--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

จริยธรรมบนวิถีปืน จากเพลโต อริสโตเติล ถึงโอบามา : บาดแผลทางสังคมในอเมริกา !!?


Philosopher Saves the Day โดย กิตติภัต แสนดี [randoma.wordpress.com]
ชื่อบทความเดิม “จริยธรรมการควบคุมสิทธิพกพาอาวุธปืน”

เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเดินทาง เหล่านี้เป็นตัวอย่างของเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญไทย และบรรจุเป็นหลักการพื้นฐานในการปกครองของนานาประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้มีความเห็นพ้องต้องกันหมดแล้วว่า เป็นของจำเป็นที่ต้องจัดให้มีเพื่อให้บ้านเมืองสามารถมีการปกครองที่สงบสุขและนำพาไปสู่ความรุ่งเรืองได้
แต่มีเสรีภาพชนิดหนึ่งที่มีความหมายพิเศษในอเมริกา แต่ในสายตาของประเทศอื่นๆ อย่างประเทศไทย กลับดูเป็นของแปลกแยกเข้าใจยาก และมองไม่เห็นหนทางว่าสิทธิชนิดนี้จะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างไร ที่ว่ามาคือสิทธิเสรีภาพในการพกพาอาวุธ (Right to bear arms) ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับที่ 2 ของอเมริกา
สิทธิในการพกพาอาวุธปืน ภาพจาก wikipedia
สิทธิในการพกพาอาวุธปืน ภาพจาก wikipedia
เดิมที มีการตีความข้อความในรัฐธรรมนูญว่า สิทธิพกพาอาวุธเป็นสิทธิพื้นฐานของเจ้าพนักงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ภายหลังเกิดความชัดเจนเมื่อศาลฏีกาวางแนววินิจฉัยไว้ในคดีหนึ่งเมื่อปี 2008 ว่าสิทธิพกพาอาวุธที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ไม่ได้จำกัดแต่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น
โดยผู้พิพากษาตีความจากประวัติศาสตร์การร่างกฎหมายข้อนี้ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจคัดคานกับรัฐส่วนกลางได้ในกรณีที่รัฐส่วนกลางออกนโยบาย หรือใช้อำนาจไปในทางที่เป็นการข่มเหงรังแกมลรัฐและประชาชนของมลรัฐ
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับเห็นต่างในเรื่องนี้ และกำหนดให้อาวุธ โดยเฉพาะอาวุธปืนเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้ซื้อ มี หรือใช้ รวมถึงทำ สั่ง หรือนำเข้า โดยระบุให้ผู้ที่ต้องการมีหรือใช้ต้องมีใบอนุญาตรับรองเจ้าของอาวุธ และตัวอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ทั้งยังระบุประเภทบุคคลที่ต้องห้ามไม่ให้รับใบอนุญาตตลอดไปด้วย

วงการปรัชญา: ว่าด้วยสิทธิในการพกพาอาวุธ

สิทธิพกพาอาวุธของประชาชนสร้างเสียงแตกแยกในวงการปรัชญามาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว เพลโตมองว่าสิทธิการพกพาอาวุธควรเป็นของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของเมืองเท่านั้น เพื่อให้การปกครองเกิดความสงบร่มเย็น
ขณะที่อริสโตเติลเห็นแย้งว่ากลุ่มชนที่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนท้ายที่สุดก็จะใช้อำนาจครอบงำกลุ่มชนอื่นที่ไม่ได้รับสิทธินั้น ที่สุดแล้วความหวังที่จะให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ตลอดจนเป็นพลเมืองที่ดี ก็จะไม่สมประสงค์ไป
แต่แล้วการให้สิทธิพกพาอาวุธแก่ประชาชนทั่วไป จะพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ดีและการปกครองที่สงบสุขหรือไม่?
ภาพจาก wikipedia
ภาพจาก wikipedia
ผู้คนในอเมริกาตั้งคำถามดังกล่าวภายหลังเหตุการณ์กราดยิงนักเรียนอนุบาลในโรงเรียนแซนดี้ ฮุค รัฐคอนเนคติคัตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อเหตุโดยเด็กอายุ 20 ในเมืองเดียวกันที่ผู้คนรอบข้างยืนยันว่าเป็น “เด็กฉลาดแต่ขี้อาย” เขาใช้ปืนของแม่เพื่อก่อเหตุในครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีทั้งหมด 28 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอนุบาล
ในปีเดียวกันนี้ ยังเกิดเหตุกราดยิงลักษณะเดียวกันนี้ในอเมริกาหลายครั้ง เช่นเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมชาร์ดอน ซึ่งมือปืนเป็นเด็กอายุ 17 ปีที่แอบเอาปืนของลุงที่่ซ่อนไว้มาใช้ก่อเหตุ
ส่วนช่วงกลางปี ทุกคนก็ยังจดจำเหตุการณ์กราดยิงในโรงหนังออโรร่าระหว่างการฉายหนัง Batman ภาคสุดท้าย ซึ่งคนร้ายไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม ใช้อาวุธปืนถึงสามชนิดที่รวมถึงปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ยิงผู้ชมหนัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 12 คน ปืนที่ใช้ก่อเหตุทั้งสามกระบอก ถูกซื้ออย่างถูกกฎหมายก่อนหน้านั้นไม่นาน
อาจจะอ้างได้ว่าประเทศอื่นๆ อย่างสวิตเซอร์แลนด์นั้น แม้จะมีกฎหมายอาวุธที่เสรี แต่กลับมีอัตราการฆ่าคนด้วยอาวุธปืนต่ำ แต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกาแล้ว อัตราการฆ่าคนด้วยอาวุธกลับมีสูงตามอัตราการเป็นเจ้าของอาวุธปืนในอเมริกา
มีการประมาณการกันว่าอาวุธปืนในอเมริกาที่ประชาชนทั่วไปเป็นเจ้าของอยู่มีทั้งหมด 300 ล้านกระบอก หรือประชากร 1 คนต่อ 1 กระบอก
ส่วนอัตราการเสียชีวิตการอาวุธปืนในอเมริกา มีมากถึง 3 ต่อ 100,000 คน เทียบกับอังกฤษที่มีอัตราส่วน 0.07 ต่อ 100,000 คน

