รัฐระดมแผนรับมือพม่าหยุดจ่ายก๊าซ ทำไฟดับไฟตก “วิฑูรย์” สั่งโรงงานทั่วประเทศลดใช้ไฟ 10% หวังเพิ่มปริมาณสำรองช่วงวิกฤติอีก 1,200 เมกะวัตต์ กฟผ.ถกผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ขอรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประชาชนจากกรณีที่พม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้ไทยในช่วงวันที่ 5-14 เมษายน 2556 เพื่อซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซยานาดาทำให้หลายหน่วยงานต้องเร่งหามาตรการมารองรับป้องกันวิกฤติพลังงานโดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจะประสานงานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกำชับให้โรงงานทั่วประเทศ ที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงให้ได้อย่างน้อย 10% ตามนโยบายรัฐบาล หากโรงงานใดปฏิบัติได้ จะได้รับการพิจารณาจัดลำดับประเภทโรงงานใหม่ โดยประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงาน ซึ่งจะเสนอให้กระทรวงพิจารณาจัดอันดับเกรดภายในเดือนมีนาคมนี้
ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมอยู่ที่ประมาณ 70,000 โรงงาน ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 12,000 เมกะวัตต์ หากโรงงาน 70,000 โรงงานสามารถลดไฟฟ้าได้ 10%ก็จะช่วยให้การสำรองไฟฟ้าในช่วงฮอตสแตนบายเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1,200 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ จะรณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ประหยัดพลังงานมากขึ้น เบื้องต้นจะทำคู่มือ 70,000 ฉบับ ส่งให้ทุกโรงงานเพื่อขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การดับไฟ การลดอัตราเร่งของเครื่องจักร และเปิดให้ร่วมโครงการเปลี่ยนหลอดผอมประหยัดไฟ
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประชุมร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน (ไอพีพี) ปตท. และสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยนายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ทำแบบสอบถามมาตรการใช้ไฟฟ้า ส่งให้กับประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับข้อมูลทั้งหมดในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ซึ่ง กฟผ. จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการประชุมร่วมกับไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. เพื่อกำหนดแผนจัดการไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว
“การหยุดส่งก๊าซดังกล่าวจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าประมาณ 4.1 พันเมกะวัตต์ที่จะหายไปจากระบบการผลิตไฟฟ้า และมีการประมาณการว่าในวันที่ 5 เมษายน จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ ที่จะสามารถจ่ายไปยังประชาชนผู้บริโภคได้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าวันดังกล่าวจะมีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวน 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ และกำลังผลิตมาตรฐานที่ กฟผ.พยายามสำรองไว้ที่ 1.2 พันเมกะวัตต์ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเรายังสามารถที่จะดึงส่วนนี้ขึ้นสำรองใช้ได้”
“ส่วนวันที่ 6-8 เมษายนนั้นเป็นวันหยุดตรงนี้เราไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไรแต่ในวันที่ 10-11 เมษายนต้องดูแลกันพิเศษอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารของกฟผ.ได้มีการสั่งไปแล้วว่าการดำเนินการทั้งหมดประชาชนจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ กฟผ.จะขอความร่วมมือไปยังโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเอกชนให้ดำเนินการผลิต ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนกระแสไฟฟ้าสำรองมากขึ้นมาอีก” นายธนา กล่าว
นายวิวัฒน์ชัย รัตนชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่ากปน.ให้ความสำคัญกับการเตรียมแผนสำรองด้านพลังงาน และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผลิต ส่งและบริการน้ำประปา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิตและสูบจ่ายน้ำประปาไปยังทุกครัวเรือนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจัง ลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“ปัจจุบัน กปน.ผลิตน้ำประปาวันละประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีค่าไฟฟ้าใช้ในระบบผลิต สูบส่งและจ่ายน้ำทั้งสิ้นปีละประมาณ 350 ล้านกิโลวัตต์หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1,087 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าและการใช้น้ำประปา เพื่อร่วมกันใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นายวิวัฒน์ชัย กล่าว
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น