ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน,
ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก
วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
เพื่อที่จะรักษาสภาพและระบบที่ผู้อยู่ในโครงสร้างอำนาจต้องการให้เกิดขึ้น ก็มีการตรากฎหมายเพื่อให้คนปฏิบัติตามโดยที่คนไม่มีส่วนในการตรากฎหมายนั้นเลย ซึ่งเข้าหลัก the rule by law และในบางกรณีการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ที่ทางรัฐกำหนดขึ้นอาจจะใช้กฎหมายลงโทษที่รุนแรงที่เรียกว่า Draconian Law การใช้กฎหมายดังกล่าวนี้เป็นลักษณะของ the rule by law เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งระบบที่ผู้อยู่ในอำนาจรัฐต้องการธำรงไว้
แต่ระบบที่มีความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี อาจจะไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกกลุ่มผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือผู้ช่วยเหลือผู้ใช้อำนาจรัฐ อันได้แก่ ผู้ปกครองบริหาร ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบโดยมีการขยับชั้นทางสังคม (social mobility) นั่นคือ การเปิดโอกาสให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐ
ในกรณีของจีนเป็นระบบที่ยอดเยี่ยมที่สุด นั่นคือ การให้มีระบบสอบตั้งแต่ระดับ อำเภอ มณฑล และเมืองหลวง โดยคัดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้วยการสอบเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิธีการที่จะกำหนดให้ผู้ทำหน้าที่สอบนั้นมีการถูกสั่งสอน กล่อมเกลาโดยสถาบันการศึกษา รวมทั้งการศึกษาด้วยตนเองให้มีค่านิยมแบบเดียวกัน นั่นคือ การศึกษาลัทธิขงจื้อ ซึ่งหมายความว่า กว่าจะสอบได้อาจต้องใช้เวลาประมาณสิบๆ ปี ซึ่งก็มีการกลืนความคิดและบุคลิกของบุคคลดังกล่าวจนมั่นใจได้ว่า แม้จะผ่านการคัดเลือกมีอำนาจในระบบก็จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องการ การเปิดโอกาสให้มีการขยับชั้นทางสังคมนี้ทำให้ระบบการเมืองการปกครอง และกลุ่มผู้ใช้อำนาจรัฐที่อาศัยความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี ในการครองอำนาจของตนนั้นมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น
โดยมีการออกกฎหมาย และการอ้างเหตุผล เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาอยู่ในระบบที่เรียกว่า legal-rational authority ตามที่ แม็คกซ์ เวเบอร์ ได้กล่าวไว้ เมื่อผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถกุมอำนาจรัฐโดยสร้างความชอบธรรมจากเครื่องมือสำคัญคือ การสร้างความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี รวมทั้งการเปิดโอกาสให้มีการขยับชั้นทางสังคมเพื่อป้องกันมิให้มีการต่อต้านระบบ เพราะผู้ที่อยู่ใต้ปกครองก็มีโอกาสเข้าเป็นผู้ปกครองย่อมจะทำให้ระบบดังกล่าวนั้น แม้จะไม่เสมอภาคตั้งแต่ต้น แต่ก็เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนที่สถานะต่ำกว่าเข้ามาอยู่ในระบบได้ ความสมบูรณ์ของระบบจึงเกิดขึ้น และสามารถดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน 4-5 พันปี
แม้ระบบดังกล่าวจะเป็นระบบที่มีเหตุมีผล เป็นระบบที่เปิดโอกาส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่เปิดนั้นเป็นโอกาสจำกัด เพราะผู้ที่จะมีโอกาสศึกษานั้นมักจะเป็นลูกหลานของเจ้าของที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตระกูลขุนนางที่อยู่ในระบบการปกครอง ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า แม้ระบบจะเปิดกว้างก็ยากที่จะก้าวข้ามไปสู่การเป็นบัณฑิตและเป็นขุนนางได้ แน่นอนย่อมมีจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จแต่ก็ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป
ในกรณีของระบบอื่น เป็นระบบที่พวกใครพวกมัน ญาติใครญาติมัน ไม่มีการสอบ และบางครั้งยังมีการกีดกันเสียด้วยซ้ำ เช่นกรณีของ ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คนที่จะฝากตัวเป็นมหาดเล็กต้องสืบเชื้อสายเสนาบดี นอกเหนือจากนี้ จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ต้องมีคุณวุฒิสี่ อธิบดีสี่ และคุณานุรูป ระบบเพิ่งเปิดให้ไพร่ฝากตัวเป็นมหาดเล็กสมัยพระพุทธเจ้าฟ้าจุฬาโลก เนื่องจากสงครามทำให้ผู้คนโรยราไป จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ไพร่เข้ามาฝากตัวเป็นมหาดเล็ก เนื่องจากหาคนมาเป็นมหาดเล็กได้ยากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันระบบของไทยนั้น นอกจากจะมีการสืบทอดอำนาจของผู้ปกครองโดยใช้กระบวนการราชาภิเษก โดยการสืบเชื้อสายหรือ traditional authority แต่ก็มีการใช้อำนาจรัฐ โดยการยึดอำนาจจากฝ่ายตรงกันข้าม ที่เรียกว่า การปราบดาภิเษก แปลว่าเป็นการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจของผู้ปกครองคนก่อนเพื่อให้อำนาจเป็นของตน ในกรณีเช่นนี้มีลักษณะคล้ายกันกับการใช้กำลัง (force) เพื่อสถาปนาอำนาจรัฐใหม่เหมือนกับที่กล่าวมาเบื้องต้น
