อุกฤษ. โยนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ถามความเห็นส.ว.-ส.ส. ด้าน"เจริญ" เผยไม่ได้ยื่นร่างกฎหมายให้สภาฯพิจารณาตอนนี้
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ส่งเอกสารข่าวถึงสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ถึงประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พ.ศ.... เพื่อให้ ส.ส. และส.ว.พิจารณาร่วมสนับสนุนและเข้าชื่อนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คอ.นธ. ได้ให้เหตุผลว่า โดยสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกทางความคิดและการแบ่งฝ่ายทางการเมือง จนนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งของสังคมและทางการเมืองที่รุนแรง อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองและเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง จากสภาพปัญหาดังกล่าวได้ร้ายลึกลงไปสู่สังคมไทยทุกระดับ และนำไปสู่วิกฤตทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ทั้งนี้เมื่อคำนึงว่าบรรดาการกระทำใด ๆ ที่ประชาชนได้ทำเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพือให้สังคมกลับมาสงบสุข มีความสามัคคี ร่วมพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ได้เขียนไว้ทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ระบุไว้ในมาตรา 3 ระบุว่าให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัยพ์สินของบุคคลอื่นซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น
มาตรา 4 เมื่อ พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง หรือ หากจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเองให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือสั่งจำหน่ายคดี
ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
มาตรา 5 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสินใจของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเอกสารข่าวดังกล่าว ได้แนบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2516 พ.ศ.2516 มาให้พิจารณาด้วย
ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ฐานะผู้ที่พิจารณาการบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมของสภา เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ยังไม่ได้ถูกนำเสนอให้ตนพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ อย่างไรก็ตามหลักการ นายอุกฤษ ถือเป็นภาคประชาชน ดังนั้นหากจะมีการเสนอร่างกฎหมายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้นิรโทษกรรม จะนำไปสู่การพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ต้องพิจารณาบนหลักการของเหตุผล เพราะขณะนี้ภาคส่วนของสังคมยังคงใช้ความรู้สึก และมีความกังวลว่าจะเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อบุคคลใดหรือไม่
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ คือ 1.การกำหนดช่วงเวลาในร่างกฎหมาย ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทุกกลุ่มทุกสี เช่น เมื่อระบุว่า จะนิรโทษกรรมให้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถือว่านับวันที่รัฐประหารเป็นเกณฑ์ แต่ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารนั้น มีการชุมนุมทางการเมืองมาก่อนหน้านั้น ดังนั้นต้องพิจารณาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 2. บุคคลที่จะได้รับสิทธิ์นิรโทษกรรม จะรวมถึงแกนนำผู้ชักชวน ยุยง ปลุกปั่นด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบ ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือตีความภายหลัง สำหรับห้วงเวลาที่เหมาะแก่การพิจารณา ช่วงนี้ก็สามารถพูดคุยกันได้ หากไม่มีนัยยะแอบแฝง
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น