การทำงานแบบติ๊ดชึ่งหวานเย็นซื้อเวลาไปเรื่อยของรัฐบาล กำลังสร้างรอยแตกแยกเล็กๆให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนเสื้อแดงที่เริ่มแสดงเฉดสีความแดงของตัวเองให้เด่นชัดออกมาเรื่อยๆ
ใครแดงเพื่อทักษิณ แดงเพื่อไทย แดงเพื่อประชาธิปไตย แดงก้าวหน้า แดงสยามแดงเสรี ฯลฯ เริ่มแบ่งแยกได้ชัดเจน
จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับมรดกเผด็จการรัฐประหารที่จนถึงวันนี้ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่ แก้เมื่อไร แก้เรื่องใดบ้าง แก้ด้วยวิธีการใด
มาถึงความไม่ชัดเจนในการนิรโทษกรรมเพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร หากทำจะทำแนวทางไหน และทำเมื่อไร
บวกกับแรงเสี้ยมจากฝ่ายตรงข้ามที่พยายามตอกย้ำให้เกิดความแตกแยกขึ้นทุกวัน กับวาทกรรมสงสารคนเสื้อแดงที่ถูกหลอกใช้เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ
ยิ่งนานวันวาทกรรมนี้ยิ่งเริ่มกินใจคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งที่เริ่มหงุดหงิดกับความล่าช้าของรัฐบาล จนคิดไปว่าไม่มีความจริงใจ
จนเกิดปรากฏการณ์คนกันเองนัดชุมนุมกดดันรัฐบาลเพื่อให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อไม่นานมานี้ และเริ่มมีวาทะที่แรงๆใส่กันของคนเสื้อแดงด้วยกันเอง
“ผมยังมองเขาเป็นเพื่อน แต่ต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้ถูก มีความเห็นอะไรที่แตกต่าง อย่าเอากระสุนมายิงพวกเดียวกัน เอาปืนมายิงผมตาย แบบนี้เป็นมิตรหรือไม่ เอาหอกเอาดาบมาฟัน เป็นมิตรหรือเปล่า
บางคนอาจสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นแกนนำ แล้วถีบเสื้อแดงเฉยเลย อย่างนี้เป็นแกนนำหรือเปล่า มิตรทั้งหลายถ้าคุณไม่พอใจมิตรด้วยกัน อย่าเอาปืนยิงมิตร ไอ้พวกนี้เป็นเสื้อแดงด้วยกันจะมายิงกันเอง”
เป็นคำพูดจากปากของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำเสื้อแดงในส่วนของ นปช. ที่ปล่อยของใส่แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้เร่งนิรโทษกรรม
ขณะที่นางดารุณี กฤตบุญญาลัย หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงที่ปลีกตัวมาทำกิจกรรมร่วมกับแนวร่วม 29 มกราฯ ก็ออกมาตอบโต้รุนแรงว่า
“คนเสื้อแดงไม่ใช่ควาย ที่จะมาถีบหรือสนตะพายได้ และคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่สมบัติของใคร การคิดว่าอีกกลุ่มจะมาแย่งเป็นแกนนำนั้น เห็นว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาจะพิสูจน์คน ซึ่งคนเสื้อแดงอาจคิดและต่อสู้เคลื่อนไหวแตกต่างกันได้ แต่อย่าประณามกันเองให้แตกแยก หรือมองว่าตัวเองถูกหมด คนอื่นผิดที่คิดต่าง แค่คิดแบบนี้ก็ผิดหลักประชาธิปไตย”
แม้ทั้ง 2 คนจะพยายามรักษาไมตรีว่าอย่าประณามกันเองให้แตกแยก แต่ความแตกแยกได้เกิดขึ้นแล้วในกลุ่มคนเสื้อแดง
และในไม่นานจากนี้ความสัมพันธ์ในหมู่คนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะยังเดินร่วมทางกันต่อไปได้หรือไม่
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝีมือในการบริหารความขัดแย้งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม 3 แนวทางที่ส่งให้พิจารณาเสร็จ คือออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นรัฐบาลต้องมีคำตอบ
ส่วนจะให้คำตอบอย่างไรรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบถี่ถ้วน เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็จะมีอาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองตามมาแน่นอน
ยิ่งหากเลือกซื้อเวลาไม่ให้คำตอบเหมือนการแก้รัฐธรรมนูญจะยิ่งมีปัญหา
ความรู้สึกของคนเสื้อแดงบางส่วนที่มีต่อรัฐบาลอาจเตลิดไปไกลเกินกว่าจะเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม
คนเสื้อแดงจะแตกหรือไม่ขึ้นอยู่กับชั้นเชิงการบริหารความขัดแย้งของนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าจะให้คำตอบแบบไหนหลังการศึกษาข้อกฎหมายของกฤษฎีกา
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น