เมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงทั้งต่างประเทศและในประเทศนานๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตในเมืองหลวง เบื่อหน่ายกับความสับสนความวุ่นวายของเมืองหลวง ตัณหาเกิดกลับ จึงมีความคิดอยากอยู่เงียบๆกับธรรมชาติในชนบทไทย
คิดถึงชนบทไทย คนไทยมีน้ำใจ สมัยก่อนเดินขึ้นบ้านไหนมีข้าวให้กิน ในขณะที่เมืองหลวงขอเข้าห้องน้ำเขายังไม่ให้เข้า ต้องวิ่งกันจนหน้าซีด
ถ้ามีโอกาสจะต้องไปอยู่ชนบท ใช้ชีวิตกับความวิเวก ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ เพราะความสุขของมนุษย์ เกิดได้จากธรรมชาติมากกว่าการปรุงแต่ง
แต่ชนบทไทยในปัจจุบันก็ต้องเลือกหน่อย เพราะส่วนหนึ่งได้กลายเป็นแหล่งทุนนิยมไปแล้ว เมื่อความเจริญเข้าไปซื้อชีวิตของคนไทยให้กลายเป็นพวกทุนนิยมไปหมด
บัดนี้ตามชายทุ่งเริ่มกลายเป็นบ้านจัดสรร และที่ดินอันเป็นเรือกสวนไร่นา นายทุนซื้อเอาไว้หมด
คนกรุงเทพฯที่กระเป๋าหนักทั้งหลาย เขาเอาเงินออกไปใช้ตามชนบทแบบไม่เสียดายกัน อยากซื้อที่เท่าไรก็ซื้อ เขาไม่ต่อกันแล้ว
เรื่องที่ดินมันไม่สำคัญ แต่สำคัญที่เขาซื้อจิตใจของชาวบ้าน เมื่อเขามีเงินมากกว่าชนิดที่ชาวไร่ชาวนาไล่เขาไม่ทัน เสมือนหนึ่งผักตบลอยอยู่เหนือน้ำ น้ำขึ้นเท่าไร ผักตบก็ยังลอยอยู่เหนือน้ำ
ชาวนาขายข้าว ขายที่ได้เงินก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อโทรทัศน์จอแบน ตู้เย็นแบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ โทรศัพท์มือถือไอโฟน ไอแพด ตลอดจนซื้อรถเครื่องให้ลูกให้หลาน
เมื่อความเจริญเข้าถึง ทำให้ภาพของชนบทใกล้เมืองเปลี่ยนไป ชนบททั่วไปก็เริ่มเปลี่ยน
เศรษฐีประเภทรวยใหม่ ตอนนี้มีมากเหมือนดอกเห็ด
เมื่อก่อนเป็นชาวไร่ชาวนาขี่ควายเป่าขลุ่ยอยู่แถวปทุมธานี นนทบุรี
เมื่อที่ดินบูม ถนนตัดผ่านที่นา จึงเลิกอาชีพชาวนาชาวสวน ขายที่ขี่เบนซ์ ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก กลายเป็นคหบดีตีกอล์ฟไปในพริบตา
แต่คนพวกนี้ไม่รวยจริง ที่เป็นเศรษฐีจริงๆ คือพวกที่ไปกว้านซื้อที่จากชาวนาชาวไร่ แล้วเอามาตัดขายต่อ หรือสร้างคอนโดทำบ้านจัดสรร ฯลฯ
อยู่เมืองหลวงนานๆ ก็เริ่มเบื่อความจำเจ เบื่อความสับสนและความวุ่นวายของบ้านเมือง เบื่อความเอารัดเอาเปรียบของคนส่วนหนึ่ง
และที่เบื่อที่สุดคือ ความน่ารักของนักการเมืองบางคน เวลาหาเสียงใครขออะไรให้หมด ใครขออะไรทำหมด ไม่ว่าต้มก๊วยเตี๋ยว ผัดราดหน้า ตำส้มตำ ทำได้หมด เมื่อทำเสร็จยังป้อนให้อีกด้วย บางคนไปหอมแก้มเขา บางคนให้เขาหอมแก้ม ไม่ทราบว่าจะเลือกเขาเข้าไปตำ หรือเข้าไปหอมแก้ม
เหตุการณ์เช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นเป็นรายวันมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากดูโทรทัศน์ ไม่อยากอ่านหนังสือพิมพ์ บอกตรงๆว่า เบื่อจริงๆ
จึงทำให้เริ่มคิดถึงความวิเวกจากลมทุ่ง เสียงนกร้อง ภาพสุดลูกหูลูกตา อันเขียวขจีคือข้าวและนิวไม้ที่อยู่ห่างออกไป เพียงเดินแค่เคี้ยวหมากจืดของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
