โดย.ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือประเด็นเรื่อง การเมืองท้องถิ่น ที่มีการกลั่นแกล้งกันเองด้วย” ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่แหลมคมเช่น ‘ชายแดนใต้’ วิเคราะห์ประเด็นปัญหาให้ฟัง พร้อมกับยกตัวอย่างว่า บนสังเวียนต่อสู้ของการเมืองท้องถิ่น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้ ก็จะมีบ้างบางคนที่ตัดสินใจวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในพื้นที่ จากนั้นก็จัดการ ‘สุมไฟ’ ให้ข้อมูลคู่ตรงกันข้ามว่าเป็น ‘แนวร่วม’ บ้าง มีปัญหา ‘เชิงลึก’ ที่ซับซ้อนดำมืดบ้างฯลฯ นำไปสู่การ ‘กำจัด’ คู่ต่อสู้แบบยิงปืนนัดเดียวได้ประโยชน์หลายต่อ
ต่อกรณีปมปัญหาเช่นนี้ เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเงื่อนไขที่ถูกราดรดสู่ปัญหา ‘ไฟใต้’ ซึ่งมีการพูดถึงกันมานานว่ามีปัจจัยทับซ้อนมากมายอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของการ ‘แบ่งแยกดินแดน’ เพียวๆ อีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ทุกอย่างถูกนำมาผสมผสานจนกลายเป็น ‘ตังเมสถานการณ์’ ที่แทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน และทั้งหลายทั้งมวลมาจาก ‘รากเหง้า’ ปัญหาที่ไม่มีใครคิดอยากจับต้องเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนให้ได้อย่างถ่องแท้
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับไปพิจารณาตัวอย่างปัจจัยที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ของ ‘ฟิลิปปินส์’ หรือแถบ ‘เกาะมินดาเนา’ ซึ่งปรากฏปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้มานานกว่า 3 ทศวรรษ โดยรากเหง้าของปัญหาจริงๆ นั้นมีการสันนิษฐานกันต่างๆ นานา ปมปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของชนกลุ่มน้อยในฟิลิปปินส์ (ไม่รวมชาวมุสลิม) รวมกับพวกชนเผ่าดั้งเดิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศมีมากถึง 106 เผ่าพันธุ์ อาศัยกระจายอยู่ทั่วเกาะลูซอน วิสายาส์ และมินดาเนา โดยเฉพาะในเกาะมินดาเนามีประชากรที่ไม่ใช่ทั้งมุสลิมหรือคริสเตียนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาต่างๆ กัน
สำหรับชาวมุสลิม ถือเป็นชาติพันธุ์ต่างหากที่เรียกกันว่า ‘โมโร’ (Moro) มาจากคำว่า Moors ที่สเปนใช้เรียกมุสลิมที่ต่อต้านสเปนขณะเข้าโจมตีทางใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และ Moors คือกลุ่มชนที่เคยปกครองสเปนมาก่อนตามประวัติศาสตร์ของสเปน ต่อมาเมื่อสเปนเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาและเกิดการต่อสู้จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ตลอดมา ซึ่งในทัศนะของ รศ.สีดา สอนศรี ในฐานะผู้วิจัยและเจ้าของผลงานหนังสือ “รัฐกับสังคมมุสลิมในฟิลิปปินส์ จากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ”
สะท้อนว่า เห็นด้วยกับความคิดของ McKenna (Thomas M. McKenna) ที่ว่า “การก่อกบฏของมุสลิมมิใช่เกิดจากการรุกรานที่ดินของสเปน แต่มาจากความรู้สึกชาตินิยมมากกว่า และการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในมินดาเนาของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ว่า ดินแดนทั้งหมดในมินดาเนาเป็นดินแดนของบรรพบุรุษที่ตนจะต้องช่วงชิงคืนมาจากสเปนนั้น ก็ไม่น่าจะใช่สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งในมินดาเนา เพราะรัฐบาลสเปนที่ปกครองฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้แต่งตั้งผู้นำที่เป็นมุสลิมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในท้องถิ่น เช่น ผู้นำท้องถิ่น (Principalia) หัวหน้าบารังไก (Cabezas de Barangay) และหัวหน้าเมือง (Gobernadorcillos) เป็นจำนวนมาก และผู้นำเหล่านี้ต่างพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของสเปนด้วย เนื่องจากได้ทั้งตำแหน่ง ลาภ ยศ และเงินทอง จากสเปน”
