วันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ.นี้ จะมีงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำนิวซีแลนด์ สหพันธ์สาธาณรัฐเยอรมนี ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ เป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ก็ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอก ด้านกฎหมายและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ เริ่มรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2483 เรื่อยมาจนได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการเมืองตะวันตก กรมสหประชาชาติ กรมองค์การระหว่างประเทศ และเป็นเอกอัครราชทูตในอีกหลายประเทศ ดังที่กล่าวมา ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2519
เดือนสิงหาคม 2525 ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในตอนหนึ่งของบทสนทนา ได้มีการพูดคุยกันในเรื่อง “ขบวนการเสรีไทย” ท่านอาจารย์ปรีดีปรารภว่า อยากจะให้อาจารย์กนต์ธีร์เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเสรีไทย ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทย เพราะถึงแม้ในเวลานั้นจะมีผู้เขียนเรื่องเสรีไทยกันมากมาย ทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ก็ยังเขียนผิดๆ ถูกๆไม่ทราบเหตุการณ์ที่แท้จริง ได้แต่ฟังคำบอกเล่าสืบต่อกันมา
อาจารย์กนต์ธีร์จึงเสนอว่า ผู้ที่ควรเขียนเรื่องเสรีที่สุด ก็คือตัวท่านอาจารย์ปรีดีเอง เพราะเป็นผู้เดียวที่ทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวอาจารย์กนต์ธีร์เองนั้นเพียงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเพียงด้านหนึ่ง เป็นด้านเล็กๆ เท่านั้น แต่ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นศูนย์กลางของขบวนการ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านท่าน เพราะฉะนั้นท่านจึงอยู่ในฐานะที่จะเขียนได้ดีที่สุด ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีก็บอกว่า ตัวท่านเองก็เขียนไว้บ้างแล้ว แต่อยากจะให้คนอื่นช่วยเขียนบ้าง ซึ่งท่านยินดีจะช่วยตรวจแก้ให้และเพิ่มเติมเสริมแต่งให้บ้าง
อาจารย์กนต์ธีร์ก็ยอมรับว่า โดยส่วนตัวก็มีความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน โดยกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ และความจริงก็ได้เริ่มเขียนไปบ้างแล้ว คิดว่าจะให้เสร็จทันพิมพ์แจกงานศพของตัวท่านเอง เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์ปรีดีก็บอกว่า รอนานขนาดนั้นไม่ได้ ควรจะรีบเขียนให้เสร็จเสียตอนนี้ซึ่งท่านยังอยู่ ท่านจะได้ช่วยตรวจแก้และต่อเติมให้ตามที่จำเป็น ถ้าท่านพ้นไปเสียแล้ว ใครจะช่วยข้าพเจ้าได้
ภายหลังรับปากกับท่านอาจารย์ปรีดีและเริ่มลงมือเขียน แทนที่จะเขียนเฉพาะเรื่องเสรีไทยอย่างเดียว อาจารย์กนต์ธีร์ก็ขยายขอบเขตการเขียนออกไปเป็น เรื่องวิเทโศบายของประเทศไทยระหว่างปี 2483 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์กนต์ธีร์เริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ถึงปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่ถูกส่งออกไปรับราชการในต่างประเทศในฐานะอัครราชทูตไทยประจำออสเตรเลีย ในช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่มีการผันแปรในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
พอเขียนไปได้ 22 บท ยังไม่จบดี อาจารย์กนต์ธีร์ก็ได้นำต้นฉบับไปมอบให้อาจารย์ปรีดีที่กรุงปารีส ขอให้ท่านช่วยตรวจสอบ โดยหาได้สังหรณ์ว่า ท่านอาจารย์ปรีดีจะไม่ได้ตรวจสอบตามที่รับปากไว้อย่างมั่นเหมาะ ท่านอาจารย์รับต้นฉบับนี้ไปได้ไม่นาน ก็ถึงอสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงได้นำส่งต้นฉบับคืนกลับมาให้กับอาจารย์กนต์ธีร์ พร้อมกับแจ้งให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ปรีดียังไม่ทันได้มีโอกาสแก้ไขหรือเพิ่มเติมให้เลย อาจารย์กนต์ธีร์จึงได้นำเอาต้นฉบับนั้นมาเขียนต่อจนจบบทที่ 30 แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครับรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาในปี 2527 เป็นหนังสือเรื่อง “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕”
แม้ว่าเหตุการณ์และเรื่องราวในหนังสือดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว แต่สัจธรรม สารัตถะและหลักการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหนังสือเรื่อง “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕” ที่อาจารย์กนต์ธีร์รวบรวมเสนอมาล้วนแล้วเป็นประโยชน์แก่ความรู้ความเข้าใจของคนรุ่นหลังในการแก้ปัญหาการต่างประเทศที่ไทยต้องเผชิญด้วยความยากลำบากยิ่งในสมัยนั้นและยังสามารถนำมาเพื่อปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ ดังเช่น