ในกรณีของจีนนั้น แม้จักรพรรดิ์จะอ้างอาณัติจากสวรรค์ แต่ก็มีการตรวจสอบพฤติกรรมของจักรพรรดิ์ โดยถ้าจักรพรรดิ์ไม่อยู่ในทำนองครองธรรม ข่มเหงบีฑาประชาราษฎร์ ปล่อยให้ขุนนางกังฉินครองแผ่นดิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ดูแลเอาใจใส่บ้านเมือง เขื่อนและฝายกั้นน้ำพัง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวนา เกิดโรคระบาด เกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ ก็จะมีการอ้างว่าอาณัติจากสวรรค์นั้นถูกถอนโดยสวรรค์ ประชาชนก็มีสิทธิ์จะยกพวกเข้าโจมตีวังของจักรพรรดิ์ ซึ่งมักจะนำโดยหัวหน้าขบวนการ เพื่อล้มจักรพรรดิ์คนเดิมและตนเองเข้าแทนที่โดยมีการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็คือ การปราบดาภิเษก โดยผู้เป็นฮ่องเต้คนใหม่ก็จะอ้างว่า ได้ก้าวมาสู่ตำแหน่งสูงสุด เนื่องจากอาญาสิทธิ์จากสวรรค์ หรืออาณัติจากสวรรค์
ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ในการควบคุมอำนาจทางการเมือง หรือการครองอำนาจรัฐนั้น มีการใช้วิธีการต่างๆ มากมาย ที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างความเชื่อ และการใช้วัฒนธรรม และประเพณี เพื่อสร้างความชอบธรรมในการครองอำนาจรัฐ แต่เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งของยุโรป เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์และขุนนาง จนนำไปสู่การทำข้อตกลงแบ่งอำนาจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอำนาจในการจัดเก็บภาษีของกษัตริย์ นำไปสู่ Magna Carta หรือกฎบัตรใหญ่ ในปี ค.ศ.1215 จึงเริ่มต้นของการมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งก็มีอุปสรรคและมีการนองเลือด แต่ผลสุดท้ายประชาชนเริ่มมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 700 ปี จึงเกิดระบบการเมืองใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง ที่มาแห่งอำนาจหรือความชอบธรรม ไม่ได้มาจากสวรรค์อีกต่อไป หากแต่มาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)
การเกิดขึ้นของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นทางเลือกสำคัญของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของระบบที่ตนมีส่วนไม่ทางตรงก็ทางอ้อมด้วยการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปอยู่ในรัฐสภา กลยุทธ์การครองอำนาจของผู้ใช้อำนาจรัฐแบบเดิมจึงต้องมีการแปรเปลี่ยนและออมชอมโดยการแบ่งอำนาจและการกระจายอำนาจ เช่น มีการกำหนดอำนาจให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การปกครองระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีสิทธิและอำนาจในการปกครองตนเอง
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กลยุทธ์ในการคุมอำนาจรัฐจะต้องแปรเปลี่ยนไป การอ้างอาญาสิทธิ์จากสวรรค์จึงต้องเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน โดยปวงชนต้องมีสิทธิ์ในการยินยอมด้วยการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงก็คือ ความเชื่อที่มีอยู่ดั้งเดิมนั้นว่ามนุษย์มีความเหลื่อมล้ำกันก็เปลี่ยนเป็นมนุษย์มีความเสมอภาคกัน โดยทุกคนเป็นบุตรของพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ จึงมีความสัมพันธ์ในการเป็นมนุษย์ และนี่คือที่มาของสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพ
นอกจากการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดแล้ว การใช้วัฒนธรรมและประเพณีเพื่อให้คนยอมรับสถานะของตนโดยมีความเหลื่อมล้ำเป็นฐานนั้น ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมอันใดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิขั้นมูลฐาน ที่กล่าวมาเบื้องต้นก็อาจมีการยกเลิกปรับเปลี่ยน เช่น การมีอภิสิทธิ์ของผู้ครองอำนาจรัฐก็จะถูกลดอภิสิทธิ์ลง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองก็จะเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ของผู้มีความเสมอภาคกันมากขึ้น การใช้อำนาจรัฐของผู้ครองอำนาจรัฐโดยประเพณีเดิมก็ต้องมีการร่วมกับอำนาจรัฐที่มาจากอธิปไตยของปวงชน เช่นในรณีของอังกฤษ เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้จะชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์ในการครองอำนาจรัฐนั้นมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถจะรักษาสภาพเดิมได้เพราะมีการแปรเปลี่ยน และบางครั้งการแปรเปลี่ยนนั้นก็มีการนองเลือดและเสียชีวิตเช่นในกรณีของอังกฤษ แต่เมื่อเทียบกับกรณีของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 และรัสเซียในปี ค.