ถ้ารับราชการ อาจจะหวัง หรือพอจะคาดเดาได้ว่าหากไม่ไปสะดุดตาปลาใคร หรือไม่มีใครเหาะข้ามหัว โอกาสที่จะได้เป็นระดับ 11 เป็นระดับปลัดกระทรวงที่ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำ
แต่บนถนนการเมืองแล้วไม่ใช่เลย คนบางคนเวียนว่ายอยู่ในถนนการเมืองมาชั่วชีวิต แต่ไปไม่ถึงไหน บางคนกว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโน ในขณะที่บางคนเพิ่งลงสนามการเมืองเพียงไม่ถึงปี กลับได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว
นี่คือถนนการเมือง นี่คือ สีสันการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองแบบไทย
วันนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หลายสมัยหลายรัฐบาล แถมยังผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้งหลายเก้าอี้ ได้ถึงแก่กรรมลงไปด้วยอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีมนุษย์คนใดหนีพ้น แต่เป็นการปิดฉากชีวิต ที่คงเหลือไว้ซึ่ง “ตำนานการเมือง” ที่เชื่อว่ายากจะมีใครลบสถิติได้
พล.ต.สนั่น เป็นกบฎยังเติร์ก รุ่นแรก ที่สังเวยความกล้าหาญทางการเมืองด้วยการถูกจำคุก
พล.ต.สนั่น เป็นผู้ที่ได้รับฉายา “ผู้จัดการรัฐบาล” เป็นคนแรกในแวดวงการเมืองไทย จากปฏิบัติการ “งูเห่า” สะท้านสภา
พล.ต.สนั่น เป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกจำคุกทางการเมือง 5 ปี ด้วยการเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง
พล.ต.สนั่น เป็นนักการเมืองคนแรกที่ออกมาเสนอตัวทำภารกิจปรองดอง เพราะห่วงใยสถานการณ์หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 แล้วเรื่องไม่จบ จนบ้านเมืองแบ่งแยกแตกขั้วอย่างรุนแรง
ไม่ธรรมดาเลยสำหรับนักการเมืองคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิตและผลงานเช่นนี้
ในแง่ของตำแหน่งทางการเมือง พล.ต.สนั่น เป็นรองนายกฯ มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ
เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ชื่อของ พล.ต.สนั่น ปรากฏเข้ามาในแวดวงการเมือง เมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ที่มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จาก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ แต่ไม่สำเร็จ พล.ต.สนั่น ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็น พันโท ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏด้วย
ภายหลัง เมื่อถูกจับ ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตร่วมกับผู้ก่อการคนอื่น ๆ แต่ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน
ซึ่งเชื่อกันว่าเรื่องนี้เองที่ทำให้ พล.ต.สนั่น เป็นคนแรกที่ออกมาพูดเรื่องการปรองดอง
เพราะหากกรณีกบฐ 26 มีนาคม 2520 มีการเล่นกันแรงเล่นกันไม่เลิกเหมือนกรณีรัฐประหาร 19 กันยา 49 ก็ไม่รู้ว่า เสธงหนั่น จะต้องติดคุกกี่ปีกันแน่
ผลจากการติดคุกเพราะเหตุทางการเมือง ทำให้ไม่เพียงได้รู้จักสนิทสนมกับ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร แล้ว ยังทำให้ เสธ.หนั่น ได้ตัดสินใจเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองในเวลาต่อมาด้วย
และทำให้มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในตำนานการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเดินเกมที่แหลมทางการเมืองที่แม้แต่ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้วายชนม์ ซึ่งก็เป็นอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ยังนึกไม่ถึง และพลาดท่าทางการเมืองมาแล้ว
จากกรณี กบฏงูเห่า อันโด่งดัง
ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี พ.ศ. 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากการลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ขณะนั้นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม ตกลงจะสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
แต่ทางพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีจำนวน ส.ส. น้อยกว่าพรรคความหวังใหม่เพียง 2 เสียง ก็มีความพยายามที่จะช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้จัดแถลงข่าว ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ชั้นล่างของทำเนียบรัฐบาล แต่ในเวลาเดียวกัน พล.ต.สนั่น ในฐานะ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปิดแถลงข่าว เรื่องการตั้งรัฐบาลด้วย โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจสังคมของ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่ย้ายฟากมาแบบกะทันหัน
