--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ยึด 4 แนวทางดูค่าบาท ประสาร ยันยังไม่ดูดซับเงินเยน คลังเตรียมคลอดกองทุนอุ้มเอสเอ็มอี !!?


"ผู้ว่าการธปท."   ยันเงินต่างชาติไหลเข้าเป็นเงินระยะยาวเฉลี่ย 4 ปี   ย้ำดบ.นโยบาย2.75% ยังเหมาะ  ไม่ต้องมีมาตรการดูแลค่าเงินเพิ่ม  พร้อมปรับจีดีพีปี 56 โต 5.1% จากเดิมที่ 4.9%,ปี 57 ที่ 5%  ตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐเริ่มชัด โมเมนตัมโตต่อเนื่องส่งถึงปีหน้า  คาด 2 ปีแรกงบเบิกจ่ายลงทุนเฉลี่ย 40%   โต้ง"ห่วงบาทแข็งฉุดส่งออกพลาดเป้า 9% เศรษฐกิจดิ่ง   ด้าน"สมภพ" แนะจับตามาตรการบีโอเจ อาจดันเงินเฟ้อไทยพุ่งแตะ 7%

การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) รายล่าสุดที่ประกาศอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตรถึงเดือนละ 7.5ล้านล้านเยนหรือกว่า 8  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ประมาณ  2.32 ล้านล้านบาท ) จนกว่าจะสามารถดึงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2% หลังจากที่ญี่ปุ่นประสบภาวะเงินฝืดมาหลายปี ซึ่งเป็นมาตรการคล้ายคลึงกับ QE  (Quantitative Easing ) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แบบไม่มีที่สิ้นสุด  สร้างความกดดันเพิ่มต่อกระแสเงินไหลเข้า ส่งผลให้ค่าเงินบาทเปิดตลาดเมื่อต้นสัปดาห์ ( 9 เมษายน 2556 ) ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี    แตะที่ 28.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ฯหรือแข็งค่าขึ้น 5.73 % เทียบจากเงินบาท ณ สิ้นปี 2555 ที่ 30.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ฯ  ล่าสุดเปิดตลาดเช้า 12 เมษายน 2556 ที่ระดับ 29.06  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ฯ

*ผู้ว่าการธปท.ยันไม่เพิ่มมาตรการดูแลค่าเงิน
   
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในตลาดพันธบัตร พบว่าพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ตอนนี้จะลงในพันธบัตรอายุเฉลี่ย 4 ปี สะท้อนว่าต่างชาติเข้ามาลงทุนระยะยาวเพิ่มมากขึ้น
   
ดังนั้นสถานการณ์การเข้าลงทุนของต่างชาติขณะนี้ จึงไม่น่าเป็นห่วงเหมือนช่วงเดือน มกราคม 2556 ที่เงินเข้ามาลงทุนระยะสั้น  การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.จึงยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม โดยยังใช้ 4 แนวทางหลักในการให้น้ำหนักการดูแลค่าเงิน  อาทิในขั้นที่ 1-2  โดยการใช้แนวทางอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น โดยหากพบเงินบาทเคลื่อนไหวเอียงในทิศทางใดทางหนึ่งที่ผิดปกติก็พร้อมจะเข้าดูแล รวมถึงการใช้แนวทางการสร้างความสมดุลของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทั้งในส่วนของมาตรการการเงินที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น และการที่กระทรวงการคลังเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจให้ชำระคืนหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด  ตลอดจนการใช้โอกาสที่บาทแข็งค่าสนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
   
ผู้ว่าการธปท. กล่าวต่อถึงการที่ ธปท.ออกจดหมายถึงคัสโตเดียนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาให้รายงานข้อมูลการนำเงินเข้าของลูกค้าต่างชาตินั้นเพื่อที่ ธปท.จะใช้ข้อมูลดังกล่าวสำหรับเตรียมรับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ควรรับรู้สถานการณ์ของตลาด
   
ส่วนสถานการณ์เงินเยนในตลาดที่ขาดแคลนว่าหลังเยนอ่อนค่า 17% เมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น  ยืนยันว่าธปท.ไม่ได้เข้าดูดซับสภาพคล่องเป็นเงินเยนในตลาด แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจกันว่า  เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่ามากทำให้มีการขายบาทเพื่อเข้าถือเยน ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวทำให้เงินเยนขาดตลาด แต่ไม่ได้เป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจการเงิน การค้าการลงทุน เพราะเอกชนยังสามารถจัดหาเงินเยนในระบบการค้าได้

*ดบ.นโยบาย 2.75% เหมาะสมขณะนี้
   
ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นไตรมาส 1/2556 อยู่ที่ระดับ 29.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 4.31% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสก่อนหน้า จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
   
โดยปัจจัยภายนอกมาจากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกที่ปรับดีขึ้น หลังจากผลการหารือเกี่ยวกับการปรับลดการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ได้ข้อสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนปรับดีขึ้น และประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงมีท่าทีชัดเจนที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเป็นพิเศษด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง
   
ขณะที่ปัจจัยภายในเกิดจากการปรับฐานของค่าเงินบาทกับภูมิภาคที่แข็งค่าไปก่อนหน้าที่บางส่วนชะลอการลงทุนลงจากความกังวลต่อปัญหาน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค ปัญหาการเมืองอยู่ในระดับคลี่คลาย รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
   
