--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

อาเซียน : ตามไปดูการค้าจาก พม่า ถึงเอเชียใต้ !!?

อย่างที่ทราบกันดีว่า อีกไม่นานไทยและเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคอีก 9 ชาติ จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (Asean Community) ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ฐานการผลิตและอื่นๆ อย่างมหาศาล และที่ต้องให้ความสนใจมากกว่านั้น คือบทบาทของมหาอำนาจ ทั้งที่อยู่ไกลอย่างสหรัฐอเมริกา และที่เป็นบ้านใกล้เรือนอย่างจีนกับอินเดีย โดยเฉพาะอินเดีย มหาอำนาจเก่าแก่ของเอเชียเคียงคู่กับจีนมาโดยตลอด

วันนี้เราเห็นบทบาทของจีนในเวทีโลกมากมาย ทำให้ผู้ที่สนใจเรื่องอาเซียนมุ่งที่จะมองไปที่จีนเป็นหลัก แตกต่างกับอินเดีย ที่วันนี้คนทั่วไปยังมองว่าเป็นประเทศยากจน ภาพของขอทาน คนอดอยาก ความสกปรกแม้อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ยังคงเป็นภาพที่ใครหลายคนคิดเมื่อนึกถึงแดนภารตะแห่งนี้

ขณะที่พม่า เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของเรา ประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่ท้าทายให้เข้าไปลงทุน หากแต่ด้วยอคติบางประการในแง่ประวัติศาสตร์ ประกอบกับเป็นประเทศที่ยังไม่สงบดีนักจากสงครามกลางเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่า ทำให้ยังไม่ค่อยมีนักลงทุนไทยหน้าใหม่ๆ เข้าไปมากเท่าที่ควร

จึงขอยกเรื่องของอินเดีย และเน้นย้ำความน่าสนใจของพม่าอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เห็นความสำคัญของฝั่งตะวันตกของเรา ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง

เปิดประตูสู่ชมพูทวีป

คนไทยส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับคำว่า “ชมพูทวีป” เป็นอย่างดี เพราะเป็นดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาหลักของไทย คือศาสนาพุทธ และวัฒนธรรมหลักที่ได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยชมพูทวีปนั้น ในอดีตหมายถึงอาณาจักรน้อยใหญ่ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ (บางครั้งมีผู้รวมศรีลังกาเข้าไปด้วย) หรือที่สมัยใหม่เรียกว่าเอเชียใต้ ซึ่งหากนำเอาประชากรทั้งหมดของทวีปนี้รวมกัน จะมีมากกว่า 1,500 ล้านคนทีเดียว ทั้งนี้..เพียงอินเดียประเทศเดียว ก็มีประชากรราว 1,200 ล้านคนแล้ว

นายสุนันท์ เกลี้ยงประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและโครงการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของอินเดีย ยักษ์ใหญ่ของฝั่งเอเชียใต้ ที่กำลังขยายการลงทุนเข้ามายังอาเซียน เพื่อแข่งขันกับจีน มหาอำนาจหลักที่มีผลประโยชน์มหาศาลในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน

ในกรอบความร่วมมือ GMS จากเวียดนามมาพม่า พอเลยพม่าไป ก็ไปเข้าเอเชียใต้แล้ว ดังนั้นมันจะต้องหลอมเข้าด้วยกันอย่างแน่นอน เอเชียใต้นี่ ค้าขายปีนึงก็ 3 แสนกว่าล้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทางเรือ ส่วนทางถนนมีบ้าง โดยระยะทางจากแม่สอด เข้าเมียวดีของพม่า ต่อไปยังโมเรห์ของอินเดีย ประมาณ 1,300 กิโลเมตร ล่าสุดไม่นานนี้ อินเดียตกลงจะสร้างถนนจากโมเรห์เข้ามาในพม่า ระยะทาง 100 ไมล์ หรือประมาณ 160 กิโลเมตร โดยก่อสร้างให้ฟรีๆ” ที่ปรึกษาฯ NEDA กล่าว

สอดคล้องกับ ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการบริหารบริษัท แอ๊ดด้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชี้ให้เห็นบทบาทของอินเดียในเวทีการค้าระดับโลก โดยปัจจุบัน มีการแบ่งเขตทำมาหากินอย่างชัดเจน ขณะที่คนจีนเข้าไปลงทุนสารพัดอย่างในแอฟริกา คนอินเดียและประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ มักจะเข้าไปลงทุน หรือหางานทำในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นหลัก เรียกว่าไม่ต้องแปลกใจ หากใครมีโอกาสเดินทางไปดูไบ หรืออาบูดาบี จะเห็นเถ้าแก่ ผู้จัดการใหญ่ๆ CEO มาจากอินเดีย ผู้จัดการฝ่าย มาจากปากีสถาน ผู้จัดการแผนก มาจากศรีลังกา พนักงาน คนขับรถ มาจากบังกลาเทศ เป็นต้น ขณะที่ด้านอาเซียน ก็ไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คิด โดยเฉพาะหากท่าเรือน้ำลึกทวายก่อสร้างเสร็จ พร้อมๆ กับโครงการเชื่อมถนนจากไทยไปอินเดีย

