--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

พยุงศักดิ์ วอนรัฐทบทวนเยียวยา SME.


พยุงศักดิ์ หวังรัฐทบทวนแนวทางเยียวยาเอสเอ็มอี ระบุมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการที่รับผลกระทบรุนแรงไม่ได้

คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เมื่อ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นมาตรการด้านภาษี แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด รวมถึงนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะข่าวเช้านี้ ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมา พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สามารถผ่านวิกฤติได้ด้วยตนเอง โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือว่าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่ทาง สอท.เสนอไป คือ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีสถานการณ์ไม่ดี

"เราต้องการให้ช่วยผู้ที่ปริ่มๆ ลุ้นว่าจะอยู่รอดหรือไม่รอดในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ และเมื่อออกมาแล้วต้องได้ผลในทันที แต่มาตรการที่ออกมากลุ่มนี้ไม่ได้ประโยชน์ แต่เป็นกลุ่มที่เอาตัวรอดได้จะมีประโยชน์ในอนาคต"

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าหลังปรับขึ้นค่าแรงกลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งแต่ เม.ย.2555 ถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 9 เดือน ค่าแรงปรับขึ้น 80-90% ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นจึงต้องการมาตรการเยียวยาแบบเร่งด่วน เห็นผลทันที

ในส่วนของ สอท.ได้ทำงานนี้มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ก่อนปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรก มีการระดมความคิดเห็นทั้งในส่วนภาคเอกชน และหารือร่วมภาครัฐ ก่อนที่จะเสนอมาตรการขอความช่วยเหลือเข้าไปเมื่อ 21 พ.ย. 2555 แต่สิ่งที่ออกมาจากภาครัฐ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการนั้น เห็นว่าอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน และเห็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยรัฐอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นการดำเนินการของส.อ.ท.จากนี้ไป จะหารือกับสมาชิก รวมไปถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ก่อนนำเสนอกลับไปยังรัฐบาลอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง การตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรง ที่เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก

"เราอยากเห็นการแก้ไขแบบเร่งด่วน เพราะช่วงนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่กำลังจะสะดุดเพราะเรื่องของค่าแรง และหวังว่ารัฐจะเข้าใจความต้องการของเอกชนมากขึ้น เพราะมาตรการที่เสนอไปไม่เหลือบ่ากว่าแรงของภาครัฐ เพียงแต่อาจจะยังไม่เห็นความเดือดร้อนที่แท้จริงของเอสเอ็มอี"

นอกจากแนวทางขอความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ในด้านผู้ประกอบการเอง สอท.มีความคิดเชิญผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้กดดันเอสเอ็มอี ซึ่งส่งสินค้าให้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แรงงานยันนายจ้างสวมรอยเลิกจ้าง

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการติดตามสถานการณ์การเลิกจ้าง และปิดกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง นั้นเห็นว่ายังอยู่ในสภาวะปกติ เห็นได้จากสถิติในปี 2554 ช่วงต้นปีซึ่งไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ เดือน ม.ค.เลิกจ้าง 6,600 คน ก.พ. 5,200 คน ส่วนช่วงปลายปีได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม มีการเลิกจ้างกว่า 13,000 คน ต่อเนื่องถึงเดือน ม.ค.2555 เลิกจ้าง 14,829 คน ก.พ. 11,910 คน มี.ค. 9,147 คน

และเมื่อปรับขึ้นค่าจ้างครั้งแรก เดือน เม.ย.มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 8,300 คน หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 5,000 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ต่างจากช่วงเศรษฐกิจปกติ

และข้อมูลของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตั้งแต่ 1-9 ม.ค.มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 421 ราย สถานประกอบการปิดกิจการ 5 แห่ง และไม่ได้เกิดจากผลกระทบของการปรับค่าจ้าง ดังนั้นเชื่อว่ามีการแอบอ้างการปรับค่าแรงเป็นเหตุผลในการเลิกจ้าง ทั้งที่ปัญหาแท้จริงมาจาก การไม่มียอดสั่งซื้อสินค้า การขาดทุนสะสม หรือต้องการย้ายฐานการผลิต

“ผู้เลิกจ้างขอความเห็นใจโดยขอจ่ายเงินชดเชย 80% แต่ผมยืนยันจะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ผมไม่อยากให้สังคมวิตกเกินไปว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้ จะทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก"

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการรเลิกจ้างจำนวนมาก ก็จะเสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งการหาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างกว่า 1.2 แสนอัตรา และคาดว่าความต้องการปีนี้มีอีกกว่า 6 แสนอัตรา ซึ่งเพียงพอแม้ว่าเดือน มี.ค.จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 3 แสนคนก็ตาม

สสว.ของบช่วย40 ล้านบาท เกษตรต้นทุนเพิ่ม5%

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงฯ สำรวจว่ามีการปิดกิจการมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การจัดคลินิกอุตสาหกรรม ปรับประสิทธิภาพเครื่องจักร ซึ่งลดต้นทุนได้ 10%

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าได้กำหนดให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดส่งข้อมูลมาให้ในวันที่ 11 ม.ค. ก่อนหาทางช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เตรียมเสนอคณะกรรมการ สสว.ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในเดือน ก.พ.เพื่อขอใช้งบจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 30-40 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

แนวทางที่เตรียมไว้มี 3 แนวทาง คือ 1.มาตรการเพิ่มผลิตภาพ โดยจัดให้มีแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และอาจสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วน โดยเน้นช่วยพื้นที่ 19 จังหวัด ที่ค่าแรงปรับขึ้นมากกว่า 23 % เช่น พะเยา ศรีสะเกษ น่าน ตาก สุรินทร์ โดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรึกษา 70 % ส่วนจังหวัดที่มีค่าแรงสูงขึ้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เช่น สงขลา ราชบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา รัฐจะสนับสนุน 50 % ส่วนที่นำร่องปรับไปแล้ว 7 จังหวัด รัฐจะสนับสนุน 30 %

2.มาตรการลดต้นทุน จะจัดพื้นที่พิเศษให้เอสเอ็มอีได้ใช้ทรัพยากรในการทำธุรกิจร่วมกัน เช่น พื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ความรู้และทำคู่มือให้กับเอสเอ็มอีในการบริหารต้นทุน เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างงาน ซึ่งจะเน้นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าหนัง และกระทรวงอุตสาหกรรมจะออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ

3.มาตรการเพิ่มรายได้ จะให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดด้วยการส่งเสริมให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างกับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ และเชื่อมโยงกับกองทุนภาครัฐเพื่อให้แรงงานที่ตกงานเข้าร่วม เช่น กองทุนตั้งตัวได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าต้นทุนค่าแรงภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่เมื่อคำนวณร่วมกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น ต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรลดลง จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มแค่ 5% และเห็นว่าภาคการเกษตรจะรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น