--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อดีต รมว.คลัง ธีระชัย อัดกิตติรัตน์ ตื่นเต้นเรื่องแบงก์ชาติเกินไป !!?


นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต.


จากประเด็นเรื่อง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการขาดทุนของ ธปท. จนกลายเป็นวิวาทะเรื่องขอบเขตการทำงานระหว่างกระทรวงการคลัง/รัฐบาล กับ ธปท. ตามหน้าสื่อยาวนานหลายวัน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1/1 (ก่อนจะเปลี่ยนตัวมาเป็นนายกิตติรัตน์ในภายหลัง) ได้โพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัว ระบุว่าปัญหาการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักการทำงานของธนาคารกลางนานาชาติ และนายกิตติรัตน์นั้น “ตื่นเต้นตกใจเกินไป”


ข้อความของนายธีระชัยมีดังนี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกและรัฐมนตรีคลังออกมาเตือนแบงค์ชาติ ว่าขาดทุนสี่แสนหรือห้าแสนล้านบาท ชาวบ้านฟังแล้ว ก็ย่อมตกใจเป็นธรรมดา เพราะตัวเลขสี่แสนหรือห้าแสนล้านบาทเป็นตัวเลขที่สูงมาก

นี่ไม่ใช่ห้าแสน “บาท” นะครับ แต่เป็นห้าแสน “ล้านบาท”

แต่สำหรับคนที่มีความรู้เศรษฐศาสตร์แล้ว ขาดทุนแบงค์ชาติ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปตื่นเต้นตกใจเกินไปหรอกครับ

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรองผู้ว่าการแบงค์ชาติ และผมเข้าใจกลไกการทำงานของธนาคารกลาง ผมจึงขออธิบายเพื่อเป็นความรู้

ทำไมแบงค์ชาติจึงขาดทุน

แบงค์ชาติขาดทุนเพราะเงินบาทแข็ง ดูตัวเลขง่ายๆ ถ้าประเทศมีทุนสำรองสองแสนล้านดอลลาร์ แล้วเงินบาทแข็งขึ้นหนึ่งบาทต่อดอลลาร์ เมื่อตีราคาปิดบัญชีปลายปี แบงค์ชาติก็จะขาดทุนสองแสนล้านบาท ถ้าแข็งขึ้นสองบาท ขาดทุนก็จะเพิ่มเป็นสี่แสนล้านบาท

แต่ในทางกลับกัน หากเงินบาทอ่อน ถ้าอ่อนลงหนึ่งบาทต่อดอลลาร์ จะกลับเป็นกำไรสองแสนล้านบาท ถ้าอ่อนสองบาท กำไรก็จะเพิ่มเป็นสี่แสนล้านบาท

ทำให้แบงค์ชาติ ไม่ต้องขาดทุนได้หรือไม่

ทำให้แบงค์ชาติไม่ขาดทุนนั้น ง่ายมาก เพียงแต่ให้แบงค์ชาตินั่งเฉยๆ กินเงินเดือนไปวันๆ ปล่อยให้เงินบาทแข็งไปตามภาวะตลาด โดยไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ทำเท่านี้ ก็จะไม่ขาดทุนแล้วครับ ทุนสำรองก็ไม่จำเป็นต้องมี

แต่ถ้าทำแบบนี้ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะต้องปรับตัวอย่างหนัก สินค้าใดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ต้องเลิกผลิต ต้องทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นๆ เหมือนกับรถยนต์เยอรมัน ซึ่งราคาแพงขึ้นๆ มาตลอดยี่สิบปี แต่คนก็ยอมควักกระเป๋าซื้อใช้โดยตลอด เพราะคุณภาพเยี่ยมเหลือเกิน

ที่จริงประเทศเราควรทำแบบนี้ คือบีบให้ภาคเอกชนปรับตัว เพื่อพร้อมแข่งขันในเวทีโลกเต็มที่ แต่ถ้าทำแบบนี้ รัฐจะต้องเน้นการศึกษา โดยเฉพาะด้านอาชีวะ เร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝีมือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝีมือการตลาด ซึ่งต้องใช้เวลา

ดังนั้น ที่ผ่านมา แบงค์ชาติจึงได้เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เงินบาทแข็งตัวช้าลง เพื่อให้เวลาธุรกิจปรับตัว

สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ธนาคารกลางเขาจะไม่ค่อยเข้าไปแทรกแซง เขาจะปล่อยให้ค่าเงินของเขาขึ้นลงตามตลาดเต็มที่

แต่บางประเทศทนไม่ได้ การเมืองกดดันให้ธนาคารกลางเข้าไปแทรกแซง กรณีนี้ ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ก็จะประสบปัญหาขาดทุน ไม่ต่างจากกรณีแบงค์ชาติของไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศที่มีข่าวปัญหาธนาคารกลางขาดทุน ก็คือสวิตเซอร์แลนด์ พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศต้นแบบของระบบธนาคาร ก็มีปัญหานี้เกิดขึ้นได้