ศ.1917 การเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองโดยมีกลยุทธ์ในการครองอำนาจรัฐนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้ความรุนแรงที่เรียกว่าการปฏิวัติ โดยมีการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งแตกต่างจากของอังกฤษ แม้ของอังกฤษจะมีการลงโทษโดยรัฐสภาให้ประหารชีวิตพระเจ้าชาร์ลส์ก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่ไม่รุนแรงเท่ากับฝรั่งเศสและรัสเซีย
กลยุทธ์การครองอำนาจในปัจจุบันเป็นกลยุทธ์ที่ต้องคำนึงถึงการได้อำนาจรัฐอย่างถูกต้องและมีความชอบธรรมโดยการอิงประชาชนเป็นหลัก นั่นคือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากได้อำนาจรัฐแล้วจะมีอำนาจสิทธิ์ขาด เพราะอำนาจอธิปไตยในปัจจุบันได้มีการแปรเปลี่ยนเป็นการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น กล่าวคือ นอกจากประชาชนจะมีอำนาจในการเลือกตัวแทนของตนแล้ว ประชาชนยังมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยมีส่วนร่วมโดยตรง ที่เรียกว่า participatory democracy ทำให้ผู้ครองอำนาจรัฐนอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ และที่มีความชอบธรรมแล้ว ยังต้องเผชิญกับการเมืองภาคประชาชนที่เป็นการเมืองนอกเหนือจากระบบรัฐสภาและฝ่ายบริหารในทำเนียบรัฐบาล กลยุทธ์การครองอำนาจรัฐในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษที่ให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) มีความเป็นประชาธิปไตย มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อให้เกิดความชอบธรรมที่จะครองอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมเผชิญกับการเมืองภาคประชาชนที่อาจจะไม่พอใจกับกิจกรรมบางส่วนของผู้ครองอำนาจรัฐที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยประชาชนยังมีอำนาจที่จะประท้วง ต่อต้านนโยบายบางอย่างที่ตนไม่เห็นด้วยทั้งๆ ที่ตนได้มอบอำนาจในการตัดสินใจดังกล่าวด้วยการลงคะแนนเสียงไปแล้วก็ตาม
กระบวนการ และกลยุทธ์ในการครองอำนาจรัฐ จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ยากที่จะเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ นักวิชาการ หรือนักการเมือง ที่พยายามเสนอการครองอำนาจรัฐที่มีชื่อที่สุด คือ แมคเคียเวลลี โดยใช้เหลี่ยมคูทางการเมือง ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนัการเมือง หรือนักวิชาการ หรือนักคิด ที่มีแต่การใช้กลเม็ดในการรักษาอำนาจทางการเมือง เพื่อที่จะครองอำนาจรัฐจนละเลยความถูกต้องและศีลธรรม หรือกรณีของผู้นำจีนในสมัยโบราณก็มีกลยุทธ์ต่างๆ ของการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามด้วยเล่ห์เหลี่ยมคูทางการเมืองมากมายคณานับยากที่จะกล่าวถึง การใช้อำนาจและการรักษาอำนาจรัฐด้วยกลวิธีต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ใหม่
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ผู้อยู่ในอำนาจรัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ความชอบธรรม ของผู้อยู่ใต้การปกครองด้วย ถ้าไม่มีการใช้อำนาจรัฐอย่างเด็ดขาดสังคมก็จะกลายเป็นอนาธิปไตย แต่ถ้ามีการใช้อำนาจจนเกินเลยก็จะถูกต่อต้าน การสร้างกลไกต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจรัฐสามารถกระทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ยากที่จะรักษาอำนาจรัฐได้ตลอดไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงของผู้ครองอำนาจรัฐ จึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติวิสัย
อย่างไรก็ตาม สิ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ก็คือ อำนาจรัฐอันเป็นที่ยอมรับโดยสากลนั้นจะต้องเป็นอำนาจรัฐที่เอื้ออำนวยประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มีความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีการใช้หลักนิติธรรม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน มิฉะนั้นการครองอำนาจรัฐดังกล่าวก็ยากที่จะอยู่ได้อย่างถาวร และในแง่หนึ่งไม่มีอะไรที่อยู่อย่างถาวรตลอดไป ดังคำกล่าวที่ว่า ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงŽ (Everything changes but change)
ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////////////