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในฟิลิปปินส์ กล่าวกันว่าเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นนำ แต่มีการศึกษาสูง เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยของรัฐในมะนิลา คือที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Philippines – U.P.) และที่ประเทศอาหรับหลายประเทศ
จากหนังสือรัฐกับสังคมมุสลิมในฟิลิปปินส์ฯ รศ.สีดา สอนศรี สะท้อนข้อสรุปของ โจเอล เดอ ลอส ซันโตส (Joel De Los Santos) และ อัลเฟรโด ที. เทียมสัน (Alfredo T. Tiamson) ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในฟิลิปปินส์ อาจจะมาจาก
สาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
1 เกิดจากกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาอำนาจทางการเมืองทางภาคใต้
2 เกิดจากกลุ่มชาวนาที่ต้องการช่วงชิงที่ดินคืนมาจากพวกคริสเตียนทางภาคใต้
3 เกิดจากการที่ทหารและตำรวจ ใช้กระบวนการนี้เป็นเครื่องมือของการแก้แค้นระหว่างกัน
4 เกิดจากความต้องการของผู้นำศาสนา ซึ่งใช้กระบวนการนี้เพื่อที่จะสร้างรัฐตามแบบอุดมการณ์อิสลาม
5 เกิดจากอุดมการณ์ของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ที่นิยมมาร์กซิสต์ที่ต้องการจะกระทำหน้าที่ให้สังคมได้รับความยุติธรรม
6 เกิดจากการชักชวนญาติและเพื่อนฝูง ให้เข้าร่วมในขบวนการด้วย
สรุปแล้ว ผู้นำของขบวนการนี้เมื่อพิจารณาแล้วประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักศึกษาปัญญาชน กลุ่มนักการเมืองที่ทะเยอทะยานและไม่พอใจต่อสถานภาพของตัวเองในปัจจุบัน และกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางศาสนาอย่างเหนียวแน่น ในความเป็นจริงแล้ว รากเหง้าปัญหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ มาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาระหว่าง ‘กลุ่มคริสเตียน’ และ ‘มุสลิม’ ที่เกิดมาตั้งแต่ครั้งอดีตผ่านการครอบครองอาณานิคมของสเปน รวมถึงการที่สหรัฐอเมริกาพยายามส่งชาวคริสเตียนลงไปทางใต้ เพื่อกล่อมเกลาชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม ให้เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่นับถือศาสนาคริสต์ เพื่อเปลี่ยนศาสนาและสถาบันการบริหารให้เป็นแบบที่สเปนและอเมริกันต้องการ
แม้เมื่อต่อมาได้รับเอกราชแล้ว ปัญหานี้ก็ยังสะสมอยู่ในภาคใต้ โดยที่รัฐบาลใหม่ก็ยังดำเนินการต่างๆ ตามที่รัฐบาลกลางเมื่อสมัยเป็นอาณานิคมปฏิบัติ ยิ่งทำให้ความไม่พอใจมีมากขึ้น” รศ.สีดา สอนศรี สรุปปม
อย่างไรก็ตาม ผ่านความขัดแย้งมายาวนาน ถึงเวลานี้สถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการลงนามข้อตกลงแผนสร้างสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ภายในปี 2016 โดยนายมาร์วิค ลีโอเนน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของรัฐบาล และนายโมฮาเกอร์ อิคบัล ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front : MILF) โดยมีผู้นำฟิลิปปินส์ นายอิบราฮิม รวมถึงนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซียในฐานะคนกลางของการเจรจา ร่วมเป็นสักขีพยาน เอกสารข้อตกลงขนาด 13 หน้า มีการลงนามกำหนดให้กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟวางอาวุธและยุติความพยายามแบ่งแยกดินแดน แลกกับการได้อำนาจบริหารหลายพื้นที่ในเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ สามารถกำหนดระบบภาษีของตนเอง และได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่รัฐบาลยังคงกำกับดูแลนโยบายความมั่นคงและการเงิน
16 ปีแห่งความยุ่งยากของการเจรจาในฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ถึง 150,000 คนจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปที่เป็น ‘ความหวัง’ ชัดแจ้งแล้ว ผิดกับสถานการณ์ในพื้นที่ ‘ภาคใต้’ ของประเทศไทย ทั้งที่ปมปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกัน ที่มาที่ไปของปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกัน แต่ทำไมทางออกของปัญหาจึงดูยังห่างไกลลิบลับกันเสียเหลือกิน
ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น