นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังได้รับหนังสือจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับฐานะการเงินของธปท.ที่มีผลขาดทุนจำนวนมาก โดยส่วนตัวก็ได้นำหนังสือดังกล่าวเข้าหารือกับคณะกรรมการธปท.ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับขอให้ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี เลขานุการคณะกรรมการธปท. ร่างหนังสือตอบกลับไปยัง นายกิตติรัตน์ ว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการธปท.ชุดนี้ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง
"ผมให้เลขานุการบอร์ดทำหนังสือตอบกลับไปอยู่ ซึ่งคงต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ผมและบอร์ดทุกคนถูกคาดโทษเอาไว้ คาดว่าหนังสือฉบับนี้คงจะถูกส่งกลับไปยัง รมว.คลัง ภายในสัปดาห์นี้"นายวีรพงษ์กล่าว
สำหรับหนังสือที่ขอให้เลขานุการคณะกรรมการธปท.ร่างขึ้นมานั้น เป็นการอธิบายว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง เพราะตั้งแต่เดือนมิ.ย.55 คณะกรรมการธปท.ชุดนี้ ได้แสดงความห่วงใยถึงผลขาดทุนของธปท. ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการกำหนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับที่สูง เป็นเหตุให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
เขากล่าวว่า เมื่อเงินทุนเหล่านี้ไหลเข้ามา เพื่อกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.75% จึงมีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ธปท.ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อลดการแข็งค่า และหลังการเข้าแทรกแซง ธปท.ก็ต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องที่เกิดจากการแทรกแซงนั้น โดยพันธบัตรที่ธปท.ออกมีอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เงินดอลลาร์ซึ่งธปท.ซื้อมา ก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก จึงเกิดเป็นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายขึ้นมา
"ปัจจุบันแบงก์ชาติมียอดคงค้างของการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องรวมแล้วกว่า 4.6 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3% ลองคิดดูว่าแบงก์ชาติจะต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละเท่าไร และงบดุล ล่าสุด ณ สิ้นธ.ค.55 แบงก์ชาติก็มียอดขาดทุนรวมแล้วกว่า 5.3 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 4 แสนล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว ถ้าไม่รีบแก้ไข การขาดทุนคงจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ"นายวีรพงษ์กล่าว
สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการธปท.ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนตรงนี้ คือ การขยายประเภทสินทรัพย์ที่ให้ ธปท. สามารถนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนเพิ่มได้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น เพียงแต่แก้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ด้วย
"บอร์ดธปท.คงไม่มีอำนาจไปสั่งการให้ บอร์ดกนง. ลดดอกเบี้ยลงได้ เพียงแต่อยากฝากให้เห็นถึงประเด็นความเป็นห่วงตรงนี้ เพราะบอร์ดธปท.เองคงทำอะไรมากไม่ได้ ซึ่งในบอร์ดธปท.ก็มี ผู้ว่าการแบงก์ชาติ(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล) นั่งเป็นรองประธานอยู่ และตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ มีฐานะเป็นประธานในบอร์ด กนง. ด้วย เพียงแต่ท่านอาจมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ยืนยันว่าเรื่องนี้ผมแจ้งให้บอร์ดทราบตั้งแต่เดือนมิ.ย.55แล้ว"นายวีรพงษ์กล่าว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น