--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ฟองสบู่ทางการเงิน !!?


ที่ผ่านมาได้เล่าถึงเหตุการณ์ The Dutch Tulip Bulb Bubble (17th) ที่เนเธอร์แลนด์, The South Sea Bubble (18th) ในอังกฤษ และ The John Law’sMississippi Bubble (18th) ของฝรั่งเศส ตามลำดับ สำหรับตอนนี้ ขอพามาดูฟองสบู่ทางการเงินที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงต้น 20th กันบ้าง

ในช่วงเวลานี้ ความถี่ในการเกิดฟองสบู่ทางการเงินเริ่มมีมากขึ้น โดยเกิดขึ้นประมาณทุกสิบปี (1816, 1826, 1837,1847, 1857, 1866) หลังจากนั้นความถี่ในการเกิดก็เปลี่ยนไปเล็กน้อยเป็นประมาณสิบกว่าปีและน้อยกว่า (1873, 1907, 1921 และ 1929) โดยรูปแบบยังคงเป็นวงจรที่เหมือนเดิม คือ “Manias, Panics and Crashes”

ในศตวรรษที่ 19 ฟองสบู่ทางการเงินมักยังคงเกิดขึ้นในยุโรปอยู่ โดยเฉพาะอังกฤษ ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรปในเวลานั้น ลองดูตัวอย่างอีกบางเหตุการณ์ เช่น Bubble 1826 กับ Bubble 1873

ระหว่างปี 1808-1826 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ทยอยได้รับเอกราชเกือบทั้งหมด ดังนั้นการลงทุนในรูปแบบต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าไปในดินแดนลาตินอเมริกา ซึ่งหลายๆประเทศกำลังถูกจัดให้เป็นประเทศตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่(emerging market) ในสายตานักลงทุน ธนาคารในอังกฤษจำนวนมาก ด้วยการอนุญาตจากธนาคารกลางอังกฤษ(Bank of England) ต่างพากันแห่ปล่อยเงินกู้ให้นักลงทุนเพื่อไปลงทุนในดินแดนดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้น ก็กำลังต้องการออกพันธบัตร(bond) นำมาขายให้นักลงทุน เพื่อเอาเงินไปพัฒนาประเทศ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคอะไรต่างๆ

และแน่นอนการเก็งกำไรในการซื้อขายพันธบัตรก็เกิดขึ้นตามมา พร้อมกับพานักลงทุนประเทศอื่นๆ ในยุโรปเข้ามาร่วมในความร่าเริงเบิกบาน(euphoria) กับการเก็งกำไรครั้งนี้ด้วย นักลงทุนซื้อขายพันธบัตรกันอย่างบ้าคลั่ง หน้ามืดตามัว

จุดพลิกผันของฟองสบู่ 1826 เกิดขึ้นเมื่อมีการนำพันธบัตรของประเทศที่ไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ออกมาขายให้กับนักลงทุน ประเทศที่ว่านั้นชื่อ “Republic of Poyais”

พันธบัตรของ Poyais ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกอุปโลกน์(สมมุติ)ขึ้น ถูกนำออกมาหลอกขายให้นักลงทุนที่หน้ามืดตามัวกับการเก็งกำไรจนหุนหันพลันแล่นไม่ไตร่ตรอง ประกอบกับในเวลานั้น ปี 1826 (พ.ศ. 2369 : ช่วงรัชกาลที่ 3) ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไปของโลกน้อยมากว่า ประเทศอะไร เป็นประเทศอะไร อยู่ตรงไหนหรือส่วนไหนของโลกใบนี้

