ถึงเทศกาลวาเลนไทน์ คนมักพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับความรัก เซ็กซ์ ปัญหาวัยรุ่น การแต่งงาน รวมถึงการแสดงออกถึงความรักแบบแปลกๆ
วันนี้ จะขออนุญาตนำเสนอประเด็นทั้งหลาย ผ่านมุมมองและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยรวบรวมและสรุปความมาจากเว็บไซต์ “setthasat.com” ซึ่งมักจะนำประเด็นที่น่าสนใจมาอธิบายผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์อย่างแยบคาย มีเสน่ห์ชวนคิด ชวนถกเถียง ชวนเรียนรู้
1) ดอกกุหลาบสำคัญแค่ไหนในการจีบกัน?
ช่วงวาเลนไทน์ ดอกกุหลาบจะแพงเป็นพิเศษมีนักเศรษฐศาสตร์สงสัยว่า การให้ดอกกุหลาบมีความสำคัญแค่ไหนในการจีบกัน? ช่วยให้ฝ่ายชายประสบความสำเร็จมากขึ้นจริงหรือ?
เรื่องนี้ มีการศึกษาในประเทศเกาหลี พบว่า ดอกกุหลาบเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการขอเดทมากขึ้น
โดยเฉพาะหากว่าผู้รับเป็นคนที่มีเสน่ห์ระดับกลางๆ คือ หน้าตาปานกลาง พอไปวัดไปวาได้ ไม่ใช่ประเภทสวยหยาดฟ้าซูเปอร์สตาร์ดาวล้านดวง
สาเหตุสำคัญ คือ ดอกกุหลาบได้กลายเป็นรูปแบบของการส่งสัญญาณถึงความรู้สึกพิเศษของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ
ยิ่งมีอยู่จำกัด ยิ่งหามายาก สัญญาณยิ่งแรงชัด
อันที่จริง ถ้าไม่ใช้ดอกกุหลาบก็อาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ที่สามารถส่งสัญญาณถึงความรู้สึกพิเศษได้
ทำให้ฝ่ายหญิงรับรู้ว่า “เธอเป็นคนพิเศษ” และ “ฉันพยายาม
ทำเพื่อเธอ”
2) ทำไมผู้หญิงสวยมักลงเอยกับผู้ชายไม่หล่อ?
มุมมองทางเศรษฐศาสตร์อธิบาย โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสน่ห์ทางร่างกาย (หน้าตา) กับความพึงพอใจในชีวิตสมรสของคู่แต่งงานใหม่
หล่อไม่หล่อ สวยไม่สวย มันมีผลต่อความสุขในชีวิตสมรสอย่างไร?
ในด้านการปฏิบัติต่อกันของสามีภรรยา ผลการศึกษา พบว่า
ความหล่อของสามี มักจะส่งผลทางลบทั้งต่อการปฏิบัติของตัวสามีเอง เช่น ให้เกียรติภรรยาน้อยลง และส่งผลต่อการปฏิบัติของตัวภรรยา เช่น มักเกิดความหึงหวง หวาดระแวงสามีที่หล่อ
ส่วนความสวยของภรรยานั้น จะส่งผลบวกต่อการปฏิบัติของตัวภรรยา เช่น ให้เกียรติสามี เพราะต้องรักษาภาพพจน์ของตัวเอง และส่งผลบวกต่อการปฏิบัติของตัวสามี เช่น คอยเอาอกเอาใจมากขึ้น เพราะภรรยาสวย
เรื่องนี้ มีคำอธิบายจากสองแนวคิด
(1) แนวคิดทางด้านมานุษยวิทยา อธิบายได้ว่า การมีรูปร่างหน้าตาดีของผู้หญิงนั้นตัวผู้หญิงเองจะถือว่าเป็นทรัพยากร (หรือทรัพย์สิน) และมักใช้ไปเพื่อคัดเลือกคู่ครองที่เหมาะสม ขณะที่การมีรูปร่างหน้าตาดีของผู้ชายนั้น ตัวผู้ชายจะถือว่ามันเป็นอาวุธที่ใช้ในการล่า เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ ดังนั้น เมื่อมีการลงเอยกันแล้ว ผู้หญิงมักถือว่าตนเองได้คู่ครองที่เหมาะสม และสร้างครอบครัวต่อไป แต่ผู้ชายจะยังคงใช้เพื่อการล่า และนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวต่อไป
(2) แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม อธิบายได้ว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความงามมากกว่าผู้ชาย พวกเธอจึงไม่ขาดแคลนทรัพยากรความงาม พวกเธอจึงให้ความสำคัญกับด้านอื่นๆ ที่พวกเธออาจขาดแคลนแทน เช่น ฐานะ ความสามารถ ไหวพริบ หรือแม้แต่มุขตลก (แล้วแต่ว่าใครให้น้ำหนักกับด้านไหน) ขณะที่ผู้ชายให้ความสนใจกับความงามของผู้หญิงก็เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาขาดแคลน
3) ทำไมวัยรุ่นจึงมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากขึ้น?
