งที่น่าจับตามองอีกอย่างหนึ่งคือ มหาอำนาจผู้มีจมูกไวกว่ามด ในเรื่องข่าวผู้ก่อการร้าย และข่าวขบถอย่างอเมริกา แสดงออกว่า ไม่ยินดียินร้ายกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยในมาเลเซีย แต่กลับไปทุ่มความสนใจให้กับการทำงานเพื่อสันติภาพอย่างเงียบๆ ของเอ็นจีโอคนหนึ่งในภาคใต้ วันที่ 28 มีนาคม 2556 ขณะที่ ตัวแทนรัฐบาลไทยกำลังพูดคุยกับผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ เลขานุการโทฝ่ายการเมืองของสถานทูตอเมริกาลงไปพบกับผู้อำนวยการ มูลนิธิ Envoy for Peace ที่จังหวัดนราธิวาส วันนั้นเลขาฯโทสถานทูตอเมริกา ได้พบกับคนสำคัญในพื้นที่บางคนที่รู้จริง และมีส่วนการสร้างความเข้าใจกับผู้คนในพื้นที่ ทำให้มีแนวร่วมหันมาทำงานร่วมกับมูลนิธิเป็นจำนวนมาก หลังจากพบปะกับผู้คนและได้ดูวีดีโอที่จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิฯ เลขานุการโทของสถานทูตอเมริกาพูดสั้นๆว่า “ฉันศรัทธาและเห็นด้วยแนวทางของมูลนิธิ คิดว่าอีกสองสามเดือนผลงานของมูลนิธิจะเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่าสามารถนำสันติภาพมาสู่ภาคใต้ได้อย่างแท้จริง”
นายสุริยะ ตะวันฉาย ผู้อำนวยการมูลนิธิ Envoy For Peace หรือทูตสันติภาพลงไปทำงานคลุกคลีในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้มาหลายปี จนทำให้เขาเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้าน และดึงคนในพื้นที่มาทำงานกับเขาได้เป็นจำนวนมาก ไม่ยอมออกความเห็นเรื่องการเจรจาสันติภาพในมาเลเซียพูดแต่เพียงว่า
“พรรคปาส (Parti Islam Se-Malaysia) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียมีความนิยมสูงในพื้นภาคเหนือของมาเลเซียซึ่งมีเขตติดต่อและมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพี่น้องมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ดังนั้นถ้าจะมีการเจรจา หรือ เป็นตัวกลางในการเจรจา นายฮัลวา ฮิบราฮิม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน น่าจะเหมาะสมกว่า มหาธีร์หรือนายราจิบ นาซัค ตรรกะง่ายๆ คือ เอาคนที่ชาวบ้านไว้เนื้อเชื่อใจ มาเป็นตัวกลางในการพูดคุย จะเกิดผลกว่าเอาคนที่ชาวบ้านไม่ศรัทธามาเป็นตัวกลางในการเจรจา เพราะนอกจากไม่เกิดผลแล้ว ปัญหามันจะรุนแรงขึ้นอีก” นายสุริยะ กล่าว
และสรุปว่า การแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นแต่เรื่องสร้างภาพสร้างความเสียหายให้กับทั้งสองประเทศ “ความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้สร้างความสั่นสะเทือนไปถึงการเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาเลเซียแทนที่จะได้คะแนน จากการเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดให้มีการเจรจา คะแนนเสียงกลับตกหนักลงไป เพราะความล้มเหลวที่เห็นอยู่ ส่วนรัฐบาลไทยแทนจะได้หน้า กลับต้องมาแก้ข่าวอยู่ทุกวันว่า ความรุนแรงไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจา”
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น