สมัยเด็กมีเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคน ชอบแก้ผ้าเล่นน้ำฝนตอนฝนตกหนักชอบว่ายน้ำ
เข้ากรุงเทพฯตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กลับไปอีกทีตอนโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ อายุเกิน ๑๐ แล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านญาติริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางโพธิ์ อำเภอเมือง ปทุมธานี
เมื่อน้ำเหนือหลาก ชอบเกาะเรือโยงให้เขาไล่แล้วพุ่งหลาวลงน้ำ ส่วนใหญ่ชอบขึ้นหลังคาเรือเมล์ขนาดใหญ่ของบริษัทขนส่งที่แล่นระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านแพน แล้วแข่งกันกระโดดมัดหมูที่ท้ายเรือ
บ้านที่ไปขออาศัยอยู่ หน้าบ้านขายก๊วยเตี๋ยวและกาแฟ ทุกวันจะมีคนเล่นหมากรุกจีนและคุยกันเรื่องสัพเพเหระ ส่วนใหญ่จะคุยกันเรื่องการเมือง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง
ส่วนหลังบ้านเป็นโรงเรียนจีนชั้นประถมศึกษา สอนทั้งภาษาไทยและจีน หน้าโรงเรียนเป็นสนามหญ้า ครั้นถึงคืนเดือนหงาย ท้องฟ้าสว่างดังกลางวันไร้เมฆหมอก อากาศเย็นสบาย เพราะลมพัดเบาๆ พวกเด็กๆจะออกมาเล่นกันที่สนามหญ้า
ผู้ใหญ่นัดกันจับกลุ่มคุยกันทุกเรื่อง เท่าที่จะหยิบยกมาคุยกันและวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งวงคุยกันของผู้ใหญ่ นั่งที่สนามหญ้าโดยปูด้วยเสื่อและมีขันน้ำฝน มีกลีบกุหลาบโรยในขัน และมีจอกเล็กๆวางไว้ข้างๆ เพื่อแก้กระหายเมื่อถึงวาระถกเถียงกัน
เรื่องที่เถียงกันมากที่สุดคือ เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตลอดจนการวิพากษณ์การทำงานของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม และนักการเมืองที่ทุจริตโกงกินบ้านเมือง และเลยไปถึงเรื่องของความบันเทิง หมัดมวย ฯลฯ
ผู้ใหญ่เขาคุยกันนานและครื้นเครง เมื่อเวลาใกล้ ๓ ทุ่ม พวกแม่บ้านจะเตรียมข้าวต้มเลี้ยงกัน แต่ย้ายที่กินมาบนหลังคาเรือส่งน้ำแข็ง ซึ่งจอดอยู่ที่หน้าร้านขายก๊วยเตี๋ยวกาแฟ นั่งกินข้าวต้มไปดูน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไป มีเรือพ่วงประปราย เป็นบรรยากาศชนบทอย่างแท้จริง
ข้าวต้มที่เลี้ยงกันนั้น ถ้าไม่เป็นข้าวต้มเครื่องก็เป็นข้าวต้มกับ
ข้าวต้มเครื่องเป็นข้าวต้มกุ้ง ปลา กุ้งปลาหาง่ายจับขึ้นมาจากแม่น้ำสดๆยังดิ้นได้
ส่วนข้าวต้มกับก็มีซีเซ็กฉ่าย หัวไชโป๊วผัดไข่ ยำกุ้งแห้ง ยำไข่เค็ม ผัดผักบุ้ง ฯลฯ
ไข่จอมพลป. ฟองละ ๒๕ สตางค์เท่านั้น ถือเป็นอาหารของรากหญ้า ส่วนกุ้งแม่น้ำกิโลละ ๑๓ บาท ทุเรียนก้านยาวจากสวนนนทบุรีลูกละ ๑๐ บาท เป็นของบริโภคของคนมีตังค์
คุยกันไป หยอกล้อกันไป กินกันไป ดึกดื่นไม่เกี่ยง ถ้ายังไม่จบ วันรุ่งขึ้นนัดกันใหม่
บางทีนัดกันตั้งแต่เย็นโดยสมาชิกสภาทุ่งจะถืออาหารมาคนละจาน เจ้าบ้านเพียงแต่หุงข้าวหรือตำน้ำพริกมะเขือกรอบ เหยาะแมงดาพร้อมเครื่องจิ้ม มีต้นหอมดอง ผักเสี้ยน และปลาช่อนย่าง หนังกรอบเนื้อในฟู นิ่มยังกะสำลี พร้อมน้ำปลาพริกขี้หนู บีบมะนาว มีหอมหรือกระเทียมซอยใส่ อร่อยกว่าภัตตาคาร ราคาย่อมเยาว์ ถ้าตั้งวงกันก่อนแดดร่มลมตก ก็หมายความว่า คืนนั้นต้องมีมโหรี