และนั้นคือจุดจบของฟองสบู่ปี 1826 เมื่อเกิดความตระหนก (Panic) ในหมู่นักลงทุนด้วยความกลัวว่าพันธบัตรรัฐบาลที่ตนถืออยู่จะเป็นพันธบัตรแบบประเทศ Poyais หรือไม่...จึงต่างถอนทุนออกจากลาตินอเมริกากันหมด ตลาดซื้อพันธบัตรในกลุ่มประเทศเหล่านี้พังทลาย(Crash) สถาบันการเงินในอังกฤษหลายแห่งล้มละลายและธนาคารกลางอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ทำให้วิกฤติลามไปทั่วยุโรป ระบบเครดิตหยุดนิ่งเพราะไม่มีใครเชื่อใจใคร แต่ละประเทศกลับมาทำการซื้อขายกันแบบแลกเปลี่ยนสินค้า (a state of barter)

ในปี 1828 เกือบทุกประเทศในลาตินอเมริกาต้องประกาศพักชำระหนี้ ยกเว้น บราซิล ซึ่งต้องใช้เวลาอีกกว่าหลายสิบปี เงินลงทุนจากต่างชาติจึงไหลกลับมายังภูมิภาคนี้ใหม่อีกรอบ.......

สำหรับ Bubble 1873 ก็เป็นอีกหนึ่งฟองสบู่ที่ทำให้การเงินโลกต้องสั่นสะเทือนกันอีกครั้ง แต่คราวนี้เงินลงทุนจากยุโรปไหลไปทางทวีปอเมริกาเหนือแทน โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา

ศตวรรษที่ 19 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งร้อยปีแห่งการสยายปีกด้านอุตสาหกรรมในดินแดนนกอินทรีอย่างสหรัฐ เพื่อกลายมาเป็นพญาอินทรีในศตวรรษที่ 20 ในยุคนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงกระทุ้งโลกถือกำเนิดขึ้นมาในดินแดนแห่งนี้ โดยแต่ละคนสามารถถีบตัวเองจากศูนย์หรือคนธรรมดากลายเป็นหนึ่งในสิบบุคคลร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐได้ภายในระยะเวลา ชั่วชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะเป็น....

Cornelius Vanderbilt (1794-1877) : เด็กน้อยจากนิวยอร์ก ที่ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 11 ขวบ พออายุ 16 เริ่มทำธุรกิจตัวเองโดยเปิดบริการเรือข้ามฟากระหว่าง Staten Island กับ Manhattan หลังจากนั้นก็พัฒนาจากเฉพาะขนส่งคนก็มาเป็นสินค้าด้วย....และต่อมา...ต่อมา....จนกลายเป็นเจ้าของกิจการการสร้างทางรถไฟและการขนส่งสินค้าเกือบทั่วประเทศสหรัฐ และธุรกิจการก่อสร้างทางรถไฟของ Vanderbilt ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กหนุ่มผู้ยากจนจากสกอตแลนด์ ที่ครอบครัวพากันอพยพมาแสวงหาโอกาส ตามหาความฝันและชีวิตใหม่ที่ดินแดนอเมริกา ไอ้หนุ่มคนนั้นก็คือ....

Andrew Carnegie (1835-1919) : ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในยุคกิจการก่อสร้างทางรถไฟของ Venderbilt กำลังขยายตัวเชื่อมโยงไปทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกิจการของVenderbilt จะไปไหนเลยไม่ได้ ถ้าไม่มีเหล็กกล้าจากบริษัท Carnegie Steel ของไอ้หนุ่มชาวสกอตแลนด์ ผู้อพยพตามพ่อแม่มาที่สหรัฐตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี

และก็เป็นไปตามสูตรซึ่งฟังดูเหมือนง่าย แต่มีเพียงคนจำนวนน้อยมากๆ เท่านั้นที่จะทำได้ Carnegie ก็รับจ้างทำงานโน่นงานนี่ไปเรื่อย พอเก็บหอมรอมริบเงินได้จำนวนหนึ่ง ก็เอาไปลงทุนตลาดหุ้น หลังจากนั้นก็เปิดบริษัทรับเหมาซ่อมแซมงานก่อสร้างที่เสียหายจากสงครามกลางเมือง(Civil War) ของสหรัฐที่สิ้นสุดในปี 1865 หรือที่เรียกว่ายุค “Reconstruction Era”(ช่วงเวลาแห่งการซ่อมแซมบูรณะ) ซึ่งกิจการของ Carnegie เป็นไปได้ด้วยดี แต่พอทำได้สักพักก็เริ่มมีปัญหาว่า เหล็กที่ใช้ในกิจการอาจจะไม่พอ Carnegie เลยจัดการหาซื้อโรงเหล็กเพื่อเป็นเจ้าของเสียเอง หลังจากนั้นก็กลายเป็นบริษัท Carnegie Steel ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของโลกในยุคนั้น

