สอท.โอดค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกแย่ วอนแบงก์ชาติงัด มาตรการเข้มข้นจัดการ ปรับนโยบายการเงินเลิกกำหนดเป้าเงินเฟ้อมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ลดดอกเบี้ย 1% คุมเงินไหลเข้าต่ำกว่า 3 เดือน สกัดเก็งกำไร ด้านแบงก์ชาติย้ำเกาะติดใกล้ชิด มีแผนรับมือแต่ต้องรอบคอบหวั่นเกิดผลข้างเคียง
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ประชุมสมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่เดือดร้อนจากเงินบาทแข็งค่าเพื่อกำหนดท่าทีและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป
นายพยุงศักดิ์กล่าวว่าขณะนี้มีสัญญาณการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทต่อเนื่องและทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าภูมิภาค โดยค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 22 เมษายน 2556 แข็งค่าขึ้น 5.93% ขณะที่จีนแข็งค่า 0.97% มาเลเซียแข็งค่า 0.27% เวียดนามอ่อนค่า 0.38% อินโดนีเซียอ่อนค่า 0.74% สิงคโปร์อ่อนค่า 0.86%
การที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกบางส่วนหันไปใช้วัตถุดิบนำเข้ามากขึ้นหากยังเป็นเช่นนี้จะกระทบกับซัพพลายเชนที่ผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ส่งออกและกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน การที่เงินบาทแข็งค่ารุนแรง สอท.ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการ 5 มาตรการ คือ 1.ให้บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤติเพราะมีสัญญาณเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรชัดเจน และหลายประเทศมีมาตรการเพิ่มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ทำให้เกิดสถานการณ์เงินท่วมโลก
2.เปลี่ยนนโยบายการเงินที่ยึดอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting) มาเป็นนโยบายที่ยึดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย (Exchange Rate Targeting) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพราะความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้มีไม่มากเนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงจึงควรปรับนโยบายให้เหมาะสม 3.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ทันทีจากปัจจุบัน 2.75% เป็น 1.75% 4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) โดยห้ามนำเงินลงทุนออกจากไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าความผันผวนของค่าเงินไม่ลดลงให้เพิ่มเป็น 6 เดือน 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของ ธปท.
ทั้งนี้อาจจะดำเนินการทั้ง 5 มาตรการ พร้อมกันก็ได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยจะมีผลต่อการรับคำสั่งซื้อในไตรมาส 2-3 ปีนี้ โดยเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกกำหนดราคารับคำสั่งซื้อลำบาก และเป็นการยากที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้
รวมทั้งคาดการณ์ได้ลำบากว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ระดับใดหลังจากนี้
“หากแบงก์ชาติไม่ดำเนินมาตรการใดเลยการส่งออกปีนี้คงโตแค่ 5.5% แต่ถ้าเงินบาทแข็งทะลุไป 27 บาทต่อดอลลาร์การเติบโตจะต่ำกว่านี้ ผลกระทบจะชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปเนื่องจากเป็นยอดการส่งออกที่รับออเดอร์ในไตรมาสแรกที่เริ่มมีปัญหาเงินบาท แต่ไตรมาสแรกที่การส่งออกยังโต 4.26% เพราะออเดอร์ที่รับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว” นายพยุงศักดิ์กล่าว
อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มสินค้าการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเงินและอัญมณี ชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น แผงวงจรไฟฟา เซรามิก
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสอท.กล่าวว่าสอท.จะขอเข้าพบนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ในสัปดาห์หน้าเพื่อเสนอความเห็นของสมาชิกโดยเราเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะการเก็งกำไรจึงเห็นควรว่าน่าจะนำนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้ ซึ่งทั้ง 5 แนวทางเป็นมาตรการเข้มข้นที่ ธปท.ปฏิเสธมาตลอดแต่ผู้ส่งออกมองว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วจากที่ สอท.เคยเสนอ ธปท.ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
สำหรับข้อเสนอที่จะยื่นต่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ในวันที่ 26 เมษายน 2556 จะเน้นเรื่องการหาตลาดให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งดำเนินการและขยายตลาดการค้าชายแดนมากขึ้นเพราะตลาดหลักมีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและการแข่งขันสูง เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรหาแนวทางให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงศูนย์กลางการกระจายสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สินค้ากระจายถึงมือผู้บริโภคโดยเร็ว
ขณะเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุลผู้ว่าการธปท. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าโดยนายกิตติรัตน์กล่าวว่ารู้สึกหนักใจที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเรื่องการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินธปท. ยอมรับว่าค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน แข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้น 6.28% จากระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 28.82 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ต่างประเทศเชื่อมั่น แต่ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยืนยันว่า มีมาตรการที่จะเข้าดูแล หากถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ทุกมาตรการมีผลข้างเคียงจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยังยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีอัตราใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน แต่ที่ไทยโดดเด่นกว่า เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจและเครดิตของไทยดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น