“........ 1. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักเสมอภาคเท่าเทียมกันมีอยู่แต่ในนาม ในทางความเป็นจริงแล้ว มหาอำนาจมักจะเอาแต่ใจตน ไม่ยอมผ่อนปรนให้ประเทศเล็กเท่าใดนัก ปัญหาจึงมีว่า บรรดาประเทศเล็กอย่างประเทศไทยจะยอมลอยคอตามกระแสน้ำไปนานเท่าใด เมื่อใดจะหยุดเป็นกังหันให้ลมพัดไปทุกทิศทุกทางเสียที ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเลิกกระวีกระวาดเอาใจประเทศนั้น ต่อต้านประเทศนี้ อาศัยประเทศหนึ่ง ให้มาช่วยขัดจังหวะอีกประเทศหนึ่ง เป็นการปัดสวะเฉพาะหน้าให้ล่วงพ้นไปโดยไม่คำนึงถึงอนาคตอันยืนนาน ประเทศเล็กไม่น่าจะคิดทะเยอทะยานฝันหวานว่า สามารถใช้ประเทศใหญ่เป็นเครื่องมือ จะอ้าขาผวาปีกไปถึงไหน ถ้าไม่ระวังให้ดีแล้ว จะตกเป็นเครื่องมือของประเทศใหญ่โดยไม่ทันรู้ตัว หรือรู้ตัวก็สายเสียแล้ว อีกประการหนึ่งเด็กที่เลี้ยงไม่โตสักวัน พี่เลี้ยงย่อมจะอิดหนาระอาใจ ขออย่าได้หลงเชื่อว่า ความช่วยเหลือที่คิดว่าได้เปล่านั้นไม่มีข้อไขผูกพัน
2. การดำเนินวิเทโศบายของไทยก็พยายามเจริญรอยสายกลางเสมอมา ไทยไม่อยากจะเข้าร่วมในการขัดแย้งระหว่างประเทศที่อุบัติขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจ แต่ก็ไม่วายที่เหตุการณ์ภายนอกบังคับให้ต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน รัฐบาลจำต้องออกนอกทางไปบ้าง แล้วก็กระเสือกกระสนหันกลับมาหาสายกลาง แล้วก็มีเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกบังคับให้จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีทางเลือก บางที เห็นได้ชัดว่าวิเทโศบายของไทยเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ครองอำนาจยิ่งกว่าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
3. การเข้าร่วมกับมหาอำนาจนั้นไม่ใช่ของดี บางทีเมื่อต้องพึ่งพาอาศัยเขามาก เขามักจะถือเราเป็น “หมูในอวย” จะต้มยำทำแกงอย่างใดก็ได้ตามใจชอบ ตามใจของเขาไม่ใช่ของเรา เขามิได้ปฏิบัติเช่นนี้กับเราซึ่งเป็นประเทศเล็กอยากได้ความช่วยเหลือจากเขาเท่านั้น แม้แต่กับประเทศใหญ่ ๆ ด้วยกันก็หาได้เคารพหลักเกณฑ์เสมอไปนัก
4. ปัญหาชายแดนของไทยรอบด้านมีอยู่อย่างใดหลายสิบปีมาแล้ว ยังคงมีอยู่อย่างนั้น ฝ่ายเขาสับเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาหลายต่อหลายคณะ เรายืนกรานเผชิญอยู่ผู้เดียว หาทางออกกันไม่ได้สักที ข้อสำคัญอยู่ที่ต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจต่อกันเพียงใด ถ้าเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเอาใจเราไปใส่ใจเขา บางทีจะพอคลี่คลายไปในทางดีได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องอาศัยประเทศภายนอกเข้ามาช่วย เพราะผู้มาช่วยย่อมเพ่งเล็งถึงประโยชน์ของเขาเป็นสำคัญยิ่งกว่าของเรา เมื่อสร้างความเป็นมิตรกับเพื่อนใกล้เรือนเคียงไม่ได้ ไฉนเลยจะทำความเข้ากับผู้อยู่ห่างไกลได้สนิท
5. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูแน่ มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้น.......”
สุดท้ายผู้เขียนขออนุญาตเติมสิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายยิ่งกว่า น่ากลัวกว่า ที่ท่านศาสตราจารย์กนต์ธีร์กล่าวถึง คือ “คนขายชาติ” ครับ
.................................................................
หมายเหตุ : ในบทความสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง “หลักป้องกันความผิดโดยการทักท้วงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการก่อหนี้ผูกพันหรือจ่ายเงินของผู้บังคับบัญชา” ได้มีการพิมพ์ผิดพลาดในข้อความย่อหน้าสุดท้าย ที่เป็นกฎมณเทียรบาล มาตรา ๑๐๖ อันเป็นอมตะสัจธรรมกฎหมายของไทยและของโลก จึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามอักขระต้นฉบับเดิม ดังนี้.....
“อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความประการใดๆ ต้องกฎหมายประเวนีเปนยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน ครั้ง ๑ ๒ ๓ ครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟัง จึ่งให้กระทำตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอายการดั่งนี้ ท่านว่าผู้นั้นเลมีดพระราชอาชา”
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น