ลืมบอกไปว่าตอนที่ Carnegie เอาเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นตอนนั้น กิจการที่กำลังเติบโตอย่างมากในตลาดหุ้นก็คือ กิจการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างราง หัวรถจักรรถตู้โดยสาร ตู้ขนส่ง ซึ่งตอนนี้เราก็คงพอมองออกแล้วว่า...ฟองสบู่ในปี 1873 นั้นมาจากการเก็งกำไรในกิจการที่เกี่ยวกับรถไฟในสหรัฐของนักลงทุนชาวยุโรป และนอกจากกิจการรถไฟแล้ว... น้ำมัน..ก็เป็นอีกกิจการที่กำลังเติบโตในช่วงเวลาเดียวกัน และนั้นทำให้เจ้าพ่อใหญ่ในธุรกิจน้ำมันปรากฏโฉมขึ้นมาบนพื้นพิภพ

John D. Rockefeller(1839-1937) : เจ้าของอาณาจักร Standard Oil บริษัทที่ผูกขาดการค้าน้ำมันของสหรัฐ ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีการค้าขายรูปแบบไหนที่ประสบความสำเร็จ(รวย) เร็วเท่าการค้าแบบผูกขาด.....

แวนเดอร์บิลท์ : ผูกขาดการสร้างรางรถไฟ

คาร์เนกี : ผูกขาดการผลิตเหล็กกล้า

ร็อกกีเฟลเลอร์ : ผูกขาดการค้าน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐก็พยายามต่อสู้เรื่องการค้าที่ผูกขาดอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนกัน เช่น ในปี 1911 ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court) ก็มีคำสั่งให้แยกการผูกขาดบริษัท Standard Oil ของ Rockefeller ออกเป็นส่วนๆ เช่น

Standard Oil of New York ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็น Mobil ในปัจจุบัน

Standard Oil of California ต่อมาคือ Chevron

Standard Oil of Indiana คือ Amoco

Standard Oil of New Jersey คือ Exxon

นอกจากนี้ การถูกเพ่งเล็งในธุรกิจผูกขาดจากสาธารณชนทำให้อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ซึ่งเป็นคนที่ไม่เคยลืมกำพืดตัวเอง ต่างพากันบริจาคเงินสู่สาธารณะต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะการสร้างมหาวิทยาลัย Rockefeller ให้เงิน 80 ล้านดอลลาร์ กับวิทยาลัยแบ็บติส (Baptist College) เล็กๆ แห่งหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) อันโด่งดัง

Carnegie ให้เงินทุนตั้งต้น 2 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันคือ Carnegie Mellon University อยู่ที่เมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากในภาควิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี

Vanderbilt สร้าง Vanderbilt University ที่เมือง Nashville รัฐ Tennessee มหาวิทยาลัยที่มีภาควิชาการแพทย์ที่ทันสมัยมากในปัจจุบัน ก็เพราะในเวลานั้นคนงานของเขาที่ทำงานก่อสร้างทางรถไฟทั่วสหรัฐต้องเผชิญกับความป่วยไข้อะไรต่างๆ นานา สารพัดโรคที่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีสาเหตุอะไรตลอดระยะเวลาในการก่อสร้าง Vanderbilt จึงสร้างมหาวิทยาลัยนี้ขึ้นเพื่อศูนย์วิจัยทางการแพทย์ที่ทำการวิจัยและรักษาโรคต่างๆ ให้กับคนงานของเขา

โดย.ธิติ สุวรรณทัต (นสพ.แนวหน้า)
///////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น