มีโอกาสที่เงินบาท จะกลับอ่อนตัวลงหรือไม่

เงินบาทจะไม่แข็งไปตลอดกาล ในช่วงที่ไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้า ระหว่างปี 2521 – 2540 นั้น เงินบาทอ่อนตัวโดยตลอด เป็นเวลาร่วมยี่สิบปี

ในช่วงนั้น ไทยมีการลงทุนมาก มากจนเกินกำลังการออมภายในประเทศ ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

เงินบาทที่อ่อนตัวนั้น ทำให้แบงค์ชาติมีกำไรทุกปี

ในช่วงนี้ ภาวะการลงทุนลดลง การนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ไม่บูมเหมือนเดิม บัญชีเดินสะพัดกลับเป็นเกินดุล เงินบาทแข็ง ทำให้แบงค์ชาติขาดทุน

แต่ในระยะยาว เมื่อการลงทุนเอกชนกลับมาบูมเต็มที่ ประกอบกับรัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า2.2 ล้านล้านบาท การนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์จะเพิ่มขึ้น เงินบาทที่แข็งก็จะกลับอ่อนลงได้ครับ

นอกจากนี้ สภาวะการเมืองของไทย หากเกิดปัญหาแบบเฉียบพลัน ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนลงอีกด้วย

แบงค์ชาติจะเจ๊งเพราะขาดทุนหรือไม่

ธุรกิจทั่วไป หากขาดทุนติดต่อกันไประยะหนึ่ง ก็จะขาดเงินสดหมุนเวียน สภาพคล่องจะติดขัด และต้องปิดกิจการ

แต่ธนาคารกลางของทุกประเทศ เขาสามารถสร้างปริมาณเงินขึ้นมา เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองได้

ธนาคารกลาง จึงเป็นองค์กรเดียว ที่ไม่มีวันที่จะประสบปัญหาสภาพคล่อง เป็นองค์กรเดียว ที่ไม่มีวันต้องถูกบีบให้ปิดกิจการ

จึงขอให้สบายใจนะครับ แบงค์ชาติไม่มีวันเจ๊ง

ธนาคารกลางของประเทศอื่นมีขาดทุนหรือไม่

มีครับ ถ้าประเทศใด ค่าเงินแข็ง และมีทุนสำรองมาก ย่อมขาดทุน

และถ้าประเทศนั้น ธนาคารกลางมีการแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินแข็งเร็ว ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกประเทศ

ข้อมูลขาดทุนของธนาคารกลางทุกประเทศ เป็นข้อมูลสาธารณะ แบงค์ชาติจึงควรจะสำรวจ แล้วแสดงให้ประชาชนรับทราบ ว่ามีประเทศใด ที่ธนาคารกลางขาดทุน

ประชาชนต้องรับภาระขาดทุนแบงค์ชาติหรือไม่

ไม่ต้องครับ

กรณีรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ เป็นภาระแก่ประชาชน เพราะในที่สุด รัฐบาลต้องเก็บภาษีมาชดเชย

แต่ธนาคารกลางของทุกประเทศนั้น อยู่นอกระบบงบประมาณ รัฐบาลไม่ต้องเก็บภาษีมาชดเชยขาดทุนแบงค์ชาติ ประชาชนไม่ต้องรับภาระขาดทุนนี้

และในระยะยาว เมื่อแนวโน้มเงินบาทแข็งตัวชะลอลง หรือเปลี่ยนเป็นอ่อนตัว ปัญหาขาดทุนแบงค์ชาติ ก็จะคลี่คลายไปเอง

ขาดทุนแบงค์ชาติเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่

ไม่เป็นครับ

รัฐมนตรีคลังผู้ใด ที่พูดว่า กลัวขาดทุนแบงค์ชาติไปเพิ่มหนี้สาธารณะ แสดงว่าไม่มีความรู้จริง

ขาดทุนแบงค์ชาติไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ หลักการนี้ใช้กับทุกประเทศครับ ไม่เฉพาะประเทศไทย

การแทรกแซงให้เงินบาทแข็งตัวช้าลง แบงค์ชาติจำเป็นต้องออกพันธบัตรแบงค์ชาติเป็นจำนวนมาก ถามว่าประชาชนต้องรับภาระดอกเบี้ยนี้หรือไม่ ประชาชนต้องรับภาระชำระคืนหนี้ดังกล่าวหรือไม่ และหนี้เหล่านี้เป็นหนี้สาธารณะหรือไม่

