--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย 2.75 % ป้องกันครหา !!?


นักวิเคราะห์คาดกนง.ประชุม 20 ก.พ.นี้ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2.75% ป้องกันข้อครหาการเมืองแทรก ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี

สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะคงดอกเบี้ยที่ 2.75% แม้จะมีแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกดดันให้กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า โดยเห็นว่าดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ที่อัดฉีดเงินเข้าระบบและคงดอกเบี้ยต่ำ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางแก้ แต่จะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น นั่นคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ากนง.น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เพื่อป้องกันข้อครหาการเมืองเข้าแทรกแซง ส่วนการประชุมครั้งถัดไปเชื่อว่ามีโอกาสลดลง

"เพราะเสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี ที่สำคัญยังลดไม่ได้ ถ้าลดอาจทำให้เครดิตของกนง.เสีย คนจะหาว่าการเมืองบังคับได้ แต่ครั้งหน้าไม่แน่ เพราะเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ก็เป็นปัจจัยที่ต้องระวัง"นายบันลือศักดิ์กล่าว

นายบันลือศักดิ์กล่าวว่าดอกเบี้ยคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอยู่บ้าง เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยกลุ่มประเทศหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่นถือว่าต่ำมาก เพียงแต่การจะลดให้ได้ผล ต้องลดลงมาก ซึ่งมีความเสี่ยง จึงเห็นว่ากนง.อาจเลือกวิธีผสมผสานกัน ระหว่างลดดอกเบี้ยลงเล็กน้อยพร้อมกับการใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า
@กรุงศรีชี้ดอกเบี้ยไทยต่ำอยู่แล้ว

ด้าน นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเช่นเดียวกันว่ากนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ดอกเบี้ยเราอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว เป็นดอกเบี้ยที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายการคลังก็ทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ด้วย และเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง เป็นการเติบโตที่ใกล้เต็มศักยภาพ จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องไปลด เพราะยิ่งลดจะยิ่งเป็นการไปกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตร้อนแรงเกินไป"นายรุ่งศักดิ์กล่าว

ส่วนปัญหาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายรุ่งศักดิ์กล่าวว่าเวลานี้ดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค แต่เงินทุนต่างประเทศก็ยังคงไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย และหากจะให้ลดดอกเบี้ยลงเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้านั้น ก็คงมีคำถามว่าจะต้องลดอีกเท่าไร เพราะการลดดอกเบี้ยมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ

@ค่าบาทเริ่มทรงตัว-ลดดอกเบี้ยไม่ช่วย

ด้าน นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ มองในทางเดียวกันว่าค่าเงินบาทในช่วงนี้ก็เริ่มทรงตัวมากขึ้น และจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนมากนัก

"ข้อมูลในอดีตชี้ว่า การลดดอกเบี้ยลงช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงแค่ระยะสั้น 1-2 เดือน แต่พอมีเงินไหลเข้ามากขึ้นอีก ก็ทำให้เงินบาทแข็งขึ้น และผมไม่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลเข้า ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจมากกว่า ดูได้จากปี 2555 ที่ดอกเบี้ยเราสูงกว่านี้มาก แต่เงินบาทแข็งค่าเพียง 3% น้อยกว่าประเทศอื่นๆ นั่นเพราะช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราเพิ่งฟื้นจากปัญหาน้ำท่วม นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นได้มากแค่ไหน"นายกำพลกล่าว

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยยังมีต้นทุนในด้านอื่นตามมา เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงเท่ากับว่านโยบายการเงินผ่อนปรนมากขึ้น ยิ่งไปกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การออมลดลง และถ้าการลงทุนไปอยู่ในกิจกรรมที่ไม่ควร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง

@ทหารไทยชี้ศก.ไทยยังไม่จำเป็นกระตุ้น

ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่าปัจจัยเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในยังไม่เห็นประเด็นใดที่ทำให้กนง. ควรต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง

"เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ การขยายตัวของสินเชื่อค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็โตอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เวลานี้ความเสี่ยงต่างๆ เริ่มลดลง ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ"นายเบญจรงค์กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเบญจรงค์เห็นว่าดอกเบี้ยกับเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ตรงกันเหมือนกับทฤษฎี ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้จะลดดอกเบี้ยนโยบายคง ก็คงไม่มีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก

@กสิกรไทยมองลด0.25%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินตรงกันข้าม โดยคาดว่ากนง.เสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แม้ว่า ธปท. จะมองดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าจนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่การประชุม กนง.ใช้หลักการโหวต ซึ่งเชื่อว่ากรรมการเสียงส่วนใหญ่จะเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง เพื่อชะลอปัญหาเงินทุนไหลเข้า

"แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกลดลง โดยเฉพาะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และผู้บริหารแบงก์ชาติจะมองไม่เห็นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลง แต่ในอีกมุมหนึ่งเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความเสี่ยงตรงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงคาดว่าจะมีกรรมการบางท่านเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง และมีแนวโน้มว่าเสียงส่วนใหญ่จะโหวตให้ปรับลด" นายเชาว์กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น