--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความมั่นคง ทางด้านพลังงานไฟฟ้า !!?


คอลัมน์ : คนเดินตรอก โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าว ที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานเรียกทุกหน่วยงานมาหารือเรื่องไฟฟ้าจะดับในเดือน เมษายน โดยให้ทุกหน่วยผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลเตรียมพร้อม ให้ยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ วังน้อย พร้อมเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 และเขื่อนน้ำเทิน 2 ใน สปป.ลาว

สาเหตุ สำคัญมาจากข่าวที่ว่า พม่าแจ้งการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ระหว่างวันที่ 4-12 เมษายนนี้ เนื่องจากต้องหยุดซ่อมบำรุงเพราะเกิดการทรุดตัวของแท่นขุดเจาะ ซึ่งจะเป็น

ผล ให้ก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ 1,100 ล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็นกำลังผลิต 6,000 เมกะวัตต์ โดยก๊าซที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งตะวันตกของไทยทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด และโรงไฟฟ้าบริษัท ไตร เอนเนอร์ยี่ จำกัด และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ

ข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น

จริง ๆ คงจะก่อให้เกิดความโกลาหลเสียหายแก่เศรษฐกิจของเราอย่างมาก เพราะอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานต่าง ๆ จะต้องหยุด หรือไม่เช่นนั้น บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็คงต้องเตรียม

การตรวจตราเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หรือถ้าโรงงาน โรงแรม หรือหน่วยธุรกิจใดที่ยังไม่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ก็ต้องลงทุนติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรอง หากเกิดปัญหาเช่นว่านั้นจริง

ข่าว เช่นว่านี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น จำได้ว่า 2 ปีก่อนก็เคยมีข่าวเรื่องพม่าไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องต้องซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพอดีเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม 2 สร้างเสร็จพอดี แล้วข่าวก็เงียบหายไป

การเจรจากับพม่าให้เลื่อนการหยุดส่งก๊าซเพื่อ ซ่อมบำรุงฐานขุดเจาะยาดานา เพื่อให้เลื่อนไปทำการซ่อมในวันที่การใช้ไฟฟ้าของเราไม่อยู่ในช่วงการใช้ไฟ สูงจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ ก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะพม่าก็แจ้งมาว่า หากจะเลื่อนกำหนดการซ่อมบำรุง ทางเขาก็จะกระทบกระเทือนหลายเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องทางเทคนิคที่เขาเลื่อนไม่ได้

ความมั่นคงทางด้าน พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงในเรื่องไฟฟ้า นับวันจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศอย่างประเทศของเรา

ดู ๆ ไปแล้ว โครงสร้างของอุตสาหกรรมไฟฟ้าซึ่งน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเราน่า จะเป็นโครงสร้างที่เปราะบาง เข้าใจว่าระบบไฟฟ้าของเราต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทยกับแหล่ง ในอ่าวเมาะตะมะในประเทศพม่าถึงร้อยละ 70 แม้ว่าจะเป็นก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ จากแหล่งในประเทศพม่าเป็นส่วนน้อยก็ตาม

นอกจากนั้น ตามที่ติดตามข่าว ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยจะค่อย ๆ หมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่แน่ใจว่าการจะร่วมมือกับกัมพูชาในพื้นที่ที่จะพัฒนาการขุดเจาะก๊าซ ธรรมชาติร่วมกันอย่างที่เราเคยทำกับประเทศมาเลเซีย

ที่จะมีพื้นที่ พัฒนาร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Joint Development Area หรือ JDA จะทำได้หรือไม่ เพราะปัญหาการเมืองในประเทศของเราไม่เอื้ออำนวย

ขณะ เดียวกัน โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางบกของเรา ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือระบบรถไฟรางคู่ การขยายท่าเรือน้ำลึก การยกระดับระบบการขนส่งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ล้วนแต่เป็นโครงการที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต

การ ที่จะต้องเร่งพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการของประเทศก็ยิ่งมี ความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น แต่การจะพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เป็นต้นว่า การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ใครขืนยกขึ้นมาในตอนนี้ก็คงจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรง การจะคิดสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุดรองลงมาจากการใช้

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก็คงจะถูกต่อต้าน

ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องการขจัดมลภาวะจากการผลิตไฟฟ้าด้วย ถ่านหินก็ก้าวหน้าไปมากจนเกือบจะไม่มีปัญหาแล้ว

แหล่ง ที่จะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็หมดแล้ว ถ้าจะมีเหลือก็คงมีปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายผู้คนซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เสียแล้ว ตกลงการที่จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่ว่าจะ

ใช้เชื้อเพลิงอะไรผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คงจะเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้แล้ว

จะ มีเหลือก็คือไปลงทุนหาแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งไฟฟ้าเข้ามาขายให้ประเทศไทย ประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังน้ำ หรือเป็นที่ตั้งสำหรับโรงไฟฟ้า

ขนาดใหญ่ ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้แต่นิวเคลียร์ ก็เห็นจะมีอยู่เพียง 2-3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และจีน ส่วนเวียดนามก็มีไฟฟ้ายัง

