--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การศึกษาขั้นพื้นฐานอของไทยถึงวันที่จะต้องเปลี่ยนแปลง !!?


โดย.เพชร เหมือนพันธุ์

ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เคยให้ความเห็นกับสื่อว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ผ่านมามีทุกคนได้ประโยชน์หมด ยกเว้นเด็ก การปฏิรูปการศึกษาต้องพัฒนาที่คุณภาพของการศึกษาเป็นหลัก นับว่าเป็นความเห็นที่ชี้ให้เห็นความเป็นจริงของปัญหาการศึกษาชาติที่ผ่านมา ว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบผลสำเร็จ

ท่าน ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษาของท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาได้ให้ข่าวว่าท่านได้เสนอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยขอให้ปฏิรูปการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาฯ ได้ลดวิชาที่ซ้ำซ้อน ลดชั่วโมงเรียน และปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯให้เหมาะสม นับว่าเป็นข่าวดีที่ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรอคอย และตั้งความหวังว่า ผู้นำหัวเรือใหญ่ด้านการศึกษาของประเทศจะไม่พาพวกเราหลงทางอีก

ความรู้สึกอึดอัดต่อผลลัพธ์ Out Come ด้านการศึกษาที่ผ่านมา ทุกคนล้วนรู้สึกเหมือนกันว่าคุณภาพของการศึกษาไทยไม่ดีขึ้น มีแต่ตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ว่าจะมีพระเอกคนใดมาฉุดขึ้น ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา แม้ท่านจะเป็นนักกฎหมาย เมื่อท่านได้มารับผิดชอบอนาคตการศึกษาของชาติแล้ว ท่านยังมีความพยายามจะปรับหัวเรือเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ท่านได้สร้างความหวังให้กับกลุ่มครูการศึกษาขั้นพื้นฐานและประเทศไทยแล้ว พวกเราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและเป็นกำลังใจในการทำงานครั้งนี้

ความอึดอัดใจไม่ได้มีอยู่เฉพาะผู้มีอาชีพเป็นครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ท่าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก็ยังได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 มกราคม 2556 ว่า "การศึกษาไทยล่มสลายแล้วหรือ?" ท่านตำหนิว่านักศึกษาแพทย์ของท่าน ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น ไม่รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้รอบตัวให้เกิดประโยชน์ นักศึกษาแพทย์ไม่เคยอ่านวารสารทางการแพทย์....ชั้นนำของโลกให้ได้สัปดาห์ละ 1 เล่ม ก็แปลว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้เกิดความผิดปกติอาเพศทางการศึกษามาแล้วอย่างน้อย 15-20 ปี ถ้าระบบการศึกษาไทยห่วยขนาดนี้ อย่าได้คิดฝันไปไกลถึงความมั่งคั่ง รุ่งเรืองของประเทศ....แค่เอาตัวรอดไปวันๆ ก็ถือว่าเก่งแล้ว

และยังมีอีกท่าน เช่น รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ท่านเห็นว่า "ปัจจุบันการศึกษาไทยค่อนข้างล้มเหลว นักเรียนไม่มีทักษะชีวิต"

และจะขอยกตัวอย่างอีกท่านคือ นายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยพะเยา ท่านได้เสนอว่า ให้ปรับโครงสร้างหลักสูตร ลดวิชาเรียนบางวิชาที่ไม่จำเป็นในระดับประถมศึกษาลงให้ลดวิชาที่ซ้ำซ้อน เพิ่มวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพราะภาษาเป็นสื่อให้เข้าถึงความรู้วิชาอื่น

และยังมีอีกหลายท่านที่เห็นตรงกันว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีปัญหาอย่างแน่นอน

การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศนับว่าเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ การจะก้าวออกเดินไปข้างหน้าหรือเข้าศึกษาต่อ ถ้าคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ดีอย่าได้หวังว่าเราจะประสบความสำเร็จ ตะกั่วหรือจะไปมีค่าสู้ทองคำ ดาบเหล็กอ่อนหรือจะหาญกล้าไปสู้กับดาบเหล็กน้ำพี้ ตึกอาคาร ถ้าฐานไม่ดีก่อสูงขึ้นไปก็จะมีแต่พังลงมาทับคนอยู่อาศัยและคนงาน การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงถือเป็นไฟต์บังคับที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องโดยรีบด่วน

การศึกษาขั้นพื้นฐานคือ การศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1-ม.6) หากจะแก้ปัญหาจะต้องแก้ให้ถูกจุด เกาให้ถูกที่คัน ปัญหาการศึกษาช่วงชั้นนี้ที่มีปัญหาอย่างรุนแรงจริงๆ จะอยู่ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนที่มีปัญหาน้อยที่สุดคือช่วงชั้นประถมวัย

