ยังแรงดีไม่มีตกสำหรับประเด็น “การแข็งค่าของเงินบาท” ที่กลายเป็นเรื่องเป็นราวถกเถียงกันไปมาระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับกรณี “จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
โดยเรื่องนี้ฝั่งกระทรวงการคลัง นำโดย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เคยออกมาระบุว่า “ตนเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไป ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงควรพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ โดยการให้ความเห็นในส่วนของตนที่อยู่ในฐานะ รมว.คลังนั้น ไม่มีหน้าที่ตัดสินใจในส่วนนี้ เพื่อให้ช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อ่อนลง”
ขณะที่คู่กรณีอย่าง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการ ธปท. ก็ออกมาชี้แจงต่อว่า “เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง. หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหาและจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินประคับประคองเศรษฐกิจเพื่อให้ยังสามารถขยายตัวได้ต่อไปนั้น ดอกเบี้ยก็ควรจะสะท้อนเศรษฐกิจไทยมากกว่าจะไปสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้สินเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ ธปท.กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย”
จากเหตุการณ์ดังกล่าวร้อนรนถึง “ขุนคลัง” เล่นเอานั่งไม่ติดเก้าอี้ ถึงขั้นออกมาระบายผ่านสื่อว่า “ตนรู้สึกไม่พอใจภาพรวมการดูแลและการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นว่าควรจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งมีข้อเสียอยู่มาก แม้ว่าจะมีข้อดีอยู่บ้างก็ตาม
“ที่ผ่านมาผมพูดเสมอว่าประเทศไทยควรจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะมันอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งสิ่งที่ผมพูดก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้ และหากผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ทั้งคณะเห็นว่าควรจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม ก็ควรจะดำเนินการตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้รับผิดชอบควรจะรับฟังเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา” นายกิตติรัตน์กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ถัดมาไม่กี่วัน “กิตติรัตน์” ยังคงแผลงฤทธิ์ไม่หยุด ด้วยการเดินหน้าร่อนหนังสือถึง ธปท. ผ่าน “วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานบอร์ด ธปท. ซึ่งเป้าประสงค์ก็คือเพื่อให้ “วีรพงษ์” และบอร์ดทุกคนได้ร่วมกันพิจารณาถึงอำนาจและความรับผิดชอบของ ธปท.ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ “กิตติรัตน์” และ “วีรพงษ์” ได้เคยผนึกกำลังกันเสนอแนะให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% เพื่อให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศแคบลง และลดกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาของเรื่องนี้คือ “เงินบาทแข็งค่า”
“ธปท.ก็ยังมองข้ามข้อเสนอดังกล่าว เพราะผู้บริหารก็ยังคงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตลอดว่าจะพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก สำหรับการกำหนดทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ”
พร้อมทั้งยังยืนยันอีกว่า การกระทำดังกล่าวทั้งหมดไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แต่เป็นการพูดในฐานะ รมว.การคลัง ซึ่งมีสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการแสดงความเป็นห่วงด้วยความ “บริสุทธิ์ใจ” และยืนยันอีกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้หมายว่าต้องมีการปลด “ผู้ว่าฯ ธปท.” แต่อย่างใด
ขณะที่ “วีรพงษ์” เองก็ออกมาสับเละ ธปท. ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงเกินไปว่า “การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงเช่นนี้ ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก และส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ด้วย โดยนอกจากเงินจะแข็งค่าแรง ยังเป็นผลทำให้ ธปท.ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อลดการแข็งค่า ด้วยการออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลทำให้ ธปท.ต้องแบกรับผลขาดทุนจากการดำเนินการดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพันธบัตรที่ออกมานั้นมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย
คำถามคือ “ธปท.” ยังจำเป็นต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่? และยังมีหลายฝ่ายที่ยังสงสัยในเรื่องนี้ว่า หากดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทิศทางอัตราเงินเฟ้อของประเทศจะเป็นอย่างไร
เชื่อว่าทุกฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์ “การแข็งค่าของเงินบาท” เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกที่เคยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมาแล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย ก็อาจต้องมาบาดเจ็บจากสถานการณ์ค่าเงินอีกครั้ง รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธปท.จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปแบบห้ามคลาดสายตาถึงแนวทางในการแก้ปัญหา “การแข็งค่าของเงินบาท” ที่แม้ว่าในปัจจุบันก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ หรือจะเลยเถิดไปถึงจำเป็นต้องมีการ “ปลดผู้ว่าฯ ธปท.” หรือไม่ หากไม่มีการสนองนโยบายรัฐบาล!!!.
ที่มา.ไทยโพสต์
***************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น