การปะทะกันบนปรัชญาว่าด้วยการจำกัดสิทธิพกพาอาวุธปืน: เสรีนิยม v.s. อรรถประโยชน์นิยม

ในมุมมองทางปรัชญาเมื่อต้องพิจารณาว่านโยบายจำกัดสิทธิพกพาอาวุธของประชาชนทั่วไป จะเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่นั้น อาจแยกได้เบื้องต้นเป็นสองมุมมองคือมุมมองจากเสรีนิยม (Liberalism) และอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism)
ในมุมมองของเสรีนิยมแล้ว สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้ และหากตีความว่าการพกพาอาวุธเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาล ตลอดจนเพื่อป้องกันตนเองนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จะลงความได้ว่าสิทธิการพกพาอาวุธนี้จะละเมิดด้วยการให้จำกัดการเข้าถึงนั้นไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืน ที่มีอยู่แพร่หลายในอเมริกาขณะนี้ ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร
ในอีกแง่มุมหนึ่งนั้น อาวุธปืนที่แพร่หลายจนควบคุมไม่ได้นั้นทำให้เกิดการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นในสังคมที่ไม่ได้ประสงค์จะพกพาอาวุธปืนติดตัวนอกบ้าน เป็นบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ไม่ว่าจะไปดูหนัง ไปเดินตามท้องถนน หรือแม้แต่ไปเดินในสถานที่ที่จินตนาการถึงพิษภัยของมันไม่ได้อย่างโรงเรียนอนุบาล
ในแง่อรรถประโยชน์นิยมนั้น อันดับแรกที่ต้องทำคือการหาคู่ขัดแย้งที่ต้องเลือกซึ่งในที่นี้คือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการไม่มีการควบคุมอาวุธปืนฝั่งหนึ่ง และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการมีระบบควบคุมอาวุธปืนอีกฝั่งหนึ่ง
ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการไม่ควบคุมอาวุธปืนคือเจ้าพนักงานดูแลรักษาความสงบที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างการกราดยิงในท้องที่ต่างๆ ค่าใช้จ่ายที่ประเมินค่ายากขึ้นไปอีกคือชีวิตของคนในอัตราส่วน 3.0 ต่อ 100,000 คนที่สูญเสียไปจากอาวุธปืน
แต่แล้วค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการมีระบบควบคุมอาวุธปืนนั้นจะมีสิ่งใดบ้าง อันดับแรกคือการวางระบบทะเบียน และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลใบอนุญาตที่อาจมีมูลค่ามหาศาลในเมืองที่ประชากรหนาแน่น แต่ประโยชน์ที่จะได้รับคือการทุเลาอัตราผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน ซึ่งชีวิตของบุคคลเหล่านั้นมีมูลค่าสูงต่อทั้งครอบครัวและต่อประเทศ
ค่าใช้จ่ายจากการมีระบบควบคุมอาวุธปืนอีกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์แห่งกำเนิดของสิทธิชนิดนี้คือ การที่ประชาชนจะไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการซึ่งหากเกิดกรณีนี้จริงแล้ว มูลค่าความเสียหายย่อมมีมากมายมหาศาล
แต่ในข้อเท็จจริงแล้วโอกาสเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในโลกสมัยใหม่นี้ถือว่ามีน้อย และน้อยจนถึงระดับเป็นไปไม่ได้ในประเทศที่มีการเมืองมั่นคงและมีการคานอำนาจเป็นอย่างดีอย่างอเมริกา ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการมีกลไกระดับระหว่างประเทศคอยช่วยเหลือส่วนหนึ่ง และอีกส่วนมาจากทัศนคติลบต่อการใช้อาวุธของประชาชนทั่วไปที่มีมากขึ้น
กลุ่มผลประโยชน์ใดที่ใช้อาวุธเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองท้ายที่สุด จะเสียเปรียบมากกว่าได้เปรียบในทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากความคิดของอริสโตเติลโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น การมีระบบควบคุมอาวุธปืนจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มประโยชน์และสร้างความสุขมากกว่าทางเลือกที่จะไม่ควบคุมอาวุธปืน และควรเป็นทางเลือกที่ประธานาธิบดีสหรัฐต้องรีบเลือก และทำให้เห็นจริงโดยเร็วในการครองตำแหน่งสมัยที่สองนี้
ที่มา.Siam Intelligence
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น