นายไพบูลย์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี) ที่ระดับ 2.75% ต่อปี ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและสถานการณ์ที่ประเมินไว้ในระยะข้างหน้า แต่ไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมตลอดไป  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต้องนำปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเข้ามาพิจารณา ซึ่งความท้าทายของการดำเนินนโยบายในขณะนั้นๆ จะต้องดำเนินการอย่างผสมผสานระหว่างอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ หรือกระทั่งนโยบายการคลัง เพื่อให้บรรยากาศหรือโมเมนตัมทางเศรษฐกิจเกิดความสมดุล และขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านอื่นๆ ตามมา เช่น หนี้ครัวเรือน ฟองสบู่ เป้นต้น

*ธปท.ปรับเป้าศก.ปี 56 โต 5.1%
   
ทั้งนี้ ธปท.ยังได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.9% เป็น 5.1% และได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2557 เพิ่มจากระดับ 4.8% เป็น 5.0% โดยการคาดการณ์ครั้งล่าสุดได้รวมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐภายใต้โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมด้วย
   
โดย ธปท.ประเมินว่าในปี 2556 จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจริงราว 1.7 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2557 ประเมินการเบิกจ่ายงบลงทุนจริงราว 9.3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ย 2 ปีแรกประมาณ 40% ของแผนการลงทุนเบื้องต้นในแต่ละปีของภาครัฐ ดังนั้น หากสามารถเบิกจ่ายได้สูงขึ้นกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์
   
ด้านการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสแรกต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากการปรับแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้กำไรของผู้ประกอบการปรับลดลง แต่จากการศึกษาของธปท.และหลายสำนักวิจัยพบว่าการปรับเปลี่ยนแปลงของการส่งออกขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก   โดยธปท.ได้ปรับลดการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ ลงเหลือ 7.5%  จากเดิมที่ 9.0%ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ถือเป็นระดับที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเร่งตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า
   
ขณะเดียวกันยังมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2556 ลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจาก 2.8% เหลือ 2.7% แต่ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อแนวโน้มไปทางด้านสูงเล็กน้อย โดยในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวและปัจจัยการผลิตในประเทศตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในตลาดแรงงานการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าอาจเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

*"โต้ง"ห่วงส่งออกสะดุดฉุดศก.
   
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปีนี้เป็นปีสำคัญของการเริ่มต้นทิศปรับสมดุลเศรษฐกิจประเทศ จึงจำเป็นต้องระวังความเสี่ยงในช่วงรอยต่อ  ซึ่งไม่สบายใจที่เห็นเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นจนคุกคามภาคการส่งออกจึงต้องพยายามผลักดันให้สามารถส่งออกขยายตัวได้ 2หลัก   เพื่อที่เศรษฐกิจไทยจะได้โตเพิ่มอีก  3-4 %  เพราะภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70 %  ของขนาดจีดีพี ดังจะเห็นได้จากปี 2555 ที่ภาคส่งออกโตเพียง 3.1 % แต่เศรษฐกิจประเทศกลับโตได้ในระดับ 6.4%
   
โดยหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 9%  มีโอกาสต่ำกว่าเป้าหมายหรืออาจจะขยายตัวต่ำกว่าจีดีพี  ยิ่งไปกว่านั้นถ้าส่งออกที่ลดลงยังโยงใยถึงรายได้ของการจัดเก็บภาษีจากภาคธุรกิจลดลงไปด้วย จะกระทบต่อรายได้ของลูกจ้างภาคเอกชนและส่งผลถึงภาคการบริโภคภายในประเทศ
   
อย่างไรก็ดียังเชื่อมั่นว่า 3เครื่องจักรสำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ  2.การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน  รวมถึง 3.การลงทุนภาคเอกชน ยังมีประสิทธิภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ และเชื่อมั่นว่าปี 2557และ ปี2558 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทย จะเริ่มปรับเข้าสู่สมดุลอย่างแท้จริง  เนื่องจากในปี 2557 รัฐบาลจะเริ่มต้นลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และจะมีการเบิกจ่ายจริงโดยจะทยอยการเบิกจ่ายต่อเนื่องถึงปี 2558  และในปี 2558 น่าจะสามารถเบิกจ่ายการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท  โครงการลงทุนดังกล่าวทั้งหมดจะช่วยกระตุ้นเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง

*หวั่นบีโอเจทำเงินเฟ้อไทยพุ่ง
   
ด้านนายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์  กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหากนำปริมาณเงินจากญี่ปุ่นเมื่อรวมกับมาตรการคิวอีของเฟดที่อัดฉีดเงินเข้าระบบ ( 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) แต่ละเดือนจะมีปริมาณเงินเข้าระบบรวมกว่า 1.65  แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระจายออกไปหาอัตราผลตอบแทนทั่วโลก  โดยเฉพาะเอเชียที่พื้นฐานเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้วไม่มีทางที่เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าได้ นอกจากการออกมาตรการภาษี ควบคุมเงินไหลเข้า (แคปิตอลคอนโทรล)     นอกจากนี้หากบีโอเจสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นถึง 2%ได้จริงจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกให้ขยับขึ้นตามไม่น้อยกว่า 4% เช่น ไทยตอนนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3% จะกลายเป็น 7% ได้

ที่มา. นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น