--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ดร.ทนง พิทยะ เตือน รมว.คลังก้าวก่ายแบงก์ชาติไม่ได้ !!?


อดีตขุนคลัง เตือน คลังจะไปก้าวก่ายหน้าที่แบงก์ชาติไม่ได้ มีสิทธิเพียงแต่บอกว่า ท่านผู้ว่าการต้องระวังเรื่องเงินทุนไหลเข้าหน่อย

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนับสนุนและ"เห็นด้วย"ให้คณะกรรมการนโบายการเงินหรือกนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง ในการประชุม 20 ก.พ.นี้ เหตุเพราะเชื่อว่าจะช่วยลดความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าได้ โดยไม่ต้องวิตกปัญหาฟองสบู่ เหตุยังไม่เห็นสัญญาณ และไม่ต้องห่วงปัญหาเงินเฟ้อ เพราะยังอยู่ระดับต่ำ แต่ถึงกระนั้น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "ไม่เห็นด้วย" กับแนวทางที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วีรพงษ์ รามางกูร เพราะถือว่า"ไม่เหมาะสม"ขณะที่ตัวเลขการขาดทุนทางบัญชีของ ธปท.5.3 แสนล้านบาทนั้น"ไม่น่าห่วง"

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มต้นระบุว่าประเทศไทยปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์หลายอย่าง ที่สำคัญหลักๆ 2 ประเด็น เรื่องแรก คือ เรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มองในแง่ลบบ้าง เพราะห่วงว่าธุรกิจเล็กๆ ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ทั้งๆที่อัตราค่าแรงของไทยยังต่ำ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ขยับเลย พอกระโดดจาก 220 กว่าบาทมาเป็น 300 บาท ต้องมีธุรกิจที่กระทบบ้าง บางส่วนก็เลยช็อกแต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงมาก

เรื่องที่ 2 คือ เรื่องการลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% มา 23% และมาถึง 20% ก็ถือว่ารุนแรงเหมือนกัน ภาพการทำกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่เคยทำกำไรสุทธิอยู่ประมาณเกือบ 10% ก็กลายเป็น 17% ถือว่าเพิ่มขึ้นมหาศาล เห็นได้จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีรายงานกำไรสูงมากๆ โดยเฉพาะธนาคารเป็นต้น ในธุรกิจต่างๆ ผลัก ดันให้นักลงทุนมองตลาดหลักทรัพย์ไทย เป็นตลาดที่น่าลงทุน และจากลดภาษีเหลือ 20% ปีนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสทำกำไร เพราะเพียงแค่ขายสินค้าเท่าเดิม ผลดำเนินงานสามารถเพิ่มขึ้นอีก 3% ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองภาพว่าประเทศไทยขณะนี้มีช่องที่จะทำกำไรได้ ประเมินแค่นี้เงินทุนจากต่างประเทศ ก็ไหลเข้ามาอย่างมากแล้ว

นอกจากนั้นการที่ กนง. เฝ้าระวังเรื่องเงินเฟ้อ กลัวว่าจะเกิดเงินเฟ้อในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ยอดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.75% ถือเป็นความเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่หนุนให้เงินทุนไหลเข้า

คงดอกเบี้ยสูงอันตรายเสี่ยง"ฟองสบู่"

ดร.ทนง พิทยะ เห็นว่า การที่ กนง. รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่าประเทศอื่นนั้นจะทำให้เงินไหลเข้ามา เป็นสภาพคล่องอยู่ในประเทศไทย ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์เอง สามารถที่จะปล่อยในระดับ MLR ลบ ได้เพราะต้นทุนเงินฝากต่ำมากๆ เพราะฉะนั้น การรับเงินจากเมืองนอก มาแลกเป็นเงินบาท กลายเป็นสภาพคล่องในเงินบาทอีกยิ่งบวกกับ รัฐบาลเองก็ใช้งบประมาณขาดดุลอีก กลายเป็นว่าการที่ให้ดอกเบี้ยเงินบาทในระดับที่สูงกว่าคนอื่น อาจจะสร้างฟองสบู่ได้ เพราะเมื่อดอกเบี้ยสูงยิ่งเพิ่มแรงจูงใจไหลเข้ามา

"เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ป้องกันเงินทุนไหลเข้าได้ยากมาก เนื่องจากเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้น เงินทุนเข้ามาเนื่องจากการค้าดี เงินบาทก็แข็งขึ้น เมื่อเข้ามาลงทุนก็ได้หลายเด้ง ทั้งค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ก็ดีขึ้น จึงฟันกำไร 2 ด้าน ทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างพักเงินไม่ได้เข้าถือหุ้น ยังได้กำไรจากดอกเบี้ยด้วย กำไรจึง 3 เด้ง ตรงนี้ ธนาคารแห่ง ประเทศไทย น่าจะพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบว่า การรักษาอัตราดอกเบี้ยควรจะเกี่ยวข้องหรือเปรียบเทียบกับ สกุลเงินที่กำลังไหลเข้ามา หรือแหล่งที่ไหลเข้ามาว่า อัตราดอกเบี้ยที่นั่นต่ำกว่าต้องการเงินให้ไหล เข้าแบบนั้นหรือไม่ ถ้าเงินไหลเข้ามาเพื่อมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เรายังพอเข้าใจได้ว่าไม่เป็นไร ก็ยังถือว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเราดี และอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะสูงเงินเฟ้อขึ้นพื้นฐานก็ทำท่าจะลดลงเช่นกัน"