กรณีที่รัฐบาลออกพันธบัตร ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยโดยตรงครับ รัฐบาลต้องเก็บภาษีมาจ่ายเป็นดอกเบี้ย

แต่กรณีที่แบงค์ชาติออกพันธบัตร ประชาชนไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยใดๆ แบงค์ชาติเขารับภาระเองแต่ผู้เดียว รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปอุ้มดอกเบี้ยนี้เลย แม้แต่น้อย

ผู้ใดที่อธิบายแก่สื่อมวลชน ว่าดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นแผนที่วางไว้ เพื่อทำให้ธนคารพาณิชย์กำไร และเป็นภาระแก่ประชาชน ผู้นั้นให้ข้อมูลที่บิดเบือนครับ

กรณีรัฐบาลออกพันธบัตร ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระชำระคืนพันธบัตรนั้นโดยตรงอีกเช่นกัน

แต่กรณีแบงค์ชาติออกพันธบัตร ประชาชนไม่ต้องรับภาระชำระคืนใดๆ แบงค์ชาติเขาจะดูแลบริหารคืนเงินตามพันธบัตรที่ครบกำหนดเอง รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปชำระหนี้แทน แม้แต่น้อย

กรณีรัฐบาลออกพันธบัตร ต้องนับเป็นหนี้สาธารณะทันที

กรณีแบงค์ชาติออกพันธบัตร จะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะรัฐบาลไม่มีภาระต้องมาชำระหนี้แทนแบงค์ชาติครับ

ผู้ใดที่อธิบายแก่สื่อมวลชน ว่าขาดทุนแบงค์ชาติ และพันธบัตรแบงค์ชาติ ต่อไปจะเป็นภาระแก่ประชาชน ผู้นั้นให้ข้อมูลที่บิดเบือนครับ

ขาดทุนจะกระทบการทำงานของแบงค์ชาติหรือไม่

นี่เป็นเรื่องเดียวที่ต้องระมัดระวังครับ

ไม่ต้องกังวลว่าขาดทุน จะทำให้แบงค์ชาติเจ๊ง เพราะแบงค์ชาติสร้างสภาพคล่องดูแลตัวเองได้เสมอ

ไม่ต้องกังวลว่าพันธบัตรแบงค์ชาติ จะเป็นภาระแก่ประชาชน เพราะรัฐบาลไม่มีการเก็บภาษีไปชำระหนี้แทนแบงค์ชาติอยู่แล้ว

ไม่ต้องกังวลว่าขาดทุนแบงค์ชาติ จะเป็นหนี้สาธารณะ เพราะรัฐบาลไม่มีภาระต้องชำระหนี้แทนแบงค์ชาติ

แต่ที่ควรจะกังวล คือขาดทุนกระทบการทำงานของแบงค์ชาติหรือไม่

ขาดทุนจะกระทบการทำงานของแบงค์ชาติได้อย่างไร

มีกรณีเดียวครับ หากแบงค์ชาติประสาทเสีย และพยายามแก้ปัญหาการขาดทุน ด้วยการพิมพ์เงินออกมาเกินความจำเป็น ก็จะทำให้เงินเฟ้ออุตลุด

เวลาที่แบงค์ชาติพิมพ์เงินออกมานั้น แบงค์ชาติไม่มีต้นทุน

พวกเราที่มีเงินอยู่ในกระเป๋าสตางค์ ไม่ว่าจะเก็บไว้นานเท่าใด จนธนบัตรเปื่อยแล้วเปื่อยอีก ก็จะไม่สามารถไปเรียกร้อง ขอดอกเบี้ยใดๆ จากแบงค์ชาติได้เลย

แต่ในขณะเดียวกัน เงินที่ได้นั้น แบงค์ชาติสามารถนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือเอาไปให้แบงค์พาณิชย์กู้ ทำให้แบงค์ชาติได้ดอกเบี้ย โดยไม่มีต้นทุน

ข้อที่ควรกลัว จึงมีอย่างเดียวครับ ว่าหากแบงค์ชาติเสพติดการหากำไรแบบง่ายๆ เช่นนี้ แล้วพิมพ์เงินออกมาเกิน จะทำให้เงินเฟ้อ

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้แบงค์ชาติ ต้องทำข้อตกลงกับรัฐบาล เพื่อวางเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกัน เพื่อป้องกันมิให้แบงค์ชาติเสพติดเรื่องนี้

ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลและแบงค์ชาติ ก็มีข้อตกลงกันอยู่แล้วครับ

ดังนั้น เรื่องแบงค์ชาติขาดทุน จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โต ถึงขั้นที่สมควรต้องตกใจกระตู้วู้

ขอให้ใจเย็นๆ ครับ

แต่ถ้ายังไม่หายตื่นเต้น จะอ่านข้างบนนี้ซ้ำก็ได้นะครับ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น