--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัฐมนตรีพลังงาน:แถลงข่าวภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน !!?


LOGO กระทรวงพลังงาน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีกว่ากระทรวงพลังงาน ได้แถลงข่าวความพร้อมของการรับมือกับสถานการณ์ภาวะวิกฤติด้านพลังงาน ในช่วงแหล่งยาดานาหยุดซ่อมบำรุงจากปัญหาการทรุดตัวของแท่นผลิต ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนนี้ โดยกล่าวว่า ได้มีการเจรจากับทางแหล่งผลิตก๊าซที่ยาดานาขอเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงไปเป็นช่วง 12.00 น. ของวันที่ 5 เมษายน จากเดิมคือวันที่ 4 เมษายนซึ่งเป็นช่วงวันที่มีการใช้กำลังไฟฟ้าสูง และมีการสำรองการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุด โดยมีการสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ (MW) ในวันนั้นซึ่งเป็นจุดที่เปราะบางในการบริหารจัดการไฟฟ้าภายในประเทศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุนเป็นแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สำคัญที่่ไทยนำเข้าจากสหภาพพม่า โดยมีกำลังการผลิตที่ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือให้กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ (MW)

เนื่องจากกำลังไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินของประเทศ (Hot Standby) ในวันที่ 5 เมษายนลดลงมาต่ำที่สุดราว 600-700 เมกะวัตต์ ซึ่งตามปกติจำเป็นต้องอยู่ที่ขั้นต่ำราว 1,200 เมกะวัตต์  อาจส่งผลให้เกิดปัญหา ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ (Brown Out) โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและภาคใต้บางพื้นที่  ขึ้นอยู่กับกำลังการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงวันที่ 5 เมษายน ซึ่งจะเป็นวันที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ และหลังจากวันที่ 5 เมษายนไปการใช้พลังงานไฟฟ้าจะลดลงตามสถิติที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นวันหยุดยาวของภาคธุรกิจและประชาชน

ดังนั้นเมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปราว 6,000 MW จึงจำเป็นต้องมีมาตรการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาชดเชยในส่วนนี้ โดยอันดับแรกจะทำการทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปโดยนำเอาน้ำมันเตาจำนวน 86 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลจำนวน 47 ล้านลิตร เข้ามาทดแทนก๊าซที่หายไปจากระบบ พร้อมกับเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่น นั่นจะทำให้สามารถนำมาชดเชยไฟฟ้าในระบบได้ราว 4,500เมกะวัตต์ (MW) แต่ไฟฟ้ายังคงมีส่วนที่หายไปจากระบบราว 1,500 เมกะวัตต์ (MW)

นอกจากนี้ทางกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีสัญญาการซื้อไฟรูปแบบ Interruptible Rate กับทางกฟผ.จำนวน 4 โรงได้แก่ โรงงานไทยอาซาฮี 1 โรง โรงงานปูนนครหลวง 2 โรง และโรงงานปิโตรเคมีของทีพีไอ 1โรง ให้ทำการลดการใช้ไฟฟ้าลงใน่ชวงวันที่ 5 เมษายนจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 56 MW

และได้สั่งการจัดหาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี 1,400 MW ดำเนินการให้โรงไฟฟ้าเก่าได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกงเดินการผลิตไฟฟ้า 2,000 MW โรงไฟฟ้าวังน้อย 300-400 MW รวมทั้งดึงจัดหาไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อน วชิราลงกรณ์ และจัดซื้อจากเพื่อนบ้านเพิ่มเติมคือ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 และ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2

ขณะที่ภาคขนส่งที่ต้องใช้ก๊าซ NGV ในช่วงวันที่ 5  -14 เมษายน ซึ่งมีการปิดซ่อมบำรุงไปแล้วจะยังมีก๊าซคงค้างในท่ออยู่ราว 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต และรวมกับก๊าซจากฝั่งตะวันออกจ่ายเข้ามาซึ่งจะสามารถนำมาผลิตก๊าซNGV สำหรับภาคขนส่งได้ราว 12 วัน

นี่จะเป็นปฐมบทของปัญหาพลังงานไทยในอนาคต นอกเหนือจากปัญหาแหล่งจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเพื่อนบ้านซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญซึ่งป้อนให้ภาคพลังงานของไทยที่ผ่านมา  โดยไทยใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70% ในการผลิตไฟฟ้า และเป็นตัวแปรที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ของความมั่นคงทางด้านพลังงานเพราะประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่ามีแนวโน้มความต้องการการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน การทบทวนการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่สะอาดและมีความเสถียรเพื่อให้ความมั่นใจต่อระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าอาจต้องกลับมานำคิดทบทวนถึงแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าอย่างไรบ้างในอนาคต และทำเช่นไรต่อไปในภาวะการจัดหาแหล่งพลังงานยากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น