--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธปท.ต้องรีบดำเนินคดีกับมหาโจรเสื้อสูท !!?


เป็นที่ทราบกันทั่วไปในบ้านเมืองของเราในบัดนี้แล้วว่า มีธนาคารของรัฐอย่างน้อยสองแห่งที่มีฐานะดำเนินการอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งถ้าหากเป็นกิจการของเอกชน ก็เป็นที่แน่นอนว่าฐานะการดำเนินงานอยู่ในขั้นที่ต้องถูกควบคุมตามกฎหมายแล้ว

                การควบคุมกิจการธนาคารหรือสถาบันการเงินคือ แบบอย่างที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาแล้วเมื่อครั้งเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 นั่นคือ การหยุดหรือปิดกิจการ การตรวจสอบความเสียหาย การดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดกับมหาโจรเสื้อสูท ที่ปล้นสะดมสินทรัพย์ของสถาบันการเงินนั้นๆ ไปดำเนินคดี ซึ่งมีบทปฏิบัติถึงขั้นริบทรัพย์ จำคุก และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น

                แต่เมื่อเป็นธนาคารของรัฐก็ย่อมมีอภิสิทธิ์อยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นทางการก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้แล้ว และกำหนดกรอบเวลาในการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือนจากนี้ไป  โดยที่ยังไม่อาจคาดเดาผลข้างหน้าได้ว่าจะออกรูปใด

                ธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ ปล่อยสินเชื่อหรือให้กู้ยืมเป็นเงินรวมกันประมาณ 160,000 ล้านบาท และตัวเลขที่มีการแถลงว่าเงินที่ปล่อยกู้เหล่านี้ได้กลายเป็นหนี้เสีย หนี้สูญ หรือที่เรียกเป็นภาษานักบัญชีว่าทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสินทรัพย์จัดชั้นต้องสำรองหนี้สูญเป็นจำนวนถึง 76,000 ล้านบาท

                ในขณะที่มีข่าวซุบซิบกระเซ็นกระสายให้ได้ยินว่าในจำนวนเงินปล่อยกู้ 160,000 ล้านบาทนั้น อาจจะมีหนี้เสีย หนี้สูญ ถึง 120,000 ล้านบาท

                และไม่ว่าจะเป็นหนี้เสีย หนี้สูญ แค่ 76,000 ล้านบาท หรือ 120,000 ล้านบาท มันก็เป็นหนี้จำนวนมหาศาล และทำให้ฐานะการดำเนินงานตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเจ๊งแล้ว แต่ที่ยังไม่ประกาศการเจ๊งอย่างเป็นทางการก็เพราะอาศัยอำนาจรัฐ อาศัยอำนาจนักการเมืองคุ้มครองป้องกันช่วยเหลือกันอยู่

                หนี้เสีย หนี้สูญ เหล่านี้ชัดเจนเหลือเกินว่าไม่ได้เกิดจากพี่น้องประชาชนคนยากคนจนหรือชนชั้นกลาง แต่เป็นของนักการเมือง ลิ่วล้อบริวารของนักการเมือง ที่ส่งคนเข้ามาเป็นผู้บริหารธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ และปลุกเสกให้ลิ่วล้อบริวารหรือพวกผีโม่แป้งมาขอกู้เงินเอาไปจากธนาคาร โดยมิได้เอาไปดำเนินงานทางธุรกิจแต่ประการใด

                คือกู้แล้วก็ไม่มีการใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จัดเป็นกระบวนท่ากู้แล้วโกงอย่างหนึ่ง คือกู้เงินจากธนาคารของรัฐ แล้วโกงธนาคารของรัฐ ไม่ใช้หนี้ เอาเงินกู้ไปจับจ่ายใช้สอยส่วนตัว นับเป็นการปล้นสะดมโดยคนเสื้อสูทที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่บ้านเมือง

                เป็นวิชาเดียวกันกับการกู้แล้วโกงระดับชาติ คือเอาฐานะของประเทศไปกู้หนี้ยืมสินมาจับจ่ายใช้สอย แล้วฉ้อฉลคอร์รัปชั่นเงินที่กู้มานั้นระหว่าง 30-50% โดยโยนภาระชำระหนี้ให้เป็นของประเทศชาติและประชาชน

                ดังนั้นการกู้แล้วโกงทั้งที่ใช้ในธนาคารรัฐทั้งสองแห่ง และที่ใช้ในวงการเมืองระดับชาติจึงเป็นการปล้นประเทศชาติ ปล้นประชาชนที่ให้อภัยไม่ได้ และเป็นภารกิจของลูกไทยหลานไทยทั้งปวงจะต้องติดตามยึดทรัพย์กลับคืนแผ่นดินให้ได้ในสักวันหนึ่ง

                แม้ว่าการกู้แล้วโกงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเกิดขึ้นในธนาคารของรัฐ แต่มิได้หมายความว่าเมื่อเป็นธนาคารของรัฐแล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบในการกำกับควบคุมตรวจสอบ หรือเมื่อเป็นธนาคารของรัฐแล้วจะสามารถโกงกันได้ตามอำเภอใจ

                ก็ต้องประกาศให้ดังลั่นสนั่นประเทศว่าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบในการดำเนินงานของธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้รวมทั้งแห่งอื่นๆ ด้วย คือหน่วยงานสองหน่วย ได้แก่ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารในธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานของกระทรวงการคลัง

                กล่าวให้ครอบคลุมก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับควบคุมตรวจสอบในการดำเนินงานของธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้และแห่งอื่นๆ ด้วย

                ผู้บริหารของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และทั้งกระทรวงการคลัง จะต้องเปิดเผยแก่ประชาชนว่าใครโกงธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ ผู้บริหารธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้คือใคร มาจากการเสนอแต่งตั้งของใคร

                จะต้องเปิดเผยต่อประชาชนว่าจำนวนเงินทั้งหมดที่กู้ไปเป็นจำนวนเท่าใด และจัดชั้นสำรองหนี้ประเภทต่างๆ แล้วเท่าใด ส่วนที่เหลือมีสภาพที่อาจต้องจัดชั้นสำรองหนี้อีกหรือไม่เท่าใด และการให้กู้เงินเหล่านั้นใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ

                ที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนเชื่อและมั่นใจได้ว่ามีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อที่เกิดความเสียหายเหล่านั้น และจะป้องกันแก้ไขความเสียหายเหล่านั้นได้อย่างไร เช่น

                การเตรียมการมีคำสั่งห้ามผู้บริหารหรืออดีตผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบเดินทางออกนอกประเทศ หรือ

                การอายัดหรือยึดทรัพย์ของผู้บริหารไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการตรวจสอบ หรือ

                การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตรวจสอบตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติการรักษาประโยชน์ของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทันกาล

                เพราะถ้าหากปากพูดว่าควบคุม แต่แท้จริงเป็นเพียงแค่การปิดประตูช่วยโจรแล้วไซร้ คนที่มีอำนาจหน้าที่นั่นแหละที่จะต้องรับผิดชอบในสักวันหนึ่ง


ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น