เป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างร้อนแรงและได้รับการพูดถึงมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ นั่นคือเรื่อง “เงินบาทแข็งค่า” ที่สาเหตุหลักๆ ของกรณีนี้ เกิดจากประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจ อย่างสหรัฐและญี่ปุ่น อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ จนเป็นผลทำให้เกิดกรณีสภาพคล่องล้นจนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศหรือภูมิภาคในโลกที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ซึ่งนั่นเองก็รวมไปถึง “ไทย” ด้วย
สำหรับเรื่องนี้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เคยออกมาระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในส่วนของไทยเอง อยากจะมองว่ามีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่ในประเทศไทยเองยังไม่มี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย ขณะที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะเร่งนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อรองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้
แต่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็คือ “ผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก” ที่อาจได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยเรื่องนี้ “กิตติรัตน์” ยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับกลุ่มผู้ส่งออก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท
ขณะที่การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการรับมือในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเชื่อว่าจะไม่ใช่วิธีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยวิธีการซื้อขายเงินตราสวนทิศทางกับประเทศอื่นอย่างแน่นอน เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและไม่มีประโยชน์
ผมยืนยันว่าไม่ชอบให้เงินบาทแข็งค่า พูดมาตั้งแต่ตอนค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์แล้ว และยังคงยืนยันอีกว่า รัฐบาลจะไม่เป็นกลไกที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างแน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไปกดดันค่าเงินบาทนั้น ยืนยันอีกว่าจะเป็นการกู้ในประเทศ เป็นการกู้เงินบาท ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน” กิตติรัตน์กล่าว
ขณะที่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการสั่งการอะไรมาเป็นพิเศษ โดยตนเพียงแค่เข้าไปรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเท่านั้น
พร้อมทั้งยืนยันว่าการไหลเข้าไทยของเงินทุนต่างชาติในช่วงนี้นั้น ไม่ได้เป็นการไหลเข้าในลักษณะโจมตีค่าเงินบาท แต่เป็นเพียงการเข้ามาซื้อเพราะเห็นว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีระดับการแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเท่านั้น รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในทิศทางที่ดี จึงยังไม่น่าวิตกกังวลมากนัก
ความจริง ธปท.มีการใช้เครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทบางอย่างอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบนั้น ตนอยากให้มองในมุมกว้างมากขึ้น และเรื่องนี้คงต้องรอแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนจากรัฐบาลด้วย โดยในช่วงเร็วๆ นี้ ธปท.จะมีการหารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย” ประสารกล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการเปิดเผยการสำรวจผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคธุรกิจ โดยได้ทำการสอบถามผู้ประกอบการทั่วประเทศประมาณ 400 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก โดยระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการนั้น เห็นว่าควรจะอยู่ที่ 30.2 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าที่สุดและสามารถยอมรับได้ นั่นคือ 29.40 บาทต่อดอลลาร์ และจะสามารถรับแรงกดดันได้ประมาณ 45 วัน พร้อมถึงเสนอแนะว่า ธปท.ควรดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป และควรมีมาตรการรักษาระดับค่าเงินให้ปรับไปในทิศทางใกล้เคียงกับคู่แข่งหรือประเทศในภูมิภาค
ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในทันที เพราะทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์อย่างมาก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดกับกรณีนี้คือ “กลุ่มส่งออก” ที่ก่อนหน้านี้เริ่มมีวี่แววการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากความสามารถในการบริโภคที่ลดลงของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น กลับต้องมาเจอมรสุมอีกระลอก กับการแข็งค่าของเงินบาท
และต้องยอมรับอีกว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจกับการให้ความช่วยเหลือ และการแก้ปัญหานี้ค่อนข้างดี เพราะมีการประสารข้อมูล หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบ ถือว่าดีกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจถดถอยมาก ที่การทำงานค่อนข้างล่าช้า จนเป็นผลให้กลุ่มผู้ส่งออกในหลายๆ ส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนักไปตามๆ กัน
นั่นเพราะเรื่อง “ค่าเงิน” ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการค้าขาย แต่ในภาพรวมของปัญหาที่มีแรงกดดันต่อการค้าขายของผู้ประกอบการไทยนั้น ก็ยังคงลืมความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจไม่ได้ เพราะหลายฝ่าย ซึ่งรวมไปถึง “ธนาคารโลก” ก็ยังคงให้น้ำหนักกับปัญหานี้อยู่ว่าจะยังมีแรงกดดันกับภาคส่งออกของไทยอยู่มาก และอาจจะมากกว่าการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากนี้ “หวัง” ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น แม้ว่าปัญหาค่าเงินอาจจะส่งผลกระทบแค่ระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “การบาดเจ็บ” ในช่วงสั้นจะไม่ สาหัส..
ที่มา.ไทยโพสต์
++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น