สำหรับความห่วงใยเรื่องอัตราเงินเฟ้อนั้น เขาเห็นว่า ยังไม่น่าห่วง เพราะกำลังการผลิตยังมีเหลือ ยังผลิตได้ถูกลงด้วยซ้ำ การที่เกิดเงินเฟ้อจากการไม่เพียงพอของการผลิตสินค้า ไม่ค่อยน่ากลัว และสินค้าที่นำเข้าก็ถูกลง ส่วนแรงดันที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อจากพลังงาน ตอนนี้ก็เริ่มทรงตัว หรือว่าลดลงด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า หากลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว เกิดสัญญาณเก็งกำไรในบางเซ็กเตอร์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ควรป้องกันเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เช่นตัวอย่างมาตรการประเทศจีน ให้แบงก์สำรองมากขึ้น ทำให้แบงก์มีต้นทุนสูงขึ้น

"ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเครื่องมือเยอะแยะไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ย กลายเป็นว่าในโลกใหม่ซึ่งทุนไหลเข้าออก ได้อย่างเสรี อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่จะไปใช้มัน ควรจะเป็นเครื่องมืออื่นที่จะมาดูแลภาคเศรษฐกิจที่ แท้จริง แต่ละภาคผ่านธนาคารพาณิชย์ซึ่งแบงก์ชาติกำกับดูแลอยู่แล้ว ทำได้เยอะแยะ

"กิตติรัตน์ ส่งหนังสือ"ไม่เหมาะ"

ดร.ทนง ยังตอบคำถามกรณีที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำหนังสือถึงดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กดดันให้ลดดอกเบี้ย ว่า"ผมว่าไม่ดี และยิ่งทำให้แบงก์ชาติมีปฏิกิริยาตอบโต้โดยที่ทำให้ลดดอกเบี้ยช้าลงด้วยซ้ำ เพื่อยืนยันความเป็นอิสระขององค์กรตัวเอง จะเป็นเรื่องของ ศักดิ์ศรีองค์กร มากขึ้น" และในอดีตก็ไม่เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านไหนทำกันแบบนี้

"ผมว่าควรจะคุยนอกรอบกันให้เข้าใจว่าอะไรคืออะไร และก็ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ไหน และมาตรการที่แบงก์ชาติกับ กระทรวงการคลังควรจะเห็นพ้องต้องกันคืออะไร คือแบงก์ชาติเองก็ต้องคอยดูปริมาณเงินบาทในระบบอยู่แล้ว ถ้าตอนนี้เงินมันไหลเข้ามารัฐบาลเองก็เอาเงินจากระบบออกไปใช้และอัดฉีดเข้ามาในระบบผ่านการที่งบประมาณขาดดุล แบงก์ชาติก็ต้องดูทั้ง 2 ด้านว่าตรงไหนเป็นอะไรและก็ความพอดีของปริมาณเงินอยู่ที่ไหน แต่ว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่ได้ชะลอปริมาณเงิน ไม่ได้ลดความต้องการเงินกู้ เพราะว่ามันมีเงินไหลเข้ามาทดแทนได้"

ดังนั้นศาสตร์และศิลป์ในการทำงานร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติจะทำอย่างไร นั้นเขายกตัวอย่างว่า สมัยที่ตนเอง ทำงานร่วมกับอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ใช้วิธีโทรศัพท์หารือ พูดคุยกันตลอด บางทีตนเองก็แวะไปหาที่แบงก์ชาติ และบางครั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็มาหาตนที่กระทรวงการคลัง ซึ่งต่างคน ต่างก็ชี้แจงความจำเป็นและเสร็จแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีสิทธิชี้แจงสาธารณชน ฝั่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็มีสิทธิชี้แจงเช่นกัน

"แต่ก็ในที่สุดแล้วมันก็คุยกันได้ ถึงเวลามันเห็นปัญหาร่วมกันได้ เพราะข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจมันมี ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจโดยแบงก์ชาติก็ต้องมารายงานรัฐบาลอยู่ ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังมีก็รายงานรัฐบาล ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ทำก็รายงานรัฐบาล ฉะนั้นก็สามารถจะเปรียบเทียบได้ว่าใครถูกใครผิด มันสามารถจะเปรียบเทียบได้ว่าแต่ละคนเห็นความสำคัญคนละด้าน ฉะนั้นความพอดีอยู่ตรงกลางทำยังไงดี มันก็มีสิทธิที่จะทำได้ แต่คลังจะไปก้าวก่ายหน้าที่แบงก์ชาติไม่ได้ มีสิทธิเพียงแต่บอกได้ว่าท่านผู้ว่าการต้องระวังเรื่องนี้หน่อยนะ และไม่ต้องไปบอกเขาว่าดอกเบี้ยควรจะลดลง เพียงแต่อาจจะบอกว่าท่านผู้ว่า ให้ระวังเรื่องการไหลเข้าของเงินทุนหน่อย เพราะว่าหากมันเข้ามามากเกินไปมันจะทำให้เศรษฐกิจกลายเป็นฟองสบู่ได้ เพราะฉะนั้นแบงก์ชาติก็ต้องไปกลับดูว่านโยบายอะไรที่จะทำให้ได้ผล หรือท่านต้องระวังอย่าไปดูแลค่าเงินบาทแบบนี้ เพราะอาจจะขาดทุนมากขึ้นอีก และก็จะมีปัญหาในระยะยาวได้ เรามีสิทธิที่จะพูดได้อย่างนี้"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น