ในต่างประเทศ เมื่อวัยรุ่นเขามีเพศสัมพันธ์ในวัยละอ่อน ในทางเศรษฐศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ว่า วัยรุ่นตะวันตกอาจจะตอบสนองต่อทางเลือกที่ดีที่สุดที่เขาพึงมี เมื่อพวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่ พวกเขาชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ (Joy of Sex) กับต้นทุนของมัน ซึ่งก็คือโอกาสที่จะตั้งท้องไม่พร้อม มีโรคติดต่อ ฯลฯ เพราะการมีลูกโดยที่ยังไม่พร้อมจะนำมาซึ่งต้นทุนอีกมหาศาลของผู้เป็นแม่ ทั้งลดโอกาสในการได้รับการศึกษาและได้งานที่ดีและยังลดโอกาสที่จะได้พบคู่ครองที่ดีในอนาคตด้วย อีกทั้งก็อาจจะรู้สึกอับอายและเสียชื่อเสียง แต่ปัจจุบัน โอกาสตั้งท้องไม่พร้อมจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรลดลง เนื่องจากการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและถูกนำมาใช้มากขึ้นจริงๆ ความเสี่ยงจึงลดลง วัยรุ่นตะวันตกจึงแสวงหาความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ และมีพฤติกรรมลดต้นทุนด้วยการคุมกำเนิด ใช้ถุงยางอนามัย ฯลฯ
แต่สำหรับประเทศไทยของเรา แตกต่าง
ออกไป
เพราะวัยรุ่นของเรามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากขึ้น แต่อัตราการติดเอดส์ก็ดี การตั้งท้องไม่พร้อมก็ดี ก็เพิ่มขึ้นตาม
ไปด้วย สะท้อนอะไร...
สะท้อนว่า วัยรุ่นไทยให้ความสนใจเฉพาะความสุขที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ (Joy of Sex) เท่านั้น โดยในส่วนของต้นทุนจากการ
มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรไม่ค่อยจะได้คำนึงถึงอย่างแท้จริง ไม่มีการลดต้นทุน หรือแม้แต่จะลดความเสี่ยง ไม่ว่าจะเรื่องติดโรคหรือติดลูก วัยรุ่นไทยยังไม่ป้องกันตัว ไม่มีความรู้ ไม่ตระหนักรู้ (แถมยังอายน้อยลงที่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร)
4) วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน หรือเพราะพวกเขาคบเพื่อนไม่ดี?
อย่างไหน มีผลต่อพฤติกรรมดังกล่าว มากกว่ากัน?
ปรากฏว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบทั้งสองปัจจัย โดยควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าใครกันที่ควรรับผิดชอบ
ผลสรุปว่า บทบาทของ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” สำคัญกว่า“คบเพื่อนไม่ดี”!
(อันที่จริง ทั้งพ่อแม่ไม่สั่งสอนและคบเพื่อนไม่ดี ต่างก็มีผลต่อการตัดสินใจเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร)
พูดง่ายๆ คือ ถ้าพ่อแม่สอนมาดี คบเพื่อนไม่ดีก็ยังไม่ค่อยเป็นไรมาก
แต่ถ้าพ่อแม่สอนไม่ดี คบเพื่อนดีก็ไม่ได้ช่วยมากนัก
เพราะฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่จึงไม่อาจโทษเพื่อนหรือโทษโรงเรียนได้ และพ่อแม่ต้องหันกลับมาดูวิธีการดูแลลูกของตนเองด้วย
ทั้งหมดนี้ ขอขอบคุณเว็บไซต์ “setthasat.com” ที่ช่วยกระตุ้นต่อมคิดสนุกๆ ได้ลองเปลี่ยนมุมคิด พลิกมุมมอง เป็นการบริหารสมองได้เป็นอย่างดี
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น