ที่แปลกที่สุดคือกินอาหารไทย แต่เล่นมโหรีจีน
ถ้าวันไหนมีมโหรีจีนสภาทุ่งจะมาตั้งวงที่ร้านก๊ยวเตี๋ยว ซึ่งตั้งอยู่ตรงคุ้งน้ำพอดี จะส่งเสียงตามสายลมไปไกลทีเดียว
บรรยากาศแบบนี้ที่ไหนก็หาไม่ได้อีกแล้ว หรือวันไหนวัดใกล้บ้านมีงาน ก็ยกทีมไปคุยต่อที่วัดพร้อมกับโขกหมากรุกด้วย บางครั้งโขนถูกม้ากินกลางกระดาน ก็เฮฮากันเสียงดัง
ในแวดวงนักคุยสมัยนั้น มีรุ่นพ่ออยู่คนหนึ่งชื่อ “น้าแดง” เป็นเจ้าของเรือเครื่องรับจ้างลากเรือ ทุกครั้งที่ตั้งวงน้าแดงจะแวบมาร่วมเป็นประจำ พร้อมอาหารติดมือ น้าแดงเป็นคนชอบอ่านวรรณคดี ที่ชอบมากคือ “สามก๊ก” น้าแดงรู้ด้วยว่า คนที่เขียนเรื่องสามก๊กชื่อ “หลอกว้านจง”
น้าแดง บอกว่า “เรื่องสามก๊กมีตัวละครที่สำคัญอยู่ ๓ ตัว คือโจโฉ เล่า ปี่ และขงเบ้ง โจโฉแม้จะเก่งเฉียบขาดขนาดไหน ก็ยังเป็นรองจากขงเบ้ง เล่าปี่ก็เป็นรองโจโฉ แต่เก่งทางจิตวิทยา สามารถใช้ขงเบ้งดำเนินการทางการเมืองได้จนวาระสุดท้าย โจโฉเป็นคนเก่ง มีความสามารถที่จะปกครองคนทั้งโลก แต่อีกภาพหนึ่งคือโจโฉมีความชั่วร้ายที่จะทำให้คนเดือดร้อนได้ทั้งโลก”
สมัยก่อน(๕๖ ปีแล้ว) ภาพยนตร์ละคร หาดูยาก มีก็แต่ลิเกกับรำวง ลมหนาวโชยมา อากาศชนบทสดชื่น ก็จะนัดกันมีรำวง โดยหนุ่มจากหมู่บ้านกับสาวอีกหมู่บ้าน เสียงกองโทนรำมะนาดังมาตามสายลมไพเราะมากทีเดียว นักร้อง ร้องเพลงสากลประยุกต์เป็นเพลงรำวงในจังหวะต่างๆ เช่นเพลง “เสียงครวญ”ของสมยศ ทัศนพันธ์ ที่ฟังแล้วใจหาย ดังว่า“เสียงครวญเรียกหา ตามสายลมพลิ้วมา เหมือนดั่งจะพาใจมั่น พอฟังไปเสียงก็คลาย...........” ไพเราะจับใจ หาที่เปรียบยาก
เพลงของกรมโฆษณาการ (ต่อมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน เนื้อร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ดังว่า“นกบินกลับรัง แต่ตัวฉันยังนั่งคอยคู่...............” ฟังหวานใจลอยจนหายไปกับความรู้สึก จนจำไม่ได้ว่าตัวเราขณะนั้นอยู่ที่ไหน
เพลง “เจ้าสาวชาวไร่” ซึ่งถือเป็นเพลงแรกของเพลงลูกทุ่ง ประพันธ์โดยเหม เวชกร ร้องโดยคำรณ สัมปุญญานนท์ ดังว่า“โอ้เจ้าสาวชาวไร่ ไปไหนกันหนอ ตัดผมต้นคอ ดูลออสำอางตา......”
บรรยากาศแบบนี้ ปัจจุบันเราจะหาได้จากไหน เพราะไม่ว่าจะไปไหน มีแต่เสียงนินทา เป็นเพลงฮิตยอดนิยม หรืออาจเป็นเพราะเรามาจมอยู่ในปลักของการต่อสู้ที่เอารัดเอาเปรียบทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมจากการยึดถือเงินเป็นอำนาจ
สังคมกำลังเปลี่ยนไปจากสังคมที่เกิดจากน้ำใจเป็นสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ และเอาชนะกันด้วยเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งมันได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเทศที่มีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม โดยไม่มีการปฏิวัติทางด้านจิตใจ ตรงจุดนี้แหละที่เริ่มคิดถึงชนบทไทย
ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น