ทวีปออสเตรเลียลุกเป็นไฟแล้ว ?
เกิดไฟป่าหลายแห่งทั่วประเทศออสเตรเลีย อุณหภูมิในพื้นที่ตอนในของประเทศสูงขึ้นถึง 54 c ประเทศเขาเดือดร้อนเราก็เห็นใจ ธรรมชาติปรวนแปรวิปริตเพราะน้ำมือมนุษย์ เป็นเรื่องที่ชาวโลกทั้งหมดต้องตระหนักรู้ และปรับปรุงแก้ไข
สำหรับประเทศไทย ภัยแล้งเริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ท้องที่หลายอำเภอขาดแคลนน้ำ น้ำไม่พอใช้แล้ว
อันที่จริงเรื่องภัยแล้งปีนี้ มีคำเตือนมาล่วงหน้าแล้วว่า ปี 2556 นี้ภัยแล้งหนักแน่ รัฐบาลซึ่งถนัดการใช้จ่ายเงิน น่าจะทำงานเร็วกว่านี้ ยกตัวอย่างเรื่อง การขุดบ่อบาดาล การขุดลอกแหล่งน้ำ แทนที่จะโยกงบประมาณประชานิยมอย่างเช่นกองทุนหมู่บ้าน มาใช้แก้ปัญหาเป็นการด่วนก่อน ก็เพิ่งจะมาเสนอแผนบริหารจัดการภัยแล้งเข้า ครม. เมื่อวันที่ 8 มกราคม
ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 23 จังหวัด 244 อำเภอ 1,778 ตำบล 18,659 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองบัวลำภู มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุโขทัย พิษณุโลก อุบลราชธานี นครสวรรค์ สุรินทร์ เชียงใหม่ และแพร่
ข่าวล่าสุด จังหวัดนครราชสีมา 32 อำเภอ ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แล้ว 26 อำเภอ 191 ตำบล 1,905 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 100,197 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 863,433 ไร่
มหาสารคาม น้ำไม่พอทำประปา สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 17 แห่งมีอยู่ร้อยละ 39.46 หรือประมาณ 31 ล้านลูกบาศก์เมตรของปริมาณความจุ 81.41 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำ 10 แห่งมีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึง 50% ระดับน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่าน อ.โกสุมพิสัย ต่ำกว่าตลิ่งถึง 10 เมตร
จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยมแห้งขอดเห็นผืนทราย นาข้าวเสียหายกว่าแสนไร่ จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มอีก 2 อำเภอ คือนารางและโพทะเลรวมเป็น 12 อำเภอ ได้รับผลกระทบ 37 ตำบล 279 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 7,777 ครัวเรือน
และอย่านึกว่า พื้นที่ภาคกลางจะไม่เดือดร้อน ขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาในบางท้องที่ปริมาณน้ำน้อย กระทบกระเทือนถึงการขนส่งท่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เช่นที่จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น
เรื่องปริมาณน้ำในแม่น้ำเหลือน้อย ทำลายระบบการขนส่งทางแม่น้ำนั้น มีตัวอย่างความเสียหายหนักหน่วงมาแล้ว ที่แม่น้ำมิสซิปซิปปี้เมื่อเดือนที่แล้ว
สถานการณ์ภัยแล้งเดือนมกราคมยังรุนแรงถึงปานนี้แล้ว ที่น่าห่วงมากคือน้ำกินน้ำใช้สำหรับชาวบ้านหลายหมื่นหมู่บ้าน เพราะต้องสิ้นเปลืองเงินจากการซื้อน้ำในการอุปโภคบริโภค จากรถบรรทุกน้ำที่นำมาจำหน่ายในคันละ 700-1,000 บาท
เราเรียกร้องให้รัฐ ช่วยขุดบ่อบาดาล ขุดลอกแหล่งเก็บกักน้ำ มาทุกปีหลายปีแล้ว แต่ก็ไมทำกัน อ้างว่างบประมาณไม่พอ
แต่กลับมีโครงการแจกเงินกู้ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี ซึ่งประโยชน์มักตกกับปัจเจกชนเป็นราย ๆ
เมื่อจะเอื้อให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ ก็ควรจัดเป็นงบพัฒนาชุมชน ให้ชาวบ้านทั้งชุมชนได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน หมู่บ้านใดขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ก็จัดงบให้ขุดบ่อน้ำบาดล ขุดสระบึงเก็บกักน้ำ
หมู่บ้านใดไม่เคยแล้งน้ำ ก็จัดสร้างอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ได้ประโยชน์คุ้มงบประมาณ
ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น