การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นเรื่องที่สมควรทำเพราะค่าแรงของคนไทยนั้นถูกกดต่ำมานาน หากดูในช่วงสิบปีที่ผ่านมา GDP ของไทยโตขึ้น 50% ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแต่ปัญหาคือจะขึ้นค่าแรงอย่างไรให้เอกชนรับได้
อันที่จริงเราก็เห็นว่ารัฐบาลก็เห็นความสำคัญของปัญหาของเอกชนในเรื่องนี้ และพยายามที่จะบรรเทาผลกระทบด้วยการออกมาตรการเยียวยารวม 16 มาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน แต่จะดูกันจริงๆ มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงความพยายามให้ยารักษาตามอาการ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ แถมยังเป็นยาครอบจักรวาล ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงและทั่วถึง
หากมอง 16 มาตรการที่รัฐออกมา มี 6 มาตรการเป็นมาตรการด้านภาษี แต่บริษัทที่ได้ประโยชน์ก็มีแต่บริษัทที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนบริษัทที่ขาดทุน หรือบริษัทเล็กที่มีกำไรน้อย ก็จะไม่ได้ประโยชน์ ในมาตรการส่วนที่ยกเว้นภาษีเพิ่มเติมก็จะช่วยประหยัดภาษีไปได้เพียงรายละ 30,000 บาทเท่านั้น ส่วนมาตรการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร หรือยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคลที่เปลี่ยนเครื่องจักร ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถจะลงทุนเพิ่ม และโอกาสที่ผู้ประกอบการที่อยู่ภาคบริการจะลงทุนซื้อเครื่องจักรก็มีน้อยดังนั้นจึงมีเพียงผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่มีศักยภาพจะขยายการลงทุนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์
อีก 5 มาตรการเป็นการช่วยเหลือด้านการให้สินเชื่อซึ่งก็มีความเหมาะสม เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น อาจจะทำให้ SME ต้องการเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงก็คือ กลไกของรัฐอย่าง SME Bank หรือ บสย. ไม่สามารถเข้าถึง SME ได้อย่างทั่วถึง เท่ากับธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมา ในปี 2555 SME Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมปล่อยกู้ให้ SME เกือบ 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ SME มากถึง 3.2 ล้านล้านบาทดังนั้นหากรัฐจะช่วยเหลือ SME ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น รัฐก็ควรใช้มาตรการผ่านธนาคารพาณิชย์มากขึ้นด้วย
สำหรับข้อเสนอที่ทางฝั่งเอกชนที่ร้องขอให้มีกองทุนชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแล้ว กลับจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาระการคลังอย่างมหาศาล สมมุติว่าเกิดกองทุนนี้ขึ้นมาจริง ๆ จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรพบว่า มีลูกจ้างประมาณ 11 ล้านคนที่ได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท โดยเมื่อขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท จะทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40% เท่ากับรัฐต้องอุดหนุนเฉลี่ย 120 บาทต่อคน ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 3.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือเป็น 3 เท่าของงบกระทรวงสาธารณสุขปี 2556
เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เราต้องวินิจฉัยโรคก่อนว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งนโยบาย 300 บาทที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบันออกมาเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้ออกอาการป่วยไข้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วปัญหาของ SME ไทยคือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยยังขาด SME ขนาดกลาง ที่จะเติบโตไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ ในไทยมี SME ขนาดกลางเพียง 0.4% ของ SME ทั้งหมด ในขณะที่ในญี่ปุ่นมี SME ขนาดกลางถึง 10%
และวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือ เอกชนต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน สร้างนวัตกรรม ลงทุนด้าน R&D ให้เพิ่มขึ้น ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าตัวเอง เพื่อให้สามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น แต่เอกชนคงไม่สามารถทำที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้นสำเร็จได้เอง ถ้าขาดกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ และวิชาการ โดยที่รัฐควรมีส่วนช่วยวางแผน นโยบาย และงบประมาณสำหรับงานวิจัย ส่วนภาควิชาการก็ควรทำหน้าที่ผลิตงานวิจัย และผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการจากภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สำเร็จได้ในระยะสั้น และต้องอาศัยการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการในระยะยาว ตัวอย่างแผนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการอย่างเช่น หากรัฐต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันพร้อมๆ ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน เริ่มจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำลงก่อน จากนั้นจึงค่อยออกนโยบายขึ้นค่าแรง ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักออกนโยบายมาก่อน แล้วค่อยมาคิดหาวิธีเยียวยาภายหลัง ทำให้มีแต่มาตรการระยะสั้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราจึงมักเจอสถานการณ์ที่ กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรง กระทรวงเกษตรประกาศอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมราคา และกระทรวงการคลังต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดเอาจะเป็นมาตรการระยะยาว แน่นอนว่าทางออกในระยะสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก่อนอื่นคงต้องบอกให้ได้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ และสมควรได้รับการเยียวยา จากการศึกษาพบว่า มีแรงงานประมาณ 11 ล้านคนที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่า 300 บาท โดยส่วนใหญ่ อยู่ตาม SME อยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และมีกำไรต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้าง เป็นต้นทุนหลักอยู่แล้ว เมื่อมีการประกาศขึ้นค่าแรง ทำให้จากเดิมที่เคยมีอัตรากำไรสุทธิ 4.3% เป็นขาดทุน 3% ทันที ดังนั้นกลุ่มนี้จึงควรได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
งนั้น จึงควรมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ และเอกชน เพื่อจัดทำแผน และมาตรการเยียวยา ที่จะมีความแตกต่างกันตามอุตสาหกรรม และตามภูมิภาค ตัวอย่างแผนการช่วยเหลือ อย่างเช่น การทยอยปรับขึ้นค่าแรง (Phasing) แทนที่จะขึ้นเป็น 300 บาทพร้อมกันทันที อาจจะกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 300 บาท แต่มีปีเป้าหมายแตกต่างกันตามอุตสาหกรรม หรือตามภาค และทยอยปรับขึ้นทุกๆ ปี
นอกจากนี้ รัฐควรต้องทบทวนความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าแรงเท่ากันหมดทั้งประเทศ ลองนึกดูว่าหากค่าแรงของประเทศลาวเท่ากับไทย แล้วใครจะอยากไปลงทุนในลาว ในทำนองเดียวกันกับภายในประเทศไทย หากต้องจ่ายค่าแรงในจังหวัดห่างไกลเท่ากับกรุงเทพฯ ก็คงไม่มีใครอยากลงทุนในจังหวัดที่ห่างไกล ที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดน (Border zone) อย่างเช่น มากีลาโดรา (Maquiladora) ที่ตั้งอยู่ที่พรมแดนสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก ซึ่งอาจจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ไม่ต้องบังคับใช้ค่าแรงของไทย วิธีนี้จะทำให้เอกชนได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน และแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ทะลักเข้าเมือง เพราะนโยบาย 300 บาทนี้ด้วย
ท้ายที่สุด ไม่ว่านโยบายแก้ไขจะดีอย่างไร หากยังคงมีปัญหาในการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ก็คงไม่สามารถสำเร็จได้ ทุกวันนี้มีหน่วยงานมากมายที่ทำหน้าที่ส่งเสริม SME แต่ไม่มีการจับมือร่วมกันทำงาน บางครั้งก็ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ขาดการบูรณาการ และทำงานร่วมกัน เราอยากเห็น สสว. หรือสถาบันพัฒนา SME จูงมือ SME ที่มีปัญหา ไปหา สวทช. ซึ่งมีหน่วยงานที่จะช่วยให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จากนั้น กรมพัฒนาธุรกิจ หรือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรับลูกต่อ เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาด และการบริหารจัดการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างทุกวันนี้
ที่มา.thailandfuturefoundation.
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น