ที่สำคัญมีตัวแปรพิเศษคือ ส.ส. พรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม และ นายฉลอง เรี่ยวแรง ที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคประชากรไทย คือ นายสมัคร ไม่ทราบมาก่อนและยังสนับสนุนฝ่าย พล.อ.ชาติชาย ทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นเสียงทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า และทำให้นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในที่สุด
หลังเหตุการณ์ นายสมัคร ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” เนื่องจาก ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา ซึ่งเดิมสังกัดพรรคสามัคคีธรรม แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่มีพรรคใดรับเข้าสังกัด สุดท้ายพรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค อ้าแขนรับให้เข้าพรรค แต่กลับมาเนรคุณเหมือนงูเห่าในนิทานนั่นเอง
การรวบรวมเสียง ส.ส. จนสามารถสนับสนุน นายชวน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ได้สำเร็จครั้งนี้ ทำให้ พล.ต.สนั่น ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะผู้มีเหลี่ยมคูทางการเมือง และเป็นกรณีศึกษาหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
และถูกเรียกขานเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”เป็นคนแรกของเมืองไทย
เพราะความเหนือชั้นในเกมการเมือง ทำให้ พล.ต.สนั่น หนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเป้าหมายทางการเมืงอด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากนั้นไม่นานนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ ได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรีสนั่น ว่า พลตรีสนั่น แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยระบุว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมจริง
แล้วก็เป็น นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชนในขณะนั้น ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนคดีเข้าสู่ กระบวนการทางกฎหมาย สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ว่า พล.ต.สนั่น มีความผิด ฐานจงใจแสดง บัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295
จึงพิพากษาให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี!!!
ผลจากการถูกดำเนินคดีทางการเมือง พล.ต.สนั่น ต้องลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นมายาวนานถึง 13 ปี
เมื่อพ้นโทษแบนทางการเมือง พล.ต.สนั่น ไม่ได้กลับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไปก่อตั้ง พรรคมหาชน ขึ้น โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 และต่อมา พล.ต.สนั่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.สนั่น พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย และสมาชิกพรรคมหาชน ได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของพรรคการเมืองขนาดเล็ก จึงปิดฉากพรรคมหาชนไป
พล.ต.สนั่น กลับมามีบารมีทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร และรัฐบาลนายสมชาย และรัฐบาลนายอภิสิทธ์
และเป็น พล.ต.สนั่น นี่เอง ที่ได้จุดประกายความคิดเรื่องการปรองดองทางการเมืองขึ้นมาเป็นคนแรก และพยายามที่จะสานภารกิจ แต่เพราะการแบ่งแยกแตกขั้วที่รุนแรง แถมยังมีการมุ่งทำลายล้างกันในทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงทำให้ พล.ต.สนั่น เองก็ยังบอบช้ำจากสถานการณ์ไปด้วย
ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยขอยุติการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยังคงพร้อมที่จะช่วยงานในส่วนของพรรค และงานการเมืองของประเทศต่อไป
ว่ากันว่าส่วนหนึ่งแม้จะเป็นเพราะปัญหาสุขภาพที่ เสธ.หนั่น จะต้องดูแลเพิ่มมากขึ้นแล้ว เรื่องบรรยากาศทำลายล้างกันทางการเมืองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.สนั่น ตัดสินใจล้างมือในอ่างทองคำ
แต่ก็ได้มีการาง ทายาททางการเมืองเอาไว้ นั่นคือ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ ลูกยอด ให้เข้ารับช่วงงานทางการเมืองสืบไป
วันนี้ พล.ต.สนั่น ปิดฉากชีวิตมังกรการเมืองไปสู่สุคติ โดยวิญญาณไปสู่สัมปรายภพแล้ว แต่สำหรับการเมืองไทย วิญญาณแห่งการปรองดองยังไม่รู้เลยว่าลอยล่องอยู่ตรงจุดไหน และสุดท้ายจะจบลงเช่นไร
ก็ได้แต่หวังว่าวิญญาณของเสธ.หนั่น จะช่วยให้การสานต่อภารกิจปรองดองเพื่อประเทศชาติ บรรลุความสำเร็จได้ในที่สุด
ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น