--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก .!!?


โดย. เก่ง วงศ์กล้า

นอกจากอาเซียนจะมีความร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นรายประเทศ และในกรอบความร่วมมือ “อาเซียน+3” ทุกปี ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีโอกาสได้พบกับผู้นำของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอีกหลายๆ ประเทศรอบๆ อาเซียน ในอีกเวทีหนึ่ง คือ “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” (East Asia Summit: EAS)

     อันที่จริง การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เดิมเป็นข้อริเริ่มในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาไปสู่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ดี อาเซียนเห็นว่า ควรเปิดกว้างให้ประเทศนอกกลุ่มอาเซียน+3 เข้าร่วมด้วย โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ 3 ประการ สำหรับการเข้าร่วมได้แก่ 1) การเป็นคู่เจรจาเต็มตัวของอาเซียน 2) การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอาเซียน และ 3) การภาคยานุวัติ Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia

     ปัจจุบัน มีประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยรัสเซียและสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมนี้เป็นครั้งแรกในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

     การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จัดขึ้นครั้งแรกที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2548 โดยมีการลงนาม Kuala Lumpur Declaration on East Asia Summit กำหนดให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นเวทีหารือทางยุทธศาสตร์ที่เปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม

     นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นพ้องกับแนวความคิดของไทย ที่ให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นเวทีของผู้นำ ที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นและวิสัยทัศน์ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในลักษณะ “top-down” ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยประเทศที่เป็นประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงาน และเป็นประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกของปีนั้น

      การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดสาขาความร่วมมือหลัก 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน การศึกษา การเงิน และการจัดการภัยพิบัติ ไข้หวัดนก (ก่อนจะปรับเป็นประเด็นสาธารณสุขระดับโลกและโรคระบาดในปี 2554) และยินดีกับข้อเสนอของญี่ปุ่นให้จัดตั้ง Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) และการจัดทำ Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA)

      ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับรอง Declaration of the Sixth East Asia Summit on ASEAN Connectivity ซึ่งให้บรรจุความเชื่อมโยงเป็นสาขาความร่วมมือหลักเพิ่มเติม จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา

      นอกเหนือไปจากการรับรอง Declaration of the East Asia Summit on the Principles for Mutually Beneficial Relations เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะยอมรับร่วมกันในหลักการและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบและแนวทางในการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

      และ Declaration of the East Asia Summit on ASEAN Connectivity เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในการพัฒนาความเชื่อมโยงในอาเซียนตาม Master Plan on ASEAN Connectivity

     บทบาทของประเทศไทยในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ไล่เรียงจากการเป็นผู้เสนอแนะให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นเวทีของผู้นำในลักษณะ top-down และให้ใช้รูปแบบการประชุมแบบ “Retreat” เฉพาะผู้นำที่เข้าร่วมเท่านั้น เพื่อให้ผู้นำสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างเต็มที่

     นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ริเริ่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2551 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 ผลักดันการออก Joint Press Statement of the East Asia Summit on the Global Economic and Financial Crisis เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2552 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการค้า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ซึ่งต่อมาออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่นครซิดนีย์

      ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2552 ที่ชะอำ หัวหิน ไทยได้ผลักดันการรับรอง Cha-am Hua Hin Statement on EAS Disaster Management เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเตรียมความพร้อมที่รอบด้าน และเพิ่มประสิทธิภาพของการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาค รวมทั้งการออก Joint Press Statement of the 4th EAS on the Revival of Nalanda University เพื่อแสดงการสนับสนุนทางการเมืองต่อข้อริเริ่มของอินเดียในการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา

     ในการประชุม AMM Retreat ที่เมืองลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 - 17 มกราคม พ.ศ.2554 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยไทยได้เสนอ Discussion Paper on ASEAN Strategy for the Expanded East Asia Summit: Reaffirming ASEAN Centrality in an Emerging Regional Architecture ซึ่งมีข้อเสนอที่สำคัญ 4 ประการ คือ

    1) การจัดลำดับความสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเด็นระดับโลก ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงิน และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

     2) การปรับปรุงรูปแบบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยให้แบ่งการประชุมออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงการหารือทั่วไป และช่วงการหารือตามประเด็น ซึ่งเป็น theme ของการประชุมในแต่ละปี

      3) การพิจารณาเชิญหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เพื่อบรรยายสรุปประเด็นที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกให้ความสำคัญ และ 4) การชะลอการพิจารณาการขยายการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ไปหลังปี 2558 ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 10 ปี ของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 6 ได้จัดในลักษณะ Plenary และ Retreat ตลอดจนเชิญเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และธนาคารพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมตาม Discussion Paper ที่ไทยเสนอด้วย

      ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นอกจากนายกรัฐมนตรีจะได้ผลักดันให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก คงความเป็นเวทีหารือระดับผู้นำที่สามารถหารือกันในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

      และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ โดยไทยพร้อมจะเป็นแหล่งสำรองข้าวที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไทยยังสนับสนุนข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ในเรื่องการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าด้วยแล้ว

       ยังเน้นให้ถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเชิญประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ร่วมมือกับไทยในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก และช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาของประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผลักดันความร่วมมือทางทะเล เพื่อส่งเสริมพาณิชย์นาวีด้วย

       ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ผ่านมานี้ ได้รับรองเอกสารจำนวน 2 ฉบับได้แก่ 1) แถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (Phnom Penh Declaration on East Asia Summit Development Initiative) ซึ่งเสนอโดยจีน 2) แถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 7 ว่าด้วยการรับมือในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการควบคุมและจัดการกับปัญหาโรคมาลาเรียที่ดื้อยา (Declaration of the 7th East Asia Summit on Regional Responses to Malaria Control and Addressing Resistance to Antimalarial Medicines) ซึ่งเสนอโดยออสเตรเลีย

       นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ

       1) การรักษาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในฐานะเป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำ ที่สามารถหยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นหารือระหว่างกันได้ทุกเรื่องและอย่างสะดวกใจ เพื่อบรรลุแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งปรับปรุงกลไกของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยลดขั้นตอนการหารือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ

       2) การกระชับความร่วมมือใน 6 สาขาที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ให้ความสำคัญลำดับต้น ได้แก่ การเงิน พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา สาธารณสุข และความเชื่อมโยง

       3) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือและแก้ไขประเด็นปัญหาที่เป็นสิ่งท้าทายร่วมกันของภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การลักลอบค้าสัตว์ป่า การลดความยากจน การพัฒนาที่ยั่งยืน การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ การบรูณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการสร้างประชาคมอาเซียน และการเจรจา “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

       4) ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเล เนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการส่งเสริมและรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นด้านพาณิชย์นาวี ความปลอดภัยในการเดินเรือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล รวมถึง

       5) การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและของโลกที่มีความสนใจร่วมกัน เช่นคาบสมุทรเกาหลี พัฒนาการประชาธิปไตยในเมียนมาร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง (WMD) และอาวุธนิวเคลียร์


ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น