ในระดับประถมวัย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ครูที่รับผิดชอบในช่วงชั้นนี้ได้รับการอบรมพัฒนามามากและมีการร่วมกลุ่มกันได้ดี ไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ แม้ในศูนย์เด็กเล็ก หรือตามศูนย์การเรียนในวัดก็ไม่มีปัญหา เรื่องหลักสูตรก็ไม่กดดันเด็ก เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ของมือ และการเล่น กิน นอน

ในระดับประถมศึกษา โดยปกตินักเรียนจะอ่านหนังสือออกเมื่อเรียนในระดับชั้น ป.2 ภาคเรียนที่ 2 จะอ่านได้คล่อง ถ้าอ่านได้ก็จะคิดเลขเป็น ในระดับประถมศึกษา ครูจะเริ่มพบเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนห้องละ 1-5 คน เด็กกลุ่มนี้คือเด็กเรียนช้า เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว เด็กพิการ 9 ประเภท เด็กที่มีพฤติกรรมเป็นปัญหาต่อการเรียนนี้จะมีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก โดยสถิติ ในร้อยคนจะมีอยู่ระหว่าง 5-10% ถ้าครูที่สอนดูออกเข้าใจเด็กกลุ่มนี้สามารถแยกมาเรียนซ่อมเสริมพิเศษได้ แต่ถ้าครูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเด็ก ก็จะไปโทษเด็กโทษผู้ปกครองว่า เด็กโง่ เด็กเกเร เด็กไม่สนใจเรียน ผู้ปกครองไม่สั่งสอน เด็กกลุ่มนี้จะเป็นปัญหาไปถึงชั้น ป.6 และเลยไปถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้น ครูจึงต้องเป็นนักจิตวิทยาด้วย ในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์ดูแลให้การศึกษาเด็กพิการ จังหวัดละ 1 ศูนย์ จะออกไปโรงเรียนเพื่อไปดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ในประเทศอเมริกาก็มีที่ครูออกไปพบเด็กตามโรงเรียนต่างเวียนไปจนครบ ส่วนในชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เด็กเริ่มโต ผู้หญิงบางคนก็เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะได้รับมอบหมายจากครูให้เป็นหัวหน้า เป็นคณะกรรมการนักเรียน จะได้รับความนับถือจากรุ่นน้องครูเริ่มมองเห็นแววอัจฉริยะของเด็กบางคนแล้ว หลักสูตรการศึกษาก็ควรจัดเนื้อหาให้ใกล้ชิดกับตัวเด็ก ให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ให้เด็กได้ฟังนิทานที่สร้างแรงบันดาลใจเด็กได้ ให้เด็กได้ไปสัมผัสกับของจริงนอกห้องเรียน

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับนี้ถ้าจัดการศึกษาได้ดี มีคุณภาพเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กจะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง มีความเชื่อมั่นในวิชาที่เรียนรู้ ปัญหาที่พบคือ ครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาจะให้ความสนใจเด็กในระดับชั้น ม.1 น้อยกว่าชั้น ม.2 และ ม.3 ถ้าโรงเรียนเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูจะไปให้ความสนใจในเด็ก ชั้น ม.3 และ ม.6 มากกว่าชั้น ม.1 และชั้นอื่นๆ ในชั้น ม.1 เด็กมาจากที่ต่างๆ กัน คนเก่งสอบเข้ามาได้เอง คนไม่เก่งจับสลากเข้ามา หรือเป็นเด็กฝากหรือเป็นเด็กในพื้นที่บริการ เด็กเรียนเก่งมักไม่มีปัญหาทางการเรียน ส่วนเด็กอ่อนจะเรียนไม่ทันเพื่อน จะส่งงานไม่ทัน แล้วก็จะติด 0 ติด ร เมื่อมีปัญหามากเข้าก็จะรวมกันเป็นแก๊ง ก่อกวน ลักขโมย จะสอบตกสะสมไปจนถึงชั้น ม.3 ดังนั้น วิธีการวัดผล ประเมินผลที่ใช้กันอยู่ ในหลักสูตรทุกวันนี้ก็จะต้องปฏิรูปด้วย พอถึงชั้น ม.2 เด็กกลุ่มนี้ก็จะตั้งแก๊งสร้างปัญหาให้กับเพื่อนในชั้น ให้กับครู ให้กับผู้ปกครอง เด็กผู้หญิงจะมีปัญหาทางชู้สาวมากกว่าเด็กชายเป็นวัยที่มีพลังมาก หลักสูตรต้องเพิ่มทักษะทางวิชาช่างเบื้องต้น เช่น งานไม้ งานปูน งานไฟฟ้า งานเกษตร งานดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น

ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตรการสอนและกิจกรรมการเรียนของนักเรียนชั้น ม.ปลาย ต้องแตกต่างจากเด็ก ม.ต้น เพราะเด็ก ม.ปลายเป็นผู้ใหญ่วัยรุ่นเต็มตัวแล้ว มีกำลังมากเป็นวัยพายุบุแคม ชอบคบเพื่อน บูชาเพื่อนสูง เหินห่างจากพ่อแม่

เด็ก ม.4 ในหลายโรงเรียนจะจับเด็กแยกห้องเก่งห้องอ่อน ห้องโปรแกรมพิเศษ เช่นห้อง IEP เด็กที่เข้ามาเรียนพร้อมกันแต่จะไม่เหมือนกันเพราะการเลือกต่างกัน ถ้าโรงเรียนใดจัดเด็กเรียนอ่อนให้ไปอยู่รวมกัน นั้นคือการจับเด็กไปลงนรก ครูประจำชั้นก็จะลงนรกด้วย เพราะเด็กกลุ่มนี้แทบจะช่วยเหลือตนเองทางการเรียนไม่ได้เลย หลายโรงเรียนจึงจัดเพียงห้องคิงและห้องควีนเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นห้องคละในถัวเฉลี่ยเด็กที่มีสติปัญญาต่างกันคอยช่วยเหลือกันได้ การจัดชั้นเรียนจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เด็กที่เรียนช้าเรียนอ่อน หรือพิการ 9 ประเภทก็ยังตามมาอยู่ในระดับนี้ ผลการสอบของเด็กกลุ่มนี้จะติด 0 ร มส ไปเรื่อยๆ จนถึงชั้น ม.6 สร้างปัญหาให้ตนเอง ให้ผู้ปกครอง ให้ครูให้โรงเรียนทุกระยะ เด็กบางคนก็จับกลุ่มกันหนีเรียน แสวงหากิจกรรมพิเศษนอกห้องเรียน ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีความจริงจังก็พอช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้

หลักสูตรการศึกษาชั้น ม.ปลาย ควรปฏิรูปทั้งระบบเนื้อหารายวิชา ลดวิชาที่ซ้ำซ้อน เปลี่ยนวิธีสอนของครู จากการเล็กเชอร์เป็นให้ลงมือปฏิบัติ เปลี่ยนวิธีวัดผลประเมินผลที่ใช้ข้อสอบปรนัยอย่างเดียวเป็นใช้ข้อสอบได้หลากหลาย แบบแก้ปัญหาการแก้ 0 ร มส ปลายปีชั้น ม.6 ให้เนื้อหารายวิชาใกล้ชิดกับเด็กให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนในแต่ละวันไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง อย่าจัดรายวิชาหรือสาระการเรียนรู้ทุกอย่างไว้ในชั่วโมงการเรียน เพราะยิ่งเรียนมากเด็กยิ่งไม่ได้อะไร จัดให้เด็กมีส่วนร่วมให้มาก ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำได้แก้ปัญหาเอง งานกิจกรรมที่นักเรียนได้ทำจะทำให้เขามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำประสบการณ์หรือความรู้ที่บ้านมาประยุกต์ใช้ได้ แก้ปัญหาเป็น ความรับผิดชอบจะเกิดขึ้น ให้โอกาสเด็กได้ไปยืนหน้าชั้นแทนครู ปฏิรูปการวัดผลประเมินผลที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ด้วย จะได้แก้ปัญหาเด็กติด 0 ร มส ปลายปี สรุปว่า ระดับมัธยมศึกษามีปัญหาทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย เนื้อหารายวิชาที่ซ้ำซ้อนในแต่ละรายวิชาก็ยังมี วิธีสอนของครูที่ผูกขาดการยืนหน้าห้องตลอดปีก็ควรต้องแก้ไข การวัดประเมินผลที่สร้างปัญหา ติด 0 ร มส ก็ต้องเปลี่ยนแปลง

เด็ก ผู้ปกครอง และสังคมกำลังรอรับฟังผลดีของการแก้ปัญหาการศึกษาที่ถูกจุดครั้งนี้ อย่างตั้งใจ ดังคำปราชญ์ที่กล่าวไว้ว่า "บัณฑิตทั้งหลายย่อมหวั่นไหวเมื่อรู้ว่าภัยกำลังรุกเข้ามาใกล้บริวาร จึงต้องปลุกบริวารให้ป้องกัน"

ที่มา.หน้า 7 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 4 ก.พ.56
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น