ไม่พอใช้ มีโครงการลงทุนจากพลังน้ำ

ใน ลาว และส่งไปขายในเวียดนาม กัมพูชาก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าในลาว คงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าส่งเข้ามาขายให้ประเทศไทย มาเลเซียก็เช่นเดียวกัน แหล่งผลิตน้ำมันของมาเลเซียก็อยู่บนเกาะบอร์เนียวเก่าซึ่งก็อยู่ไกล

โครงการสนับสนุนให้เอกชนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กทั่วไป ก็คงจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

ปัญหา เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแหล่งผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องให้ความสนใจให้มากขึ้นกว่านี้อีกมาก

การให้การศึกษาและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมากับประชาชนก็น่าจะเป็น

สิ่ง จำเป็น ถ้าจะรอจนกระทั่งมีโครงการที่จะลงทุน โดยกำหนดสถานที่แล้วจึงเริ่มให้การศึกษาแก่ประชาชนอาจจะไม่ทันการณ์ และดูจะเป็นการลำเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง

สิ่งที่สำคัญคือ ข้อกล่าวหาถึงผลเสีย

ทาง สภาพแวดล้อมก็ดี ทางนิเวศวิทยาก็ดี ทางสังคมก็ดี โครงการต่าง ๆ ที่ทำมาแล้วที่ได้รับการต่อต้าน เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าความจริงเป็นอย่างไร ถ้ามีผลเสียหายก็ได้แก้ไขเยียวยาอย่างไรบ้าง ภาครัฐก็จะได้เผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นอย่างไร เหตุใดประเทศ

ต่าง ๆ ที่ควรใช้ไฟฟ้าต่อหัวสูงกว่าของเราเป็นจำนวนมาก เขาจึงยังสามารถผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งที่เป็นครัว เรือน อุตสาหกรรม โรงงาน

ได้อย่างปลอดภัย

เทคโนโลยีในด้าน การผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีในด้านการป้องกันและการกำจัดมลภาวะได้ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ก็น่าจะต้องตั้งงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึงระบบมาตรฐานและการตรวจตราระหว่างประเทศที่เข้ามา

มีส่วนในการ ตรวจสอบควบคุมในเรื่องสิ่งแวดล้อม การป้องกันและขจัดมลภาวะระหว่างประเทศในเรื่องสิ่งแวดล้อม การป้องกันและขจัดมลภาวะระหว่างประเทศซึ่งมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับก็น่า จะต้องเผยแพร่ให้มากกว่านี้ มิฉะนั้นความตื่นกลัวก็เป็นสิ่งที่จะแก้ไขได้ยาก

ประเด็นสำคัญอีก ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายต่อต้านยกขึ้นมาโจมตีอยู่เสมอก็คือ ไม่เชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจในรัฐบาลและระบบราชการของตน ว่าจะมีประสิทธิภาพในการตรวจตราควบคุมให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับระบบสากล การบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและตรงไปตรงมา

รวมทั้งระบบยุติธรรม ว่าจะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เกิดความอุ่นใจให้กับประชาชนได้ว่าจะไม่ เกิดปัญหาในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ได้

เมื่อเกิดปัญหาความเสียหายในด้าน

สิ่งแวดล้อม เรื่องการขจัดมลภาวะ ก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปล่อยให้หายไปในอากาศและสายลม

ซึ่งจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความเชื่อถือของประชาชน

ในส่วนของผู้ต่อต้านเอง บางครั้งหรือหลายครั้งข้อมูลความคิดเห็นก็อาจจะไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความ

ตื่น กลัวให้กับผู้คนเกินความเป็นจริง ก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐบาลต้องให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อสาธารณชนทันที แต่ถ้าหากประชาชนมีความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว เพราะการให้การศึกษาและการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนมีเป็นพื้นฐานอยู่ แล้ว ปัญหาก็คงจะเบาบางลง

ปัญหาเรื่องการพัฒนาประเทศ ในด้านการพัฒนาระบบการขนส่ง ระบบการเงิน ระบบความคิด ก็พอจะมองเห็นทางออกทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว แต่มองไปทางการสร้างความมั่นคงทางพลังงานโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่ปัญหาทางเทคโนโลยี เรื่องเทคนิค วิศวกรรม ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เป็นเรื่องทางจิตวิทยามวลชน การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และมักจะสายเกินไป เช่น คนเชื่อแล้วว่ามี "ผี" จะไปอธิบายให้ตายว่าผีไม่มีในโลกก็คงไม่มีใครเชื่อ

ในระยะข้างหน้าอย่างน้อยภายใน 5-10 ปีข้างหน้า มองไปแล้วการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศ การจะกระจายความเสี่ยง

ใน เรื่องเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าก็คงจะเป็นเรื่องที่ยาก นักวางแผนการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าก็คงต้องศึกษาหาทางเลือกอื่น ๆ ให้มากขึ้นว่าจะทำอย่างไร

ทางออกที่เห็นจะมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง แต่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่มากพอที่จะลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะตลาดเล็กเกินไป พร้อมกับการขาดแคลนเงินทุนจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการสูง ความต้องการขยายตัวเร็ว ขณะเดียวกันก็มีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งวิสัยทัศน์

เช่น ว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับได้สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะจะเป็นหนทางที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย พร้อม ๆ กับการแบ่งประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ทางออกในขณะนี้ก็เห็นมีเพียงเท่านี้

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น