อินเดียนี่มองดูไกลนะครับ แต่ถ้าเราต่อถนนไปทวาย ระยะทาง 130 กิโล ตอนนี้ไปก็ 5 ชั่วโมง ถ้าสร้างเสร็จก็คงราวๆ ชั่วโมงเศษๆ จากทวาย ก็ขึ้นไปบังกลาเทศ ที่นี่พลเมือง 180 ล้าน เขาซื้อของเราไม่น้อยอยู่แล้ว อย่าลืมว่า Made in Thailand เขาถือเป็นอันดับ 1 เลย ดังนั้นอย่างแรก ขอให้ท่านไปดูให้เห็นกับตา อย่างเพื่อนบ้านรอบๆ เรา ที่เราไปขายมาเกือบหมดแล้ว เขาถือว่าของไทยนี่ Good Value ราคาพอสมควร คุณภาพไปได้ คือเขามีรสนิยมเหมือนคนไทยเรานี่ล่ะ แต่เขาไม่มีโอกาสจะไปใช้ของยุโรป” คุณไกรฤทธิ์ กล่าว

พม่า ความท้าทายใหม่ของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นช่องทางทำมาค้าขายกับอินเดีย หรือกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ แต่อุปสรรคสำคัญคือการเดินทางที่ต้องผ่านเข้าไปในพม่า ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอีกมากมาย ทั้งรัฐบาลที่ทหารยังมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง และพื้นที่แต่ละแห่ง ล้วนถูกปกครองด้วยกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้เต็มที่ ทำให้ไม่เป็นเอกภาพ

แหล่งข่าวรายหนึ่ง วิเคราะห์บทบาทของโลกตะวันตกต่อพม่าไว้อย่างน่าสนใจ แต่เดิมพม่านั้นเป็นประเทศปิด ปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ทำให้ผู้ที่สามารถเข้าไปลงทุนในพม่าได้ คือผู้ที่มีและใช้วิธี “กำลังภายใน”กับชนชั้นปกครองของพม่า ซึ่งก็มีทั้งนักลงทุนจากจีน ไทย และสิงคโปร์ ที่คุ้นเคยกับระบบนี้ดี ขณะที่โลกตะวันตก ที่มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าห้ามทำธุรกิจกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการคอร์รัปชั่นสูง หรือไม่ใส่ใจกับสิทธิมนุษยชน ก็อยากจะลงทุนในพม่า จึงต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้พม่าเป็นประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อไม่ให้เข้าข่ายผิดกฎหมายของประเทศตน

เช่นเดียวกับ นายดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของพม่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เมื่อเวียดนามเข้าร่วมกับอาเซียน ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) ทั้งนี้ ด้วยการที่เวียดนามไม่มีพรมแดนติดกับไทย จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนไทยมากนักในเวลานั้น ขณะที่พม่าที่มีพรมแดนติดกับไทย มีประชากรราว 60 ล้านคน ซึ่งจำนวนใกล้เคียงกับไทย มีทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล หรือในด้านตลาด พม่าเป็นตลาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่พม่าเองเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดีย หรือเอเชียใต้ทั้งทวีป อย่างไรก็ตาม คุณดำรง ก็มองว่าพม่าคงต้องใช้เวลาอีกมากในการเปลี่ยนแปลง

พม่ามีปัญหาสลับซับซ้อนกว่าหลายๆ ประเทศ และเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานหลายสิบปี คือเขามีโครงสร้างประชากรที่หลากหลายมาก ในอาเซียนนี่คงมีแค่พม่ากับอินโดนีเซียที่มีความเป็นชาติที่หลากหลาย และยังมีภาวะสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม จึงยังมีอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆ ได้ตลอดเวลา ส่วนในด้านเศรษฐกิจ แม้พม่าจะพร้อมด้วยทรัพยากรและแรงงาน แต่ผมว่าคงไม่พัฒนาเร็วแบบที่เราเห็นจีนหรือเวียดนาม

คือสถานการณ์โลกในเวลานั้น มันเอื้ออำนวยให้เกิด Economic Growth แบบก้าวกระโดด แต่ตอนนี้ ตลาดสำคัญๆ ไม่ว่ายุโรป อเมริกา หรือเอเชีย มันหดตัวลงหมด อย่างในอาเซียน ก็โตแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ 7 เปอร์เซ็นต์ อย่างมาก 9 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเวลาเรามองพม่าก็จะต้องมองในแง่นี้ด้วยเหมือนกัน”

นายดำรงกล่าว พร้อมกับทิ้งประเด็นของอินเดียไว้ให้คิดกันต่อ ว่าระยะทางจากพม่าไปอินเดีย หากนับจากนครย่างกุ้ง จะอยู่ที่ราวๆ 2,000 กิโลเมตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ในเวลาอันสั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมข้อกังวลที่ว่า แม้จะเดินทางไปถึงอินเดียได้จริง แต่จะไปที่ไหน เพราะจุดที่ไปถึง ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ต้องการการพัฒนาอีกมากพอสมควร กว่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

ปัจจุบันพม่ากลายเป็นกระแสสำคัญของโลก นักลงทุนมากมายต่างพยายามเข้าไปยังประเทศนี้ ซึ่งมีความพร้อมทั้งทรัพยากรมหาศาล แรงงานราคาถูก และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทั้งอินเดีย จีน และอาเซียน แต่ในความเป็นจริง พม่าหรือแม้กระทั่งภูมิภาคเอเชียใต้เอง ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่ที่อยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากยังไม่ได้รับการพัฒนา

ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่..คงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่แน่นอนเสมอไป

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น